ผู้เขียนเชื่ออย่างหมดใจเลยว่า ทุกคนต้องเคยผ่านหลักสูตรวิชาภาษาไทยตอนสมัยใส่ชุดนักเรียนอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในห้องเรียนธรรมดา หรือว่าเรียนพิเศษ และในวิชาภาษาไทยนั้นสิ่งหนึ่งที่เราจะได้เรียนกันนั่นก็คือ “วรรณคดีไทย” นั่นเอง ที่มีความสำคัญตั้งแต่การที่ผู้เรียนมีทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน วิชาภาษาไทยมากขึ้น ทั้งการตีความโวหาร คลังคำศัพท์ หรือความรู้เรื่องกาพย์กลอน และบทประพันธ์แบบต่างๆ หรือว่าจะเป็นเนื้อหาที่ใช้ในการสอบแบบต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าน่าสนใจก็คือตัวละครที่ซุกซ่อนอยู่ในวรรณคดีที่ถูกร้อยเรียงเหล่านี้ ที่แต่ละตัวละครมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนผู้เขียนรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มีความน่าสนใจจนอยากเล่าสู่กันฟัง จึงเกิดบทความนี้ขึ้นมา หากพร้อมแล้ว ไปอ่านพร้อมกันได้เลย
นางเงือก
“นางเงือก” เป็นตัวละครจากเรื่องพระอภัยมณี อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่า เธอมีร่างกายครึ่งคนครึ่งปลา ผู้เป็นพ่อและแม่ของนางเงือกต้องมาตาย เพราะการพยายามช่วย “พระอภัยมณี” หนีจาก “ผีเสื้อสมุทร” ไปยังเกาะแก้วพิสดาร ส่วนจุดเริ่มต้นของการหลบหนีก็คือ ผีเสื้อสมุทรได้จับเงือกมา ซึ่งเหล่าพ่อเงือกและแม่เงือกได้อ้อนวอนขอชีวิตโดยจะพาหนีเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนโดยที่พระอภัยมณีได้นำ “สินสมุทร” หนีไปด้วย ส่วนนางเงือกที่เป็นลูก ก็ได้พาหนีจนสำเร็จ และได้รับการปกป้องจากฤๅษี เวลาผ่านไปก็มีเหตุให้พระอภัยมณีต้องแยกจากนางเงือกไป ซึ่งพระอภัยมณีได้ให้แหวนกับเธอ นางเงือกและพระอภัยมณีได้มีลูกด้วยกันเป็นมนุษย์อย่างเต็มตัว นามว่า “สุดสาคร”

ขุนแผน
ตัวละครตัวแรกที่อยากจะแนะนำให้ได้รู้จักกันนั้นจะเป็นตัวละครที่มาจากเรื่องขุนช้างขุนแผน นั่นก็คือตัว “ขุนแผน” ที่เป็นลูกชายของนางทองประศรีและขุนไกรพลพ่าย ชายคนนี้มีชื่อเดิมว่าพลายแก้ว สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวเลยก็คือรูปร่างหน้าตาอันหล่อเหลาและสติปัญญาที่เฉียบแหลม ซึ่งนั่นคือข้อได้เปรียบในการเกี้ยวพาราสี และเอกลักษณ์ด้านความเจ้าชู้ก็ไม่เป็นสองรองใคร แต่เรื่องของความร่ำรวยนั้น เรียกได้ว่าเขานั้นยังคงพ่ายแพ้คนอย่าง “ขุนช้าง” อาวุธประจำตัวคือดาบฟ้าฟื้น ส่วนยานพาหนะประจำตัวก็คือม้าสีหมอก ส่วนทักษะของเขาก็คือความสามารถด้านไสยศาสตร์จากการไปร่ำเรียนที่วัดต่างๆ เช่น การปลุกผี หรือการทำมนต์เสน่ห์ให้หญิงรักหญิงหลง ต่อมาหลังจากบวชเรียนเสร็จแล้ว ก็ถูกเกณฑ์ไปรบ และต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี

มัทนา
นี่คือตัวละครจากเรื่องมัทนะพาธา กล่าวถึงนาง “มัทนา” ที่เป็นนางฟ้านางสวรรค์ มีสิริโฉมงดงามต้องตาเหล่าเทพบุตรชายที่หมายมั่นอยากจะครอบครองเธอ หนึ่งในนั้นคือ “เทพบุตรสุเทษณ์” แต่ทว่าเธอก็ปฏิเสธไปเพราะว่า เธอนั้นไม่ได้มีใจให้ ด้วยความโกรธ เธอจึงถูกสาปให้มาเป็นมนุษย์ที่เกิดจากดอกกุหลาบ ซึ่งคำสาปนั้นจะคลายเมื่อเธอได้รับรู้ถึงความรักในคืนพระจันทร์เต็มดวง เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดเหตุการณ์นี้ นางจะไม่ต้องเป็นดอกกุหลาบอีก ซึ่ง “ฤๅษีกาละทรรศิน” ได้รับรู้ถึงการมาเกิดของเธอ จึงทะนุถนอมเป็นอย่างดี และแล้วนางก็ได้ตกหลุมรัก “พระชัยเสน” ทั้งสองได้เกี้ยวพาราสีจนได้เกี่ยวดองในที่สุด แต่ทว่าเธอก็ได้รับรู้ว่าเขานั้นมีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้วนั่นก็คือ “พระนางจัณฑี” ซึ่งความเจ็บปวดในครั้งนี้ทำให้เธอหนีไปอาศัยในป่ากับฤๅษีตามเดิม

ไกรทอง
ชะตากรรมของตัวละคร “ไกรทอง” เริ่มต้นขึ้น เพราะการจะช่วยเหลือเศรษฐีที่มีลูกสาวนามว่า “นางตะเภาแก้ว” และ “นางตะเภาทอง” ซึ่งนางตะเภาทองได้ตกหลุมรัก “ชาละวัน” ที่ได้แปลงร่างเป็นจระเข้ และทั้งสองได้ไปอาศัยที่ถ้ำของชาละวันด้วยกัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนที่ทั้งสองไปเล่นน้ำด้วยกัน เธอถูกจับตัวไปนานวันเข้าจนเศรษฐีร้อนรุ่มจนต้องหาตัวใครสักคนที่จะมาแก้สถานการณ์นี้ไปให้ได้ ไกรทองจึงรับอาสาแก้ปัญหาเพราะทักษะที่ติดตัวมาจากการเรียนกับอาจารย์คง ด้วยการร่ายคาถาเพื่อล่อให้ชาละวันออกจากถ้ำ และแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อต่อสู้กับไกรทองจนชนะ จนเศรษฐีใจดี ยกลูกสาวทั้งสองให้เป็นรางวัล แถมสมบัติให้ด้วย แต่ทว่าใจของเขานั้นอยากจะได้ “นางวิมาลา” ที่เป็นชายาของชาละวันมาเป็นภรรยาแทน

แก้วหน้าม้า
“แก้วหน้าม้า” คือลูกของ “นายมั่น” และ “นางนิ่ม” แท้จริงแล้วเธอมีชื่อว่า “นางแก้ว” เพียงแต่การที่หน้าของเธอเหมือนม้า จึงถูกเรียกแบบนั้นในที่สุด ถึงแม้ว่าหน้าตาจะขี้ริ้วขี้เหร่สักเพียงไหน แต่ทว่านิสัยของเธอนั้นก็เป็นที่รักใคร่ที่เอ็นดูของคนทั่วไป และเธอนั้นได้ตกหลุมรัก “พระปิ่นทอง” ซึ่งเขานั้นได้รับปากเธอว่าจะมาขอเป็นมเหสี หลังจากที่ทำว่าวขาด แต่สัญญาให้ไว้แล้วก็ไม่คืนคำ แต่ทว่าก็หลีกเลี่ยงการนอนคู่กันเพราะรังเกียจในหน้าตา และดูเหมือนว่า “ท้าวภูวดล” ผู้เป็นพระบิดาของพระปิ่นทอง จะไม่ชอบขี้หน้าจึงหาทางกลั่นแกล้งนางสารพัด ครั้งหนึ่งฤๅษีสงสารนางจึงได้ถอดหน้าม้าของเธอออกทำให้มีหน้าตาที่งดงามในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนที่เธอไปตัดเขาพระสุเมรุตามคำสั่งของท้าวภูวดล

ศกุนตลา
“ศกุนตลา” คือนางในวรรณคดีที่มีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก นางถูกเหล่านกช่วยกันเลี้ยงดูประหนึ่งลูกในไส้หลังจากถูกทิ้งไว้ในป่า ซึ่งแท้จริงแล้วนางเป็นลูกของ “นางอัปสรเมนกา” และ “พระมหาฤๅษีวิศวามิตร” ส่วนสาเหตุของการที่เธอถูกทิ้ง เป็นเพราะฤๅษีไม่สามารถทนต่อตบะที่พระอินทร์ทดสอบได้ เวลาต่อมาเมื่อครั้นเธอได้เติบโตขึ้นมา ก็ได้มีความสัมพันธ์กับ “ท้าวทุษยันต์” ที่ตามกวางดำจนมาถึงอาศรมที่เธออาศัย เขาสัญญาว่าจะกลับเมืองเพื่อมาแต่งเธอเป็นมเหสีนั่นเอง โดยได้ให้แหวนไปหนึ่งวง เวลาต่อมา “ฤๅษีกัณวะ” ได้ส่งตัวเธอไปที่ราชสำนัก แต่ทว่าเขาจำเธอไม่ได้ เพราะระหว่างการเดินทางเธอได้ทำแหวนตกลงไปในแม่น้ำ ซึ่งจากการที่ท้าวทุษยันต์จำเธอไม่ได้ ทำให้เธอเกิดความโกรธขึ้นมา

อิเหนา
“อิเหนา” คือหนึ่งในตัวละครในวรรณคดีไทย ที่เชื่อว่าใครหลายคนต้องเคยได้ยินแน่นอน อิเหนาเป็นลูกของ “ท้าวกุเรปัน” เขานั้นเป็นชายหนุ่มที่มีหน้าตาอันหล่อเหลา มีเสน่ห์ และมีนิสัยเจ้าชู้ เฉกเช่นตัวละครตัวเอกตัวอื่น และเวลาที่ได้รักใครสักคนก็จะรักอย่างรุนแรงมาก เช่น ตอนที่ได้เจอกับ “นางจินตะหรา” ก็หลงรักอย่างสุดหัวใจ โดยไม่ได้สนใจในคำเตือนของพระบิดา เพราะว่าเขานั้นมี “นางบุษบา” เป็นคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้ว แต่ทว่าพอได้เจอกับนางบุษบา ก็ตกหลุมรักนางอีกเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งว่าตอนนั้นนางกำลังจะเป็นชายาของ “ระตูจรกา” แล้ว แต่กระนั้นเขาก็มีความเกรงกลัวต่อผู้เป็นพ่อ เนื่องจากกลัวที่จะต้องถูกตัดพ่อตัดลูก

เมรี
“เมรี” คือตัวละครจากเรื่อง พระรถเมรี เธอเป็นลูกครึ่งคนครึ่งยักษ์ โดยฝ่ายแม่นั้นคือมนุษย์ ส่วนฝ่ายชายคือพญายักษ์ เมื่อนางเมรีถูกคลอดออกมา “นางยักษ์สนธมาร” ได้มาขอไปเลี้ยงดู ซึ่งนางยักษ์สนธมารได้เคยมีบุญคุณกับผู้ปกครองของเธอ แต่นางยักษ์สนธมารมีความแค้นแก่นางสิบสอง จึงได้ใช้โอกาสที่ “พระรถเสน” ได้รับคำสั่งจากพระบิดาให้ไปหามะม่วงหาวมะนาวโห่ที่มีเพียงที่เดียว นั่นก็คือเมืองคชปุระนคร หรือว่าเมืองพญาเร่เท่านั้น ในทีแรกนางสนธมารต้องการที่จะกำจัดพระรถเสนทิ้งไป แต่ฤๅษีได้เปลี่ยนเนื้อความในจดหมาย ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของความรักของคนทั้งสอง โดยหารู้ไม่ว่าพระรถเสนมีแผนที่ชั่วร้ายและนางเมรีก็คือเหยื่อผู้โชคร้าย แต่ด้วยความรักพระรถเสนหมดใจ เธอจึงต้องแหวกว่ายในกระแสของแผนชั่วจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

วันทอง
ในเนื้อเรื่องขุนช้างขุนแผน เธอผู้นี้คือตัวละครที่งดงามมากๆ แต่ข้อเสียหลักๆ ก็คือเป็นคนที่ปากจัดมากๆ เธอคือลูกของนางศรีประจันและพันศรโยธา นิสัยส่วนตัวก็เหมือนกับหญิงสาวทั่วไป เธอถูกมองว่าเป็นหญิงสาวผู้ไม่รักนวลสงวนตัว แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็เป็นคนที่คิดถึงความรู้สึกของคนอื่นและเป็นแม่ที่ดี ส่วนชีวิตอันแสนเศร้าของเธอนั้น เริ่มต้นที่เธอนั้นได้รักกับขุนแผน และความสวยของเธอก็ทำให้ขุนช้างและขุนแผนแย่งกันจับจองตัวเธอ แต่ทว่าผู้เป็นแม่ก็บังคับขืนใจให้แต่งงานกับขุนช้าง และด้วยความที่เป็นคนดีจึงเป็นห่วงความรู้สึกของขุนช้าง เวลาต่อมามีคดีฟ้องร้องถึงสมเด็จพระพันวษา เธอไม่สามารถบอกได้ว่าอยากจะอยู่กับใคร จึงทำให้ถูกประหารชีวิตในที่สุด

บัวคลี่
อีกหนึ่งตัวละครจากขุนช้างขุนแผน ที่จะแนะนำให้รู้จักกัน คือ “บัวคลี่” ที่เป็นลูกของ “หมื่นหาญ” ที่เป็นลูกหนี้บุญคุณของขุนแผน เพราะว่าขุนแผนได้เคยช่วยชีวิตเอาไว้ จึงยกลูกสาวให้เป็นชายา ซึ่งขุนแผนก็ไม่ได้สนใจสิ่งใดเลยนอกจากอยู่กับบัวคลี่จนตั้งท้องไปในที่สุด และหมื่นหาญก็ได้รับรู้เรื่องนี้ ด้วยความที่หมื่นหาญเป็นโจรป่าจึงทนไม่ได้กับพฤติกรรมของลูกเขยตัวเองที่มีวิชาอาคม แต่ไม่ได้ทำประโยชน์ต่อเขาเลย จนกระทั่งบัวคลี่ได้นำอาหารมาให้ตามปกติ แต่มีพรายกระซิบว่าในสำรับนั้นมียาพิษอยู่ จึงรอดจากอันตรายในครั้งนั้น และได้เอาคืนด้วยการจับเธอกรีดท้องเอาเด็กในครรภ์ออกไปทำเป็นกุมารทองในที่สุดด้วยความโหดเหี้ยม ในขณะที่เธอนั้นกำลังเข้าสู่ห้วงนิทรา จึงทำให้บัวคลี่เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ก็จบบทความกันไปแล้ว สำหรับบทความแนะนำผสมป้ายยาตัวละครจากวรรณคดีไทยนี้ เห็นได้ชัดว่าตัวละครจากวรรณคดีไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเมื่อมาอยู่บนผืนวรรณคดีไทยที่มีตัวตนเฉพาะตัวแล้ว มันจึงกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ มันคือส่วนผสมที่ใครที่ชื่นชอบแล้วจะวางไม่ลงจริงๆ และสิ่งนี้สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าตัวละครวรรณคดีไทยก็น่าสนใจไม่แพ้ตัวละครที่เป็นอนิเมะจากประเทศญี่ปุ่น ซีรีส์จากประเทศเกาหลี หรือภาพยนตร์จากฝั่งฮอลลีวูดเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้วิชาภาษาไทยสนุกขึ้น โดยเฉพาะในหลักสูตรสมัยมัธยมที่สิ่งเหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรให้เราได้เรียนกันนับสิบเรื่องนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าจะต้องมีตัวละครจากวรรณคดีที่ชอบกันบ้างอย่างน้อยหนึ่งตัวละครแน่นอน แล้วผู้อ่านชอบตัวละครตัวไหนกันบ้าง
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
📕 อ้างอิงรูปภาพ
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม