หลังจากที่ได้เรียนวิชาภาษาไทยกันก็เนิ่นนานแล้ว หลายคนเคยสงสัยไหมคะว่าทำไมพยัญชนะไทยมีตั้ง 44 ตัว บางคนอาจตอบเพียงว่า ‘เพราะพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์มันขึ้นมาให้มีเท่านี้ค่ะพี่’ แต่ความจริงมีอะไรมากกว่านั้น ทำไมเราจำเป็นต้องมีพยัญชนะไว้ใช้เยอะขนาดนั้น แล้วในปัจจุบันเราใช้พยัญชนะผสมคำกันทุกตัวไหม วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันค่ะว่าพยัญชนะไทย 44 ตัวนี้ มีที่มาอย่างไรบ้าง
ความเป็นมาของพยัญชนะไทย
หากเราจะพูดถึงตั้งแต่ต้น คงไม่พ้นต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่พ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘พยัญชนะไทย’ นั้นเอง
ทั้งนี้กำเนิดพยัญชนะไทยของเราในสมัยแรกนั้น มีนักวิชาการหลายคนสันนิษฐานว่า การประดิษฐ์อักษรไทยดังกล่าว ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมด้านการเขียนจากมอญ โดยอาศัยตัวอักษรมอญและขอมเป็นต้นแบบ ดังหลักฐานจารึกที่ปรากฏในวัดกานโถมที่มีลักษณะการเขียนที่คล้ายคลึงระหว่างอักษรไทยและมอญ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าคนไทยยืมอักษร มาดัดแปลงเปลี่ยนเป็นอักษรไทยเพื่อใช้เขียน ในช่วงราว ๆ พ.ศ. 1820 – 1860
คำถามต่อมา : ทำไมต้องรับอักษรมอญและขอมมาเป็นต้นแบบ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมจึงต้องเป็นอักษรมอญและขอม เป็นอักษรอื่นเป็นต้นแบบไม่ได้เหรอ เหตุผลเป็นเพราะไทยในช่วงก่อนสมัยสุโขทัยเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจของพวกขอมโบราณ มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ไทยต้องเรียนรู้ภาษาขอมหวัดเพื่อใช้ในทางราชการ ซึ่งในภายหลังอำนาจขอมก็เริ่มอ่อนแอลง ไทยจึงสามารถตั้งต้นเป็นอิสระ จนคิดค้นและประดิษฐ์อักษรไทยใช้เองค่ะ
ในช่วงยุคเริ่มแรกนั้น พยัญชนะไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ มีเพียงแค่ 39 ตัวเท่านั้น ซึ่งพบได้จากศิลาจารึกหลักที่ 1 ดังภาพนี้ค่ะ
ทั้งนี้พยัญชนะไทยอีก 5 ตัวที่ไม่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้แก่ ฌ ฑ ฒ ฬ ฮ ซึ่งประดิษฐ์ใช้ในภายหลัง หลังจากรับคำจากภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้สร้างคำเพิ่มเติม เช่น คำว่า นาฬิกา จุฬา เป็นต้น
หน้าที่ของพยัญชนะไทย เมื่อจัดแบ่งตามหมู่
เมื่อคนไทยเริ่มใช้อักษรไทยเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง รูปร่างสัณฐานตัวอักษรไทยก็เริ่มมีรูปลักษณ์คล้ายกับยุคปัจจุบันมากขึ้น และก็เริ่มเกิดแบบเรียนภาษาไทยเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า ‘จินดามณี’ ขึ้น ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกที่จัดจำแนกหมวดหมู่ของตัวอักษรเพื่อใช้ผสมเสียงและคำออกมาแตกต่างกันไป
พยัญชนะไทย 44 ตัวที่ว่านี้ ยังสามารถจำแนกเป็น 3 หมู่ หรืออีกชื่อที่เราเรียกกันว่า ‘ไตรยางค์’ ได้แก่อักษรเสียงสูง อักษรเสียงกลาง และอักษรเสียงต่ำ เพื่อประกอบเป็นคำ พร้อมกับวรรณยุกต์แล้ว จะสามารถออกเสียงถูกต้อง
ชุดอักษรเสียงสูง
ได้แก่ ผ ฝ ฐ ถ ข ฃ ศ ษ ส ห ฉ
เมื่อนำอักษรดังกล่าวมาประกอบเป็นคำแล้วใส่วรรณยุกต์ จะสามารถไล่ได้ทุกระดับเสียง ตั้งแต่เสียงสามัญ ถึงเสียงจัตวา โดยต้นเสียงของตัวอักษรประเดิมด้วยเสียงจัตวาเป็นหลัก (เว้นแต่ว่าคำดังกล่าวสะกดด้วย 3 แม่ตัวสะกด ได้แก่ แม่กก แม่กด และแม่กบ เช่น สด หก ศพ เป็นต้น)
ชุดอักษรเสียงกลาง
ได้แก่ ก จ ฎ ด ฏ ต บ ป อ
ชุดตัวอักษรดังกล่าวจะประเดิมด้วยเสียงสามัญ ซึ่งสามารถไล่เสียงวรรณยุกต์เฉกเช่นเดียวกับชุดอักษรเสียงสูง
ชุดอักษรเสียงต่ำ
ได้แก่ พ ภ ค ฅ ฆ ฟ ฑ ฒ ท ธ ซ ช ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล
ชุดตัวอักษรประเภทสุดท้าย ที่เมื่อประกอบกับวรรณยุกต์ จะให้เสียงสูงสุดได้ถึงเสียงตรีเท่านั้น เช่นคำว่า ว้า ค้า หากต้องการให้ชุดอักษรเสียงต่ำสามารถออกเสียงจัตวาได้ สามารถนำมาประกอบกับตัวอักษรเสียงสูง เช่นคำว่า หวา สวาปาม ถวาย เป็นต้น
คำถามต่อมา : ทำไมยังต้องแบ่งอักษรเป็น 3 หมู่อยู่ ทั้งที่มีวรรณยุกต์ไว้ใช้แล้ว
เหตุผลก็เพราะว่า ในสมัยสุโขทัยกระทั่งถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง มีวรรณยุกต์ไว้ใช้เพียง 3 เสียง เท่านั้น นั่นคือ เสียงสามัญ เอก โท โดยหากต้องการเสียงจัตวา ต้องนำไปผสมกับชุดตัวอักษรเสียงสูง เพื่อให้ได้เสียงและคำที่ต้องการ ส่วนการทำให้เกิดเสียงตรี จะเกิดเมื่อใช้วรรณยุกต์เสียงโท กับชุดอักษรเสียงต่ำ และเมื่อใช้มาตราตัวสะกดแม่กก แม่กด และแม่กบ จึงจะได้เสียงที่ต้องการ ภายหลังมีการประดิษฐ์รูปวรรณยุกต์เสียงตรีและจัตวาขึ้นมา ทำให้การไล่เสียงเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น แต่การผสมคำแบบอักษรสามหมู่แบบเดิม ก็ยังส่งต่อมาให้เราใช้จนถึงปัจจุบัน
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
วิโรจน์ ผดุงสุนทรารักษ์. (2540). อักษรไทยและอักษรขอมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยารามคำแหง
อิงอร สุพันธุ์วณิช. (2550). วิวัฒนาการอักษรและอักขรวิธีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2
กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อักษรกลาง อักษรสูง อักษรต่ำคืออะไร ประกอบไปด้วยตัวอะไรบ้าง?.
สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2565, จาก https://bit.ly/3Q9kFPp
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม