ภาคใต้เป็นพื้นที่บริเวณด้านล่างสุดของประเทศ โดยกินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรไล่ยาวลงมาถึงจังหวัดปัตตานี ซึ่งวัฒนธรรมและประเพณีภาคใต้ที่สำคัญก็จะมีความเชื่อมโยงกับลักษณะของวิถีชีวิต ศาสนา การประกอบอาชีพ รวมไปถึงความเชื่อในเรื่องผีสาง ซึ่งก็อาจจะมีความคล้ายคลึงและแตกต่างไปจากประเพณีของภาคอื่น ๆ ไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ในบทความนี้เราอยากจะนำเอาเรื่องราวของความทรงคุณค่าที่ไม่อยากให้เลือนหายไป ของประเพณีเหล่านี้มาให้ทุกคนได้อ่านกัน ถ้าพร้อมแล้วตามไปอ่านเรื่องราวสาระความรู้ดี ๆ พร้อมกันได้เลย
จังหวัดไหนบ้างในไทยที่เกี่ยวข้องกับประเพณีภาคใต้
ภาคใต้คือภูมิภาคหนึ่งของประเทศไทย โดยเป็นพื้นที่ของประเทศซึ่งตั้งอยู่บริเวณปลายของด้ามขวาน วางตัวยอดยาวขนาบข้างด้วยทะเลทั้งสองฝั่ง ได้แแก่ทะเลอันดามันและทะเลอ่าวไทย เพราะฉะนั้นจึงมีความหลากหลายทางธรรมชาติ ทั้งภูเขาและทะเล รวมไปถึงหมู่เกาะมากมายที่กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนั้นพื้นที่ปลายสุดของภาคใต้ก็ยังมีดินแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย
โดยภาคใต้เป็นหนึ่งในพื้นที่อยู่อาศัยของชาวไทย ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลาอันยาวนาน โดยเฉพาะประเพณีภาคใต้ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศิลปะวัฒนธรรม ตลอดจนความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี โดยจังหวัดในภาคใต้ของไทยจะประกอบไปด้วย 14 จังหวัด ดังนี้
- จังหวัดกระบี่
- จังหวัดชุมพร
- จังหวัดตรัง
- จังหวัดนครศรีธรรมราช
- จังหวัดพังงา
- จังหวัดพัทลุง
- จังหวัดภูเก็ต
- จังหวัดยะลา
- จังหวัดระนอง
- จังหวัดสงขลา
- จังหวัดสตูล
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- จังหวัดปัตตานี
- จังหวัดนราธิวาส
รวมประเพณีภาคใต้ มรดกจากบรรพบุรุษที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
-
ประเพณีภาคใต้ : ประเพณีแข่งขันตีโพน
ประเพณีภาคใต้ที่มีความโด่งดังและเป็นหนึ่งสีสันของคนในพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียงอย่างการแข่งขันตีโพนโพนของจังหวัดพัทลุง มีการสืบสานกันต่อมาเป็นเวลานาน โดยคำว่าโพนก็คือชื่อเรียกเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวภาคใต้ เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่ได้มีเอาไว้แค่สร้างความบันเทิง แต่มันเปรียบเสมือนเครื่องมือซึ่งเอาไว้ใช้สำหรับบอกเหตุร้ายในเวลากลางคืน นอกจากนั้นยังใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการทำกิจกรรมมากมาย เช่น เรียกประชุมของคนในชุมชน ใช้สำหรับบอกเวลาของพระลูกวัด และอีกหลากหลายงานสำคัญซึ่งคนภาคใต้จะเลือกใช้โพนกันเป็นส่วนใหญ่
โดยประเพณีภาคใต้แข่งขันตีโพนจะเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิบ ไปจนถึงวันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด โดยจะทำการจัดไปพร้อมกับอีกหนึ่งประเพณีสำคัญในช่วงออกพรรษา โดยความสนนุกสนานและสน่ห์ของการจัดการแข่งขันโพนนี้ ก็จะเริ่มมีให้เห็นได้ตั้งแต่ช่วงก่อนจะถึงวันแข่งขัน เพราะชาวบ้านหรือผู้ที่ต้องการร่วมการแข่งขันตีโพน ก็จะเริ่มมีการซ้อม รวมไปถึงตกแต่งโพนของตนเองให้มีความสวยงาม และมีเสียงที่ไพเราะมากที่สุด ซึ่งวิธีการก็จะแตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์และความชำนาญ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีความรู้ในการทำโพนก็จะเลือกใช้ไม้เนื้อแข็งเช่นต้นตาลโตนด, ต้นจำปาป่า, ต้นขนุนป่า, นำมาทำเป็นตัวโพน จากนั้นคลุมด้วยหนังควายเพื่อความทนทานนั่นเอง และจากสิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันของคนในอดีตกับธรรมชาติ ตลอดจนวิถีชีวิตของบรรพบุรุษที่รู้จักนำเอาสิ่งของต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์
ประเพณีภาคใต้ : ประเพณีลากพระ
ภาคใต้ของไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคซึ่งมีความหลากหลายทางด้านของเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งหนึ่งในศาสนาที่มีความเกี่ยวโยงและผูกพันกับคนในพื้นที่ภาคใต้มาอย่างยาวนานก็คือ ‘ชาวพุทธ’ โดยประเพณีภาคใต้อย่างประเพณีลากพระก็เป็นหนึ่งในประเพณีของชาวพุทธที่สำคัญ ซึ่งมีการปฏิบัติสืบต่อกันมานานหลายช่วงอายุคน
ซึ่งถ้าจะให้อธิบายความเป็นมาของประเพณีภาคใต้ชนิดนี้ ก็ต้องบอกเล่าก่อนเลยว่าการลากพระหรือชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวภาคใต้ที่มีการทำมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย โดยจะมีการจัดงานขึ้นในช่วงหลังวันปวารณาหรือวันออกพรรษาแล้ว 1 วัน หรือก็คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำยมกปาฏิหารย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี จากนั้นได้ทำการเสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา
ซึ่งขณะนั้นทรงจุติเป็นมหามายาเทพสถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพตลอดพรรษา ดังนั้นเมื่อพุทธศาสนิกชนได้ทราบข่าวว่าพระองค์จะเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ จึงได้มีการออกมาต้อนรับและได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้ แล้วแห่แหนกันไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ ต่อมาจึงมีการนำเอารูปเคารพหรือองค์จำลองมาใช้แห่แทนพระพุทธองค์นั่นเอง
ประเพณีภาคใต้ : ประเพณีวันชิงเปรต
ประเพณีภาคใต้อย่างประเพณีวันชิงเปรต เป็นอีกหนึ่งประเพณีของภาคใต้ที่จะเริ่มทำกันในวันสารทเดือนสิบ จะเริ่มมีการจัดงานกันตั้งแต่ช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 หรือที่คนในพื้นที่ของทางภาคใต้จะเรียกวันนี้ว่าเป็นวัน ‘รับเปรต’ โดยในวันนี้มีการกำหนดเอาไว้ว่าลูกหลานหรือผู้ที่ทำพิธีจะต้องมีการตระเตรียมขนมมาเลี้ยงดูเหล่าผีเปรตให้อิ่ม เพราะฉะนั้นในงานก็จะเต็มไปด้วยของกินมากมายนานับประการ จากนั้นเมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะมีการทำพิธีที่เรียกว่าการ ‘ส่งเปรต’ เพื่อเชิญให้เปรตเหล่านั้นเดินทางหวนคืนสู่ที่ทางของตนเอง ซึ่งวันนี้จะตรงกับวันที่เรียกว่าวันสารทใหญ่นั่นเอง
โดยระยะเวลาในการจัดพิธีชิงเปรตนั้นจะเรียกว่าเป็นประเพณีเมืองมนุษย์ 15 วัน เนื่องจากเป็นระยะเวลาในการเลี้ยงอาหารต่าง ๆ ซึ่งรายละเอียดและขั้นตอนของประเพณีภาคใต้อย่างประเพณีวันชิงเปรตก็จะต้องทำการวางเครื่องเซ่นให้กับเปรตทั้งหลาย ได้เข้ามาเสพสุขจากทานที่ลูกหลานมอบให้ เมื่อเปรตเหล่านั้นได้กินเครื่องเซ่นจนอิ่มเรียบร้อย ก็จะมีการทำพิธีที่เรียกว่าการลาเครื่องเซ่นไหว้เปรต เพื่อให้คนที่มาร่วมงานได้เข้ามาแย่งเครื่องเซ่นไหว้เหล่านั้นกัน ตามความเชื่อของคนในพื้นที่ภาคใต้ว่าการแย่งของเปรตกินนั้นจะทำให้เป็นมงคล และยังเปรียบเสมือนเปิดช่องทางให้เปรตเหล่านั้นได้บุญจากการให้ทานกับมนุษย์อีกด้วย
ซึ่งตามความเชื่อเราก็คงไม่อาจจะหาคำใดมาอธิบายความถูกต้อง หรือใช้ค่านิยมของตนเองไปตัดสินใครได้ เพียงแต่การจัดงานดังกล่าวล้วนแล้วแต่สร้างความสบายใจ ทั้งยังทำให้หลายคนได้อิ่มท้องจากบรรดาอาหารคาวหวานซึ่งถูกนำมาใช้เป็นของเซ่นไหว้ อาหารถูกนำไปแแบ่งปันให้หลายคนได้มีชีวิตอยู่ต่อ ไม่เน่าไม่เสีย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีภาคใต้หาดูยาก และเป็นประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นใครที่อยากลองสัมผัสประสบการณ์หรือเรียนรู้วัฒนธรรมความเชื่อของชาวภาคใต้ ก็อาจจะลองหาข้อมูลและไปเที่ยวภาคใต้ในช่วงงานดังกล่าวกันดูได้
ประเพณีภาคใต้ : ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
อีกหนึ่งประเพณีภาคใต้ที่มีความสำคัญ และเป็นหนึ่งในประเพณีที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราชให้ความสำคัญนั่นก็คือ ‘ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ’ โดยประเพณีภาคใต้ดังกล่าวจะมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันมาฆบูชา ซึ่งนอกจากประเพณีดังกล่าวจะมีความยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยความศรัทธา มันก็ยังเป็นหนึ่งในมรดกสำคัญที่บรรพบุรุษทิ้งเอาไว้ให้ลูกหลานได้นำมาใช้เพื่อแสดงถึงวิถีชีวิตและความเชื่ออันยาวนานของคนในพื้นที่
โดยเรื่องเล่าของการกำเนิดประเพณีภาคใต้อันทรงคุณค่าดังกล่าวมีเรื่องเล่าว่าอาจจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ.1333 ในสมัยพระเจ้าสามพี่น้อง หรือก็คือเมื่อสมัยพันกว่าปีก่อนผ่านมาแล้ว ซึ่งในสมัยนั้นพระเจ้าสามพี่น้องก็จะหมายถึง พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ,พระเจ้าจันทรภาณุ, และพระเจ้าพงษาสุระ
เมื่อครั้งที่ทั้งสามพระองค์กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น ได้มีคลื่นเข้าซัดผืนผ้ายาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติเอาไว้ ลอยมาติดที่บริเวณพื้นที่ของชายหาดปากพนัง ชาวบ้านที่พบเห็นจึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ซึ่งพระองค์ทรงมีรับสั่งให้ทำการซักผ้าผืนนั้นให้สะอาด แต่ไม่ว่าอย่างไรลายเขียนพุทธประวัติซึ่งปรากฏอยู่บนผ้าก็ยังคงฝังแน่นอยู่เช่นนั้น พระองค์จึงสั่งให้ทำการหาเจ้าของผ้าผืนนี้โดยด่วน
หลังจากสืบสาวอยู่นานก็ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่งจะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎหรือผ้าชิ้นนี้ไปถวายเป็นพุทธบูชา แต่เรือกลับถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้รอดชีวิตเพียง 10 คนเท่านั้น เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณา และเห็นในแรงศรัทธาของผู้เดินทางในครั้งนี้ จึงเห็นสมควรให้มีการนำผ้าผืนนั้นขึ้นไปห่มพระธาตุ จากนั้นก็ได้มีการกระทำเช่นนี้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นอีกหนึ่งการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของพสกนิกรชาวพุทธที่มีต่อพระพุทธศาสนาเรื่อยมานั่นเอง
ประเพณีภาคใต้ : ประเพณีตายายย่าน
ประเพณีภาคใต้อย่างประเพณีตายายย่านหรืองานพิธีสมโภชและสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัวเป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นดั้งเดินของชาวบ้านท่าคุระ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะมีการจัดเป็นประจำปีในวันพุธแรกของข้างแรมเดือนหก ซึ่งเป็นพิธีที่แสดงถึงความเคารพที่มีต่อเจ้าแม่อยู่หัวซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนั่นเอง
โดยรายละเอียดของประเพณีภาคใต้อย่างประเพณีตายายย่านนี้ จะเริ่มจากการอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัวออกจากผอบซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป วัดท่าคุระ จากนั้นจะต้องมีการจัดเตรียมเครื่องถวายเอาไว้อันได้แก่ เชี่ยน หมากพลู เสื่อ หมอน และให้ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ชายเท่านั้นทำการแต่งตัวในลักษณะนุ่งขาวห่มขาวคล้ายพราหมณ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวน 3 รูปทำพิธีอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัวออกมานั่นเอง
หลังจากที่ได้ทำการอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัวออกออกมาได้เป็นที่เรียบร้อย ก็จะมีการจัดงานยิ่งใหญ่ โดยหนึ่งในพิธีการซึ่งสำคัญมากที่สุดก็คือการรำโนราโรงครู ซึ่งจะต้องทำการเลือกสถานที่ปลูกสร้างโรงรำให้ถูกทิศ มีการจัดตั้งศาล ตลอดเครื่องเซ่นบวงสรวงวางเอาไว้ครบถ้วนห้ามขาดตกบกพร่อง
เมื่อตระเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยก็จะต้องมีการเตรียมเครื่องโหมโรง เชิญราชครู รำเบิกโรง รำแม่บท ออกพราน รำคล้องหงส์ รำแทงเข้และแสดงโนราพื้นบ้าน ต่อเนื่องยาวนานถึง 3 วัน 3 คืน โดยหลังจากเสร็จสิ้นพิธีการของประเพณีภาคใต้ตายายย่านแล้ว ก็จะต้องทำการอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัวเข้าผอบอีกครั้ง โดยห่อผ้า 9 สี 9 ชั้น จัดการให้องค์พระสวดบังสุกุลและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ก็จะถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีเรียบร้อย
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
📕 อ้างอิงรูปภาพ
- https://www.krabipao.go.th/tradition/detail/13/data.html
- https://www.silpa-mag.com/history/article_27637