ในสิบกว่าปีที่ผ่านมามีมหากาพย์หนังอยู่เรื่องหนึ่งที่พลิกสายตาคนดูไปอย่างไม่น่าเชื่อ นานแล้วที่ไม่ได้เห็นหนังไล่ล่าฆ่าฟันกันเองที่ครบรสขนาดนี้ ที่ไม่ได้มีดีแค่นั้น มันมีอะไรที่มากกว่านั้นในหลายมิติเลยทีเดียว มันไม่ได้มีดีแค่ความแฟนตาซี หรือความหวือหวา แต่มันสะท้อนถึงความเป็นการเมืองการปกครองได้ชัดเจนที่สุดเรื่องหนึ่ง และหนังออกมาเป็น 3 เรื่องและแบ่งออกเป็น 4 ตอน ทำให้เราสามารถอินตามตัวละครได้ดี สืบเนื่องมาจากส่วนหนึ่งตัวละครไม่ได้มีเยอะ แต่อย่างไรก็ดี เนื้อเรื่องของมหากาพย์นี้ก็ช่างน่าติดตามเหลือเกิน รวมถึงมันได้ซ่อนนัยยะอะไรหลายๆอย่าง ให้น่าแกะ ให้น่าวิเคราะห์อีกด้วย ถ้าผู้อ่านพร้อมแล้วก็มาอ่านไปพร้อมกัน
คำเตือน! บทความนี้มีการเผยของเนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ทั้ง 4 ตอน หากต้องการอ่านแบบไม่เสียอรรถรส กรุณาไปรับชมมาก่อนผ่านทาง Netflix
เนื้อเรื่องย่อของ Hunger Games
เรื่องราวของ “Hunger Games” หรือ “เกมล่าเกม” เป็นเรื่องราวที่เกิดจากนวนิยายขายดี กลายเป็นเรื่องราวมหากาพย์เกมล่าเกมที่ได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบัน โดยที่ประชากรเหล่านั้น อาศัยอยู่ใน “พาเน็ม” ที่มีขนาดใหญ่มหึมา แบ่งเป็นเขต 13 เขตอย่าง “แคปปิตอล” จนกระทั่ง เขต 13 ได้ลุกฮือขึ้นมาประท้วง จนเกิดความโกลาหลเกิดขึ้น จนทำให้เกิดการปฏิวัติเกิดขึ้น ทำให้เขต 13 ต้องถูกยุบตัวไป เพื่อป้องกันการสูญเสียอำนาจจึงเกิดการแข่งขันเกมล่าเกมเกิดขึ้น โดยมีตัวแทนจากเขตจาก 12 เขตที่เหลือ ซึ่งแต่ละเขตก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป และฐานะที่แตกต่างกันไป แต่ละเขตก็ต้องส่งตัวแทนที่เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน เข้าร่วมเกมล่าชีวิต ซึ่งในครั้งนี้ได้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 74 แล้ว ซึ่งก็มีพระเอกและนางเอกที่ดำเนินเรื่องหลักๆอย่าง “แคตนิส เอเวอร์ดีน” และ “พีต้า เมลลาร์ก” เข้าร่วมด้วย นำไปสู่การแข่งขันไล่ล่าฆ่าฟันกันเองอันสุดแสนดุเดือด
Hunger Games ที่เปรียบแคปปิตอลเสมือนประเทศหนึ่งประเทศ
อย่างที่ทราบกันว่า ในโลกของ Hunger Games มันมีการจำลองโลกแห่งความจริงมาสู่การจำลองประเทศ 1 ประเทศ นั่นคือในแคปปิตอล ก็จะมีเขตต่างๆทั้งสิ้น 12 เขต ซึ่งแต่ละเขตจะทำหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนี้
เขต 1 – อุตสาหกรรมเครื่องประดับ
เขต 2 – อุตสาหกรรมอาวุธและการทหาร
เขต 3 – อุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์
เขต 4 – อุตสาหกรรมประมง
เขต 5 – อุตสาหกรรมไฟฟ้า
เขต 6 – อุตสาหกรรมยานพาหนะ
เขต 7 – อุตสาหกรรมป่าไม้
เขต 8 – อุตสาหกรรมสิ่งทอ
เขต 9 – อุตสาหกรรมปลูกข้าว
เขต 10 – อุตสาหกรรมปศุสัตว์
เขต 11 – อุตสาหกรรมเกษตรกร
เขต 12 – อุตสาหกรรมเหมืองแร่
นอกจากนี้ 12 เขตนี้ห้ามติดต่อกันเองด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิวัติขึ้นมา ซึ่งความเป็นจริงแล้วในแคปปิตอลแห่งนี้กลับมี 13 เขตแต่ทว่าผู้คนในเขตนั้นกลับลุกฮือประท้วง จนทำให้แคปปิตอลต้องลงดาบจนประชาชนในเขตต่างๆคิดว่าเขต 13 โดนยุบไปแล้ว แต่ความจริงแล้วเขตนั้นยังอยู่และรอโอกาสในการที่จะลุกฮือเพื่อที่จะต่อสู้อีกครั้ง
ความสุขชั่วคราวแลกความทุกข์ถาวร ของเหล่าผู้เล่นและคนดู
ในหนังเรื่อง Hunger Games มีการจี้จุดอย่างหนึ่งตรงที่ว่า ในภาคแรกก่อนเกมล่าเกมครั้งที่ 74 ได้เริ่มต้นขึ้น แคตนิสและพีต้าได้ถูกจับขึ้นรถไฟไป ในนั้นเต็มไปด้วยความสุขมากมายหนึ่งในนั้นมีอาหารชั้นดีให้ได้กินกัน ราวกับว่ามันจะเป็นความสุขครั้งสุดท้าย รวมถึงในหนังได้มีการหยิบนำเสื้อผ้าที่สวยงาม เต็มไปด้วยรายละเอียดให้ได้ตาลุกวาวกันไปตามๆกัน
เมื่อการเข่นฆ่ากันเอง กลายเป็นกีฬา กลายเป็นความบันเทิงของคนดู
คงไม่ใช่เรื่องที่ดีซะเท่าไหร่ หากคนในสังคมจะมองการเข่นฆ่าฟันกันเองเป็นเพียงแค่ความสนุก ใครจะตาย ใครจะไม่ตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมด้วย ที่เห็นมันเป็นเพียงของเล่น เป็นเพียงแค่ความบันเทิงเท่านั้น แม้ว่ามันจะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่การปฏิวัติของประชาชนในนั้นก็ตาม จากการบริหารของ “ประธานาธิบดี สโนว์” ผู้อยู่เบื้องหลังเกมล่าเกมสุดโหดนี้ จากข้อมูลของหนังเล่าว่าเกมนี้ถูกจัดแล้ว 73 ครั้งก่อนที่ แคตนิสจะเข้าร่วมการแข่งขันเกมล่าเกมครั้งที่ 74 และครั้งที่ 75 อีกด้วย เธอเองก็นับได้ว่าคือเหยื่อของการปกครองแบบเผด็จการ รวมไปถึงผู้นำที่กดขี่ข่มเหง ประชาชนมองไม่เห็นลู่ทางของชีวิตที่ดี เช่นแคตนิสที่ต้องล่าอาหารมากินเอง เพราะไม่อยากตกเป็นเครื่องมือของแคปปิตอล กับชีวิตที่ยากลำบากในเขตๆนั้น กับชีวิตของวัยรุ่นที่ต้องมาถูกสังเวย
เกมล่าเกม ที่กลายเป็นธุรกิจและเกมทางการเมือง
จากใน Hunger Games ในเกมล่าเกมมันจะมีการหาสปอนเซอร์จากเหล่าบรรดานายทุนต่างๆ ให้เหล่านายทุนมาสนใจในตัวผู้เข้าแข่งขัน ดังที่เห็นในเกมก็จะมีการฝึกฝนถึงศาสตร์การต่อสู้ต่างๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากนายทุน เช่นเดียวกับแคตนิสก็ต้องมีเอี่ยวกับสิ่งนี้เหมือนกันเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดจากเกมนรกนี้ไปให้ได้ พีต้าเองก็ใช้ช่องทางตรงนี้ในการสร้างข่าวเพื่อเรียกเรทติ้งจากแฟนคลับอีกด้วย เช่น ข่าวที่แคตนิสกำลังท้องลูกของพีต้าก็ได้รับความสนใจอย่างมากเลยทีเดียว หรือแม้กระทั่งการที่แคตนิสได้สร้างกระแสจนประชาชนมีความคิดที่จะลุกฮือประท้วงขึ้นมาอีก และด้วยการที่กลัวจะเสียอำนาจจึงเกิดการสร้างเกมล่าเกมขึ้นมาอีก ในขณะที่ทหารของแคปปิตอลทำร้ายประชาชนตาดำๆอย่างเลือดเย็น
การถูกเปลี่ยนสถานะจากเหยื่อกลายมาเป็นผู้ล่า และโฆษณาชวนเชื่อที่ส่งผลต่อเรื่อง
ใน Hunger Games ได้ซ่อนความเป็นหนังการเมืองไว้อีกอย่างหนึ่งนั่นคือเรื่องของ Propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อนั่นเอง ซึ่งมันได้ซ่อนการโกหกเอาไว้หลายต่อหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่เขต 13 ที่ในข่าวแจ้งว่ามันได้ถูกยุบให้หายไป แต่ความจริงคือมันยังคงมีอยู่และรอวันเอาคืน รวมถึงหลังจากที่สถานการณ์เกินการควบคุม พีต้าผู้มีชีวิตรอดจากเกมล่าเกมครั้งที่ 75 ก็ได้ถูกล้างสมองและได้บอกถึงโฆษณาชวนเชื่อถึงข้อดีของแคปปิตอล ให้ทำการล้มเผด็จการในคราวนี้ยากลำบากมากขึ้นไปอีก หรือแม้แต่แคตนิสเองก็ต้องจำใจเล่นบทอวยแคปปิตอล เมื่อเธอถูกบีบให้เสียเปรียบ กว่าจะได้การปกครองแบบประชาธิปไตยในภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นช่างยากเย็นเหลือเกิน
รวมไปจนถึงการที่ทีมของแคตนิสต้องใช้เวลาในการไปเจรจากับเขตอื่นๆ เพื่อให้เป็นกองกำลังสำคัญในการโค่นล้มระบบเผด็จการ เช่น เขต 5 ที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีการทำลายเขื่อนเกิดขึ้น หรือแม้แต่ประชาชนจากเขต 2 ที่เป็นตัวแทนจากอุตสาหกรรมอาวุธและการทหาร ที่ตอนแรกยังคงภักดีกับแคปปิตอลอยู่ แต่ภายหลังก็ได้ตาสว่างและร่วมมือกวาดล้างระบบให้สิ้นซากไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าในตอนที่ 3 ประธานาธิบดีสโนว์ไม่เหิมเกริมจนแคตนิสทนไม่ไหว ประกาศตัวเองว่าเป็นศัตรูอย่างเป็นทางการ และแรงแค้นนี้ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันถาโถม จนแคตนิสกลายเป็นเหมือนไอคอนของประชาชนไปโดยปริยาย
ความสัมพันธ์ของตัวละครและการมองเห็นถึงคุณค่าในตัวเพื่อนมนุษย์
ในเรื่อง Hunger Games ก็มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ของแคตนิส พีต้า และ “เกล” ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้นมา แต่ทว่าในทีมเดียวกันก็มีความคิดเห็นที่ต่างกัน หนึ่งในนั้นก็คือแนวคิดและทัศนคติในการปฏิวัติ หลักๆเลยก็คือการที่เกลนั้นมองถึงการปฏิวัติเท่านั้น ไม่ได้สนใจชีวิตของประชาชนเลย แต่แคตนิสกลับมองต่างออกไป เธอกลับมองว่าชีวิตของผู้คนนั้นมีค่าเหมือนกันหมด
หรือประธานาธิบดีสโนว์ที่ไม่ได้เห็นหัวประชาชน ทำทุกอย่างเพื่อตัวของตัวเอง ทั้งการออกเกมล่าเกมเพื่อให้ประชาชนเข่นฆ่ากันเอง รวมถึงการออกกฎอัยการศึกกับเหล่าบรรดาคนเห็นต่างทางความคิด
หรือตัวละครที่ร้ายที่สุดคือ “คอยน์” ผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายดีมาตลอด แต่ความจริงแล้วเธอนั่นแหละที่กำลังจะกลายเป็นสโนว์ผู้มีแผนชั่วที่จะทำให้แคปปิตอลตกต่ำ จึงถูกแคตนิสยิงธนูใส่จนตายในที่สุด
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับมหากาพย์หนังเรื่อง Hunger Games เกมล่าชีวิตนี้ ที่กินเวลาไปถึงที่ 4 ตอนซึ่งตอนนี้ก็มีให้ชมกันผ่านทาง Netflix แล้ว ใครที่เคยดูแล้วก็อยากให้ไปซ้ำกัน หรือใครที่ยังไม่เคยดูก็อยากจะให้หามาดูสักครั้ง ก็เป็นการดีไม่น้อยสำหรับหนังการเมืองที่เคลือบความแฟนตาซีขนาดนี้ เห็นถึงสันดานดิบมนุษย์โดยแท้จริง ทั้งการหักหลัง มิตรภาพ ความเป็นเพื่อน รวมไปจนถึงการร่วมด้วยช่วยกันของผู้คนที่โค่นล้มระบบเผด็จการให้ได้
ภายใต้หนังอลังการเรื่องนี้ Hunger Games ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญของหนังระดับโลกเช่นเดียวกัน ที่สร้างแรงกระเพื่อมและกระแสได้มากขนาดนี้ ขนาดที่มีภาครวมกันถึง 4 ตอนเลยทีเดียว ซึ่งนั่นแหละคือเหตุผลว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงเป็นอีกเรื่องที่อยากจะแนะนำ
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎