วิธีสร้างความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกัน และเทคนิคเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี
ศีลเสมอกัน ถือเป็นคำที่หลายคนน่าจะเคยได้ยิน หรือได้อ่านผ่านตามมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากคำนี้มักถูกหยิบยกนำมาใช้ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเลือกคนที่จะคบหาดูใจกัน หรือการเลือกคู่ครอง ซึ่งเป็นคนที่จะใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันในระยะยาวในทำนองว่า ควรต้องเลือกคนที่มีศีลเสมอกัน อย่างไรก็ตามแม้โดยความหมายของคำดังกล่าวจะสื่อความหมายในเชิงคำสอนศาสนา แต่ความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกันในทางสังคมและในทางจิตวิทยานั้นสามารถสื่อความหมายครอบคลุมกับรูปแบบความสัมพันธ์ที่ให้ผลเชิงบวกได้หลากหลาย ไม่จำกัดเพียงแค่การรักษาศีลเท่ากัน การยึดมั่นในหลักธรรมใดเหมือนกันเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์แบบ ศีลเสมอกัน คือความสัมพันธ์ที่ช่วยทำให้ต่างฝ่ายมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขกับชีวิตมากขึ้นก็ว่าได้ อีกทั้งความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความสัมพันธ์ในรูปแบบคู่รักเท่านั้น ความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกันอาจเป็นในรูปแบบของความสัมพันธ์แบบเพื่อน ความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือการให้ความเคารพนับถือบุคคลใดๆ ที่มีช่วงอายุต่างกันก็ได้เช่นกัน หากต่างฝ่ายสามารถช่วยให้ชีวิตของอีกฝ่ายดีขึ้น หรือเกื้อหนุนกันในเรื่องต่างๆ โดยเนื้อหาในบทความนี้เองจะมากล่าวถึงวิธีสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะศีลเสมอกันในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชีวิตในด้านต่างๆ ดีขึ้น และประสบความสำเร็จได้มากขึ้นตามไปด้วย
-
ความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกัน ไม่ใช่แค่การเลือกคนที่จะคบหาด้วย
อย่างที่ทราบกันตามกล่าวข้างต้นว่าคำว่า ศีลเสมอกัน มักถูกใช้ในการให้คำแนะนำเรื่องการเลือกคนที่จะคบหาด้วย จึงทำให้หลายคนมักเข้าใจผิดไปด้วยว่าการหาคนที่ศีลเสมอกันเป็นสิ่งที่เกิดจากการเลือก กล่าวคือหากสามารถเลือกคนที่เหมือนกับเรา คนที่มีความเชื่อคล้ายกัน หรือคนที่ยึดมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกัน ก็จะทำให้เรามีความสัมพันธ์แบบ ศีลเสมอกัน ซึ่งแม้ว่าการเลือกคนที่จะทำความรู้จัก หรือเริ่มคบหาจะเป็นด่านแรกที่นำมาสู่ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ แต่ในความเป็นจริงความสัมพันธ์จะคงอยู่ได้ก็ด้วยการกระทำ หรือการปฏิสัมพันธ์กันของทั้งสองฝ่าย และแน่นอนว่าการกระทำ ความประพฤติของคนเราเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายในของตัวบุคคลเอง ดังนั้นในระยะยาวความสัมพันธ์ที่ดีจะคงอยู่ได้ก็ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาความสัมพันธ์ไว้ของทั้งสองฝ่ายมากกว่าแค่การเลือกคนที่จะคบหาในช่วงเริ่มต้นความสัมพันธ์ ในการมองหาความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกัน จึงไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องของการเลือกคนเท่านั้น แต่ควรเริ่มต้นด้วยทัศนคติที่ว่าเราสามารถกำหนด หรือมีส่วนร่วมในการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวได้
-
เลือกคนที่ทัศนคติ
ในการเลือกคนที่จะคบหาสำหรับเริ่มต้นความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ อาจจะมีเกณฑ์การเลือกตามคำแนะนำที่อยู่บนพื้นฐานของค่านิยมทางสังคมมากมายให้เราได้ใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินใจ เช่น ระดับการศึกษา ฐานะ หน้าที่การงาน หรือกระทั่งรูปร่าง สีผิว ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความถูกใจในตัวคนที่เราคบหาในช่วงแรก หรือการได้คู่ครองที่ดีตามค่านิยมทางสังคม แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะการันตีความสัมพันธ์ในเชิงบวก หรือการมีความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกันในระยะยาว เพราะปัจจัยดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรม นิสัยในด้านต่างๆ ของบุคคลโดยตรงเหมือนกับปัจจัยภายในอย่างทัศนคติ ในการเลือกคนที่จะคบหาในความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์เชิงชู้สาว หรือความสัมพันธ์แบบมิตรภาพจึงควรเลือกคนที่ทัศนคติ โดยมองหาคนที่มีทัศนคติใกล้เคียงกัน กล่าวคือมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ คล้ายกัน มีวิธีรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตเหมือนกัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกันในระยะยาวได้มากกว่า
-
ไม่เรียกร้องสิ่งดีๆ จากอีกฝ่ายมากเกินไป
เนื่องจากค่านิยมการมีความรักมักมาพร้อมกับความรู้สึกถึงการได้รับการเติมเต็มด้านต่างๆ ของชีวิต หลายคนจึงมักเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ด้วยการพยายามเรียกร้องสิ่งดีๆ จากอีกฝ่าย ดังประโยคคำกล่าวที่เรามักจะได้ยิน หรือได้อ่านจากบริบทการสนทนาเรื่องความรักจากคนรู้จัก หรือสื่อโซเชียลต่างๆ เช่น คนรักควรต้องทำให้ฉันมีความสุขขึ้นสิ ถ้ามีความรักแล้วไม่ได้ทำให้มีความสุขขึ้นก็อย่ามีดีกว่า เป็นต้น แต่ทว่าในความเป็นจริงการเป็นฝ่ายเรียกร้องสิ่งดีๆ จากความสัมพันธ์ใดๆ มากเกินไปนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เสียความสัมพันธ์ดีๆ ไป เพราะโดยธรรมชาติความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกัน หรือความสัมพันธ์เชิงบวก เกิดจากความพยายามหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้กันและกันด้วยความเต็มใจ โดยที่ไม่มีความรู้สึกว่าต้องฝืนทำ ซึ่งเมื่อความรู้สึกเต็มใจแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกฝืนทำจากการถูกอีกฝ่ายเรียกร้อง ความรู้สึกดีๆ จากความสัมพันธ์ก็ย่อมเลือนหายไปด้วย ในการสร้างและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์แบบ ศีลเสมอกัน จึงควรระมัดระวังไม่ให้เป็นฝ่ายเรียกร้องให้อีกฝ่ายทำ หรือให้ในสิ่งที่เราต้องการมากเกินไป โดยควรปล่อยให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของสถานการณ์ในความสัมพันธ์นั้นๆ
-
ให้ความช่วยเหลืออีกฝ่ายตามสมควร
สิ่งสำคัญที่ถือว่ามีส่วนทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกัน หรือความสัมพันธ์เชิงบวกในรูปแบบต่างๆ ก็คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตามความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือในความสัมพันธ์ใดๆ ก็คือการพยายามให้การช่วยเหลืออีกฝ่าย โดยมองที่ปัญหาหรือความเดือดร้อนของอีกฝ่ายเป็นหลัก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เราควรพยายามทุกวิธีทางในการช่วยอีกฝ่ายแก้ปัญหาได้สำเร็จ เนื่องจากทัศนคติในด้านความรัก หรือด้านมิตรภาพที่ถูกปลูกฝังตามๆ กันมาแบบผิดๆ เช่น ทัศนคติที่ว่าความรักคือการเสียสละ ทัศนคติที่ว่าเราไม่ควรทอดทิ้งเพื่อนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทั้งนี้แม้ว่าทัศนคติดังกล่าวจะไม่ได้ผิดไปหมดซะทีเดียว และมีส่วนดีที่ควรนำไปปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ แต่ในความเป็นจริงความสัมพันธ์แบบ ศีลเสมอกัน ไม่ใช่การเสียสละ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ เลย ตรงกันข้ามการยึดถือเรื่องการเสียสละ และคอยให้ความช่วยเหลืออีกฝ่ายมากเกินกำลัง โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล และความเหมาะสมกับสถานการณ์ กลับจะยิ่งส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่น การให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับอีกฝ่าย โดยไม่ประเมินสถานะทางการเงินของตนเอง อาจนำมาสู่การสร้างปัญหาการเงินให้ตัวเองในอนาคต ซึ่งในที่สุดก็จะส่งกระทบต่อความสัมพันธ์ในทางใดทางหนึ่งในอนาคตได้เช่นกัน นอกจากนี้การให้ความช่วยเหลือที่มากเกินไปยังอาจทำให้อีกฝ่ายเคยชินกับการที่มีคนคอยช่วยเหลือ จนทำให้ขาดทักษะในการรับมือ และจัดการกับปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลเสียในระยะยาวต่อความสัมพันธ์ ทั้งนี้ความสัมพันธ์แบบ ศีลเสมอกัน ต่างฝ่ายควรมีความรับผิดชอบ และรู้ขอบข่ายหน้าที่ของตนเอง และหยิบยื่นการช่วยเหลือให้กันและกันตามสมควร โดยไม่นำภาระ หน้าที่ของตนเองไปเป็นความรับผิดชอบของอีกฝ่าย
-
ไม่กล่าวถึงปัญหาความสัมพันธ์ให้ผู้อื่นฟัง
เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกัน หลายคนมักคาดหวังถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีแต่ความสุข ปราศจากความทุกข์ใจ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีการทะเลาะ หรือปัญหาใดๆ ให้ต้องมานั่งถกเถียงกัน แต่ในความเป็นจริงไม่มีความสัมพันธ์ใดที่จะราบรื่นได้ทุกวัน โดยปราศจากปัญหาทุกข์ใจใดๆ แม้แต่ในความสัมพันธ์เชิงบวก ซึ่งเป็นผลดีต่อชีวิต มีส่วนช่วยให้ชีวิตด้านต่างๆ ดีขึ้น ก็ยังต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ไม่โอเคบ้างในบางเวลา อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญเมื่อต้องเจอกับช่วงเวลาที่ไม่ดีในความสัมพันธ์ใดๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกันในระยะยาว คือการไม่นำปัญหา หรือประเด็นขัดแย้งใดๆ ไปบอกกล่าวให้คนภายนอกฟัง เพราะจะเป็นการเพิ่มความรู้สึกในทางลบกับอีกฝ่าย และควรเลือกใช้วิธีเปิดใจพูดคุย ถกเถียงกันเองด้วยเหตุผล เพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย
-
ให้ความเคารพครอบครัว และญาติผู้ใหญ่ของอีกฝ่าย
หนึ่งในสาเหตุยอดฮิตที่นำมาสู่ปัญหาการเลิกรากันของคู่รักหลายคู่ก็คือ ค่านิยมเรื่องความรักที่แตกต่างกันของคนต่างวัย กล่าวคือคู่รักสมัยใหม่มักมีค่านิยมเรื่องความรักแบบส่วนตัว โดยมองว่าความรัก และการใช้ชีวิตคู่เป็นเรื่องของคนสองคน นิยมสร้างครอบครัวแบบครอบครัวเดี่ยว ในขณะที่คนรุ่นเก่ามองว่าความรักเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับครอบครัว โดยมองครอบครัวเป็นภาพกว้าง ซึ่งไม่ได้นับเฉพาะความสัมพันธ์ของคู่สามี ภรรยา หรือพ่อ แม่ ลูกเท่านั้น แต่ยังนับรวมถึงครอบครัวที่ขยายออกไป เช่น ลูกสะใภ้ ลูกเขย หลาน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอีกด้วย ในการสร้างความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกันจึงต้องพยายามหาจุดเชื่อมโยงที่ลงตัว และสร้างความพอใจให้กับทุกฝ่าย โดยอาจเริ่มจากการให้ความเคารพครอบครัว หรือญาติผู้ใหญ่ของอีกฝ่ายด้วยความจริงใจ ไม่ด่วนตัดสินด้วยมุมมองที่มีอคติ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรให้ครอบครัว หรือญาติผู้ใหญ่ของต่างฝ่ายเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ในชีวิตคู่มากจนเกินไป เช่น การเลือกที่อยู่อาศัย การเลี้ยงดูลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่รักควรตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกันก็คือ การได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ในชีวิต และมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นๆ ด้วยกัน หากมีผู้อื่นเข้ามาร่วมตัดสิน แม้โดยฐานะจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาใดๆ จากการตัดสินใจครั้งนั้นย่อมส่งกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์ได้มากกว่าการที่คู่รักเลือกตัดสินใจกันเอง กล่าวคือต่างฝ่ายอาจเกิดความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจที่ครอบครัวของอีกฝ่ายเข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจจนเกิดปัญหาตามมา กล่าวสรุปได้ว่าในการสร้างความสัมพันธ์แบบ ศีลเสมอกัน ควรต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพครอบครัวของอีกฝ่ายอย่างจริงใจ แต่ไม่ควรเกรงใจมากจนทำให้กลายเป็นความละเลยในหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง และทำให้ครอบครัวของอีกฝ่ายเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบ และตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ แทน
-
ยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน
การสร้างความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกัน มักทำให้หลายคนนึกถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างมีอะไรเหมือนกัน ชอบในสิ่งเดียวกัน มีรสนิยมในด้านต่างๆ เช่น การกิน การแต่งกาย การเสพสื่อที่เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการพยายามที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เกิดเป็นความชอบ และรสนิยมที่ตรงกันในเรื่องต่างๆ แต่ความจริงแล้วหนึ่งในวิธีสร้างความสัมพันธ์แบบศีลเสมอกัน ก็คือการเรียนรู้ที่จะยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน เพราะโดยธรรมชาติของคนเราจะถูกหล่อหลอมความชอบ หรือรสนิยมในด้านต่างๆ ผ่านรูปแบบการเลี้ยงดูและประสบการณ์ที่เคยเจอ ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยดังกล่าวนั้นแตกต่างกันไปตามบุคคล ย่อมทำให้เป็นเรื่องยาก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่คนสองคนจะมีรสนิยมในการใช้ชีวิตที่ตรงกันหมดทุกด้าน การทำความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของกันและกันในบางเรื่อง จึงเป็นวิธีที่ดีในการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์แบบ ศีลเสมอกัน มากกว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรืออีกฝ่ายเพื่อให้เกิดความชอบ หรือรสนิยมที่ตรงกัน
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
📕 อ้างอิงรูปภาพ
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎