รอบรู้เรื่องราวของ กาพย์เห่เรือ
กาพย์เห่เรือ เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง แต่งไว้สำหรับขับร้องเห่ในกระบวนเรือ โดยมีทำนองเห่ที่สอดคล้องกับจังหวะการพายของฝีพาย ว่าช้า หรือเร็ว มักจะมีพนักงานขับเห่หนึ่งคนเป็นต้นเสียง และฝีพายคอยร้องขับตามจังหวะ พร้อมกับการให้จังหวะจากพนักงานประจำเรือแต่ละลำ เรื่องราวของกาพย์เห่เรือ เป็นบทประพันธ์ประเภท 1 ที่สร้างความไพเราะจับใจ และยังใช้ในพิธีการสำคัญของไทยอีกด้วย วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเรื่องราวของ บทประพันธ์ประเภทกาพย์เห่เรือ ซึ่งไม่ได้หมายถึงบทร้องที่อยู่บนเรือเท่านั้น ยังมีเนื้อหาอื่นๆแต่มีลักษณะแบบฉันทลักษณ์ที่ถูกวางเช่นเดียวกันกับกาพย์เห่เรือ ถ้าคุณยังสงสัยอยู่ว่ากาพย์เห่เรือคืออะไรกันแน่ และมีลักษณะรวมไปถึงที่มาอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบให้กับคุณ
กาพย์เห่เรือ คืออะไร และมีที่มาอย่างไร
สันนิษฐานกันว่ากาพย์เห่เรือ เดิมคงจะแต่งเพื่อขับเห่กันเมื่อเดินทางไกลในแม่น้ำลำคลอง แต่ในภายหลังคงมีแต่เจ้านายหรือพระราชวงศ์ชั้นสูง และสุดท้ายมีใช้แต่ในกระบวนเรือของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น สำหรับกาพย์เห่เรือไม่สู้จะนิยมประพันธ์กันมากนัก เนื่องจากถือเป็นคำประพันธ์สำหรับใช้ในพิธีการ คือ ในกระบวนเรือหลวง หรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค ไม่นิยมใช้ในพิธีหรือสถานการณ์อื่นใด การแต่งกาพย์เห่เรือจึงมักแต่งขึ้นสำหรับที่จะใช้เห่เรือจริง ๆ ซึ่งในแต่ละรัชกาล มีการเห่เรือเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น
กาพย์เห่เรือนั้น ใช้คำประพันธ์ 2 ชนิดด้วยกัน นั่นคือ กาพย์ยานี 11 และโคลงสี่สุภาพ เรียงร้อยกันในลักษณะที่เรียกว่า กาพย์ห่อโคลง โดยมักขึ้นต้นด้วยโคลง 1 บท แล้วตามด้วยกาพย์ยานี เรื่อยไป จนจบตอนหนึ่ง ๆ เมื่อจะขึ้นตอนใหม่ ก็จะยกโคลงสี่สุภาพมาอีกหนึ่งบท แล้วตามด้วยกาพย์จนจบตอน เช่นนี้สลับกันไป
บทเห่เรือที่เก่าแก่และได้รับความนิยม จนถือเป็นแบบแผนในการประพันธ์บทเห่เรืออื่น ๆ จนถึงปัจจุบัน คือ “กาพย์เห่เรือ” บทพระนิพนธ์ใน เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือ พระนามที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง พระองค์ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2248 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงอภัยนุชิต
นักกวีที่มีชื่อเสียงจากการแต่งบทประพันธ์ กาพย์เห่เรือ
สำหรับนักกวีที่มีชื่อเสียงในการแต่งบทประพันธ์ประเภทกาพย์เห่เรือ ก็มีอยู่หลากหลายท่าน ซึ่งในวันนี้เราจะขอแนะนำนักกวีเอกของไทย ที่ทรงเป็นทั้งพระมหากษัตริย์ และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของกาพย์เห่เรือ ซึ่งเราก็ยังคงได้ยินบทพระราชนิพนธ์มาจนถึงในยุคนี้
- พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ชมเครื่องคาวหวาน และผลไม้)
- พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ชมสวน ชมนก ชมไม้ และชมโฉม)
- พระนิพนธ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ชมเรือ)
- พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ชมเรือ ชมพระนคร ชมปลา เห่ครวญ เป็นต้น)
- พระนิพนธ์ ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ นิยมใช้เห่ในกระบวนเรือหลวงจนถึงปัจจุบัน
พระนิพนธ์ กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ทรงเป็นกวีเอกในสมัยอยุธยา บทพระนิพนธ์ของพระองค์มีมากมายหลากหลาย เช่น
กาพย์เห่เรือ กาพย์เห่เรื่องกากี กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง นันโทปนันทสูตรค้า
หลวง ฯลฯ ซึ่งผลงานมากมายที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นอัจฉริยะทางด้านกวี และพระองค์ยังทรงมี
ความรู้เรื่องศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และกฎมณเฑียรบาลต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้นเป็นอย่างดี
นอกจากนั้นยังเชี่ยวชาญทางด้านศิลปกรรม โดยได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่กองในการค้าเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน พระที่นั่งต่างๆ ที่สำคัญของสยามประเทศ เช่น การบูรณะพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ วัดพระราม เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงเป็นศิลปินที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีความเชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านทัศนศิลป์ และโสตศิลป์หาใครเทียบได้เลย
เนื้อหาของกาพย์เห่เรือ ประกอบด้วยบทเห่ 4 ตอน
คือ เห่ชมเรือกระบวน เห่ชมปลา เห่ชมไม้ และเห่ชมนก บทเห่ชมเรือกระบวน กล่าวถึงการเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยา กวีบรรยายและพรรณนากระบวนเรือที่งามสง่า ได้แก่ เรือต้นหรือเรือพระที่นั่งและเรือในกระบวน เรือส่วนใหญ่มีโขนเรือหรือหัวเรือเป็นรูปศีรษะสัตว์
บทเห่ชมปลา กล่าวถึงปลา 15 ชนิดเป็นสื่อความรำลึกคิดถึงนาง ได้แก่ ปลานวลจันทร์ ปลาคางเบือน ปลาเพียนทอง(ตะเพียนทอง) ปลากระแห ปลาแก้มช้ำ ปลาน้ำเงิน ปลากราย ปลาหางไก่ ปลาสร้อย ปลาเนื้ออ่อน ปลาเสือ ปลาแมลงภู่ ปลาหวีเกศ ปลาชะแวง ปลาชะวาด
บทเห่ชมไม้ กล่าวถึงไม้ดอกหอม 13 ชนิด ได้แก่ นางแย้ม จำปา ประยงค์ พุดจีบ พิกุล สุกรม เต็ง แต้ว แก้ว กาหลง มะลิวัน ลำดวน และรำเพย โดยเชื่อมโยงถึงนาง
บทเห่ชมนก พรรณนาให้เห็นภาพยามใกล้ค่ำ พระอาทิตย์กำลังลาลับเหลี่ยมเขา สัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกของกวีที่มีจิตจดจ่อคอยหานางที่รัก ขยายความโดยกล่าวถึงนกหลายชนิด ได้แก่ นกยูง นกสร้อยทอง นกสาลิกา นกนางนวล นกแก้ว ไก่ฟ้า นกแขกเต้า นกดุเหว่า นกโนรี และนกสัตวา
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม