วันนี้เราจะพาทุกคนไปศึกษา ที่มาและความหมายของธงสีรุ้ง ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนจะต้องเคยเห็นและรู้จักกับ ธงสีรุ้งกันมาบ้างแล้ว โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานี้ หลาย ๆ คนคงจะได้เห็นและได้ยิน ชุมชน LGBTQ จัดงานไพรด์กลางเมืองกรุงเทพ โดยภายในงานจะมีเหล่า LGBTQ มาร่วมเดินขบวนพาเหรด หรือที่เรียกว่า LGBTQ Pride Parade จากวัดแขกไปจนถึงถนนสีลม ซึ่งทุกคนล้วนแต่งกายจัดเต็ม แสดงและปลดปล่อยตัวตนของแต่ละบุคคลออกมาอย่างสดใสและจัดงานกันอย่างรื่นเริง ซึ่งจัดว่าเป็น Pride Month ของเหล่า LGBTQ นั่นเอง
โดยเป้าหมายของงานนั้น คือการที่ทุกคนอยากจะขับเคลื่อน ให้มีการยอมรับในกลุ่มของ LGBTQ โดยแสดงออกถึงความต้องการที่จะอยากมีสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคมเหมือนเพศชายและหญิงทั่วไป มีการเดินพาเกรดเพื่อเป็นการสนับสนุนการยอมรับตัวเอง ความมีเกียรติ ความเท่าเทียม และการสร้างการเรียนรู้ ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และการเดินพาเหรดของกลุ่ม LGBTQ ยังเป็นการเดินขบวนที่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะได้เปิดผยตัวตนของตัวเองได้อย่างเป็นอิสระและเต็มที่ โดยไม่ต้องมีการกดขี่ข่มเหงและอยู่ภายใต้บรรทัดฐานใด ๆ ของสังคม ด้วยการแต่งตัวที่ดูแตกต่าง แปลกตา และสีรุ้งสดใส มีการชูป้ายเชียร์หลากสีพร้อมเขียนถ้อยคำทรงพลังเพื่อปลุกเร้าอารมณ์และกำลังใจ พร้อมธงสีรุ้งที่ถูกสะบัดไปทั่วทุกพื้นที่และเต็มไปด้วยคนที่ออกมาแสดงความรักและเป็นตัวของตัวเองกัน
ซึ่งไม่ได้มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่จัดงานนี้ขึ้นมา แต่ยังมีอีกหลาย ๆ ประเทศที่จัดงานนี้ขึ้นมาเช่นกัน เช่น นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สเปน ออสเตรีย เป็นต้น และจะมีงานนี้ จัดขึ้นทุก ๆ ปี ในเดือนมิถุนายน เพื่อให้ความสำคัญและแสดงถึงความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั่นเอง
ธงสีรุ้ง ที่มาและความหมายของธงสีรุ้ง สัญลักษณ์แห่งสิทธิและเสรีของความเท่าเทียมจริงหรือไม่ ! มาหาคำตอบกัน
เราจะมาทำความเข้าใจกับ ที่มาและความหมายของธงสีรุ้ง กัน เริ่มจาก สีรุ้งที่อยู่บนธงของกลุ่ม LGBTQ ไว้โชว์สัญลักษณ์เวลาจัดงาน Pride Month ซึ่งก่อกำเนิดในปี 1977 มาจาก นาย กิลเบอร์ต เบเคอร์ แห่งซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นศิลปินและนักเคลื่อนไหวของชาวอเมริกัน และยังเป็นทหารผ่านศึกเกย์อย่างเปิดเผย ที่เป็นผู้ริเริ่มและออกแบบธงสีรุ้งแปดแถบสีนั่นเอง โดยเขาได้รับมอบหมายจาก Harvey Milk บุคคลในประวัติศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ ให้คิดค้นและสร้างธงสำหรับชุมชนเพศทางเลือก โดยที่นายกิลเบอร์ต ได้มีแนวคิดที่ว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศ ควรที่จะมีธงเป็นของตัวเอง
และการที่นายกิลเบอร์ตเลือกที่จะใช้สีรุ้ง 8 สี เพราะต้องการที่จะ สะท้อนความหลากหลายของชุมชนคนหลากหลายทางเพศ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงคลาสสิก ‘Over the Rainbow’จากภาพยนตร์เรื่อง The Wizard Oz ในปี 1939 โดยธงสีรุ้งถูกเปิดตัวในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายทางเพศในครั้งแรก วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1978
Baker ยังเลือกสถานที่ที่จะผลิต และชักธงนี้เป็นครั้งแรก เพราะมันต้องมีสถานที่เกิดเฉพาะ เขาจึงไม่คิดจะทำมันที่บ้าน แต่ทำที่ Gay Community Center ที่ 330 Grove Street กับเพื่อนๆ โดยย้อมฝ้ายเป็นแปดสี
และมันก็ถูกนำไปแสดงเป็นครั้งแรกที่ลานสหประชาติระหว่างการเดินขบวน San Francisco Gay Freedom Parade เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1978 หลังจากนั้นมันก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ยิ่ง Milk ถูกลอบสังหารธงสีรุ้งก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมาก เพราะผู้คนต้องการแสดงออกถึงการสนับสนุน Milk และชาว LGBTQ นั่นเอง
ธงสีรุ้ง ความหมาย มีเยอะมากมาย เราไปดู ความหมายของธงแต่ละสี กันเลย
- สีแดง หมายถึง การต่อสู้ หรือชีวิตของมนุษย์(life)
- สีชมพู Hot Pink หมายถึง เพศ(sex)
- สีส้ม หมายถึง การเยียวยา (healing)
- สีเหลือง หมายถึง พระอาทิตย์ที่ส่องแสงเจิดจ้า(sunlight)
- สีเขียว หมายถึง ธรรมขาติ เพราะธรรมชาติคือชีวิต(nature)
- สีเขียว Turquoise หมายถึง ศิลปะ(art)
- สีฟ้าหรือสีคราม หมายถึง ศิลปะ และความผสมผสานกลมกลืน(harmony)
- สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณของชาว LGBTQ
และธงสีรุ้ง ยังมีอีกหนึ่งเวอร์ชั่น นั้นก็คือ ธงสีรุ้ง 6 สีที่เราจะได้เห็นกันบ่อย ๆ เพราะมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด ประกอบไปด้วยสี แดง ส้ม เหลือง เขียว คราม และม่วง
สีรุ้งกับธงและความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นซับซ้อนมากกว่าที่คิด จริง ๆ แล้ว สีรุ้ง หรือ สายรุ้ง สัญลักษณ์แทน ตัวแทนของการเริ่มใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านของบางสิ่งบางอย่างเสมอ และเมื่อไหร่ที่มีการเดินพาเหรดของกลุ่ม LGBTQ เกิดขึ้นนั้น ก็มักจะปรากฏเห็นธงสีรุ้งที่โบกสะบัดพัดปลิวสวยงามไปทั่วทุกพื้นที่
หากมองอย่างลึกลงไปแล้ว ความหมายของธงแต่ละสี บางครั้งก็หมายถึงทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเองโดยที่ไม่เกี่ยวกับเพศกำหนด เช่นเดียวกันกับความหมายอันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ภายใต้เหล่าสีรุ้งนั่นเอง ธงสีรุ้งนั้นนับว่าเป็นหลักสำคัญมาก ๆ สำหรับกลุ่ม LGBTQ และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดถึงกลุ่มคนเหล่านี้ เรามักจะโอกาสเห็นสีรุ้งอันสว่างสดใสและสวยงามเป็นสัญลักษณ์ปรากฏขึ้นเมื่อนั้น และปัจจุบันเราก็มักจะเห็นเหล่ากลุ่มคนดังระดับโลกหลากหลายคนออกมาร่วมใช้สัญลักษณ์สีรุ้งเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น Ariana Grande และ Harry styles รวมไปถึง Taylor Swift และยังมีการจัดตั้งมูลนิธิ LGBT Foundation และอีกมากมายเลย
และวันนี้ นอกจาก ที่มาและความหมายของธงสีรุ้ง เราก็จะมาไขข้อสงสัยสำหรับหลาย ๆ คนที่ยังไม่ทราบความหมายของตัวอักษร LGBTQ ว่าหมายความว่าอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
- L : Lesbian (หญิงรักหญิง)
- G : Gay (ชายรักชาย)
- B : Bisexual (บุคคลรักได้ทั้งสองเพศ)
- T : Transgender (บุคคลข้ามเพศ)
- Q : Queer (เป็นคำที่ใช้อธิบายอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก)
ที่มาและความหมายของธงสีรุ้ง หลายความหมาย ล้านความประทับใจ
หลังจากได้ทำการศึกษา ที่มาและความหมายของธงสีรุ้ง กันไปอย่างละเอียดแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า
ความหมายของ pride ธงสีรุ้ง ค่อนข้างที่จะมีมากมาย แต่ทุกความหมายล้วนสื่อถึงการต้องการความมีตัวตน การได้รับสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม การได้รับความยินดีจากเพศอื่น ๆ และการได้รับการสนับสนุนเช่นเดียวกันกับเพศ ชาย และ หญิง เพียงเท่านั้นเอง
และกว่าจะมาถึงวันนี้ กว่า ที่มาและความหมายของธงสีรุ้ง จะเป็นที่รู้จักกันของคนทั่วโลกและคนทั่วโลกจะเปิดใจให้กันได้มากมายขนาดนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ จะต้องผ่านอุปสรรค ผ่านช่วงเวลายากลำบาก และต่อสู้กันมาอย่างหนักหน่วงและแสนสาหัสมาก ๆ เพราะในสมัยก่อน การที่บุคคลมีเพศสภาพหรือจิตใจที่ไม่ตรงตามเพศกำเนิดของตัวเอง มักจะถูกสาปแช่งและไม่ถูกยอมรับจากคนในสังคมหรือแม้กระทั่งครอบครัวตัวเองก็ตาม
ชาว LGBTQ ก็คือบุคคลธรรมดาทั่วไปเหมือนชาย หญิง เพียงแค่เพศที่แตกต่างแต่จิตใจและความเป็นคนยังคงอยู่ไม่ต่างกัน มีความสามารถ มีจิตใจ มีความรู้จักผิดชอบชั่วดี มีสิทธิ์เท่าเทียมที่สมควรจะได้รับเช่นเดียวกันกับชายและหญิง เราและทุก ๆ คน ควรจะยอมรับและสนับสนุนความชัดเจน และเสรีภาพของชาว LGBTQ และให้กำลังใจในการต่อสู้ของพวกเขาเสมอ
และอีกไม่นานนี้ หวังว่ารัฐบาลไทยจะรับพิจารณากฎหมายในการสมรสเท่าเทียม ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สำหรับ Central Inspirer มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะมีเพศใด เชื้อชาติใด นับถือศาสนาอะไร รูปลักษณ์ภายนอกเป็นแบบไหน ทุกคนจะต้องได้รับสิทธิ์เท่าเทียมไม่แบ่งแยกชนชั้น ไม่แบ่งแยกเพศสภาพ และทุกคนควรมีความภูมิใจและรักตัวเอง เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันในสังคมกันอย่างมีความสามัคคี อย่างมีความสุข เพื่อความสงบจะได้เกิดขึ้นมาในโลกที่มีแต่ความวุ่นวายอย่างในปัจจุบันนี้นั่นเอง
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม