รอบรู้เรื่องของคำราชาศัพท์ (หมวดร่างกาย)
ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขมาแต่โบราณจนถึง ปัจจุบัน ทรงทํานุบํารุงบ้านเมือง บําบัดทุกข์ บํารุงสุขของอาณา ประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม และขัตติยวัตร ขัตติยธรรม พระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยตลอดมา บรรพชนไทยเคารพสักการะพระมหากษัตริย์และต้องการแสดงออกว่าเทิดทูนพระประมุขของชาติไว้สูงสุด จึงคิดถ้อยคําที่ควรค่าแก่พระเกียรติมาใช้ เป็นคําราชาศัพท์ในการกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ต่างจากถ้อยคําที่สามัญชนพูด คําราชาศัพท์ได้กำหนดใช้เป็นแบบแผนสืบต่อกันมาถือเป็นวัฒนธรรมทางภาษาอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติ
มาทำความรู้จักกับความหมายของคำราชาศัพท์
รู้หรือไม่ว่าคำราชาศัพท์ หมายถึง ศัพท์หลวง ศัพท์ราชการ และหมายรวมถึงคำสุภาพซึ่งนำมาใช้ให้ถูกต้องตามชั้นหรือฐานะของบุคคล บุคคลผู้ที่พูดต้องใช้ราชาศัพท์ด้วย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภทด้วยกัน คือ ใช้กับพระมหากษัตริย์ ใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์ หรือใช้กับพระสงฆ์ รวมถึงข้าราชการชั้นสูงหรือขุนนาง และคำสำหรับใช้กับสุภาพชนทั่วไป
คำราชาศัพท์ถ้าแปลตามรูปศัพท์ หมายถึง ศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ คำราชาศัพท์ใช้กับระมหากษัตริย์ เจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์และคนสุภาพ ราชาศัพท์เป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่ชาวไทยใช้สื่อสารกับบุคคลดังกล่าวด้วยความเชื่อและการยกย่องมาแต่โบราณกาล คำราชาศัพท์
2 ที่มาของคำราชาศัพท์
- รับมาจากภาษาอื่น ภาษาเขมร เช่น โปรด เขนย เสวย เสด็จ เป็นต้น ภาษาบาลี-สันสกฤต เช่น อาพาธ เนตร หัตถ์ โอรส เป็นต้น
- การสร้างคำขึ้นใหม่ โดยการประสมคำ เช่น ลูกหลวงซับพระพักตร์ ตั้งเครื่อง เป็นต้น
ข้อควรรู้การใช้คําราชาศัพท์สำหรับขึ้นต้นและคําลงท้าย
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
คําขึ้นต้น : ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
คําลงท้าย : ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
- สมเด็จพระบรมราชินี, สมเด็จพระบรมราชชนนี, สมเด็จพระยุพราช, สมเด็จพระสยามบรม ราชกุมารี
คําขึ้นต้น : ขอพระราชทานกราบ บังคมทูลทราบฝ่าละออง พระบาท
คําลงท้าย : ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ควรมีควรแล้วแต่จะทรง พิจารณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม
- สมเด็จเจ้าฟ้า
คําขึ้นต้น : ขอพระราชทานกราบ ทูลทราบฝ่าพระบาท
คําลงท้าย : ควรมีควรแล้วแต่จะทรง พิจารณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
คําขึ้นต้น : ขอประทานกราบทูล ทราบฝ่าพระบาท
คําลงท้าย : ควรมีควรแล้วแต่จะทรง พิจารณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม
การใช้คำราชาศัพท์ในหมวดร่างกาย
คําราชาศัพท์หมวดร่างกาย เป็นหมวดหมู่หนึ่งของคำราชาศัพท์ เพื่อใช้เรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายแทนคำศัพท์ธรรมดาที่คนทั่วไปใช้เรียกกัน โดยคำราชาศัพท์หมวดร่างกายส่วนใหญ่ จะเป็นศัพท์ที่รับมาจากภาษาบาลี สันสกฤต เขมร และภาษาอื่นๆ นำมาประสมคำและความหมาย จนกลายเป็น “คำราชาศัพท์” ในภาษาไทย ซึ่งหลายๆ คำ อาจมีการเขียนและการอ่านที่จำเป็นต้องจดจำไว้เฉพาะ
คําราชาศัพท์หมวดร่างกาย มีทั้งศัพท์ที่ใช้เรียกอวัยวะภายในและภายนอกของร่างกาย อาจมีทั้งคำที่พบเจอได้บ่อยครั้ง รวมถึงคำที่ไม่ค่อยพบเจอสักเท่าไร แต่การรู้จักและเข้าใจคำราชาศัพท์เหล่านี้ จะช่วยให้เราเข้าใจระดับภาษาของการใช้ภาษาไทยได้มากขึ้น เพื่อจะได้นำไปใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
รวมคำราชาศัพท์ 50 คำ หมวดร่างกายที่น่ารู้
- พระเศียร หมายถึง หัว ศีรษะ
- เส้นพระเจ้า หมายถึง เส้นผมของพระมหากษัตริย์
- พระโมลี หมายถึง มวยผม
- พระนลาฏ หมายถึง หน้าผาก
- พระขนง, พระภมู หมายถึง คิ้ว
- พระเนตร, พระนัยนะ, พระจักษุ หมายถึง ดวงตา
- พระกนีนิกา, พระเนตรดารา หมายถึง แก้วตา
- ดวงพระเนตรดำ หมายถึง ตาดำ
- ดวงพระเนตรขาว หมายถึง ตาขาว
- พระโลมจักษุ, ขนพระเนตร หมายถึง ขนตา
- พระอัสสุธารา, พระอัสสุชล, น้ำพระเนตร หมายถึง น้ำตา
- พระนาสิก หมายถึง จมูก
- สันพระนาสิก, สันพระนาสา หมายถึง สันจมูก
- พระโลมนาสิก, ขนพระนาสิก หมายถึง ขนจมูก
- พระมังสา หมายถึง เนื้อ
- พระมัสสุ หมายถึง หนวด
- พระปัสสาสะ หมายถึง ลมหายใจเข้า
- พระอัสสาสะ หมายถึง ลมหายใจออก
- พระโอษฐ์ หมายถึง ปาก
- พระตาลุ, เพดานพระโอษฐ์ หมายถึง เพดานปาก
- พระทาฐะ, พระทาฒะ หมายถึง เขี้ยว
- พระทนต์ หมายถึง ฟัน
- พระชิวหา หมายถึง ลิ้น
- พระปราง หมายถึง แก้ม
- พระกำโบล, กระพุ้งพระปราง หมายถึง กระพุ้งแก้ม
- พระกรรณ หมายถึง หู
- พระพักตร์ หมายถึง ใบหน้า
- พระศอ หมายถึง คอ
- พระกัจฉะ หมายถึง รักแร้
- พระกร หมายถึง แขน
- ข้อพระกร หมายถึง ข้อมือ
- พระหัตถ์ หมายถึง มือ
- ฝ่าพระหัตถ์ หมายถึง ฝ่ามือ
- พระองคุลี หมายถึง นิ้วมือ
- พระดัชนี หมายถึง นิ้วชี้
- พระมัชฌิมา หมายถึง นิ้วกลาง
- พระอังคุฐ หมายถึง นิ้วหัวแม่มือ
- พระกนิษฐา หมายถึง นิ้วก้อย
- พระนขา, พระกรชะ หมายถึง เล็บ
- พระปีฬกะ หมายถึง ไฝ, ขี้แมลงวัน
- พระอสา หมายถึง สิว
- พระฉายา หมายถึง เงา
- พระโลมา หมายถึง ขน
- พระอังคาร หมายถึง กระดูก
- พระเสโท หมายถึง เหงื่อ
- พระเขฬะ หมายถึง น้ำลาย
- พระกัณฐมณี หมายถึง ลูกกระเดือก
- พระรากขวัญ หมายถึง ไหปลาร้า
- พระอุระ หมายถึง อก
- พระกษิรธารา หมายถึง น้ำนม
คนไทยเริ่มใช้คำราชาศัพท์ในรัชสมัยพระธรรมราชาลิไท พระร่วงองค์ที่ 5 แห่งสุโขทัย เพราะศิลาจารึกต่างในแผ่นดินนั้น รวมทั้งบทพระราชนิพนธ์ของท่าน คือไตรภูมิพระร่วงปรากฏว่ามีคำราชาศัพท์อยู่หลายคำ เช่น ราชอาสน์ พระสหาย สมเด็จ ราชกุมาร เสด็จ บังคม เสวยราชย์ ราชาภิเศก เป็นต้น บางท่านกล่าวว่า คำราชาศัพท์นั้นเริ่มใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะพระปฐมบรมกษัตริย์ที่ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา ทรงนิยมเขมร ถึงกับเอาลัทธิและภาษาเขมรมาใช้ เช่น เอาคำว่า “สมเด็จ” ซึ่งเขมรใช้เป็นคำนำพระนามพระเจ้าแผ่นดินมาเป็นคำนำพระนามของพระองค์ และใช้ภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม