การเขียนเรียงความ เป็นการถ่ายทอดความคิดของเรา โดยใช้ตัวหนังสือเป็นสื่อเป็นตัวกลาง ซึ่งการถ่ายทอดในการเขียนเรียงความนั้นจะต้องใช้ทักษะในการเขียนให้ได้ใจความ สามารถเรียบเรียงสรุปเรื่องราวต่างๆและจับใจความของเนื้อหาที่จะเขียนได้ เพื่อที่จะสื่อถึงผู้อ่านให้เกิดความเข้าใจ สามารถได้เรียนรู้หรือได้อะไรจากการอ่านบทความเหล่านั้น
💡 องค์ประกอบของ การเขียนเรียงความ 💡
ในการเขียนเรียงความนั้นเราจะต้องมีการเรียนรู้ และศึกษาวิธีการเรียบเรียงข้อมูลเนื้อหาต่างๆ ที่เราจะต้องการเขียนลงไปในบทความ โดยแต่ละส่วนของการเขียนเรียงที่ต้องให้ความสำตัญสามารถดูได้ดังนี้
1. คำนำ
คำนำเป็นส่วนแรกที่เราจะต้องเขียนเพื่อเป็นการเกริ่นนำเนื้อเรื่องที่เราจะถ่ายทอด ซึ่งการเขียนคำนำนี้จะต้องมีเทคนิคในการเล่าเรื่องราวให้มีความน่าสนใจ และทำให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้หรือต้องการที่จะดูเนื้อหาในตอนต่อไปได้มากที่สุด แต่การเขียนคำนำจะต้องไม่เกริ่นยาวจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้การบรรยายเรื่องราวในช่วงแรกเกิดความน่าเบื่อแก่ผู้อ่าน และไม่ควรสรุปเรื่องราวต่างๆที่มีความสำคัญมากที่สุดลงไปในส่วนนี้ เพราะจะทำให้เรื่องราวที่เราจะถ่ายทอดนั้นได้เฉลยให้กับผู้อ่านหมดแล้ว ทำให้ผู้อ่านรู้เรื่องราวที่เราจะสื่อออกมาและไม่มีความสนใจในการอ่านเนื้อหาในตอนต่อไป
วิธีการเขียนคำนำทีดีนั้น ควรเขียนถึงจุดประสงค์ของเรื่อง อาจจะมีการยกตัวอย่างให้เกิดความน่าสนใจ หรือตั้งคำถามกับผู้อ่านเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสงสัย และจะรู้เรื่องราวว่าในเนื้อหาที่เราจะเขียนสามารถตอบคำถามเล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งการเขียนให้ผู้อ่านประทับใจนั้นอาจจะใช้คำที่มีความสละสลวยมากขึ้น เช่น การยกสุภาษิต ข้อความที่เป็นคำคม หรือข้อความที่เป็นประเด็นถกเถียงในช่วงนั้น โดยประโยคเหล่านี้จะสามารถทำให้ผู้อ่านเกิดแรงจูงใจขึ้นมาได้มากขึ้น
ตัวอย่างคำนำ ขึ้นต้นด้วย คำคม สุภาษิต กลอน เกี่ยวกับการจัดการน้ำ
น้ำสำคัญยิ่งใหญ่ คือน้ำพระทัยสู่ปวงชน
น้ำจะหมดไป หากไม่ช่วยกันใช้อย่างประหยัด
2. เนื้อเรื่อง
ในส่วนของเนื้อเรื่องคือส่วนที่ต้องมีเยอะมากที่สุด เพราะเป็นการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารออกมา โดยเน้นให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ สามารถรับรู้ได้ถึงเรื่องราวที่เราต้องการจะสื่อถึง โดยเนื้อหาหรือข้อมูลในส่วนเนื้อเรื่องนั้นจะมีความยาวมากที่สุด สามารถมีหลายย่อหน้าได้ เพื่อที่จะเรียบเรียงเนื้อหาต่างๆให้เป็นลำดับขั้นตอน ให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจในเรื่องราวนั้นได้ดีมากขึ้น
วิธีการเขียนในส่วนนี้ ก่อนอื่นผู้เขียนจะต้องศึกษาข้อมูลที่ต้องการนำมาเขียนเรียงความให้ดี อาจจะมีการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ เพื่อมาอ้างอิงข้อมูลให้ดูมีความน่าสนใจ เห็นภาพรวมในข้อมูลและน่าเชื่อถือมากขึ้น จากนั้นเราจะมีการอธิบายเรื่องราวต่างๆเป็นลำดับ ชี้ให้เห็นข้อมูลต่างๆและอาจจะใช้ความคิดเห็นมาแทรกในบางส่วน เพื่อให้เกิดอรรถรสในการเขียนเรียงความมากขึ้น
ซึ่งการเขียนเนื้อเรื่องในเบื้องต้นผู้เขียนจะต้องวางโครงการให้ดีเสียก่อน ว่าอยากให้เนื้อเรื่องไปในทิศทางใด ควรมีข้อมูลต่างๆให้ละเอียด และจะต้องมีเหตุผลมารองรับข้อมูลที่เราเขียนลงไป เพื่อทำให้การเขียนของเรามีความน่าเชื่อถือ มีความเข้าใจง่ายมากขึ้น แต่ถ้าเรียงความที่เราจะเขียนนั้นมีเนื้อเรื่องที่ไม่ได้เป็นทางวิชาการมากเกินไป อาจจะนำภาษาที่เป็นประโยคพูดได้บ้าง เพื่อทำให้ผู้อ่านมีความสนุกสนานมากขึ้น สร้างความเป็นกันเองและจูงใจผู้อ่านเกิดความคล้อยตามได้
การเขียนเนื้อเรื่องไม่ควรจะเขียนวนไปมาจนผู้อ่านเกิดความสับสน หรือเขียนเนื้อเรื่องจนออกนอกขอบเขตที่เราต้องการจะสื่อเรื่องราวมากเกินไป การเขียนเรียงความในส่วนนี้อาจจะเขียนจากสะระสำคัญหลักเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยๆอธิบายไปตามแต่ละข้อ ว่าทำไมจึงต้องเป็นแบบนี้ หรือเป็นข้อมูลที่มาสนับสนุนเนื้อเรื่องหลัก โดยมีความรู้หรือข้อมูลที่หามาจากส่วนอื่นๆเพิ่มเติม หรือการยกตัวอย่างในสิ่งต่างๆขึ้นมา ให้การเขียนเรื่องราวส่วนนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น
3. บทสรุป
บทสรุปหรือเรียกอีกอย่างว่าส่วนท้ายของเรื่อง จะเป็นข้อมูลที่เป็นการปิดจบของการเขียนเรียงความในเรื่องนั้นๆ และเป็นการบอกให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าบทความที่กำลังอ่านอยู่นั้น ได้มาถึงช่วงที่เป็นบทสุดท้ายของเรียงความทั้งหมดแล้ว โดยบทสรุปในส่วนนี้จะเป็นการสรุปเรื่องราวที่เราได้เขียนขึ้นมาทั้งหมด ว่าเนื้อหาแต่ละส่วนนั้นเป็นอย่างไร ตั้งคำถามกับผู้อ่านว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรียงความเรื่องนี้บ้าง ซึ่งความยาวของบทสรุปนั้นไม่ควรยาวเหมือนกับส่วนเนื้อหา แต่ควรจะมีความยาวเท่าๆกับส่วนคำนำของเรียงความ
การเขียนบทสรุปให้ผู้อ่านได้เกิดความประทับใจนั้น เราสามารถใช้คำคมอื่นๆหรือสำนวนต่างๆเข้ามาช่วยเสริมได้ ยกตัวอย่างเช่น “การลงทุนในการทำธุรกิจต่างๆ ควรมองว่าเป็นดาบสองคมเสมอ เพราะทุกๆอย่างมักมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่ว่าเราจะสามารถรับผลที่ตามมาจากนั้นได้หรือไม่เสียมากกว่า” เป็นต้น
นอกจากนี้วิธีการเขียนสรุปในตอนท้าย อาจจะมีวิธีการย้ำประเด็นหลักที่เราต้องการสื่อถึง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าเรียงความบทนี้ต้องการที่จะให้ข้อมูลอะไรบ้าง อาจจะใช้การตั้งคำถามเพื่อให้ผู้อ่านเอาไปคิดต่อได้ หรือการเขียนสรุปโดยกล่าวไปถึงตอนต้นของช่วงคำนำ ว่าสิ่งที่เราได้กล่าวในตอนต้นนั้นมีความสัมพันธ์กับบทสรุปอย่างไรบ้าง เพื่อจะทำให้เนื้อหาในแต่ละช่วงของเรียงความมีการเชื่อมโยงกัน ดูเป็นเนื้อเรื่องที่มีการบรรยายที่มีลำดับขั้นตอน
💡 วิธี การเขียนเรียงความ ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น 💡
การเขียนเรียงความนั้นมีวิธีการเขียนให้ดูมีความน่าสนใจ และสามารถทำให้ผู้อ่านมีความประทับใจได้มากยิ่งขึ้นได้ ซึ่งการเขียนเรียงความนี้จะต้องใช้ทักษะบางอย่าง ที่จะทำให้บทความที่เราเขียนดูน่าเชื่อถือและโน้มน้าวใจผู้อ่าน โดยมีเทคนิคต่างๆดังนี้
- ✨ เลือกหัวข้อที่จะนำมาใช้เขียน
อันดับแรกที่เราจะเขียนเรียงความ นั่นก็คือจะต้องตั้งเป้าหมายไว้เสียก่อน ว่าเราจะเขียนในหัวข้ออะไร มีจุดประสงค์อะไรที่จะนำหัวข้อนั้นมาเขียน เพื่อวางแผนในการเขียนในเบื้องต้น และสามารถกำหนดแนวทางในการเขียนเรียงความ ว่าควรจะต้องเขียนเป็นลำดับอย่างไร นอกจากนี้อาจจะใช้วิธีการคิดชื่อหัวข้อของเรียงความ เพื่อทำให้ดูน่าสนใจและสามารถทำให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้ อยากอ่านในเนื้อหาของบทความนั้น
- ✨ ศึกษาข้อมูล
แน่นอนว่าการเขียนเรียงความที่ดีนั้น ควรศึกษารายละเอียดต่างๆของข้อมูลที่จะนำมาเขียนให้ดีเสียก่อน ถ้าเป็นเรียงความที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาการ หรืออ้างอิงจากข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ผู้เขียนจะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆนั้นให้ละเอียดมากที่สุด ควรศึกษาข้อมูลที่มีการยืนยันว่าเป็นความจริง เพื่อข้อมูลที่เรานำมาเขียนมีความถูกต้อง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลของเราได้มากที่สุด นอกจากนี้เราอาจจะนำแหล่งข้อมูลที่ใช้ค้นคว้า มาอ้างอิงในเรียงความที่เราจะเขียนได้อีกด้วย
- ✨ ลองวางโครงเรื่องก่อนเริ่มต้นเขียน
อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เขียนสามารถเรียบเรียงข้อมูลที่นำมาเขียนได้ดียิ่งขึ้น คือการลองวางแผนว่าจะมีการเขียนเนื้อหาอย่างไร วางโครงเรื่องต่างๆเอาไว้ว่าจะพูดถึงสิ่งใดก่อน และจะชี้ไปยังเนื้อหาแต่ละจุดหรือรายละเอียดต่างๆอย่างไร โดยการวางโครงเรื่องควรเขียนหัวข้อจากใหญ่ไปหาหัวข้อย่อยแต่ละข้อ ซึ่งการเขียนแบบนี้จะทำให้ผู้อ่านค่อยๆมองไปยังจุดต่างๆ ที่เราต้องการจะอธิบายได้ง่ายมากขึ้น สามารถจับประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้ดี
นอกจากนี้โครงเรื่องของการเขียนเรียงความนั้น ผู้เขียนสามารถเปลี่ยนแปลงได้บางส่วน เพื่อให้การสื่อสารมีความน่าสนใจ แปลกใหม่ต่อการสื่อสาร แต่การเรียบเรียงเนื้อหาแบบนี้ผู้เขียนจะต้องมีทักษะในการเขียนเรียงความในระดับที่ดี เพราะไม่เช่นนั้นโครงเรื่องในเรียงความนั้นจะมีเนื้อหาที่ออกไปจากเป้าหมาย ที่เราต้องการจะสื่อได้ง่าย และทำให้เนื้อหาของเรียงความดูมีการเข้าใจยาก
- ✨ ใช้ภาษาที่ง่ายต่อการอ่าน
ในการเขียนเรียงความแต่ละบท ผู้เขียนจะต้องใช้ภาษาที่ง่ายต่อการอ่าน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจที่ตรงกับที่ผู้เขียนจะสื่อ ไม่ควรใช้ภาษาที่มีลักษณะให้ความหมายแบบกำกวม เพราะอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดต่อสิ่งที่เราจะต้องการสื่อถึง หรืออาจจะตีความหมายของเรียงความของผู้เขียนที่มีลักษณะที่ตรงข้าม และอาจจะเกิดการเข้าใจผิดกันในช่วงที่อ่านเรียงความนี้จบไป ซึ่งจะทำให้วัตถุประสงค์ที่ผู้เขียนต้องการในตอนต้น ไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ ถือว่าเป็นข้อเสียอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนควรหลีกเลี่ยง แต่สามารถทำได้ถ้าหากต้องการให้เรียงความนั้นเกิดการตั้งคำถามแก่ผู้อ่าน ให้นำไปคิดเอาไว้ควรจะเป็นไปในทิศทางใด
ถ้าผู้เขียนต้องการนำภาษาที่มีความเฉพาะเจาะจง หรือภาษาที่เป็นภาษาแบบศัพท์เฉพาะทาง ยกตัวอย่างเช่น คำศัพท์ทางการแพทย์ คำศัพท์ทางวิศวกรรม ควรมีการอธิบายความหมายของคำนั้นให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ และสามารถนำคำศัพท์นั้นไปทำความเข้าใจกับเนื้อหาในเรียงความนั้นได้ นอกเหนือจากนี้ผู้อ่านจะได้ศัพท์ที่ผู้เขียนอธิบายไป นำไปเป็นความรู้รอบตัวหรือความรู้เพิ่มเติม ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในภายภาคหน้าได้อีกด้วย
- ✨ มีสมาธิในช่วงที่กำลังเขียนเรียงความ
ช่วงระหว่างที่ผู้เขียนกำลังการเขียนเรียงความอยู่นั้น สมาธิในการเขียนเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้เราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ดี และถ้าผู้เขียนได้วางโครงเรื่องต่างๆ มีการหาข้อมูลมาเป็นอย่างดี บวกกับการมีสมาธิในการเขียนและจดจ่อกับสิ่งที่เรากำลังตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวลงไปในงานเขียน จะทำให้คุณภาพของเรียงความเรื่องนั้นดีมากยิ่งขึ้นไป
- ✨ อ่านทบทวนเมื่อเขียนเรียงความจบ
เมื่อผู้เขียนได้เขียนเรียงความจบแล้ว ควรลองอ่านตั้งแต่ต้นใหม่อีกรอบ เพื่อตรวจสอบว่ามีข้อผิดพลาดใดๆในงานเขียนหรือไม่ การสะกดคำต่างๆในเรียงความ หรือการให้ข้อมูลต่างๆครบถ้วนตามที่เราต้องการหรือยัง ในการตรวจสอบสิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้งานเขียนของเรามีข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุด และทำให้ผู้อ่านได้รู้สึกว่าเรียงความนี้ผู้เขียนมีความตั้งใจในการเขียน
- ✨ ขอคำแนะนำจากผู้อื่น
ถ้าใครที่ต้องการงานเขียนที่มีเนื้อหาและภาษาที่มีความแม่นยำมากที่สุด อาจจะให้งานเขียนที่เราทำให้กับผู้อื่นลองช่วยตรวจสอบอีกที นอกจากนี้ยังสามารถขอคำแนะนำหรือความคิดเห็นจากผู้อื่นว่าการเรียงความของเรานั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งการทำในจุดนี้จะทำให้เราได้เข้าถึงผู้อ่านได้มากขึ้น สามารถเรียนรู้ข้อบกพร่องในการเขียนว่าควรปรับปรุงส่วนไหนบ้าง ต้องเพิ่มเนื้อหาหรือลดเนื้อหาส่วนใดออกไป
💡 ตัวอย่างเรียงความ ระดับประถม และมัธยม 💡
การเขียนเรียงความนั้นจะต้องอาศัยมีวิธีการเขียนที่มีการวางแผนมาส่วนหนึ่ง เพื่อทำให้งานเขียนของเรานั้นมีความน่าสนใจ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้อ่านได้ ซึ่งงานเขียนเรียงความนั้นถ้าฝึกฝนเขียนไปเรื่อยๆ จะทำเกิดความชำนาญในการเขียนเรียงความมากขึ้น และสามารถจับใจความจากข้อมูลที่มาจากแหล่งตามที่ต่างๆ แล้วนำมาเขียนสรุปเรื่องราวได้ตามที่ต้องการได้มากขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะเขียนเรียงความเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน สำหรับนักเรียน นักศึกษาในระดับที่สูงขึ้น อาจจะมีการทำบทความวิชาการ หรืองานวิจัย ข้าวตังแนะนำ การเขียนบรรณานุกรม เพื่อเป็นความรู้ในอนาคตจ้า
ภาพ Pixabay เรียบเรียงโดย Kawtung.com
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎