หลักการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์ เพื่อใช้ในงานเขียนประเภทต่างๆ
ในการจัดทำงานเขียนประเภทต่างๆ นอกจากเนื้อหา สาระสำคัญของประเด็นที่ต้องการสื่อ ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักของงานเขียนนั้นๆ แล้ว ส่วนอ้างอิงข้อมูล หรือบรรณานุกรมก็ถือเป็นอีกส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้ โดยเฉพาะกับงานเขียนประเภทที่ค่อนข้างมีความเป็นทางการ เช่น บทความกึ่งวิชาการ บทความวิชาการ รายงานสรุปองค์ความรู้ งานวิจัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปหลายคนอาจคุ้นเคยกับการเขียนบรรณานุกรม ในลักษณะการเขียนอ้างอิงจากหนังสือ การเขียนอ้างอิงจากวารสาร การเขียนอ้างอิงจากบทความวิชาการ เพราะแหล่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลที่มีการใช้งานกันมานานแล้ว ทว่าปัจจุบันมีการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ค้นหาข่าว บทความในเว็บไซต์มากขึ้น ทำให้การเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์ เป็นอีกหนึ่งลักษณะการเขียนบรรณานุกรมที่พบเห็นกันบ่อยขึ้น แต่ด้วยองค์ประกอบของข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลประเภทนี้ที่แตกต่างจากแหล่งข้อมูลแบบสื่อสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม ทำให้บางคนอาจยังสับสนกับหลักในการบันทึกอ้างอิงในส่วนนี้ เนื้อหาในบทความนี้จึงจะเป็นการอธิบายถึงหลักการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์ที่ถูกต้อง และเทคนิคการหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงออนไลน์สำหรับใช้ในการจัดทำงานเขียนต่างๆ
เขียนอ้างอิงตามหลักการจัดทำบรรณานุกรมมาตรฐาน
โดยทั่วไปแล้วการเขียนอ้างอิงเพื่อใช้ประกอบในงานเขียนใดๆ อาจมีความยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของงานเขียนนั้นๆ กล่าวคืองานเขียนแต่ละประเภทนั้นมีวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้งาน หรือนำเสนอสารในงานเขียนที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการจัดทำที่มีความเป็นทางการมากน้อยต่างกัน เราจึงจะได้เห็นรูปแบบการบันทึกแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ต่างกันไปในแต่ละงานเขียน กระนั้นในกรณีที่เป็นงานเขียนที่มีความเป็นทางการ สามารถใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ เช่น บทความวิชาการ วิทยานิพนธ์ เอกสารงานวิจัย หนังสือที่มีเนื้อหาทางวิชาการ เป็นต้น จะมีรูปแบบการจัดทำบรรณานุกรมที่ถูกใช้กันเป็นมาตรฐาน เพื่อความเข้าใจที่เป็นสากล เรียกว่ารูปแบบ APA (ย่อมาจาก American Psychological Association) ซึ่งในการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์ ตามหลักมาตรฐาน APA นี้จะมีวิธีเขียนดังนี้
- เขียนขึ้นต้นด้วยชื่อผู้แต่ง หรือผู้เขียนบทความ ข่าวนั้นๆ ตามด้วยปีที่มีการเผยแพร่ หรืออัพโหลดข้อมูลนั้นๆ ต่อด้วยชื่อของบทความ ข่าว หรือสกู๊ปอ้างอิงนั้นๆ และ วันเดือนปี ที่ทำการสืบค้นข้อมูลนั้นๆ จากนั้นปิดท้ายด้วยที่อยู่เว็บไซต์ หรือเว็บบล็อกของแหล่งข้อมูล สรุปรูปแบบการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์ ชื่อผู้แต่ง./(ปีที่เผยแพร่).//ชื่อบทความ ข่าว./สืบค้น วันที่ เดือน ปี,//จาก address เว็บไซต์
การเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์
สำหรับงานเขียนที่ไม่เป็นทางการ อย่างที่ทราบกันตามที่กล่าวข้างต้นว่า การเขียนอ้างอิงสำหรับงานเขียนที่ไม่เป็นทางการนั้นไม่มีรูปแบบการเขียนอ้างอิงที่เป็นมาตรฐานตายตัวเหมือนกับงานเขียนที่มีความเป็นทางการ แต่ก็ใช่ว่าการบันทึกบรรณานุกรมสำหรับงานเขียนประเภทนี้จะไม่มีหลักการที่เหมาะสม และควรนำไปปรับใช้ซะทีเดียว โดยหลักการง่ายๆ สำหรับการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์ในงานเขียนอย่างไม่เป็นทางการมีดังนี้
- เขียนโดยคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งานข้อมูลต่อของผู้อ่าน เช่น เลือกใส่แหล่งอ้างอิงข้อมูลส่วนที่คิดว่าเป็นข้อมูลที่สัมพันธ์กับประเด็นที่สื่อสารมากที่สุด ซึ่งหากผู้อ่านได้ไปสืบค้น หรือศึกษาเพิ่มเติมจะทำให้เข้าใจเนื้อหาในงานเขียนนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น
- เขียนโดยคำนึงถึงความถูกต้องของแหล่งข้อมูลต้นฉบับ แหล่งข้อมูลออนไลน์อย่างเว็บไซต์ เว็บบล็อก หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ นั้นถือเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความกระจัดกระจายของข้อมูลสูง จึงทำให้ข้อมูลผู้เขียน ผู้เผยแพร่งานต้นฉบับนั้นอาจมีความคลาดเคลื่อน หรือตรวจสอบได้ยาก ต่างจากแหล่งข้อมูลรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งข้อมูลถูกจัดเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ ตรวจสอบผู้เขียน ผู้เผยแพร่งานต้นฉบับได้ง่าย ดังนั้นในการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์จึงต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งที่มาข้อมูลต้นฉบับเป็นพิเศษ
เทคนิคการหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงออนไลน์
แม้ว่าแหล่งข้อมูลอ้างอิงออนไลน์จะเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสะดวกในการค้นหา เข้าถึง และมีปริมาณข้อมูลมากครอบคลุมในทุกวงการ แต่การเลือกนำมาใช้ในการจัดทำงานเขียนต่างๆ ถือว่าไม่ง่ายเลย เนื่องจากข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน เป็นข้อมูลที่ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาได้ยาก และถูกจัดทำขึ้นโดยผู้ใช้งานรายใดก็ได้ ทำให้คุณภาพของข้อมูลนั้นมีความปะปนกัน และไม่มีมาตรฐานในการตรวจทานข้อมูลก่อนการเผยแพร่ที่ชัดเจน ในการหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงออนไลน์มาใช้งาน และจัดทำการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์ลงในงานเขียนใดๆ จึงอาจเกิดความผิดพลาด และทำให้งานเขียนออกมาไม่สมบูรณ์ได้ โดยในการเลือกหาแหล่งข้อมูลออนไลน์สำหรับนำใช้ในการสร้างสรรค์งานเขียนใดๆ ควรมีวิธีคัดกรองข้อมูลดังนี้
- เลือกแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ อย่างที่ทราบกันว่าข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ถูกจัดทำขึ้นโดยผู้ใช้รายใดก็ได้ ดังนั้นวิธีที่จะช่วยคัดกรองข้อมูลที่มีคุณภาพได้ก็คือการเลือกใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่มีการระบุชื่อ ข้อมูลส่วนตัวผู้เขียนชัดเจน ข้อมูลจากบัญชีทางการของสื่อต่างๆ (ผ่านการยืนยันตัวตนตามขั้นตอนของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้นๆ แล้ว) ข้อมูลที่มีการระบุรายการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลอื่น เป็นต้น
- เลี่ยงการใช้ข้อมูลที่มีการกล่าวอ้างคำพูดของบุคคลใดๆ โดยไม่มีคลิปเสียง หรือวิดีโออ้างอิงประกอบ การเลี่ยงใช้ข้อมูลที่เป็นคำพูดของบุคคล ถือเป็นวิธีที่ช่วยลดความผิดพลาดในการจัดทำงานเขียน และรายการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์ใดๆ ได้ เพราะข้อมูลลักษณะของคำพูด ประโยคคำกล่าวของบุคคลใดๆ เป็นข้อมูลประเภทที่มีความคลาดเคลื่อน และถูกบิดเบือนได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการใช้ข้อมูลการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์ในงานเขียนใดๆ เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลสำหรับจัดทำงานเขียนชิ้นใหม่ บทความ ข่าว หรือสกู๊ปใหม่ๆ ก็จะทำให้เกิดเป็นความผิดพลาดต่อเนื่องกันไปด้วย
ตัวอย่างการเขียนอ้างอิงจากเว็บไซต์
ชื่อผู้แต่ง./(ปีพิมพ์).//ชื่อบทความ./สืบค้น หรือ Retrieved/วัน เดือน ปี (ที่สืบค้น),//จาก หรือ from/https://www.xxxxxxxxxx
ข้าวตัง. (2565). แนะนำทริคเล็กน้อย เขียนแสดงความยินดีอย่างไร ให้ประทับใจผู้อ่าน. สืบค้น. 18 มิถุนายน 2565, จาก https://kawtung.com
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2564). การเขียนเอกสารอ้างอิงและบรรณานุกรม. สืบค้น.18 กรกฎาคม 2565, จาก https://www.iem.engr.tu.ac.th/wp-content/uploads/2019/07/TULIBS-APA.pdf
ตัวอย่างการเขียนอ้างอิง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎