ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าซีรีส์ “Squid Game” หรือชื่อไทย “เล่นลุ้นตาย” ซีรีส์ต้นฉบับจาก Netflix จะประสบความสำเร็จมากมายขนาดนี้ สมกับเป็นซีรีส์จากประเทศเกาหลีจริงๆ ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความพีค โดยเฉพาะเรื่องของเนื้อเรื่อง ที่แหกทุกขนบซีรีส์เกาหลีที่เคยมีมา แถมยังได้ “กงยู” มาเป็นนักแสดงรับเชิญ เรียกแขกจากคนดูไปอีก
แต่ซีรีส์เรื่องนี้ก็นำนักแสดงหน้าใหม่หน้าเก่าอีกมากมายมาเล่นด้วยกัน ที่เรียกได้ว่าทั้งนักแสดงหลักและนักแสดงรอง รวมถึงผู้กำกับเป็นที่รู้จักไปแล้วทั่วทั้งโลก แม้กระทั่งในประเทศไทยเองก็ได้รับกระแสไปแบบเต็มๆ มีคนดังมากมายทำคอนเทนท์อีกด้วย ซึ่งวันนี้เราจะวิเคราะห์กันว่าทำไมซีรีส์เรื่องนี้ถึงได้ปังข้ามปีขนาดนี้ มาดูกันเลย
คำเตือน!! บทความต่อไปนี้มีการสปอยเนื้อหาของเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นถ้าอยากอ่านบทความนี้ แบบไม่เสียอรรถรสควรไปรับชมมาก่อน ซึ่งสามารถรับชมได้ทาง Netflix
ก่อนอื่นเลย มาเล่าประวัติให้อ่านกันคร่าวๆว่ามันคือซีรีส์ที่ออกฉายในปี 2022 โดยใช้เวลากว่าจะสร้างได้ถึง 10 ปี จนกลายมาเป็นซีรีส์ที่ตราตรึงใจคนดูไปอีกนาน
ต่อจากนี้จะเป็นการถึงเรื่องย่อของเรื่องนี้ กับเรื่องราวของสังคมเกาหลีที่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด ซึ่งอาจจะเป็นการเล่าสังคมโลกเลยก็ว่าได้ กับการแข่งขันที่มีผู้คนมากถึง 456 คน กับการแข่งขันชิงเงินมหาศาล กับผู้คนที่ประสบปัญหาทางการเงินที่ต่างกรรมต่างวาระ ต่างที่มาต่างที่ไป กับเกมในวัยเด็กของเกาหลีจากน่ารักสดใส กลายเป็นเกมนองเลือดสุดดาร์ก ที่ผู้แพ้จะต้องจ่ายด้วยชีวิตเลยทีเดียว
กับเรื่องราวของตัวละครหลักมากมายเลย เช่น
“กีฮุน” ตัวเอกของเรื่องที่ชีวิตของเขาประสบกับปัญหาหนี้สินและกำลังตกงานในตอนนี้,
“ซังอู” คนที่โตมาในละแวกเดียวกัน เขาจบมาจากมหาวิทยาลัยที่ดี นั่นคือสอบเข้าเรียนคณะบริหาร มหาวิทยาลัยโซล แต่กลับประสบความล้มเหลวในชีวิต เมื่อชีวิตมาถึงจุดเปลี่ยนเขาก็ต้องมาเล่นเกมนี้เช่นเดียวกัน เมื่อเขานั้นดันเป็นหนี้มหาศาล,
“คังแซบยอก” สาวลี้ภัยจากเกาหลีเหนือที่ทำทุกทางเพื่อให้ครอบครัวมาเจอกันอีกครั้ง กับวิกฤติโรคระบาดและเหยื่อของการปกครองเผด็จการ,
“ด็อกซู” นักเลงอันธพาลของเรื่อง ที่มีเรื่องบาดหมางกับคนอื่นไปทั่ว,
“อาลี” พนักงานที่โดนโกงค่าแรง ในย่านแรงงานผิดกฎหมาย เขากระเตงมาจากปากีสถานเพื่อมาอยู่ในเกาหลีใต้,
“จียอง” หญิงสาวที่เติบโตมาในโลกปิตาธิปไตย ที่ศาสนาเปรียบเสมือนฝันร้าย
“โออิลนัม” ชายหนุ่มสูงวัยในเรื่อง ที่เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่มีผลต่อตัวเรื่อง
ซึ่งแต่ละคนนั้นก็มีภูมิหลังที่อยากจะทำให้ผู้ชมหลายต่อหลายคนอยากเอาใจช่วยตัวละคร
1. เนื้อเรื่องเล่าแตกต่างจากขนบซีรีส์ฆ่ากันฟันเอง
ในเรื่องนี้นั้น ไม่ได้มีแค่กลุ่มคนที่ยอมทำตามเกมเพียงอย่างเดียว
เพราะหนึ่งในความสนุกนั่นก็คือ “หวัง จุนโฮ” หนึ่งในตัวละครที่เป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่แอบเข้าไปในเกาะที่จัดการแข่งขันแห่งนี้ เพื่อสืบเสาะหาความจริงถึงที่มาที่ไป และตามหาใครสักคน รวมถึงตัวเอกอย่างกีฮุนที่รอดมาจากเกมมรณะแห่งนี้ เพื่อที่จะแก้แค้นระบบนี้อีกด้วย
2. สะท้อนสังคมถึงความเห็นแก่ตัว
Squid Game ได้นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนที่ต้องมาแข่งเกมกัน โดยไม่สนใจคำว่าเพื่อน พี่น้อง แต่อย่างใด ทุกคนต่างเข้ามาที่นี่ เพื่อที่จะหวังเงินเพียงมหาศาล และมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
ดังนั้นผู้เข้าแข่งขันทุกคนที่เล่นเกมนี้ จึงมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ที่สะท้อนสังคมถึงมุมมองนี้ได้อย่างชัดเจนมาก ในวัยที่ภาระต่างๆ เข้ามาประดุจพายุ ทั้งค่าใช้จ่าย การดูแลคนในครอบครัว เป็นต้น
3. สะท้อนสังคมถึงชนชั้นและโอกาสต่างๆทางสังคม
ผู้ใดมีเงิน ผู้นั้นคือพระเจ้าอย่างแท้จริง ในยุคที่เรียกว่ามีเงินเรียกน้อง มีทองเรียกพี่ ผู้คนเป็นบ้าแทบจะฆ่ากันเพราะเงิน กลายเป็นสัจธรรมทึ่งแม้ผู้คนจะหลบหนีความจริงแค่ไหน ก็หนีมันไม่เคยพ้นอยู่ดี และ Squid Game เล่าถึงมุมนี้ได้อย่างเฉียบขาดและแหวกลึกในทุกมิติ
การไม่มีเงิน ทำให้พลาดโอกาสอะไรหลายๆอย่างในชีวิตไป หรืออาจไม่ต้องตัดสินใจอะไรสิ้นคิด อย่างเช่นซังอูที่คิดจะฆ่าตัวตายหนีทุกอย่างไป หรือคังแซบยอกที่ไม่มีความจำเป็นต้องร้ายขนาดนี้ หรือแม้แต่พระเอกของเรื่องอย่างกีฮุนที่คาแรกเตอร์เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว
ส่วนเรื่องชนชั้น ซีรีส์ก็ไม่พลาดที่จะเล่าถึงพฤติกรรมของคนจนที่ต้องปากกัดตีนถีบ ชนชั้นกลางที่ต้องการยอมรับ คนรวยที่มีอำนาจ เรื่องราวของเงินที่เปลี่ยนนิสัยคนไปตลอดกาล ความเป็นทาสและคอรัปชั่นในสังคมเกาหลี ที่เรียกได้ว่ามีให้เล่าแทบทุกตอน กับความเดือดดาลที่เพิ่มขึ้น กับสิ่งที่มนุษย์ที่ไล่ล่าฆ่าฟันกันเอง จนเลือดไหลเป็นก๊อกน้ำเลยก็ว่าได้ ในสถานที่ที่ทุกอย่างมีแต่กฎ มีความโหดร้ายนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ แถมเรื่องนี้ยังมีประเด็นอื่นๆที่สอดแทรกอีกด้วย เช่น สังคมชายเป็นใหญ่, ศาสนา, การเล่นพรรคเล่นพวก, การเห็นชีวิตคนเป็นของเล่นของคนรวย, สภาวะหมาจนตรอกของตัวละคร เป็นต้น
4. บรรยากาศของความคอนทราสต์ที่ตัดกับโทนของเรื่องที่มืดหม่น
ตัวของซีรีส์ Squid Game มีความฉลาดในการใช้องค์ประกอบต่างๆที่เรียกว่าตรงกันข้ามในการนำเสนอเป็นอย่างยิ่ง
หลักๆเลยก็คือ ในสถานที่ที่จัดงานเกมเป็นเกมตายนี้ กลับมีการตกแต่งด้วยสีสันฉูดฉาด ราวกับหลุดมาจากโรงเรียนอนุบาล อย่างสีเหลือง ชมพู เขียว ฟ้า ที่ดูเหมือนจะสดใสแต่เมื่อมันได้อาบเลือดสีแดงฉานมันก็ดูดาร์กแบบไม่น่าเชื่อ หรือชุดของผู้เข้าแข่งขันสีเขียวที่ตัดกับสีแดงของเลือดได้ดี อย่างต่อมา เกมที่ใช้เล่นนั้นก็เป็นเกมที่เล่นกันในสมัยเด็ก เช่น เกมแกะน้ำตาล เกมลูกแก้ว เกมชักเย่อ หรือ เกมอีไอโอยู หยุด ที่พอเพิ่มความเป็นความตายเข้าไป มันก็สามารถสร้างความกดดันได้ดี ต้องใช้ทุกกลเม็ดเด็ดพรายในการเอาชนะเพื่อเงินรางวัลหลักล้านให้จงได้
5. ซีรีส์สะท้อนสังคมที่อาจมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง
จากการศึกษาหาข้อมูล พบว่า ในซีรีส์สะท้อนสังคมเรื่องนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดจริงมาแล้ว ซึ่งนั่นเกิดขึ้นในเกาหลีอีกด้วย ซึ่งในซีรีส์ว่าหม่นแล้ว ของจริงนั้นหม่นกว่ามาก โดยจุดเริ่มต้นมาจาก “ชอน ดูฮวาน” ผู้นำประธานาธิบดีฝ่ายเผด็จการได้ทำการรัฐประหาร ได้สร้างศูนย์พักพิงแห่งหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้คนเร่ร่อน คนไม่มีงานทำ หรือคนไร้บ้านมาอยู่ที่นี่ เพื่อมอบความรู้ ทักษะ และสิ่งบันเทิงพักผ่อน รวมถึงโบสถ์ และคนในนั้นมีการแต่งตัวและใส่ชุดติดตัวเลขอยู่จริง เหมือนกับในซีรีส์
แต่ในความเป็นจริงมันยิ่งกว่าคุก เพราะทุกคนจะต้องทำตามกฎ ภายใต้การปกครองที่โหดเหี้ยม มีการทารุณ มีการลงโทษถึงตาย มีลำดับชั้น ซึ่งไม่มีใครสามารถหนีได้ เพราะกำแพงที่สูงชันรวมถึงลวดไฟฟ้า แต่ทว่ารัฐบาลได้สร้างภาพหลอกลวงว่าเป็นที่ๆดี สามารถสร้างอาชีพได้ แต่ทว่าสถานที่แห่งนี้มีการถูกแฉเชื่อมโยงถึงนักการเมืองเป็นผลประโยชน์ในหลากมิติ หลังจากที่ถูกอัยการฟ้อง จนกระทั่งเรื่องราวแห่งความจริงถูกนำออกมาสู่สายตาประชาชนในที่สุด
6. กระแสที่ดีของเรื่องที่ถึงแม้ว่าซีรีส์จะจบแต่คนไม่จบ
อย่างที่เล่าไปว่า ซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้นั้นมีการนำเสนอในเชิงตรงกันข้าม ทำให้เป็นที่น่าสนใจในมุมคนดูมาก
เช่น เกมแกะนำตาลที่กลายเป็นความฮิต หรือชุดของผู้เข้าแข่งขันที่มีการสั่ง มีการตัดชุดมาใส่ กลายเป็นแฟชั่นในช่วงนั้นเลยก็ว่าได้ หรือถึงขั้นมีการวิเคราะห์กันอย่างจริงจังเลยว่า ถ้าได้เข้าไปเล่นเกมแบบนั้น สถานที่แบบนั้น จะเอาวิธีแบบไหน ใช้รูปแบบไหนในการเอาชนะ หรือแม้แต่สรรหาวิธีการโกง ที่เรียกว่าสนุกสนานกันเลยทีเดียว หรือแม้แต่นักแสดงเองที่มียอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียเพิ่มเยอะมากๆ จนมีโอกาสในการทำงานสายบันเทิงอีกยาวไกล เช่น “จองโฮยอน” เป็นต้น
7. กระแสตอบรับที่ดีในเมืองไทย
ใช่ว่าที่ต่างประเทศจะให้กรตอบรับเป็นอย่างดี เกี่ยวกับซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ ประเทศไทยเองก็มีกระแสตอบรับที่ดีเหมือนกัน หลักๆเลยก็คืออย่างอินฟลูเอนเซอร์เจ้าของ YouTube Channel นามว่า “SpriteDer SPD” และ “My Mate Nate” ที่ได้จัดกิจกรรมรวมพลคนมากมายมาเล่นเกมในชีวิตจริง เพื่อชิงเงินกันจริงๆ
ส่วนอีกคนหนึ่งที่มีเจ้าของ YouTube Channel นามว่า “Tongtang Family TV” ก็ได้ปล่อยเพลง “โกโกวา” ที่มาจากเพลงที่ใช้ใน Squid Game อย่าง “มู กุง ฮวา โก ชี พี ออด ซึม นี ดา” ซึ่งคำว่าโกโกวามันเป็นคำที่ผิดเพี้ยนนั่นเอง
8. ผลตอบรับที่ดีจาก Squid Game
เนื่องจากกระแสที่ดีเกินคาดจึงทำให้มี Squid Game ภาค 2 ที่ตอนนี้มีคำประกาศออกมาจากทาง Netflix อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการสร้าง และการถ่ายทำ และในตอนนี้ก็มีการรับสมัคร ผู้เล่น Squid Game ที่คราวนี้เป็นคอนเทนท์ออริจินัล ที่ผู้เล่นต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้
- สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้
- มีอายุ 21 ปี ขึ้นไป
- มีเวลาเข้าร่วมการแข่งขันสูงสุด 4 สัปดาห์
- มีพาสสปอร์ตที่ยังไม่หมดอายุในช่วงการแข่งขัน และต้องเดินทางไปแข่งขันในที่ต่าง ๆ ได้
- ไม่มีความเกี่ยวเนื่องแต่ประการใดเกี่ยวกับพนักงานใน Netflix
ซึ่งในปัจจุบันก็มีการเปิดรับสมัครอยู่ หากผู้อ่านสนใจก็สมัครเข้าแข่งขันเกมนี้ได้ ซึ่งเกมนี้มีเงินรางวัลสูงถึง 160 ล้านบาทเป็นเดิมพัน โดยมีการใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Squid Game: The Challenge”
เป็นอย่างไรกันบ้างกับบทความเกี่ยวกับ Squid Game ที่ผู้เขียนตั้งอกตั้งใจนำมารีวิวแบบทุกแง่มุม เรียกได้ว่าใช้เวลา ใช้แรงกาย แรงใจในการหาข้อมูลและไปดูมาเองอยู่นานพอควรเลย เพื่อคุณผู้อ่านทุกคนโดยเฉพาะเลย ด้วยทั้งหมดทั้งมวลของเหตุผลที่กล่าวไป ก็คงจะเป็นเหตุผลว่าทำไมซีรีส์เรื่องนี้ถึงได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง เชื่อว่าในปัจจุบันก็น่าจะยังมีคนย้อนกลับไปดูอยู่เลย กับคำว่าประสบความสำเร็จที่มาไกลจนถึงกระทั่ง กำลังจะมีภาค 2 และในตอนนี้กำลังจะมีคอนเทนท์จาก Netflix นั่นคือการแข่งเกมแบบจริงจังอย่างที่เล่าไป ชิงเงินรางวัลกันจริงๆ อีกด้วย ผู้เขียนเชื่อว่ากระแสของเรื่องนี้จะต้องดัง ต้องปังแน่นอน และความนิยมจะต้องไม่จบที่ปีนี้แน่ๆ
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎