วันที่ฝนตกไหลลงที่หน้าต่าง บางครั้งก็คิดถึงบางคน บางอารมณ์ก็เหงาขึ้นมาจับใจจนต้องระบายความในใจด้วยการเขียนแคปชั่นวันฝนตกลงบนโซเชียลมีเดีย จนเพื่อนหลายคนชักสงสัยว่าใครทำอะไรให้เสียใจ หรือ ไปอกหักจากที่ไหนมากันแน่
แต่ไม่ว่าจะเขียนแคปชั่นหน้าฝน หรือ จะระบายอารมณ์ด้วยกิจกรรมไหน ทุกคนเคยสงสัยไหมว่า ทำไมความเหงากับวันฝนตกต้องมาคู่กันเสมอ หากคุณเป็นอีกคนที่สงสัยแบบเดียวกันนี้อยู่ ลองมาทำความรู้จัก ‘Seasonal Affective Disorder’ หรือ ‘ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล’ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอารมณ์เหงาในฝนตกกัน
Seasonal Affective Disorder คืออะไร?
เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สุขภาพใจแปรปรวนจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Disorder (SAD)
โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะซึมเศร้าที่ว่านี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีฤดูหนาวที่ยาวนาน โดยหลายคนอาจจะรู้จักในชื่อของ Winter Blues ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้คนในประเทศฝั่งอเมริกาเหนือ และ ยุโรป เนื่องจากฤดูหนาวที่ยาวนานทำให้บรรยากาศโดยรอบมีความขุ่นมัวและเต็มไปด้วยความหนาวเย็น นอกจากนี้ หิมะที่แม้จะดูสวยงาม แต่เมื่อตกลงมาอย่างต่อเนื่องก็อาจทำให้เกิดเป็นชั้นหิมะหนา ทำให้หลายคนต้องอยู่ในบ้านตลอดเวลา แถมเมื่อหิมะบางส่วนเริ่มละลายก็ทำให้พื้นที่โดยรอบมีแต่โคลนอีกด้วย
สำหรับในประเทศฝั่งเอเชีย รวมถึงประเทศไทย แม้จะไม่มีบรรยากาศขุ่นมัวเหมือนกับประเทศฝั่งยุโรปและอเมริกา แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากฤดูร้อนไปสู่ฤดูฝน หรือจากอากาศร้อนไปสู่ฤดูหนาว ผู้คนบางส่วนก็อาจรู้สึกถึงภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลได้เช่นกัน
Seasonal Affective Disorder เกิดจากอะไร?
แม้จะยังไม่มีสาเหตุของการเกิด Seasonal Affective Disorder ที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่า ภาวะซึมเศร้าจากฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย เช่น ร่างกายมีการรับแสงแดดที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ฮอร์โมนความสุขอย่างเซโรโทนินไม่สมดุล หรือ ร่างกายต้องปรับตัวตามเวลากลางวันและกลางคืนที่ไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา จนทำให้ระบบต่าง ๆ เสียสมดุล
นอกจากนี้ ภาวะซึมเศร้าดังกล่าวยังอาจเกิดขึ้นจากสารสื่อประสาท พันธุกรรม รวมถึงความรู้สึกทางใจที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมดูไม่สดใส ไม่มีแสงแดด อากาศมีแต่ความหนาวเย็น ร้อนจัด หรืออาจรู้สึกได้ถึงความเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลาจนไม่สบายใจ
อาการของ Seasonal Affective Disorder
Seasonal Affective Disorder เป็นภาวะซึมเศร้าที่สามารถหายได้ภายใน 1 – 3 เดือน แล้วแต่ความรุนแรงและปัจจัยด้านสุขภาพกายและใจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะซึมเศร้าเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลงจะมีอาการเบื้องต้น ดังนี้
- รู้สึกเศร้า โดยบางคนอาจเกิดเป็นความรู้สึกเหงา หมดหวัง และไร้ค่าร่วมด้วย
- ง่วงนอนตลอดเวลา หรือ นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกเบื่อ หมดความสนใจในกิจกรรมที่ชื่นชอบ
- ไม่มีสมาธิ จดจ่ออะไรไม่ได้นาน
- มีพฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กินมากขึ้น หรือ น้อยลง ตลอดจนมีความอยากอาหารแคลอรีสูงเพิ่มขึ้น
- กรณีร้ายแรงที่สุด อาจรู้สึกหมดหวังและคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งหากเกิดความรู้สึกดังกล่าวนี้เมื่อไหร่ ขอแนะนำให้รีบไปพบจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยาทันที
ดูแลใจอย่างไรในวันนี้ที่เกิด Seasonal Affective Disorder?
บนโลกนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าภาวะหมดไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหมดไฟในช่วงเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่อาจทำให้รู้สึกเหงา เศร้า และหมกมุ่นกับความรู้สึกในเชิงลบ จนส่งผลต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว เมื่อรู้แบบนี้แล้ว หากใครรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีภาวะ Seasonal Affective Disorder ลองมาปรับอารมณ์ดูสักหน่อยด้วย 4 วิธีการดูแลใจ ดังนี้
1. เปิดไฟในห้องให้สว่าง
ในวันที่ฝนพรำจนรู้สึกเหงา ก่อนที่จะลงมือเขียนแคปชั่นหน้าฝน ขอแนะนำให้ลองเปิดไฟในห้องให้สว่างเพื่อปรับอารมณ์ดูสักหน่อย ซึ่งแสงไฟที่เหมาะสมจะสร้างความรู้สึกอบอุ่นและกระตุ้นให้สมองรู้สึกว่ามีแสงแดดอยู่รอบตัว ถือเป็นการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนแห่งความสุขอย่างเซโรโทนินไปในตัว
โดยการเปิดไฟในห้องเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงฤดูมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘Light Therapy’ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในประเทศตะวันตกที่บรรยากาศหน้าหนาวทำให้รู้สึกเหงาและเศร้าอย่างยาวนานนั่นเอง
2. งดเปิดเพลงเศร้า
เวลาเหงาไม่ว่าใครก็ชอบเปิดเพลงเศร้า แต่หากรู้สึกเศร้าจากฤดูฝน หรือ ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป ขอแนะนำให้งดเว้นการเปิดเพลงอกหัก หรือ เพลงเศร้าเพื่อตอกย้ำความรู้สึก เพราะอาจทำให้รู้สึกเศร้ามากกว่าเดิมก็เป็นได้ หรือหากใครต้องการเปิดเพลงเพื่อให้บรรยากาศโดยรอบไม่เหงาและอ้างว้างจนเกินไป ลองเปิดเพลงแจ๊ซ หรือ เพลงจังหวะ Acoustic แบบสร้างความผ่อนคลายดู
3. ขยับตัววันละนิด จิตแจ่มใสขึ้นจริง
นอกจากจะขยับสมองไปพร้อมนิ้วเพื่อเขียนแคปชั่นวันฝนตกแล้ว ทุกคนยังควรหาเวลาเพื่อออกกำลังกาย หรือ ขยับตัวสักเล็กน้อย เพื่อลดภาวะซึมเศร้าในสมอง จากผลการวิจัยพบว่า การออกกำลังกายวันละ 30 นาทีขึ้นไป สามารถช่วยปรับอารมณ์ให้กลับมาสดใสได้ ทั้งยังช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้นอีกด้วย
4. มองหาเรื่องสนุกที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ทำ
การทำกิจกรรมสร้างสรรค์สามารถช่วยสร้างความตื่นเต้น ทั้งยังช่วยฝึกสมองให้ได้ลองคิดเรื่องสนุกอยู่เสมอ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สามารถลดความเศร้าในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี โดยทุกคนอาจลองชวนเพื่อนมาเล่นบอร์ดเกม ออกกำลังกาย ไปจนถึงฝึกความคิด การอ่าน และการเขียนด้วยตัวเองจากการเขียนแคปชั่นแซ่บๆ หรือ แคปชั่นอ่อยแรงๆ ไม่แน่ว่า เขียนไปเขียนมาอาจได้เจอคนช่วยคลายเหงาและทำให้เราไม่เศร้าอีกต่อไปก็เป็นได้!
เป็นอย่างไรกันบ้าง ทีนี้ทุกคนก็หมดสงสัยแล้วว่า ความเหงาในวันฝนตกมาจากไหน และจะดูแลใจอย่างไรเมื่อรู้สึกเศร้าในวันฝนพรำ หากใครลองฝึกกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างการเขียนแคปชั่นหน้าฝนแล้ว อย่าลืมนำแคปชั่นแซ่บๆ หรือ แคปชั่นอ่อยแรงๆ ประจำหน้าฝนมาโพสต์ต่อไอเดียให้กับเพื่อนๆ ใน Kawtung.com ด้วยนะ
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม