กติกาเทเบิลเทนนิส เบื้องต้นแบบเข้าใจง่าย พร้อมวิธีเล่น
กติกาเทเบิลเทนนิส นั้นดูจะเข้าใจไม่ยาก แต่ก็มีความหยุมหยิมอยู่พอสมควร เพราะตั้งแต่มีกีฬาประเภทนี้ขึ้นมาก็ถูกปรับปรุงมาโดยตลอด เพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้กับผู้ชม และนักกีฬาไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เทเบิลเทนนิสกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1890 โดยในช่วงแรกใช้ชื่อว่ากีฬาปิงปอง (PINGPONG) แต่ต่อมามีบริษัทเครื่องกีฬาจดทะเบียนโดยใช้ชื่อนี้ จึงทำให้กีฬาปิงปองเปลี่ยนเป็น เทเบิลเทนนิส ในยุคแรกมีการใช้ไม้หุ้มหนังสัตว์ตีลูกพลาสติกบนโต๊ะ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาเรื่อยมา จนมีไม้ตีปิงปองที่จริงจังที่ออกแบบมาเฉพาะ มี กติกาเทเบิลเทนนิส แบบเป็นรูปเป็นร่าง จนเริ่มเป็นกีฬาที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย
ทำให้ในปี 1926 มีการจัดการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลกโดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่เริ่มพัฒนาทักษะ และเทคนิคการตีแบบต่าง ๆ ยังถือเป็นชาติแรกที่จับไม้ปิงปองแบบปากกา มีการพัฒนาไม้ปิงปองอย่างต่อเนื่องจนสามารถชนะการแข่งขันกับยุโรปถึง 7 ครั้ง และเข้าสู่โอลิมปิกครั้งแรกในประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ. 1988 สำหรับกีฬาเทเบิลเทนนิสในประเทศไทยมีการจัดตั้งสมาคมในปี พ.ศ. 2500 และได้เริ่มแข่งขัน ใน พ.ศ. 2502
อุปกรณ์ใน กติกาเทเบิลเทนนิส
โต๊ะ – จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความหนาของหน้าโต๊ะประมาณ 15 – 20 มิลลิเมตร มีขนาด 2.74 x 1.525 เมตร สูง 76 ซม. พื้นผิวต้องมีสีเข้มความเรียบสม่ำเสมอ ไม่สะท้อนแสง ตีเส้นด้วยสีขาวเห็นชัดเจน ในการแข่งขันอย่างเป็นทางการหรือระดับนานาชาติ โต๊ะต้องได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติเท่านั้น โดยโต๊ะจะถูกแบ่งแดนด้านละเท่า ๆ กันมีเน็ตกันตรงกลาง
เน็ต – ต้องสูงจากผิวโต๊ะ 15.25 ซม. ด้านล่างเน็ตต้องชิดกับผิวโต๊ะ ส่วนปลายด้านล่างต้องชิดกับเสาให้มากที่สุด
ลูกปิงปอง – กติกาเทเบิลเทนนิส กำหนดไว้ว่าต้องเป็น เซลลูลอยด์ หรือ พลาสติก ที่ให้คุณภาพใกล้เคียง ขนาดของลูกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 มิลลิเมตร และหนัก 2.7 กรัม
ไม้ตีปิงปอง – ไม่จำกัดรูปร่าง ขนาด และน้ำหนัก แต่หน้าไม้ที่มีไว้สำหรับตี ต้องแข็ง มีความแบนเรียบ ความหนาของไม้ต้องทำมาจากวัสดุธรรมชาติ 85 % และมีวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ 7.5 % ของความหนา โดยด้านหนึ่งของหน้าไม้ต้องมีสีดำ อีกด้านต้องเป็นสีแดงสว่าง ไม่สะท้อนแสง ส่วนใดส่วนหนึ่งของไม้ต้องไม่เป็นสีขาว
การเสิร์ฟลูกที่ถูกต้อง – กติกาเทเบิลเทนนิส การเสิร์ฟต้องวางลูกบนฝ่ามือ เหนือผิวโต๊ะ ให้ลูกหยุดนิ่ง แล้วโยนลูกในลักษณะตั้งฉาก ให้สูงกว่าระดับฝ่ามือ 16 ซม. ขึ้นไป โดยลูกจะต้องไม่หมุนโดยที่เราตั้งใจ แล้วปล่อยให้ลูกลอยลงมาในระดับลงกระทบแดนของผู้ส่ง แล้วจึงตีเสิร์ฟออกไป หากเป็นการแข่งขันประเภทคู่ ลูกต้องกระทบแดนขวาของผู้ส่ง แล้วจึงตีไปแดนขวาของผู้รับ
การรับ – เมื่อเราเสิร์ฟข้ามไปแล้ว ฝั่งตรงข้ามสามารถตีโต้ได้โดยตรง เพื่อกระทบแดนเรา หรืออาจจะกระทบกับเน็ต แล้วตกกระทบก็ได้
การเสิร์ฟใหม่ – การเสิร์ฟใหม่ใน กติกาเทเบิลเทนนิส เกิดขึ้นได้หลายกรณีเช่น เสิร์ฟลูกแฉลบเน็ตลง แต่ฝ่ายตรงข้ามไม่พร้อมที่จะเล่น ก็อาจจะได้เสิร์ฟใหม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการ
การนับคะแนน – กติกาเทเบิลเทนนิส การนับคะแนน นอกจากการตีโต้จนชนะ ยังมีวิธีอื่นที่จะทำให้มีคะแนนได้ เช่น คู่แข่งเสิร์ฟลูกไม่ถูก รับลูกไม่ถูกต้อง การขวางลูก การตีเบิ้ลสองจังหวะ เป็นต้น โดยการนับคะแนนในเกมการแข่งขันกับแมตช์การแข่งขันก็มีความแตกต่างกันออกไป
การให้คะแนนสำหรับเกมการแข่งขัน – ในเกมการแข่งขันหากใครทำได้ 11 คะแนนก่อนเป็นผู้ชนะ แต่ในกรณีที่มี 10 แต้มเท่ากันต้องมีการดิวส์ หากใครทำแต้มหนีคู่แข่งถึง 2 แต้มก่อน ก็จะเป็นผู้ชนะ
การนับคะแนนในแมตช์การแข่งขัน – กติกาเทเบิลเทนนิส สำหรับแมตช์การแข่งขัน จะมีจำนวนเซตที่เป็นเลขคี่เช่น 3, 5, 7 หรือตามตกลง หากเล่น 3 เซต ก็ต้องชนะให้ได้ 2 เซต หรือเล่น 5 เซต ก็ต้องเอาชนะให้ได้ 3 เซต หรือจะเป็น 4 ใน 7 เซต ซึ่งการแข่งขันต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีการหยุด เว้นเสียแต่ว่าผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันก็จะพักได้ ไม่เกิน 5 นาที และจะพักได้หลังจากผ่านเกมที่ 3 ไปแล้วเท่านั้น
การแต่งกาย – หากเราเล่นเพื่อออกกำลังกาย เครื่องแต่งกายนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่หากเป็นการแข่งขันตาม กติกาเทเบิลเทนนิส ก็จะต้องเป็นเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น ถุงเท้า รองเท้า หากเป็นชุดวอร์มต้องได้รับอนุญาตจากผู้ชี้ขาด การแข่งขันภายในประเทศต้องเป็นเสื้อคอปก และเอาเสื้อเข้าในกางเกง ส่วนสีของเครื่องแต่งกายต้องแตกต่างจากลูกเทเบิลเทนนิสที่ใช้ในการแข่งขัน
สนามแข่งขัน – สนามแข่งขันตาม กติกาเทเบิลเทนนิส ต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 14 x 7 เมตร เพดานต้องสูงไม่ต่ำกว่า 4 เมตร การกันต้องเป็นอุปกรณ์สีเข้ม และเป็นสีเดียว สูงประมาณ 75 ซม. และมีความเข้มของไฟได้มาตรฐานอย่าง กติกาเทเบิลเทนนิส ในการแข่งขันโอลิมปิกต้องมีไฟส่องสว่างมีความเข้มมากกว่า 1000 ลักซ์ ส่วนพื้นสนามแข่งขัน ต้องเป็นสีที่ไม่สว่างหรือสะท้อนแสง รวมไปถึงต้องไม่เป็นพื้นที่มีความแข็งเช่น อิฐ คอนกรีต หรือหิน หากเป็นรายการใหญ่ ๆ อย่างโอลิมปิกจะใช้วัสดุยางสังเคราะห์
วิธีเล่นเทเบิลเทนนิสสำหรับมือใหม่
การเล่นเทเบิลเทนนิส หรือปิงปองในช่วงเริ่มต้น อาจจะยากไปหน่อยเพราะจะยังจับทางไม่ถูกจากการกระเด้งกระดอนของลูก แต่หากเล่นจนคล่องก็มีความสนุกเป็นอย่างมาก แถมมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น การฝึกสมาธิ พัฒนาสมอง และเพิ่มไหวพริบ ทำให้สุขภาพดี มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น
การเล่นเองเพื่อออกกำลังกายกับเพื่อนหรือครอบครัวก็ไม่จำเป็นต้องยึด กติกาเทเบิลเทนนิส เหมือนการแข่งขันแบบจริงจัง โดยเริ่มต้นด้วยวิธีจับไม้ก่อนการจับไม้ปิงปองหลัก ๆ มีอยู่ 2 แบบ คือการจับแบบสากลที่เป็นการจับที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดนเฉพาะทางยุโรป และยังเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นหัดเล่น สามารถตีได้ทั้งลูกหน้ามือและหลังมือ การจับไม้แบบจีน หรือการจับแบบปากกา จะเป็นการใช้ไม้ตีเพียงหน้าเดียว ไม่มีหน้ามือหลังมือ การจับแบบนี้จะนิยมในจีนหรือเอเชีย ที่ทำให้รู้สึกคล่องตัว การตีลูกก็ยังทำได้รวดเร็วและแรง เหมาะสำหรับคนที่เน้นเกมบุก ในการแข่งขันเราสามารถใช้การจับวิธีไหนก็ได้ เพราะใน กติกาเทเบิลเทนนิส ไม่ได้ออกกฎบังคับไว้ว่าต้องจับแบบไหน
สำหรับการตีลูกแบบต่าง ๆ ก็มีดังนี้
การตีแบบ ฮาร์ฟวอลเลย์ – การตีแบบนี้ เป็นเทคนิคการรับมือจากฝั่งตรงข้ามที่ตีมาอย่างรุนแรงรวดเร็ว โดยฝ่ายเราตีตอบโต้อย่างรวดเร็ว กลับไปเช่นกัน
การตีลูกโด่ง – เป็นการตีเชิงตั้งรับ ในจังหวะที่เรากำลังจะเพลี่ยงพล้ำหรือเสียจังหวะในการเล่น ไม่สามารถตีด้วยวิธีใดได้ การโต้กลับด้วยลูกโด่งที่ลอยสูงจะช่วยให้เรามีเวลาตั้งหลัก แล้วเตรียมตัวเล่นเกมรุกต่อ หากฝ่ายตรงข้ามตีกลับมา
การเล่นลูกหยอด – เทคนิคการตีแบบนี้จะต้องตีให้ตกใกล้เน็ตในฝั่งคู่แข่งให้มากที่สุด เพื่อให้คู่แข่งไม่สามารถรับลูกได้ทัน แต่ต้องกะให้แม่นหากลูกไม่ข้ามเราก็จะไม่ได้แต้ม
การตีลูกพุ่ง – เป็นการตีลูกให้พุ่งไปข้างในทิศทางที่เราต้องการแบบวิธีตรง รวดเร็วและรุนแรง
ทั้งหมดนี้ คือ กติกาเทเบิลเทนนิส เบื้องต้นแบบเข้าใจง่าย พร้อมวิธีเล่นซึ่งหากใครสนใจกีฬาชนิดนี้ก็ควรศึกษาดู หรือลองเล่นดู ถึงแม้จะไม่ใช่กีฬายอดนิยมอันดับต้น ๆ ก็สามารถสร้างความสนุกได้ไม่น้อย เผลอ ๆอาจจะติดใจขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้ใครจะไปรู้
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
📕 อ้างอิงรูปภาพ
- https://pixabay.com/th/photos/ปิงปอง-ความรัก-กีฬา-1208384/
- https://pixabay.com/th/photos/ปิงปอง-พาย-ตาราง-เกม-กีฬา-เล่น-1205609/
- https://pixabay.com/th/photos/ปิงปอง-แรงผลักดัน-กีฬา-1208377/
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎