ประโยค หมายถึง ข้อความที่มีทั้งภาคประธานและภาคแสดง ซึ่งภาคประธาน คือ ส่วนของผู้แสดงกริยาอาการต่างๆ และภาคแสดง คือ ส่วนของการแสดงกิริยาอาการต่างๆ โดยจะต้องมีคำกริยา และอาจมีกรรมเป็นภาคขยาย เพื่อแสดงรายละเอียดของประโยคให้ได้ความสมบูรณ์ ประโยคจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีทั้งภาคประธานและภาคแสดง ประโยคยังแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ประโยคความเดียว ที่มีประธานเดียวและภาคแสดงเดียว, ประโยคความรวม ที่รวมประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคเข้าด้วยกัน และ ประโยคความซ้อน ที่มีประโยคความเดียว 1 ประโยคเป็นประโยคหลัก แล้วมีประโยคความเดียวอื่นมาเสริม
ประเภทของรูปประโยค ที่ควรรู้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
- ประโยคความเดียว
ประโยคความเดียว เอกัตถประโยค คือประโยคที่มีใจความเดียว ซึ่งจะมีประธานเดียว และกริยาเดียว การจำแนกตามบทกริยา คือ ดูรายละเอียดที่บทกริยา แบ่งได้ดังนี้
- ประโยคที่ใช้กริยาไม่มีกรรม เช่น “ม้าวิ่ง” เป็นประโยคเล็กที่สุด ประกอบด้วย ประธาน และกริยา
- ประโยคที่ใช้กริยามีกรรม เช่น “นกเกาะกิ่งไม้” ประกอบด้วย ประธาน กริยา และกรรม
- ประโยคที่ใช้กริยาอาศัยส่วนเติมเต็ม เช่น “การวิ่งเป็นการออกกำลังกาย” ประกอบด้วย ประธาน กริยา และบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม ในที่นี้คำว่า “เป็น” คือกริยาอาศัยส่วนเติมเต็มที่ต้องอาศัยคำว่า “ออกกำลังกาย” เพื่อให้ได้ใจความสมบูรณ์
- ประโยคที่ใช้กริยาช่วย เช่น “ประสิทธิ์ได้เป็นนักร้อง” ประกอบด้วย ประธาน กริยาช่วย กริยา และและบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม โดยคำว่า “ได้” เป็นกริยาช่วย โดยมี “เป็น” เป็นกริยาหลักที่อาศัยส่วนเติมเต็มคือคำว่า “นักร้อง” อีกที
- ประโยคความรวม
ประโยคความรวม อเนกัตถประโยค คือ ประโยคที่รวมประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเข้าด้วยกัน โดยมีสันธานเป็นตัวเชื่อม ยกตัวอย่างเช่น
- “ม้าอยู่ในทุ่งหญ้าและกำลังกินหญ้า” มีประธานตัวเดียวคือ “ม้า” ทำ 2 กริยา คือ “อยู่ในทุ่งหญ้า” และ “กำลังกินหญ้า”
- “ออกซิเจนและไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบของน้ำ” มีประธานสองตัว คือ “ออกซิเจน” และ “ไฮโดรเจน” ทำกริยาเดียวกัน คือ “เป็นส่วนประกอบของน้ำ”
- “เด็กๆ ช่วยกันทำงานจึงเสร็จเร็ว” มี “จึง” เป็นตัวเชื่อม 2 ประโยคเข้าด้วยกัน โดยคำว่า “งาน” เป็นกรรมในประโยคหนึ่ง และเป็นประธานในอีกประโยค คือ “เด็กๆ ช่วยกันทำงาน” และ “งานเสร็จเร็ว”
- ประโยคความซ้อน
ประโยคความซ้อน สังกรประโยค หมายถึง ประโยคที่รวมประโยคความเดียว 1 ประโยคเป็นประโยคหลัก แล้วมีประโยคความเดียวอื่นมาเสริม มีข้อสังเกตคือ ประโยคหลัก (มุขยประโยค) กับ ประโยคย่อย (อนุประโยค) ของประโยคความช้อนมี น้ำหนักไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น
- ความเมตตาของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ต่อพสกนิกรชาวไทย เป็นคุณูปการอันหาที่สุดมิได้
- เมื่อถึงสนามบินดอนเมืองหัวหน้ากลุ่มคนงานไทยตามหลักฐานในบัญชี
ส่วนขยายของประโยค
อย่างที่เราได้บอกไปแล้วข้างต้นว่า ประโยคจะต้องมีส่วนประกอบอื่นมาขยายเพื่อให้มีเนื้อความชัดเจนขึ้น ส่วนที่นำมาขยายประกอบด้วย บทประธาน มีส่วนขยายเรียกว่า บทขยายประธาน บทกริยามีส่วนขยายเรียกว่า บทขยายกริยา บทกรรม มีส่วนขยายเรียกว่า บทขยายกรรม และบทประกอบกริยา ส่วนเติมเต็ม มีส่วนขยายเรียกว่า บทขยายบทประกอบกริยา บทขยายส่วนเติมเต็ม โดยทั่วไปบทขยายจะอยู่หลังและติดกับบทที่ขยาย ได้แก่
- ประโยคที่มีบทขยายประธาน บทขยายประธานอยู่หลังบทประธาน เช่น ทหารเรือว่ายน้ำ
- ประโยคที่มีบทขยายกริยา บทขยายกริยาอยู่หลังบทกริยา เช่น ทหารเรือว่ายน้ำเก่งมาก
- ประโยคที่มีบทขยายกรรม บทขยายกรรมอยู่หลังบทกรรม เช่น นกกินปลาตัวใหญ่
- ประโยคที่มีบทกรรมและบทขยายกริยา บทขยายกริยาอยู่หลังบทกรรม เช่น นกทำรังด้วยเศษไม้
- ประโยคที่มีบทขยายกรรมและบทขยายกริยา บทขยายกริยาอยู่หลังบทขยายกรรม เช่น นกกระจอกทำรังใหญ่ด้วยเศษไม้
- ประโยคที่มีบทขยายบทประกอบกริยาหรือบทขยายส่วนเติมเต็ม บทขยายบทประกอบกริยาอยู่หลังบทประกอบกริยา เช่น เขาเป็นพ่อค้าเพชรพลอย
- ประโยคที่มีบทขยายบทประกอบกริยาและบทขยายกริยา บทขยายกริยาอยู่หลังบทขยายกริยา เช่น บุหรี่เป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างมาก
ข้อสังเกต บทขยายประธานบางทีอยู่หน้าบทประธาน ถ้าใช้วิเศษณ์ที่อยู่หน้านามหรือสรรพนาม เช่น น้อยคนจะชอบกินผักสด หลายคนชอบกินสลัดผัก บทขยายกริยาอยู่หน้ากริยา ถ้าใช้วิเศษณ์ที่อยู่หน้ากริยา เช่น ปลวกค่อย ๆ ทำรังทีละน้อย เมื่อวานนี้ฝนตก
ประโยคที่ใช้ในการสื่อสารมีหลายชนิด ต้องเลือกใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ดังนี้
- ประโยคบอกเล่า คือ ประโยคที่มีใจความเพื่อบอกให้ทราบว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เป็นการแจ้งเรื่องราวให้ทราบ หรือบอกเหตุการณ์ต่างๆ เช่น แม่ของฉันเป็นชาวนา
- ประโยคปฏิเสธ คือ เป็นประโยคที่มีใจความไม่ตอบรับ ตรงกันข้ามกับประโยคบอกเล่าแสดงให้ทราบว่าประธานของประโยคปฏิเสธ มักมีคำว่า ไม่ ไม่ได้ ไม่ใช่ ประกอบในประโยค เช่น ฉันไม่ได้ทำแก้วแตก
- ประโยคคำถาม คือ ประโยคที่มีใจความเป็นคำถามเพื่อต้องการคำตอบ คำที่เป็นคำถามจะอยู่ต้นหรือท้ายประโยคก็ได้ มักมีคำที่แสดงคำถามว่า ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม เช่น รถคันนี้ของใคร
- ประโยคขอร้อง คือ ประโยคที่มีข้อความแสดงความต้องการให้ช่วยเหลือในลักษณะต่างๆมักจะมีคำว่า โปรด กรุณา ช่วย วาน อยู่หน้าประโยค เช่น กรุณารักษาความสะอาด
- ประโยคคำสั่ง คือ ประโยคที่บอกให้ทำ หรือไม่ให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักจะละประธานไว้ เช่น ห้ามเดินลัดสนาม
- ประโยคแสดงความต้องการ คือ ประโยคที่แสดงความอยากได้ อยากมี อยากเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักมีคำว่า อยาก ต้องการ ประสงค์ อยู่ในประโยค เช่น ฉันอยากเป็นครู
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม