เสียงที่มนุษย์เปล่งออกมาเพื่อสื่อความหมายระหว่างกัน ซึ่งการที่เสียงในภาษาจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยอวัยวะต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดเสียง สำหรับอวัยวะที่ทำให้เกิดเสียง ได้แก่ ริมฝีปาก ปุ่มเหงือก ฟัน ลิ้น เพดานปาก ลิ้นไก่ กล่องเสียง หลอดลม และปอด เด็กๆรู้กันหรือไม่ว่าสระในภาษาไทยมีอะไรบ้าง และมีทั้งหมดกี่เสียง แต่บอกเลยว่ากว่าจะมาเป็นคำ หรือประโยคที่เราใช้พูดกัน มักมีส่วนประกอบของสระทั้งนั้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับรูปและเสียงของสระในภาษาไทย โดยสรุปองค์ความรู้ไว้อย่างครบถ้วน รับรองได้เลยว่าถ้าคุณได้อ่านบทความนี้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ สระในภาษาไทยได้อย่างแน่นอน
ทำความรู้จักกับความหมายของสระ
สระ คือ เครื่องหมายที่ใช้แทนเสียงที่เปล่งออกมา เสียงที่เปลางออกมาจากลำคอ โดยตรง
เช่น อา ออ เออ ตามหลักของภาษาถือว่าพยัญชนะจำเป็นต้องอาศัยสระ จึงจะออกเสียงได้ ถ้าพยัญชนะ
ไม่อาศัยเสียงสระก็ออกเสียงไม่ได้ ซึ่งสระในภาษาไทย สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ รูปสระ และเสียงสระ นั่นเอง
- รูปสระ จากหนังสือบรรทัดฐานภาษาไทย หลักสูตรการเรียนของนักเรียนในโรงเรียน จากกรมวิชาการ ให้ความหมายไว้ว่า รูปสระ คือ สัญลักษณ์ที่ปรากฏในการใช้ ในคำประโยคหรือข้อความ มีจำนวน 32 รูป
- เสียงสระ สระทั้ง 32 รูปเมื่อนำไปผสมจะเกิดเป็นเสียงสระต่างๆขึ้นอีก 21 เสียง โดยแบ่งจำแนกได้เป็นสระเสียงสั้นและสระเสียงยาว
มารู้จักกับเสียงสระ ในภาษาไทยกันว่ามีอะไรบ้าง ?
บางตำราถือว่าภาษาไทยมี 21 เสียง ทั้งนี้ คือไม่รวมสระเกินซึ่งถือว่าเป็นหน่วยเสียงในตัวเองโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว และไม่รวมสระประสมเสียงสั้น คือ เอียะ เอือะ อัวะ เนื่องจากมีที่ใช้ในภาษาไทยน้อยมาก และส่วนใหญ่จะเป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติซึ่งไม่ได้ใช้สื่อความหมายอื่น
- สระเสียงสั้น ได้แก่ สระที่ออกเสียงสั้น คือ อะ อิ อึ อุ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ ฤ ฦ อำ ไอ ใอ เอา
- สระเสียงยาว ได้แก่ สระที่ออกเสียงยาว คือ อา อี อื อู เอ แอ โอ ออ เออ เอีย เอือ อัว ฤๅ ฦๅ
- สระเดี่ยว ได้แก่ สระที่เปล่งเสียงออกมาเป็นเสียงเดียว ไม่มีเสียงอื่นประสมมี 18 ตัวได้แก่ อะ อา อิ อี อึ อื อุ อู เอะ เอ แอะ แอ เออะ เออ โอะ โอ เอาะ ออ
- สระประสม คือ สระที่มีเสียงสระเดี่ยว 2 ตัวประสมกัน มี 6 ตัวได้แก่
- เอียะ เสียง อิ กับ อะ ประสมกัน
- เอีย เสียง อี กับ อา ประสมกัน
- เอือะ เสียง อึ กับ อะ ประสมกัน
- เอือ เสียง อื กับ อา ประสมกัน
- อัวะ เสียง อุ กับ อะ ประสมกัน
- อัว เสียง อู กับ อา ประสมกัน
- สระเกิน คือ สระที่มีเสียงซ้ำกับสระเดี่ยว ต่างกันก็แต่ว่าสระเกินจะมีเสียงพยัญชนะประสมหรือสะกดอยู่ด้วย มี 8 ตัว ได้แก่
- ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ (รึ รือ ลึ ลือ) มีเสียงพยัญชนะ ร ล ประสมอยู่
- อำ มีเสียง อะ และพยัญชนะ ม สะกด
- ใอ ไอ มีเสียง อะ และพยัญชนะ ย สะกด (คือ อัย)
- เอา มีเสียง อะ และพยัญชนะ ว สะกด
เรียนรู้ที่จะสะกดคำในถูกหลัก ในภาษาไทย
การสะกดคำ คือ การอ่านโดยนำพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกดมาประสมเป็นคำอ่าน ถือเป็นเครื่องมือการอ่านคำใหม่ ซึ่งต้องให้นักเรียนสังเกตรูปคำพร้อมกับการอ่านการเขียน เมื่อสะกดคำจนจำคำอ่านได้แล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องใช้วิธีการสะกดคำนั้น ให้อ่านเป็นคำได้เลย จะทำให้นักเรียนอ่านจับใจความได้และอ่านได้เร็ว โดยการอ่านสะกดคำแบ่งได้ดังต่อไปนี้
- สะกดตามรูปคำ เช่น
กา สะกดว่า กอ – อา – กา
คาง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง
ค้าง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง – ไม้โท – ค้าง
- สะกดโดยสะกดแม่ ก กา ก่อน แล้วจึงสะกดมาตราตัวสะกด เช่น
คาง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง
ค้าง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง – คาง – โท – ค้าง
- คำที่มีสระอยู่หน้าพยัญชนะ ให้สะกดพยัญชนะก่อนสระเสมอ เช่น
เก สะกดว่า กอ – เอ – เก
ไป สะกดว่า ปอ – ไอ – ไป
- คำที่เป็นสระลดรูปหรือสระเปลี่ยนรูป อาจสะกดได้ดังนี้
กัน สะกดว่า กอ – อะ – นอ – กัน หรือ กอ – ไม้หันอากาศ – นอ – กัน
คน สะกดว่า คอ – โอะ – นอ – คน หรือ คอ – นอ – คน
- คำอักษรควบ สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง อาจสะกดได้ดังนี้ เช่น
กลอง สะกดว่า กอ – ลอ – ออ – งอ – กลอง
พราง สะกดว่า พอ – รอ – อา – งอ – พราง
กวาง สะกดว่า กอ – วอ – อา – งอ – กวาง
- สะกดตัวควบพร้อมกัน มุ่งเพื่อออกเสียงคำควบกล้ำให้ชัด เช่น
กลอง สะกดว่า กลอ – ออ – งอ – กลอง
พราง สะกดว่า พรอ – อา – งอ – พราง
กวาง สะกดว่า กวอ – อา – งอ – กวาง
- คำอักษรนำ สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง อาจสะกดได้ดังนี้
อยาก สะกดว่า ออ – ยอ – อา – กอ – อยาก
หนา สะกดว่า หอ – นอ – อา – หนา
สนาม สะกดว่า สอ – นอ – อา – มอ – สนาม
การเขียนสะกดคำคือศิลปะหรือเทคนิคในการสร้างคำโดยใช้อักษรตามแบบที่สังคมยอมรับ เป็นการเขียนโดยเรียงลำดับ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ รวมทั้งตัวสะกดการันต์ ภายในคำหนึ่ง ๆ ได้ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน เพื่อฝึกทักษะการเขียนให้ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานแก่ผู้เรียน และจะต้องให้ผู้เรียนเข้าใจขบวนการประสมคำ รู้หลักเกณฑ์ที่จะเรียบเรียงลำดับตัวอักษรในคำหนึ่ง ๆ ให้ได้ความหมายที่ต้องการ เพื่อจะนำประโยชน์ไปใช้ในการสื่อสารต่อไป
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม