ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวเบื้องหลังวันตรุษจีน ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
หากพูดถึงวันสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน หนึ่งในวันที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือวันตรุษจีน หรือที่ชาวไทยคุ้นเคยกันในฐานะวันขึ้นปีใหม่จีน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองตามวัฒนธรรมของชาวจีนแล้ว วันตรุษจีน ยังเป็นช่วงเวลาที่บรรดาลูกหลานจะมารวมตัวพร้อมหน้า เพื่อไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากมาย ซึ่งในโพสต์นี้ เราก็จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับที่มา และความหมายต่าง ๆ ของวันตรุษจีน ที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน เพื่อเข้าใจบริบท และวัฒนธรรมเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
ประวัติวันตรุษจีน
วันตรุษจีน คือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองท่ียาวที่สุด และมีความสำคัญที่สุดในปฏิทินจีน สำหรับประวัติศาสตร์วันตรุษจีนนั้น ไม่มีบอกชัดเจนว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อกันว่าชาวจีนได้มีการยึดถือปฏิบัติประเพณีนี้มาเนิ่นนานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว โดยมีการเรียกชื่อที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย หนึ่งในชื่อที่หลายคนอาจรู้จักก็คือ “วันชุงเจ๋”
ในส่วนของการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลวันตรุษจีน ก็เพราะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวของจีนนั้นจะเต็มไปด้วยหิมะ จนทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรใด ๆ ได้ จนเมื่อถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ ที่เกษตรกรสามารถกลับมาเพาะปลูกได้อีกครั้ง จึงทำให้ชาวจีนกำหนดให้ทุกวันแรกของฤดูใบไม้ผลิคือวันสำคัญ ที่จะมีการเฉลิมฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน
ตำนานปีศาจเหนียน อันเป็นที่มาของสีแดง และการจุดประทัด
เชื่อว่าหลาย ๆ คน โดยเฉพาะชาวไทย อาจสงสัยว่าทำไมช่วงเทศกาลวันตรุษจีน ถึงนิยมใช้สีแดงในการตกแต่งบ้าน และสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งยังมีการจุดประทัดที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของวันตรุษจีน ซึ่งที่มาของสีแดงและการจุดประทัดนี้ ก็มาจากตำนานโบราณของชาวจีนที่เกี่ยวกับปีศาจเหนียน ปีศาจร้ายที่มักออกอาละวาดในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
ตามตำนานโบราณมีการระบุว่า “เหนียน” คือปีศาจร้ายที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก บ้างก็ว่าเหนียนมักอาศัยในป่าลึก และมักออกอาละวาดทำร้ายผู้คน ด้วยเหตุนี้ทำให้พระเจ้าได้ลงโทษเหนียนให้สามารถลงมาจากเขาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง คือช่วงสิ้นสุดฤดูหนาว และเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการจัดเทศกาลตรุษจีนนั่นเอง
แต่กระนั้นชาวบ้านก็ได้รับรู้ว่าเหนียนนั้นมีจุดอ่อนคือ กลัวสีแดง แสงไฟ และเสียงดัง ทำให้ผู้คนได้คิดวิธีในการขับไล่เหนียน นั่นก็คือการนำกระดาษ หรือโคมไฟสีแดง มาติดไว้หน้าบ้าน และมีการจุดประทัด ทำการตีฆ้อง รัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อเหนียนมาถึงหมู่บ้าน พบสีแดงเต็มทุกหน้าบ้าน และเต็มไปด้วยแสงไฟจากประทัด และเสียงดังจากการตีกลอง ทำให้สุดท้ายมันก็หลบหนีไป ด้วยตำนานนี้เองก็ได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ส่งต่อมาจนปัจจุบันที่คนจีนนิยมนำสีแดงมาประดับทั่วบ้าน และจุดประทัดในช่วงเทศกาลตรุษจีน
กิจกรรมในวันตรุษจีน
สำหรับธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีน ในช่วงวันตรุษจีน จะสามารถแบ่งเป็น 3 วันหลัก ๆ ได้แก่ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว ซึ่งสามารถจำแนกพิธี และธรรมเนียมปฏิบัติของทั้ง 3 วันได้ดังนี้
1.วันจ่าย คือวันก่อนสิ้นปี หรือวันสุดท้ายของปีตามปฏิทินจีนนั่นเอง โดยจะเป็นวันที่คนจีนจะออกไปซื้ออาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ
2.วันไหว้ จะเป็นวันที่มีการกราบไหว้เทพเจ้า และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่ออัญเชิญพวกท่านเหล่านั้นมารับประทานอาหาร และรับเครื่องเซ่นต่าง ๆ โดยพิธีการของวันไหว้ก็สามารถแบ่งได้ดังนี้
- ช่วงเช้ามืด จะเป็นการไหว้ “ป้ายเล่าเอี้ย” คือการไหว้เทพเจ้าองค์ต่าง ๆ โดยจะมีการถวายเป็นเนื้อสัตว์ 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ หมู เป็ด และไก่ และมีการถวายเหล้า หรือน้ำชา และกระดาษเงิน กระดาษทอง
- ช่วงสาย จะเป็นการไหว้ “ป้ายแป๋บ้อ” พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ โดยจะเป็นธรรมเนียมของชาวจีนที่แสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ซึ่งจะมีการทำพิธีไม่เกินช่วงเวลาเที่ยงวัน ส่วนของที่นำมาเป็นเครื่องไหว้นั้น ก็มักจะเป็นอาหารคาวหวานที่คนเหล่านั้นชื่นชอบเมื่อตอนมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังมีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง รวมถึงเสื้อผ้ากระดาษ เพื่อเป็นการอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ จากนั้นสมาชิกในครอบครัว ก็จะมีการรับประทานอาหารที่กราบไหว้บรรพบุรุษร่วมกัน เพื่อความเป็นสิริมงคล และยังเป็นช่วงที่มีการมอบอั่งเปาให้แก่กันอีกด้วย
- ช่วงบ่าย เป็นการไหว้ “ป้ายฮ่อเฮียตี๋” เป็นพิธีไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งจะมีของไหว้เป็น ขนมเทียน ขนมเข่ง เผือกเชื่อมน้ำตาล และกระดาษเงิน กระดาษทอง และปิดท้ายด้วยการจุดประทัดเพื่อเป็นการขับไล่สิ่งอัปมงคล
3.วันเที่ยว หรือเรียกอีกชื่อว่า “วันถือ” คือวันขึ้นปีใหม่วันแรก จะมีพิธีกรรมที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติก็คือการ “ป้ายเจีย” เป็นการไหว้ขอพรจากญาติผู้ใหญ่ ด้วยการมอบส้มสีทองให้ และจะเป็นวันที่ชาวจีนจะงดเว้นการทำงานบ้าน เช่นการกวาดบ้าน เพราะจะเป็นเสมือนเป็นการกวาดสิ่งดี ๆ ในปีนี้ออกไป รวมทั้งยังเป็นวันที่จะงดการพูดคำหยาบ การพูดจาไม่ดีใส่กัน เพื่อสร้างสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ก็ยังจะเป็นวันที่ชาวจีนแต่งกายด้วยผ้าไหม และออกไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกัน
อั่งเปา
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของวันตรุษจีน คือ “อั่งเปา” ที่เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ทุกคนถวิลหา เพราะจะได้ค่าขนมจากผู้ใหญ่ท่ีเคารพนับถือ โดยความหมายของ อั่งเปา นั้นก็คือ ซองสีแดง ซึ่งเป็นสีริมงคลของวันตรุษจีน โดยตามธรรมเนียมนั้น การมอบอั่งเปาจะเป็นการที่ผู้ใหญ่ที่มีงานมีการทำ หรือผู้ที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว จะนำเงินใส่ซองเพื่อมอบให้แก่เด็ก ๆ หรือคนที่มีอายุน้อยกว่า ส่วนใหญ่จำนวนเงินที่นำมาใส่ซองอั่งเปานั้น ชาวจีนจะถือที่เลข 4 หรือเลข 8 เพราะมีคำคล้องเสียงกับตำว่า “ฟา” ที่หมายถึงความรุ่งโรจน์ เจริญก้าวหน้า สำหรับในอดีตมักมีการเรียกว่า “แต๊ะเอีย” ซึ่งสาเหตุที่มีชื่อเรียกแบบนี้ก็เพราะเงินสมัยก่อนจะมีลักษณะที่เป็นรู และคนในยุคนั้นจะใช้วิธีการนำเงินมาร้อยด้วยเชือกสีแดง ผูกคาดเอว
อาหารวันตรุษจีน
อาหารในวันตรุษจีน นั้น นอกจากจะเป็นการนำมาเพื่อกราบไหว้บรรพบุรุษ และรับประทานร่วมกันกับครอบครัวแล้ว อาหารแต่ละชนิดที่เลือกมาใช้ประกอบพิธีในวันตรุษจีนนี้ ยังเปี่ยมด้วยความหมายที่เป็นสิริมงคล ซึ่งบรรดาอาหารที่นิยมนำมาใช้ประกอบพิธีแต่ละชนิดก็ะจะมีความหมายดังนี้
- เป็ดย่าง
ในพิธีไหว้เจ้านั้น ชาวจีนเชื่อว่า เป็ด และไก่ ที่เลือกมาทำพิธีนั้นจะต้องจัดมาทั้งตัวให้สวยงาม ไม่ควรมีการสับ หรือหั่น เพราะเป็นการสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ มีความสง่างาม ซึ่งอาจส่งผลต่อหน้าที่การงาน ความก้าวหน้ามั่นคงในชีวิต
- หมี่ผัด
หนึ่งในอาหารที่ต้องมีประจำเทศกาลวันตรุษจีน เพราะนอกจากความอร่อยกลมกล่อมของเส้นหมี่ที่ผัดเข้ากับผักและเนื้อจนเข้ากันแบบที่อร่อยโดยไม่ต้องปรุงใด ๆ แล้ว เส้นหมี่ยังมีความหมายที่เป็นมงคลยิ่งสำหรับชาวจีน เพราะเชื่อว่าการทานหมี่ผัดในวันตรุษจีนนั้น เปรียบเสมือนการให้พรว่าจะมีชีวิตยืนยาว สุขภาพแข็งแรง
- ปอเปี๊ยะ
อาหารทานเล่นที่ทำมาจากแป้งแผ่นบาง ๆ ที่นำมาห่อด้วยผัก วุ้นเส้น หรือเพิ่มเนื้อสัตว์เข้าไป ก่อนจะนำไปทอดในน้ำมัน เพื่อรับประทานกับน้ำจิ้มรสเปรี้ยว ซึ่งปอเปี๊ยะนี้นอกจากจะเป็นอาหารทานเล่นยอดนิยมแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งอาหารสิริมงคลประจำวันตรุษจีน เพราะคำว่า “ปอเปี๊ยะ” ตรงกับคำในภาษาจีนว่า “ชุนจ๋วน” ที่พ้องเสียงกับคำว่า “ชุนเจีย” หรือฤดูใบไม้ผลิ นอกจากนี้ลักษณะของปอเปี๊ยะยังมีหน้าตาเหมือนทองคำแท่ง ดังนั้นชาวจีนจึงเชื่อว่าการทานปอเปี๊ยะกับครอบครัวในวันตรุษจีนนั้น คือการอวยพรให้ร่ำรวยมีเงินทอง มีทรัพย์สินที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
- เมนูปลา
หนึ่งในประเภทเมนูยอดนิยมในแต่ละมื้ออาหารก็คือเมนูปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวจีน สำหรับในเทศกาลวันตรุษจีนนี้ก็ถือว่าเป็นอีกเมนูมงคล ซึ่งหนึ่งในเมนูยอดนิยมก็คือ ปลานึ่งซีอิ้ว หรือ ปลานึ่งขิง ส่วนสาเหตุที่ปลาคืออาหารมงคลนั้น ก็เพราะคำว่า ”ปลา” ในภาษาจีนพ้องเสียงกับคำว่า “หยู” หรือ “โหยว” ที่แปลว่ามั่งมี ดังนั้นการทานปลาในวันตรุษจีน ก็ถือว่าเป็นการอวยพรให้ครอบครัวมั่งมี มีกินมีใช้ตลอดปี
- ส้ม
หนึ่งในผลไม้มงคลที่เป็นสัญลักษณ์ประจำวันตรุษจีน ก็คือ ส้ม เนื่องจากผลส้มตามความเชื่อชาวจีนนั้น มองว่าเป็นผลไม้ที่มีผลที่มีลักษณะกลมมน เปรียบเสมือนความกลมเกลียวของสมาชิกในครอบครัว และยังมีสีที่เหมือนทองคำ นอกจากนี้คำว่า “ส้ม” ของจีนยังคล้องเสียงกับคำว่า “เช้ง” ที่หมายถึงความสำเร็จ ดังนั้นการทานส้มในเทศกาลตรุษจีน ก็หมายถึงการอวยพรให้ประสบความสำเร็จในชีวิต และหน้าที่การงานนั่นเอง หรือหากเป็น ส้มโอ ก็จะยิ่งเพิ่มความเป็นมงคลมากขึ้นไปอีก เพราะส้มโอในความเชื่อของชาวจีนหมายถึงความร่ำรวย มั่งคั่งอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
ความเชื่อโชคลางวันตรุษจีน
นอกจากความเชื่อในเรื่องโชคลางจากอาหาร พิธีกรรมต่าง ๆ แล้ว ในช่วงวันตรุษจีนชาวจีนยังถือเคล็ดอื่น ๆ ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเคร่งครัดไม่แพ้กัน เพราะเชื่อว่าหากเผลอทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือไม่ทำสิ่งใด ๆ นี้แล้ว อาจส่งผลให้ปีนั้นโชคร้ายตลอดทั้งปี ซึ่งความเชื่อที่ชาวจีนปฏิบัติช่วงวันตรุษจีน ก็มีดังนี้
1.ห้ามร้องไห้
ชาวจีนมีความเชื่อว่าการร้องไห้ หรือโศกเศร้าเสียใจในวันปีใหม่นั้น จะเป็นลางร้าย ทำให้ตลอดปีนั้นเต็มไปด้วยเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในชีวิตตลอดปี ดังนั้นจึงมีข้อห้ามที่ว่าห้ามร้องไห้ หรือเสียใจในวันแรกของปี
2.ห้ามกินโจ๊ก หรือข้าวต้มเป็นมื้อเช้าในวันตรุษจีน
สาเหตุก็เพราะเนื่องจากในสมัยก่อนนั้น โจ๊กและข้าวต้มคืออาหารของคนจน เนื่องจากเป็นอาหารที่ไม่ได้ใช้วัตถุดิบมาก ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าการทานโจ๊กหรือข้าวต้มในวันขึ้นปีใหม่นั้น จะเป็นการทำให้ตนเองนั้นจนลง หรืออาจทำให้มีปัญหาเรื่องการเงินตลอดปี นอกจากนี้ก็ยังมีการห้ามรับประทานเนื้อสัตว์เป็นมื้อเช้าของวันขึ้นปีใหม่ เพราะเป็นเหมือนการทำบาปรับต้นปี
3.ไม่สระผม หรือตัดผม
เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่า หากตัดผม หรือสระผม ในวันแรกของปี จะเปรียบเสมือนการชำระล้าง หรือตัดโชคลาภต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในปีนั้นออกไป
4.แต่งกายในชุดสีแดง งดเว้นการใส่ชุดสีดำ
สำหรับการแต่งกาย มีความเชื่อว่าควรแต่งชุดที่เป็นสีแดงในวันตรุษจีน จะส่งผลดีแก่ผู้สวมใส่ เพราะชาวจีนถือว่าสีแดงคือสีนำโชค ที่จะนำพาแสงสว่างเข้ามาในชีวิต ในขณะเดียวกันก็มีข้อห้ามในการแต่งชุดดำ เพราะถือว่าเป็นสีแห่งลางร้ายที่หากสวมใส่ในวันปีใหม่อาจทำให้เจอเรื่องร้ายตลอดปี
สรุปแล้ว วันตรุษจีน นับว่าเป็นวันสำคัญมากที่สุดของชาวจีนทั่วโลก เพราะนอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีนแล้ว ในระหว่างวันตรุษจีน ก็ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมของครอบครัว และเต็มไปด้วยพิธีกรรมความเชื่อมากมายที่ยึดถือปฏิบัติมาเป็นเวลาเนิ่นนาน ดังนั้นการเข้าใจวัฒนธรรมและธรรมเนียมต่าง ๆ ในวันตรุษจีนแล้ว อาจทำให้เราเข้าใจในที่มา และสาเหตุของพิธีกรรมนั้น ๆ มากยิ่งขึ้น
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
📕 อ้างอิงรูปภาพ
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎