การละเล่นพื้นบ้านเป็นเกมในตำนานที่เหล่าเด็กน้อยจากวันวานต่างก็คุ้นเคยกันดี ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะไม่ค่อยพบเห็นการเล่นของเหล่าเด็ก ๆ ด้วยการละเล่นแบบนั้นมากเท่าในอดีต เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตและเทคโนโลยีมากมายที่เข้ามาทำให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมหายไป เนื่องจากยุคสมัยนี้ทุกคนมีโทรศัพท์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอรื หรือเกมออนไลน์มากมาย ที่เป็นดั่งสังคมการเรียนรู้ ความบันเทิง และความสนุกของเด็กแทนการเล่นในแบบเดิม ๆ
แต่สำหรับในอดีตเด็กยุคนั้นมักจะรวมกลุ่มเล่นกันเป็นกลุ่มใหญ่ ดังนั้นลักษณะของการละเล่นไทยทั้งหมดจึงสังเกตได้เลยว่ามักจะเป็นเกมที่เล่นกันเป็นกลุ่ม ดังนั้นเพื่อเป็นการย้อนรำลึกวันวาน และพาเด็กในสมัยนี้ไปทำความรู้จักกับเกมแสนสนุกในอดีต ซึ่งต่างก็เป็นการละเล่นที่เล่นได้ง่าย ๆ เล่นได้ทุกเวลา เราจึงได้รวบรวมการละเล่นไทย 10 อย่างมาแนะนำไว้ให้ในบทความนี้แล้ว ตามไปอ่านพร้อมกันได้เลย
ประวัติของการละเล่นพื้นบ้านของไทย
เดิมทีเด็กในสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อนต่างก็มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันอยู่มากมาย หลังจากไปโรงเรียน ทำงานบ้าน หรือว่างจากกิจกรรมใดก็ตาม เหล่าเด็กทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อเล่นสนุกด้วยการละเล่นพื้นบ้านมากมาย แต่ก็จะมีไม่มีคนที่รู้ว่าความเป็นมาของเกมที่พวกเขากำลังเล่นกันนี้มีที่มาจากไหน และทำไมถึงได้รับความนิยมสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ซึ่งต้องเล่าย้อนกลับไปว่าการละเล่นไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และถูกปรับให้เข้ากับแต่ละยุคสมัยเรื่อยมา ดังนั้นจึงเป็นยากที่จะระบุได้อย่างแน่ชัดว่าการละเล่นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั้นมีจุดกำเนิดมาจากที่ไหนกันแน่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการสันนิาฐานโดยอ้างอิงจากความเป็นไปได้ถึงจุดกำเนิดของการละเล่นไทยทั้งหมดว่าได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น
-
การละเล่นพื้นบ้านสมัยสุโขทัย
การละเล่นพื้นบ้านในสมัยสุโขทัยนั้นไม่ได้มีการปรากฏแน่ชัดว่ามีลักษณะของการเล่น หรือมีกติกากันอย่างไร เนื่องจากหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้นที่มีบันทึกเอาไว้เกี่ยวกับรายละเอียดดังกล่าว ก็มีเพียงการบันทึกเอาไว้โดยศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่าในสมัยนั้น ‘ใครอยากจะเล่นอะไรก็เล่น’ เพียงเท่านั้น ทำให้เราสามารถอ้างอิงได้ว่าการละเล่นเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ยุคนั้น เพียงแต่ไม่รู้รายละเอียดของมันก็เท่านั้นเอง ซึ่งไม่แน่ว่าการละเล่นที่ได้รับความนิยมในสมัยต่อก็อาจจะเกิดจากการสืบทอดมาจากเด็กในยุคนั้นก็ได้นั่นเอง
-
การละเล่นพื้นบ้านสมัยอยุธยา
ต่อมาในยุคสมัยอยุธยาเป็นช่วงที่มีการจดบันทึก และค่อนข้างมีหลักฐานซึ่งกล่าวถึงการละเล่นพื้นบ้านเอาไว้อย่างชัดเจน โดยบางการละเล่นก็ยังคงได้รับความนิยมสืบต่อมาอีกเป็นร้อยปี เช่น การละเล่นลิงชิงหลัก ซึ่งมีความสนุกและได้รับความนิยมจากเด็กในทุกยุคสมัยอีกด้วย (หลักฐานจากบทละครครั้งกรุงเก่าสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)
ทำความรู้จักกับการละเล่นไทย 10 อย่าง
ม้าก้านกล้วย
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคนไทยในสมัยก่อนนิยมนำเอาวัตถุดิบหรือสิ่งของจากธรรมชาติมาดัดแปลง และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยกล้วยก็เป็นอีกหนึ่งวัสดุจากธรรมชาติที่คนไทยใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของมันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น ผล ใบ ลำต้น หรือ ‘ก้านกล้วย’ เพื่อสร้างความสนุกให้กับการละเล่นพื้นบ้านของเด็ก ๆ โดยวิธีการเล่นม้าก้านกล้วยจะไม่ได้มีการกำหนดกติกาเอาไว้ เพียงแต่สามารถใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้เล่นกันในแบบที่ต้องการได้เลย
ซึ่งวิธีการทำม้าก้านกล้วยจะต้องทำการเลาะเอาใบกล้วยออกให้เหลือเพียงก้านกล้วยแข็ง ๆ จากนั้นทำการเก็บใบตองบริเวรปลายขอก้านกล้วยเล็กน้อย และฉีกให้เป็นเส้นขนาดเล็กเพื่อจำลองลักษณ์หางของม้า เท่านี้ก็สามารถเล่นม้าก้านกล้วยได้แล้ว แต่บางพื้นที่อาจจะมีการเพิ่มลูกเล่นให้กับม้าของตนเองได้ โดยการเพิ่มเชือกคล้อง หรือตัดแต่งคอให้กับม้าก้านกล้วยได้ด้วย
กระโดดเชือก
กระโดดเชือกหรือกระโดดยาง จัดว่าเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่อยู่คู่กับเด็กไทยเรามาทุกยุคทุกสมัย ไม่เพียงแค่ในอดีต แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการเล่นกระโดดเชือก หรือกระโดดยางในหลายพื้นที่กันอย่างแพร่หลายอีกด้วย ซึ่งวิธีการเล่นก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น กระโดดข้ามโดยเพิ่มความสูงไปเรื่อย ๆ ใครข้ามไม่ผ่านให้ถือว่าตกรอบ หรือการกระโดดพร้อมกันโดยเพิ่มคนเพิ่มเข้าไปเรื่อย ๆ เป็นต้น
มอญซ่อนผ้า
มอญซ่อนผ้าเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีเพลงร้องประกอบด้วยทำนองที่คุ้นเคย โดยมีเนื้อร้องที่คล้ายคลึงกันดังนี้ ‘มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ’ (อาจจะมีคำที่แตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละท้องที่) โดยการเล่นจะนั่งล้อมรอบกันเป็นวงกลม จากนั้นให้คนหนึ่งเดินรอบวงแล้วแอบหย่อนผ้าเอาไว้ด้านหลังคนที่นั่งอยู่ เมื่อผู้เล่นคนนั้นรู้ตัวจะต้องวิ่งไล่แล้วตีคนหย่อนผ้าให้ทันก่อนที่เขาจะนั่งลงแทนที่
ขี่ม้าส่งเมือง
ขี่ม้าส่งเมืองคือหนึ่งในการละเล่นพื้นบ้านที่มีความสนุกและดุเดือดมาก เนื่องจากจะต้องแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝั่ง จากนั้นให้ทำการเลือกผู้เล่น 1 คนจากทั้งหมดนั้นมาทำหน้าที่ ‘เจ้าเมือง’ และมีการนำเอาวัฒนะธรรมของเมืองในอดีตมาปรับเป็นการละเล่นประกอบด้วย เช่น กำหนดหน้าที่ของผู้เล่นคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เจ้าเมืองให้เป็น ลูกเมือง เชลย หรือม้า เป็นต้น
งูกินหาง
เกมงูกินหางคือการละเล่นพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันตั้งแต่ 5 คนเป็นต้นไป เนื่องจากจะสามารถเล่นได้อย่างสนุกมากกว่าถ้ามีคนจำนวนมาก โดยการละเล่นดังกล่าวเกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรม รวมทั้งลักษณ์ของงู ที่อาจจะพบมากในสมัยก่อน จนถูกนำมาดัดแปลงให้กลายเป็นเกมที่มีความสนุกสานนั่นเอง ซึ่งวิธีการเล่นงูกินหางจะต้องแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝั่งก็คือฝั่งแม่งูและพ่องู โดยแม่งูจะทำหน้าที่ปกป้องลูกงูจากการจับของพ่องู
รีรีข้าวสาร
การละเล่นพื้นบ้านแต่ละภาคต่างก็ได้รับอิทธิพลจากรีรีข้าวสารไปอย่างแพร่หลาย เป็นการละเล่นที่เรียกได้ว่ายอดนิยมที่สุด ทั้งยังเป็นที่รู้จักในกลุ่มของเด็ก ๆ หลายพื้นที่ โดยการเล่นรีรีข้าวสารไม่ได้มีการกำหนดจำนวนผู้เล่นเอาไว้ตายตัว ดังนั้นจึงสามารถรวมกลุ่มเล่นกันได้อย่างอิสระ แต่ถึงอย่างนั้นก็จำเป็นจะต้องมีผู้เล่นอย่างน้อยสองคนที่ต้องทำหน้าที่เป็นซุ้มประตูเพื่อให้ผู้เล่นคนอื่น ๆ เดินผ่านนั่นเอง
ชักเย่อ
ใครที่เคยเข้าร่วมงานกีฬาสีไม่ว่าจะในรั้วโรงเรียน กีฬาสีในสถานที่ทำงาน หรือการจัดงานกีฬาสีกระชับมิตรต่าง ๆ ก็คงจะเคยได้เห็นเกม ‘ชักเย่อ’ การละเล่นพื้นบ้านที่เล่นกันทั่วทุกพื้นที่ และเล่นกันมาอย่างยาวนานจนในปัจจุบันก็ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยวิธีการเล่นจะต้องมีการจัดเตรียมเชือกสำหรับให้ผู้เล่นทั้งสองฝั่งทำการดึงแข่งกัน โดยสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนผู้เล่นได้ตามต้องการ (โดยส่วนใหญ่จะมีการแบ่งผู้เล่นทั้งสองฝั่งให้มีจำนวนเท่ากัน)
ตี่จับ
ตี่จับเป็นอีกหนึ่งการละเล่นไทยที่นิยมในหมู่เด็ก ๆ เพราะมีความสนุก และเร้าใจเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับการละเล่นประเภทอื่น โดยการละเล่นตี่จับจะมีการแบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย แล้วให้แข่งขันกันโดยขีดเส้นแบ่งเขตแดนเอาไว้ให้ชัดเจน จากนั้นให้เลือกผู้เล่นฝ่าย ‘รุก’ และฝ่าย ‘รับ’ โดยฝ่ายรุกหรือผู้ที่โจมตีก่อนจะต้องส่งเสียงร้อง ‘ตี่’ ตลอดเวลาในขณะที่เข้าไปทำการโจมตีฝ่ายตรงข้าม (จะต้องแตะตัวผู้เล่นของอีกฝ่ายเพื่อนำมาเป็นเชลย) สลับไปกันมาทั้งสองฝั่ง
เดินกะลา
คนในสมัยก่อนกับการนำเอาวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ถือว่าเป็นวิถีชีวิตซึ่งแสดงถึงความเป็นไทยได้เป็นอย่างมาก ซึ่งการใช้งานมะพร้าวก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน และเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับวัตถุดิบ จึงได้มีการนำเอากะลามะพร้าวที่เคยเป็นเพียงของเหลือใช้และไม่มีคุณค่า นำเอามาทำเป็นของเล่นเพื่อสร้างความเพลิดเพิลน โดยการเดินกะลานั้นก็มีวิธีการเล่นไม่ต่างจากการวิ่งแข่งหรือการแข่งรถของคนในสมัยนี้ เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้วิธีการเดินบนกะลาเพื่อหาผู้ที่เข้าเส้นชัยได้ก่อนแทน
ตีลูกล้อ
การละเล่นพื้นบ้านตีลูกล้อเราอาจจะคุ้นเคยกับการที่นำเอาล้อรถ หรือล้อจักรยานมาใช้ตีแข่งกัน แต่ในอดีตเราจะสามารถเห็นการนำเอาไม้ไผ่หรือวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ มาทำเป็นวงล้อแทน โดยวิธีการเล่นตีลูกล้อจะมีการกำหนดจุดเริ่มต้น และมีการกำหนดจุดเส้นชัยเอาไว้ จากนั้นให้ผู้เล่น (ไม่จำกัดจำนวน) ทำการใช้ไม้ตีลูกล้อให้กลิ้งไปเรื่อย ๆ จนเข้าเส้นชัย ผู้เล่นคนไหนที่พาลูกล้อให้ไปถึงเส้นชัยได้ก่อนก็จะเป็นผู้ชนะไป
ประโยชน์ของการละเล่นพื้นบ้าน
ประโยชน์ของการละเล่นพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นของภาคใด รูปแบบไหน หรือจะมีกติกาการเล่นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ล้วนแล้วแต่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อสร้างความสนุกให้กับผู้เล่น นอกจากนั้นการเล่นกันของเด็ก ๆ ยังเปรียบเสมือนการฝึกเข้าสังคม เป็นการใช้เวลาร่วมกันของเด็ก เพิ่มเรื่องของทักษะมนุษย์สัมพันธ์ ฝึกร่างกายให้แข็งแรง ตลอดจนเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีตั้งแต่วัยเด็กได้นั่นเอง
แต่สำหรับคนในปัจจุบันอาจจะไม่ได้มองการละเล่นพื้นบ้านเหล่านั้นเป็นเพียงเกมการเล่นของเด็กเท่านั้น เพราะมันสามารถบ่งบอกถึงรากฐานวิถีชีวิตความเป็นไทย เป็นถึงในเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งยังเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าราวกับมรดกที่ส่งต่อผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานด้วย
ขอบคุณภาพประกอบบทความสวย ๆ จาก
ภาพการละเล่นพื้นบ้าน : ม้าก้านกล้วย
ภาพการละเล่นพื้นบ้าน : งูกินหาง
ภาพการละเล่นพื้นบ้าน : ตีลูกล้อ
ภาพการละเล่นพื้นบ้าน : กระโดดเชือก
ภาพการละเล่นพื้นบ้าน : มอญซ่อนผ้า
ภาพการละเล่นพื้นบ้าน : ขี่ม้าส่งเมือง
ภาพการละเล่นพื้นบ้าน : รีรีข้าวสาร
ภาพการละเล่นพื้นบ้าน : ชักเย่อ
ภาพการละเล่นพื้นบ้าน : เดินกะลา
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
- https://th.wikipedia.org/wiki/การละเล่นเด็กไทย#ม้าก้านกล้วย
- https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/2238092
- https://noonokspirit.wordpress.com/การละเล่นพื้นบ้านภาคอี/
📕 อ้างอิงรูปภาพ
- https://www.google.com/imgres?imgurl=https://2.bp.blogspot.com/-2ctV0ls2vmE/V3NxwTWliuI/AAAAAAAAAGc/QqTKRbbISZQJj6LzD1KoBWr8CjfdNnmxACLcB/s1600/m3.gif&tbnid=z8XNJrSpETWmfM&vet=10CA4QxiAoAWoXChMI2L3TvYLw_wIVAAAAAB0AAAAAECg..i&imgrefurl=http://nisaratrawichai.blogspot.com/p/2.html&docid=MakdbkuLuPnetM&w=640&h=452&itg=1&q=การละเล่นพื้นบ้าน&ved=0CA4QxiAoAWoXChMI2L3TvYLw_wIVAAAAAB0AAAAAECg#imgrc=z8XNJrSpETWmfM&imgdii=d1VC7ZbdOWebAM
- https://suttinee2541.wordpress.com/การละเล่นพื้นบ้านของภา/
- https://noonokspirit.wordpress.com/การละเล่น/