สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่รู้สึกว่าเงินแค่ใช้ให้พอแต่ละเดียวก็แทบไม่มีอยู่แล้ว แต่อยากจะมีเงินเก็บเอาไว้ใช้ยามจำเป็น หรือใช้ซื้อของที่อยากได้ เรามีวิธีเก็บเงินแบบง่าย ๆ มาฝาก รับรองว่าจะสามารถพิชิตเงินแสนแบบที่หวังได้อย่างแน่นอน การเริ่มต้นออมเงินจริง ๆ แล้วไม่ได้ยาก แต่ยากตรงที่บางคนมักจะท้อไปก่อน หากคุณทำอะไรสักอย่างเป็นประจำ คุณก็จะชินกับมันเอง การเก็บเงินก็เช่นกัน หากเก็บอย่างสม่ำเสมอจนสร้างวินัยทางการเงินได้ การจะเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ก็ไม่ได้ยากเลย อยากรู้ว่ามีวิธีเก็บเงินอย่างไรบ้างก็มาลองทำตามที่เราแนะนำกันได้
13 วิธีเก็บเงินแบบฉบับมนุษย์เงินเดือน ใช้เงินเก่งไม่หวั่น แค่ต้องเก็บเก่งด้วย
เชื่อว่าไม่ใช่แค่มนุษย์เงินเดือน แต่มีหลายคนเลยที่มีปัญหาเก็บเงินไม่อยู่ พอใกล้ ๆ สิ้นเดือนทีไรเงินที่คิดว่าจะเหลือเก็บก็ไม่เหลือทุกที หากคุณกำลังประสบปัญหาเก็บเงินไม่ได้ เราขอออกตัวเลยว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบางทีคุณอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้แบ่งสัดส่วนให้เรียบร้อย แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปหากได้ลองมาดู 13 วิธีเก็บเงินแบบฉบับมนุษย์เงินเดือนที่เรารวมมาฝาก หากทำตามนี้คุณจะมีวินัยทางการเงินมากขึ้น และสามารถเก็บเงินแสนได้แบบที่ตั้งใจเอาไว้แน่นอน สำหรับวิธีเก็บเงินจะมีอะไรบ้างลองไปติดตามได้เลย
- เก็บเงินก่อนที่จะเริ่มต้นใช้
สำหรับวิธีเก็บเงินแบบแรกที่เราจะแนะนำ คือ เก็บก่อนใช้ เช่น ถ้าคุณมีเงินเดือน 15,000 บาท ก็ให้กำหนดเลยว่าจะเก็บเงินกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน และต้องเก็บให้ได้ตามที่กำหนดด้วย อยากเก็บ 10% ของเงินเดือนก็ได้ คุณก็จะมีเงินเก็บ 1,500 บาทในทุก ๆ เดือน หลังจากนั้นถ้าใกล้สิ้นเดือนแล้วคุณเหลือเงินอยากจะเอาเข้าบัญชีเงินเก็บก็ได้เหมือนกัน หากเก็บ 1,500 บาทสม่ำเสมอในทุกเดือน 1 ปีคุณก็จะมีเงินเก็บ 18,000 บาทแล้ว วิธีนี้แม้ว่าจะค่อนข้างจำกัดเงินที่ใช้ได้ในแต่ละเดือน แต่เป็นวิธีที่จะทำให้คุณมั่นใจว่าจะมีเงินเก็บแน่นอน เพราะเริ่มต้นเก็บก่อนที่จะใช้เงิน
- เก็บเงินในทุก ๆ วันที่หวยออก
วิธีต่อมาที่จะแนะนำ คือ เก็บเงินในทุกวันที่หวยออก หรือวันที่ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งทุกคนที่ชอบติดตามการออกรางวัลอยู่แล้ว หากอยากเก็บเงิน แนะนำให้ลองเก็บตามเลขท้าย 3 ตัวของรางวัลที่ 1 ดูก่อนได้ เพียงแค่เช็กว่าเลขท้าย 3 ตัวออกรางวัลอะไร และฝากเงินเข้าบัญชีตามเลขนั้น เช่น เลขท้าย 3 ตัวของรางวัลที่ 1 คือ 123 ก็ให้คุณฝากเงิน 123 บาท เพียงแค่นี้คุณจะมีเงินออมเข้าบัญชีเดือนละ 2 ครั้งแล้ว คือ วันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือน
- พักจากการเล่นหวย เปลี่ยนมาออมเงินแทน
วิธีเก็บเงินถัดมาที่เราจะแนะนำคือ พักหวย มารวยเงินออมแทน เชื่อว่าบางคนแค่ขอได้เสี่ยงโชคสักเล็กน้อยก็ยังดี เลยชอบซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดละ 1 ใบเอาไว้ลุ้นว่าจะถูกรางวัลหรือไม่? แต่ถ้าคุณลองมองว่าโอกาสถูกรางวัลมีน้อยกว่าโอกาสที่จะไม่ถูกรางวัล แล้วปรับเปลี่ยนเอาเงินที่จะใช้ซื้อสลากกินแบ่งมาเก็บออมแทน คุณก็จะมีเงินก้อนเพิ่มขึ้น แถมยังไม่ต้องเครียดเวลาที่ตรวจสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้วไม่ถูกรางวัลด้วย
- วางแผนการเงินโดยอ้างอิงจากเป้าหมายชีวิต
การวางแผนการเงินตามเป้าหมายชีวิตจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้กับคุณได้ โดยต้องแบ่งให้ชัดเจนก่อนว่าเป็นการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้น หรือการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาว หากเป็นการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นก็คือ การเก็บเงินเพื่อซื้อของที่อยากได้ การเก็บเงินเพื่อเรียนต่อปริญญาโท ส่วนถ้าเป็นการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาว อาจเป็นการเก็บเงินเอาไว้ยามเกษียณ การแบ่งแยกเงินตามเป้าหมายแบบนี้จะสร้างแรงผลักดันให้กับคุณได้ดีมากขึ้น ส่วนจำนวนเงินที่จะเก็บในแต่ละเดือนจะขึ้นอยู่จากการจัดสรรของแต่ละคนเป็นหลัก
- ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
วิธีเก็บเงินแบบจริงจังที่เราจะแนะนำ คือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้คุณได้รู้ว่าการใช้จ่ายเสียไปกับค่าใช้จ่ายส่วนไหนมากที่สุด เพื่อนำไปใช้วางแผนการเงินในแต่ละเดือนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้อีกด้วย การกำหนดค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้ารายรับคงที่ แต่รายจ่ายไม่คงที่ เพิ่มขึ้นในทุก ๆ เดือนอาจทำให้คุณไม่เหลือเงินเก็บ อีกทั้งยังต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือนอีกด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองเก็บเงินไม่อยู่ หรือไม่มีเงินเก็บเหลือเลย ลองทำบัญชีรายรับรายจ่ายดูก่อน แล้วคุณจะรู้ว่าเงินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับค่าใช้จ่ายอะไร
- เปิดบัญชีเงินฝากประจำ
ถ้าคุณคิดว่าตัวเองเก็บเงินเอาไว้แล้วชอบถอนออกไปใช้อยู่ตลอด วิธีเก็บเงินที่เรามาฝากอันนี้เหมาะมาก เป็นวิธีฝากประจำ ซึ่งการฝากประจำคุณจะไม่สามารถถอนเงินออกมาก่อนกำหนดได้ ดังนั้นจึงต้องฝากเงินจำนวนเท่าเดิมในทุก ๆ เดือนตามระยะเวลาที่เงื่อนไขกำหนดเอาไว้ ซึ่งจะมีทั้งแบบที่ฝากประจำ 3 เดือน ฝากประจำ 1 ปี และฝากประจำแบบระยะยาว 2 ปีถึง 3 ปี หากรู้สึกว่าตัวเองเก็บเงินไม่อยู่ ลองใช้วิธีฝากประจำดูจะช่วยได้เยอะ แถมดอกเบี้ยของการฝากประจำยังได้เยอะกว่าดอกเบี้ยที่คุณฝากออมทรัพย์ปกติด้วย
- เก็บเงินตามลำดับวัน
การเก็บเงินตามลำดับวัน หากอ่านรอบแรกหลายคนอาจสงสัยว่าคืออะไร? การเก็บตามลำดับวัน คือ การเก็บเงินทุกวันใน 1 ปีไปเรื่อย ๆ วันที่เริ่มเก็บเงินวันแรกก็เก็บ 1 บาท วันที่เริ่มเก็บเงินวันที่ 2 ก็ให้เก็บเงิน 2 บาท วันที่เริ่มเก็บเงินวันที่ 30 ก็ให้เก็บ 30 บาท วันที่เริ่มเก็บเงินวันที่ 365 ก็ให้เก็บเงิน 365 บาท วิธีนี้จะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจเวลาเก็บเงินมากขึ้น เพราะในช่วงแรก ๆ จะเห็นว่าเก็บรายวันน้อยมาก และที่เก็บสูงสุดก็แค่
- เก็บเงินจากส่วนต่างของส่วนลดที่ได้
วิธีเก็บเงินในบัญชีอีกหนึ่งรูปแบบที่ทำแล้วได้ผล คือ การเก็บเงินจากส่วนต่างของราคาสิ่งของที่ต้องจ่ายราคาเต็ม เช่น จากปกติต้องซื้อน้ำยาปรับผ้านุ่มราคา 299 บาท แต่ลดราคาเหลือ 259 บาท เท่ากับว่าจะมีส่วนต่างของราคาสินค้าอยู่ 40 บาท ก็ให้คุณเก็บเงิน 40 บาทเอาไว้ แบบนี้ก็จะมีเงินออมเพิ่มขึ้นจากปกติ 40 บาทแล้ว ข้อดีของการออมเงินรูปแบบนี้จะช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่ได้ใช้เงินเดือนมาออม แต่เป็นการใช้ส่วนต่างของค่าใช้จ่าย ส่วนข้อเสียคือ การออมเงินจะไม่มีความแน่นอน และอาจจะเก็บได้น้อยในเดือนที่คุณไม่ได้ซื้อของเข้าบ้านเยอะ
- เก็บเงินเฉพาะแบงก์ 50 บาท
สำหรับวิธีเก็บเงินเฉพาะแบงก์ 50 บาท นับว่าเป็นวิธีที่คนพูดถึงค่อนข้างบ่อย เนื่องจากเป็นแบงก์ที่พบเจอได้ไม่เยอะ และจำนวนเงินกำลังดี การเก็บแบงก์ 50 บาทจะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นภารกิจที่ท้าทายตัวเอง เพราะทุกครั้งที่ใช้เงินซื้อสินค้าหรืออาหาร หากได้แบงก์ 50 บาทมาคุณจะต้องเก็บมันทันที ไม่สามารถเอาไปใช้ต่อได้ เปรียบเสมือนเป็นการบังคับให้ตัวเองเก็บเงิน แต่ข้อเสียคือ ในปัจจุบันคนมักจะเลือกใช้การสแกนจ่ายไม่ค่อยพกเงินสดแล้ว ดังนั้นอาจทำให้มีโอกาสได้เก็บแบงก์ 50 บาทน้อยลง
- เก็บเงินตามตารางการออมเงิน
ตารางการออมเงินจะถูกจัดทำเพื่อให้คุณสามารถเก็บเงินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เช่น ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 100,000 บาท ภายในเวลา 2 ปี ตารางการออกเงินก็จะระบุเอาไว้ว่าในแต่ละปีต้องเก็บเงินให้ได้ 50,000 บาท และต้องออมเงินเดือนละ 4,166 บาท ถึงจะได้เงิน 100,000 บาทครบตามที่กำหนด รูปแบบนี้จะเหมาะสมกับคนที่อยากเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายแบบจริงจัง แต่จะยากสำหรับคนที่มีเป้าหมายไม่ชัดเจน เพราะอาจทำให้รู้สึกท้อก่อนที่จะเก็บเงินได้ตามที่ตั้งใจเอาไว้
- เก็บเงินโดยให้ตั้งเงื่อนไข
การตั้งเงื่อนไขจะทำให้คุณมีแรงจูงใจมากกว่าเดิม นับว่าเป็นวิธีเก็บเงินที่น่าสนใจอย่างมาก เช่น ถ้าคุณเก็บเงินได้ครบ 10,000 บาทจะอนุญาตให้ตัวเองกินอะไรก็ได้ 1 วัน (กรณีสำหรับคนที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนัก) หรือว่าถ้าเก็บเงินครบ 100,000 บาท สามารถเอาเงิน 2,000 บาทในส่วนนี้ไปใช้ซื้อของตามที่ต้องการได้ พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้คุณรู้สึกอยากจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อที่จะได้รับรางวัลตามเงื่อนไขที่กำหนด
- เก็บเงินตามเลข 3 ตัวท้ายของธนบัตร
ใครที่เป็นคนชอบเสี่ยงดวง ลองเปลี่ยนมาเสี่ยงดวงกับการเก็บเงินกันดูก็ได้ โดยวิธีการที่เราจะแนะนำ คือ ให้เก็บเงินตามเลข 3 ตัวท้ายของธนบัตร เช่น ธนบัตรมีเลข 3 ตัวท้ายคือ 968 ก็ให้คุณเก็บเงิน 968 บาท โดยให้กำหนดว่าคุณจะหยิบธนบัตรกี่ใบขึ้นมาดูเลข 3 ตัวท้ายเพื่อใช้เก็บเป็นเงินออม หรือจะกำหนดแค่ 3 ตัวท้ายของธนบัตร 1 ใบสำหรับการเก็บเงินออม 1 เดือนก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าน้อยไปก็ตั้งเงื่อนไขว่าถ้าน้อยกว่า 300 บาทให้หยิบธนบัตรเพิ่มอีกใบ
- หางานเสริมเพื่อเพิ่มรายได้
วิธีเก็บเงินให้ได้เยอะ ๆ วิธีสุดท้าย คือ การเพิ่มรายได้ด้วยงานเสริม ทุกวันนี้เราไม่จำเป็นที่จะต้องมีแค่งานเดียว แต่สามารถทำหลาย ๆ งานได้ แค่ใช้ในช่วงเวลาว่างทำงาน เช่น ขายของออนไลน์ หรืออาชีพอื่น ๆ การหางานเสริมจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคุณได้มากขึ้น และเมื่อรายได้มากขึ้นเปอร์เซ็นต์ที่คุณจะเก็บเงินได้ก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่อย่าลืมว่าการทำอาชีพอื่น ๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อย่างการขายของก็ต้องใช้เงินมาลงทุนก่อน ดังนั้นควรจะศึกษาให้ดีก่อนที่จะเริ่มลงมือทำ
รวมวิธีเก็บเงิน ออมเงินให้เพิ่มขึ้นแบบง่าย ๆ ตามสไตล์มนุษย์เงินเดือน
จาก 13 วิธีเก็บเงินที่เรานำมาแนะนำ เชื่อว่าจะมีวิธีที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณอย่างแน่นอน ใครถนัดเก็บออมเงินแบบไหนก็ลองเอาไปทำตามกันได้ คุณจะเพิ่มเงินออมได้มากขึ้นแน่นอน มนุษย์เงินเดือนในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ไม่มีเงินเก็บเสมอไป เพียงแค่วางแผนการเงินให้ดี และมีวิธีเก็บเงินที่เข้ากับตัวเอง เพียงแค่นี้ก็สามารถเก็บเงินตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้แล้ว สุดท้ายเราอยากที่จะเตือนทุกคนว่าเวลาที่จะใช้เงินซื้ออะไรสักอย่าง อย่าลืมที่จะคิดถึงการออมเงินเอาไว้ใช้ในอนาคตด้วย เพราะมีอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่คุณไม่คาดคิด การมีเงินเก็บเอาไว้จะทำให้คุณเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ได้ดีมากกว่าคนที่ไม่มีเงินเก็บ
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
- https://www.tokiomarine.com/th/th/life/about-us/media-centre/9-tips-money-saving-can-follow.html
- https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/วิธีเก็บเงิน/
- https://www.gsb.or.th/blogs/7-วิธีออมเงินง่าย-ๆ-ใช้เก/
📕 อ้างอิงรูปภาพ
- https://static.thairath.co.th/media/dFQROr7oWzulq5Fa5BEjDlyz4hboEMbYomPOAXPo4O02SnR7mqPji3ucnuBfiWZNiE5.jpg
- https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/05/4.jpg
- https://static.thairath.co.th/media/dFQROr7oWzulq5Fa5BtzFZziFVm2lXoQ4mrRaF2nMXnyngvQtGKaZBBMLTDxWag0z3J.webp