กติกาแชร์บอล และทักษะที่ต้องมีในการเล่น
กติกาแชร์บอล รวมไปถึงวิธีเล่น มีส่วนผสมของกีฬาหลายชนิดเช่น บาสเกตบอล แฮนด์บอล เนตบอล ซึ่งกติกาก็ไม่ซับซ้อนมากมาย และสถานที่เล่นก็ใช้พื้นที่ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็น สนามหญ้า พื้นดิน พื้นซีเมนต์ พื้นไม้ ชายหาด ฯลฯ เล่นได้หมด ยังสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย สามารถเอาอุปกรณ์ต่าง ๆ รอบตัวมาใช้ได้ นอกจากจะเป็นการเล่นเพื่อออกกำลังกาย และเพื่อความสนุกสนานแล้ว ก็ยังสามารถปูทางเพื่อเป็นพื้นฐานในการไปเล่นกีฬาประเภทอื่น ๆ เพราะผู้เล่นจะได้ทักษะด้านการเคลื่อนไหว การส่งลูก ความแข็งแรงความพร้อมของร่างกายและจิตใจไปในตัวอีกด้วย
ถึงแม้จะไม่รู้แน่ชัดว่ากีฬาประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อไร แต่จะว่าไปแล้วกีฬาแชร์บอลก็ถือว่าเป็นกีฬาพื้นบ้านของไทยอีกประเภทหนึ่งก็ได้เพราะมีการคิดวิธีการเล่นโดย พันเอกมงคล พรหมสาขา ณ สกลนคร ที่ปัจจุบันในบ้านเราเล่นกันอย่างแพร่หลาย โดยการเล่นก็คือผู้เล่นทั้งสองฝ่าย ต้องช่วยกันนำลูกบอลไปใส่ในตะกร้าของผู้เล่นฝ่ายเดียวกันให้ได้ หากใครทำได้มากกว่าก็เป็นผู้ชนะ ถึงแม้ว่าจะดูง่าย ๆ แต่ก็มีกติกาสำหรับการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่ต้องรู้เช่นกัน
สนาม และอุปกรณ์
สนามตาม กติกาแชร์บอล จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาด 16 x 32 เมตร แบ่งครึ่งสนามข้างละเท่า ๆ กัน โดยใช้เส้นต่าง ๆ ในสนามที่เป็นสีขาวเห็นได้ชัดเจน สนามต้องมีความเรียบเสมอกัน ควรมีความกว้างของข้างสนามอย่างน้อย 1 เมตร วงกลมกลางสนามตรงเส้นแบ่งแดนมีรัศมีความกว้าง 1.80 เมตร เขตป้องกันเป็นครึ่งวงกลม รัศมี 3 เมตร กรอบเขตโทษวัดจากเส้นหลังของสนามเข้าไป 8 เมตร มีความกว้าง 50 ซม. ให้จุดตะกร้าอยู่กึ่งกลางของความกว้าง
เก้าอี้ตาม กติกาแชร์บอล เป็นเก้าอี้แบบ 4 ขา สูงประมาณ 40 ซม. ความกว้างประมาณ 35 x 35 ซม. เก้าอี้จะนำไปวางตรงกึ่งกลางของเส้นหลังทั้งสองฝั่ง เก้าอี้ต้องมีความแข็งแรงมั่นคงทนทาน สามารถรองรับน้ำหนักของผู้ที่ถือตะกร้าได้ เป็นแบบไม่มีพนักพิง
ขนาดของตะกร้ามีความสูงประมาณ 35 เซนติเมตร ปากตะกร้าเป็นวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 35 เซนติเมตร ต้อทำด้วยวัสดุที่แข็งแรง น้ำหนักเบา และไม่สร้างอันตรายให้กับผู้เล่นคนอื่น ๆ
ลูกบอลที่ใช้ในการแข่งขันตาม กติกาแชร์บอล สามารถใช้ได้ทั้งลูกแชร์บอลโดยเฉพาะ หรืออาจจะใช้ลูกฟุตบอล เบอร์ 4 -5 หรือจะเป็นลูกบอลที่ในการแข่งขันอนุญาตให้ใช้ได้
วิธีการเล่นแชร์บอล
การเล่นแชร์บอลจะมี 2 ทีมในสนาม โดยแต่ละทีมจะมีผู้เล่นฝั่งละ 7 คน และมีตัวสำรองสำหรับไว้เปลี่ยนตัวอีก 5 คน โดยตำแหน่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในสนามก็คือ ผู้ถือตะกร้า กับผู้ป้องกันตะกร้า นอกเสียจากว่าจะเปลี่ยนตัวออกแล้วส่งตัวสำรองลงแทน ส่วนตำแหน่งการยืนของผู้เล่นใน กติกาแชร์บอล เรียกได้ดังนี้
– ตำแหน่งผู้ป้องกันตะกร้า มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ฝั่งตรงข้ามโยนลูกเข้าตะกร้าเพื่อทำคะแนนได้ ดังนั้นผู้ที่เล่นตำแหน่งนี้ควรจะมีตัวที่สูง จะทำให้ได้เปรียบในการป้องกัน
– ตำแหน่งกองหลัง จะมีทั้งหลังซ้ายและขวา มีหน้าที่หลักคือหยุดเกมบุกของคู่แข่งไม่ให้สามารถทำคะแนนได้ และต้องช่วยในการเชื่อมเกมกับตำแหน่งอื่น ๆ ในขณะที่เป็นฝ่ายรุก รูปร่างของผู้เล่นในตำแหน่งนี้ควรจะสูงใหญ่
– ตำแหน่งกองกลาง มีหน้าที่เชื่อมเกมกับตำแหน่งอื่น ๆ เพื่อป้อนลูกให้กับกองหน้าทำคะแนน หรือบางครั้งก็ต้องเป็นคนชู้ตเอง ดังนั้นผู้เล่นในตำแหน่งนี้ควรมีความคล่องแคล่วสามารถหลบหลีกคู่ต่อสู้ได้ดี ส่งบอล และชู้ตไกลได้แม่น
– ตำแหน่งกองหน้า มีหน้าที่หลักในการรับบอลแล้วชู้ตทำคะแนน ดังนั้นต้องเป็นผู้เล่นที่ชู้ตได้แม่นยำทุกระยะ
– ตำแหน่งผู้ถือตะกร้า มีหน้าที่ยืนอยู่บนเก้าอี้เพื่อรับบอลจากเพื่อนร่วมทีมที่ชู้ตมา
กติกาแชร์บอล
– กติกาสำหรับผู้ป้องกันตะกร้า ผู้ป้องกันตะกร้าเป็นผู้เล่นเพียงตำแหน่งเดียว (ยกเว้นคนถือตะกร้า) ที่สามารถเข้าในเขตป้องกันตะกร้าได้ และสามารถจับบอลได้ในเขตป้องกันตะกร้าได้ไม่เกิน 3 วินาที ตามกติกาแชร์บอล ผู้ป้องกันตะกร้าสามารถออกนอกเขตป้องกันมาร่วมเล่นได้ และหากมีการชู้ตทำคะแนนเกิดขึ้น ให้ผู้ป้องกันตะกร้าส่งลูกจากเส้นหลังในฝั่งที่ตัวเองป้องกันอยู่
ในส่วนข้อห้ามของผู้ป้องกันตะกร้าก็คือขณะที่บอลกำลังลอยจะเข้าตะกร้าตาม กติกาแชร์บอล ห้ามไม่ให้ผู้ป้องกันตะกร้า ใช้ร่างกายส่วนไหนไปโดนตะกร้า หรือผู้ถือตะกร้า ที่เป็นการทำให้ลูกบอลไม่สามารถลงตะกร้าได้ ซึ่งผู้ตัดสินก็จะให้เป็นคะแนนของอีกฝ่าย แต่อย่างไรก็อยู่ที่ดุลพินิจของผู้ตัดสิน ส่วนข้อห้ามอื่น ๆ ก็คือห้ามผู้ป้องกันทำให้บอลออกเส้นหลัง นำลูกบอลจากนอกเขตป้องกันเข้าไปในเขตป้องกัน
– กติกาแชร์บอล ของผู้ถือตะกร้าสามารถเคลื่อนไหวตะกร้าได้ตามต้องการ หากลูกบอลกลิ้งมาใกล้ ๆ ก็สามารถช้อนลูกขึ้นมาได้เลย แต่ต้องไม่มีส่วนใดของร่างกายสัมผัสโดนพื้น ซึ่งก็จะนับว่าได้คะแนน ผู้ถือตะกร้าต้องอยู่บนเก้าอี้ตลอดเวลา
ข้อห้ามสำหรับผู้ถือตะกร้า ห้ามขัดขวางการป้องกันของผู้ป้องกันตะกร้าไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม ห้ามออกไปเล่นในสนามเหมือนกับผู้เล่นอื่น ๆ ห้ามส่วนอื่นของร่างกายเพื่อช่วยทำให้ลูกบอลเข้าตะกร้า เช่น ใช้มือปัดลูกบอลเข้าตะกร้า ในจังหวะที่ลูกเข้าตะกร้าต้องทรงตัวให้ดี หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสพื้นก็จะไม่ได้คะแนน
กติกาแชร์บอล สำหรับผู้เล่นในตำแหน่งอื่น ๆ – ผู้เล่นสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อยู่เหนือเอวขึ้นไปในการเล่นลูกได้ และสามารถครองบอล ได้ไม่เกิน 3 วินาที การเคลื่อนไหวต้องเป็นลักษณะหมุนตัว โดยมีเท้าหลักอยู่กับที่
สำหรับข้อห้ามก็คือ ห้ามกระโดด หรือเปลี่ยนเท้าหลักขณะชู้ตทำคะแนน ไม่เจตนาล้ม หรือพุ่งตัวเพื่อให้ได้ครอบครองบอล ห้ามใช้ส่วนที่ต่ำกว่าเอวเล่นบอล ห้ามส่งบอลแบบมือต่อมือ รวมไปถึงการแย่งบอลจากมือคู่แข่งด้วยวิธี ทุบ ตี ตบ ดึง ดัน ชก ชน เตะ หากกรรมการมองว่าเป็นการผิด กติกาแชร์บอล ที่รุนแรงก็อาจจะไล่ออกจากสนามได้
– การให้คะแนนใน กติกาแชร์บอล การชู้ตบอลลงตะกร้าได้ 2 คะแนน การชู้ตจุดโทษถ้าลงได้ 1 คะแนน เมื่อจบการแข่งขันใครได้คะแนนมากกว่าเป็นฝ่ายชนะ
– เวลาการแข่งขัน สามารถกำหนดหรือตกลงกันเองได้ตามความเหมาะสม แต่หากเป็นแบบมาตรฐานจะกำหนดตามรุ่นอายุของผู้เล่น โดยการแข่งจะแบ่งเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 15 นาที หากผู้แข่งขันมีอายุไม่เกิน 12 ปี แต่หากมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้แข่งขันครึ่งละ 20 นาที มีเวลาพักครึ่ง 5 นาทีเท่ากัน การขอเวลานอกสามารถขอได้ครึ่งละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 นาที
ทักษะการเล่นแชร์บอล
นอกเหนือจาก กติกาแชร์บอล ที่ต้องรู้แล้ว หากใครต้องการเล่นกีฬาประเภทนี้ก็ควรจะต้องมีทักษะเบื้องต้นที่ควรมี เพื่อที่จะได้เล่นอย่างสนุกสนาน หรือเป็นแนวทางเพื่อนำไปฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาตัวเองหากจะต้องทำการแข่งขันแบบจริงจัง โดยทักษะที่ควรมีก็คือ การเคลื่อนไหวที่ดี หมั่นสร้างความคุ้นเคยกับลูกบอลที่มีขนาดเท่ากับการแข่งขันจริง การรับส่งสองมือในระดับอก การรับส่งสองมือในลักษณะเหนือศีรษะ การส่งมือเดียวแบบเหนือไหล่ การส่งสองมือจากด้านล่าง การส่งบอลแบบกระดอนพื้น และการฝึกรับส่งบอลพร้อมกับการเคลื่อนที่
ทั้งหมดนี้คือ กติกาแชร์บอล และทักษะที่ต้องมีในการเล่น แต่สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมทั้งอุปกรณ์ และกติกา หากเป็นการเล่น หรือแข่งที่ไม่จริงจัง เพราะแชร์บอลถือเป็นกีฬาสันทนาการเพื่อเชื่อมความสามัคคี มีการแข่งขันตั้งแต่กับเพื่อน แข่งภายในโรงเรียน การแข่งกีฬาประจำปีในองค์กร กีฬาหมู่บ้าน หรือกีฬาตำบล ที่ไม่เน้นการเอาชนะ แต่เน้นไปที่ความสนุกสนานเป็นหลัก
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
📕 อ้างอิงรูปภาพ
- https://th.theasianparent.com/chair-ball-for-kids
- https://www.pneu-hyd.co.th/news-events/547-การแข่งขันฟุตบอล-แชร์บอล-เชื่อมความสมัคคี-กลุ่มบริษัท-tic.html
- https://th.theasianparent.com/chair-ball-for-kids
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม