(ขอขอบคุณภาพจาก https://www.gurneys.com/product/mixed_caladiums)
มาทำความรู้จักกับ บอนสี ไม้ประดับสุดฮิต
บอนสี ไม้ประดับสุดฮิต ที่ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบต้นไม้ หรือคนทั่วไปก็ต้องรู้จัก เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่อยู่ติดบ้านกันมานาน หลาย ๆ คนจึงหันมาแต่งบ้านเปลี่ยนบรรยากาศ และเริ่มหาพันธุ์ไม่แต่งบ้าน เพื่อเติมเต็มบ้านให้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งเจ้าบอนสีก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีมาก เพราะเหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา ปลูกไม่ยาก นอกจากนี้ยังมีบอนสีด่างกับราคาสุดแรงที่จะมาเพิ่มความฮิตของต้นไม่ชนิดนี้ขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้แหละทำให้เรานำเรื่องประเภทต่าง ๆ ของบอนสีมาฝากกัน เผื่อใครจะไปหามาปลูกจะได้มีข้อมูลแน่น ๆ ไว้ประกอบการตัดสินใจ
บอนสี (Caladium) หรือเมื่อก่อนรู้จักกันในชื่อ บอนฝรั่ง เป็นไม้ประดับที่มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา ซึ่งภายหลังยุคล่าอาณานิคมก็ได้มีการแพร่หลายไปทั่วทวีปยุโรป และได้นำเข้ามาในประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 โดยชาวยุโรป ด้วยความสวยงามของลวดลายบนใบ และสีสันที่มีมากมายละลานตา ทำให้บอนสีถูกเรียกว่า ราชินีแห่งไม้ใบ กันเลยทีเดียว บอนสีเป็นไม้ล้มลุก มีลักษณะเป็นหัวไว้สะสมอาหารอยู่ใต้ดินเหมือนมันและเผือก มีก้านใบยาว แตกใบเป็นกอ ซึ่งจะมีรูปร่างและลวดลายแตกต่างกันออกไป
บอนสีเป็นไม้ประดับที่ชอบอากาศที่ถ่ายเทสะดวก มีความชื้นสูง อุณภูมิประมาณ 21-35 องศาเซลเซียส ต้องการแสงพอประมาณไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป เพราะจะมีผลกับสีของใบได้ การรดน้ำก็รดเพียงพอประมาณ ความต้องการน้ำอยู่ในระดับปานกลาง ด้วยความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศ ความชื้น แสงแดด และการดูแลที่ไม่ยาก ทำให้บอนสีเป็นที่นิยมมาอย่างยาวนานในไทย แล้วยิ่งยุคนี้ที่คนหันมาสนใจต้นไม้กันมากขึ้น บอนสีจึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรก ๆ ของหลายคนอย่างแน่นอน
เจาะลึกข้อมูลที่ต้องรู้ ประเภทของบอนสี ความแตกต่างของแต่ละประเภท ที่เดียวครบจบทุกเรื่อง
หลังจากที่รู้ข้อมูลเบื้องต้นของของบอนสีกันไปแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาของการเจาะลึกประเภทของบอนสี เป็นการประกอบการตัดสินใจในการเลือกบอนสีที่ถูกใจ และเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้ปลูก เพราะบอนสีแต่ละประเภทนอกจากที่จะมีลักษณะใบ ลาย สี และความสวยงามที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกันออกไปด้วย บางประเภทอาจจะไม่ต้องดูแลอะไรมาก แต่บางประเภทอาจต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษ ซึ่งการแบ่งประเภทของบอนสีมีการจำแนกอยู่สองแบบ คือ จำแนกตามรูปใบ และจำแนกตามสีใบ
การจำแนกแบบแรกอย่าง การจำแนกตามรูปใบ การจำแนกแบบนี้จะแบ่งบอนสีออกได้เป็น 5 ประเภท คือ บอนใบไทย บอนใบยาว บอนใบกลม บอนใบกาบ และบอนใบไผ่ ส่วนการจำแนกแบบที่สอง การจำแนกตามสีใบ ซึ่งจะแบ่งบอนสีได้ 4 ประเภท คือ บอนไม่กัดสี บอนกัดสี บอนป้าย และบอนด่าง เมื่อรู้ข้อมูลประเภทแบบคร่าว ๆ กันแล้ว ก็ไปดูข้อมูลแบบเจาะลึกกันเลย เริ่ม!
การจำแนกบอนสีตามรูปใบ
- บอนใบไทย (Thai-Native Leaf Caladium)
(ขอขอบคุณภาพจาก https://www.kasetsanjorn.com/3620/)
บอนใบไทย เป็นบอนสีที่มีในไทยมานานมาก เป็นประเภทที่คนนิยมปลูก และเห็นได้บ่อย ๆ เพราะมีสีสันที่สวยงาม โดยจะมีลักษณะใบคล้ายรูปหัวใจ บอนใบไทยจะมีขนาดใบค่อนข้างใหญ่ ใบดกและไม่ทิ้งใบ ส่วนปลายใบมีทั้งแบบปลายเรียวแหลม ปลายแหลมปกติ และปลายมน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของบอนสี ก้านใบกลม มีขนาดใหญ่ อยู่กึ่งกลางใบ หูใบไม่ฉีกจนถึงสะดือ สะดือที่คนปลูกบอนเขาเรียกกันคือ จุดต่อของก้านและใบ ซึ่งเป็นจุดรวมเส้นใบของบอน บอนชนิดนี้เลี้ยงไม่ยาก ไม่ต้องดูแลมาก เพียงแค่ตั้งบอนให้อยู่ในพื้นที่ที่มีแดดไม่จัด แต่ได้รับแดดตลอดวัน พยายามทำให้ดินชุ่มชื้นอยู่ตลอด บอนสีพันธุ์ที่เป็นบอนใบไทย ได้แก่ พลายชุมพล พระยาเศวต ภูพิงค์ ม่านนางพิม สกุนตลา สร้อยแสงจันทร์ เป็นต้น
- บอนใบยาว (Long-Leaf Caladium)
(ขอขอบคุณภาพจาก https://www.myhomenature.com/caladium-pink-symphony-caladium-bicolor.html)
บอนใบยาว เป็นบอนสีอีกชนิดที่เราเห็นกันได้บ่อย ๆ ใบบอนชนิดนี้จะมีลักษณะคล้ายบอนใบไทยเป็นรูปหัวใจไปจนถึงรูปไข่ แต่ใบจะเรียวยาวกว่า ปลายใบแหลม หูใบสั้นกลมฉีกจนถึงสะดือ ก้านใบกลมออกจากโคนใบ มีรอยหยักบริเวณโคนใบ ส่วนการเลี้ยงดูบอนใบยาวก็สามารถเลี้ยงแบบปกติได้เลย โดยวางกระถางปลูกในบริเวณที่ได้รับแสงรำไรตลอดทั้งวัน รองน้ำในจานรองใต้กระถาง เพื่อให้ดินชุ่มชื้นและได้รับน้ำตลอดวัน หมั่นเช็ดใบบอนเป็นประจำ เพื่อให้ได้ใบที่สวยงามอยู่ตลอดเวลา บอนสีพันธุ์ที่เป็นบอนใบยาว ได้แก่ กรวยทอง กวนอิม ก้านกล้วย จักรราศี เจ้าหญิง ไชยปราการ ทรัพย์ประเสริฐ เป็นต้น
- บอนใบกลม (Round-Leaf Caladium)
(ขอขอบคุณภาพจาก https://www.thainewsonline.co/lifestyle/824058)
บอนใบกลม เป็นบอนสีที่เกิดขึ้นจากคนไทยนี่เอง ทำโดยการผ่าหัวขยายพันธุ์บอนใบไทย พอนำมาปลูกก็ได้บอนสีในรูปลักษณ์ที่ต่างออกไป ได้เป็นบอนสีชนิดใหม่ที่ใบมีลักษณะค่อนข้างกลม ปลายใบมน หรืออาจจะมีติ่งแหลมก็ได้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีก้านใบกลมอยู่กึ่งกลางใบ คล้ายกับใบบัว บอนชนิดนี้เลี้ยงค่อนข้างยาก คนมักจะนิยมเลี้ยงไว่ในตู้อบหรือในกระโจม เนื่องจากตู้อบจะมีความร้อนชื้นที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของบอน แล้วยังช่วยป้องกันแมลงมากินใบบอนสีได้ด้วย บอนสีพันธุ์ที่เป็นบอนใบกลม ได้แก่ บางกอก เมืองชล เมืองหลวงรัตนาธิเบศร์ เมืองสยาม ยูเรนัส เป็นต้น
- บอนใบกาบ (Sheath-Leaf Caladium)
(ขอขอบคุณภาพจาก https://images.app.goo.gl/wx17RJgw6kxmWea7A)
บอนใบกาบ เป็นบอนสีที่มีใบรูปหัวใจคล้ายกับบอนใบไทย แต่ต่างกันตรงที่ก้านใบจะเป็นกาบแผ่แบนตั้งแต่โคนจนถึงแข้งหรือรยางค์ ที่มีลักษณะคล้ายใบผักกาด จะเป็นเล็ก ๆ ยื่นออกมาจากกึ่งกลางของก้านใบ บอนชนิดนี้เป็นอีกหนึ่งชนิดที่ปลูกยาก ต้องเลี้ยงในกระโจมหรือตู้อบที่ควบคุมทั้งอุณหภูมิ และความชื้นตลอดเวลา ซึ่งการปลูกในกระโจมหรือตู้อบนี้จะต้องมีการรองน้ำหล่อดินไว้ด้วย เพื่อให้ได้บอนสีที่เจริญเติบโตได้เต็มที่ มีใบดก สวยงาม ไม่มีฝุ่นเกาะ หรือแมลงกิน และยังช่วยป้องกันการพักตัวในฤดูหนาวของบอนสีอีกด้วย บอนสีพันธุ์ที่เป็นบอนใบกาบ เช่น กวักทรัพย์เกษม ขันธกุมาร เทพลีลา เทพพิทักษ์ รัชมงคล อังศุมาลิน เป็นต้น
- บอนใบไผ่ (Lance-Leaf Caladium)
(ขอขอบคุณภาพจาก https://home.kapook.com/view246875.html)
บอนใบไผ่ เป็นบอนสีที่มีลักษณะใบเป็นทรงหอก ใบแคบ ปลายเรียวแหลมมีลักษณะคล้ายใบไผ่ มีความกว้างใบไม่เกิน 2 นิ้ว หูใบสั้นมากเมื่อเทียบกับประเภทอื่น ๆ บอนประเภทนี้สามารถเลี้ยงแบบทั่วไปได้เลย พยายามทำให้ดินชุ่มน้ำอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการพักตัวของบอน บอนจะได้ออกใบตลอดเวลา เลี่ยงแสงแดดจัด ตั้งไว้ในที่ที่มีแสงรำไรทั้งวันก็เพียงพอ ช่วงกลางคืนสามารถตั้งไว้ให้โดนน้ำค้างได้ หมั่นเช็ดอย่างใบสม่ำเสมอ ใบจะได้สวยและไม่มีฝุ่นเกาะ บอนสีพันธุ์ที่เป็นบอนใบไผ่ ได้แก่ ใบไผ่สีดำ ไผ่จุฬา ไผ่ธารมรกต ไผ่สยาม ไผ่ศรศิลป์ สายใยรัก หยกมณี เป็นต้น
การจำแนกบอนสีตามสีใบ
- บอนไม่กัดสี
บอนไม่กัดสี เป็นบอนสีที่สีของใบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มออกใบ จนเจริญเติบโตเต็มที่สีของใบก็จะยังเหมือนเดิม หรือถ้าเปลี่ยนก็จะเปลี่ยนน้อยมาก ๆ คงสีเดิมไว้อยู่เสมอ บอนสีพันธุ์ที่เป็นบอนไม่กัดสี ได้แก่ นายจันหนวดเขี้ยว ตับวีรชน เป็นต้น
- บอนกัดสี
บอนกัดสี เป็นบอนสีที่ของใบจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเจริญเติบโตขึ้น โดยตอนเริ่มออกใบบอนจะมีสีเขียว และเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่สีใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง สีชมพู หรือใบอาจจะมีลายจุดเหมือนแต้มสีเพิ่มขึ้นมา บอนชนิดนี้มักเกดจากการผสมเป็นพันธุ์ใหม่ขึ้นมา บอนสีพันธุ์ที่เป็นบอนกัดสี ได้แก่ กัลยา ศรีลำดวน หยกประกายแสง เป็นต้น
- บอนป้าย
บอนป้าย เป็นบอนสีที่ใบจะมีแถบสีแดงพาดผ่านทับบนสีเขียวของใบ ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ใบเริ่มออกตั้งแต่ใบแรกของต้นเลยทีเดียว แล้วใบที่ 2 -3 ก็จะออกตามมาในลักษณะนี้เช่นกัน บอนสีพันธุ์ที่เป็นบอนป้าย ได้แก่ เพชรจรัสแสง ศรีกาญจนาภิเษก อัปศรสวรรค์ เป็นต้น
- บอนด่าง
บอนด่าง บอนที่ฮิตที่สุดในเวลานี้แล้ว คนต่างก็ตามหามาปลูกกันให้ควั่ก ด้วยความสวยงามที่เตะตา ความหายาก ส่งผลให้ราคาของบอนด่างพุ่งกระฉูดแบบที่ยังไม่เห็นวี่แววว่าราคาจะตกกันเลยทีเดียว ถ้าถามว่าบอนด่างคืออะไร ก็จะบอกเลยว่าบอนด่าง เป็นบอนสีที่ใบจะมีความด่างแบบสีขาวอมเขียว หรือขาวอมแดง ทับบนพื้นใบสีเขียว หรือบางครั้งก็อาจจะออกเป็นใบด่างเหลืองได้ บอนสีพันธุ์ที่เป็นบอนด่างคือ โชคอำนวย อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นต้น
ประเภทของบอนสีที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์และความต้องการที่แตกต่างของคน
จบกันไปแล้วสำหรับข้อมูล Inside ประเภทและการดูแลของเจ้าบอนสี หากถามถึงคำแนะนำในการเลือกบอนสีสักต้นมาปลูกเพื่อความสวยงามและเติมเต็มบ้านให้น่าอยู่มากขึ้น ก็ต้องบอกเลยว่าบอนใบไทย บอนใบยาว และบอนใบไผ่เป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะดูแลไม่ยาก ไม่ต้องถนอมมาก สามารถตั้งบริเวณนอกบ้าน ในทิศที่มีแสงแดดรำไรส่องถึง วางจานรองน้ำให้กระถางหน่อย บอนสีของท่านก็สามารถอยู่ได้อย่างสวยงามแม้ไม่ใส่ปุ๋ยแล้ว เลือกพันธุ์ที่มีรูปแบบใบ และสีได้ตามความชอบกันได้เลย
ส่วนถ้าท่านใดที่มีความพร้อมในการดูแลบอนสี มีบริเวณให้ทำกระโจมหรือตู้อบ บอนใบกาบ และบอนใบกลมถือเป็นทางเลือกที่ดีมาก ๆ เนื่องจากมีรูปลักษณ์ที่แปลกตา มีความสวยงามที่น่าหลงไหล มองแล้วท่านจะได้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป แล้วยังได้ฟีลของการดูแล การทะนุถนอม เพิ่มสมาธิและความใจเย็นกันได้อีกหนึ่งต่อ
บทส่งท้าย
รู้ข้อมูลแน่น ๆ แบบนี้แล้ว ก็ไปค้นหาแหล่งขายบอนสีใกล้ตัว หรือจะเป็นร้านออนไลน์ ตามหาบอนสีพันธุ์ที่ชอบ สีที่ใช่มาปลูกกันได้เลย ไม่ว่าจะด้วยวัตุประสงค์ใดก็ตาม ท่านก็จะยังได้เพลิดเพลินกับการดูแล และมองเจ้าไม้ประดับชนิดนี้เติบโตไปเรื่อย ๆ รับรองว่าจะติดใจจนไปหาสีอื่น พันธุ์อื่นมาปลูกกันต่อแน่นอน
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎