การเปลี่ยนชื่อไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างที่หลายคนคิด เพราะในปัจจุบันก็มีหลายคนที่เลือกจะเปลี่ยนชื่อเพราะเรื่องดวงชะตา ยิ่งถ้าเป็นช่วงอายุที่พบเจอกับความผิดหวังค่อนข้างมาก คนไทยก็มีความเชื่อว่าลองเปลี่ยนชื่อดูอาจทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม โดยการเปลี่ยนมีทั้งชื่อมงคลผู้ชาย ชื่อที่พระตั้งให้ พร้อมกับการที่เอาชื่อมาตีเป็นตัวเลขว่าผลรวมแล้วดีหรือไม่
แม้ว่าความเชื่อจะเป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ถ้ามันทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ก็น่าลองดู ดังนั้นเราจึงได้รวมวิธีเปลี่ยนชื่อในปี 2566 พร้อมชื่อมงคลแบบอัปเดตใหม่ล่าสุดมาฝาก เผื่อใครอยากตามรอยคนที่เปลี่ยนชื่อแล้วรวยก็สามารถเข้ามาดูขั้นตอนต่าง ๆ พร้อมกับวิธีการเลือกชื่อก่อนได้ ซึ่งมีอะไรบ้างที่ต้องรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อตามไปดูกันเลยดีกว่า
- พระราชบัญญัติชื่อบุคคลปี 2505
สำหรับผู้ที่มีสัญชาติไทยตามพรบ. ชื่อบุคคลในปีพ.ศ. 2505 มีการกำหนดเอาไว้ว่า บุคคลที่เป็นคนไทยจะต้องมีชื่อ นามสกุล หรือชื่อรองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ ชื่อจะต้องไม่พ้องหรือคล้ายกับพระนามของราชินีหรือพระปรมาภิไธย ไม่เป็นชื่อที่มีคำหยาบ โดยจะมีการตั้งชื่อจริง คือ ชื่อประจำตัวบุคคล ชื่อรองคือชื่อถัดจากชื่อตัวบุคคล และชื่อสกุลคือ ชื่อประจำวงศ์สกุล
- เอกสารที่ใช้ในการเปลี่ยนชื่อมีอะไรบ้าง?
หากคุณต้องการเปลี่ยนชื่อเอกสารที่ต้องใช้จะมีสำเนาทะเบียนบ้าน, บัตรประชาชน (โดยต้องเป็นบัตรที่ยังไม่หมดอายุ, ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ในกรณีที่เป็นบุคคลต่างด้าว)
- แนะนำขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อ?
สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนชื่อแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง สามารถดูตามขั้นตอนที่เรานำมาฝากก่อนได้ โดยเริ่มต้นจากการไปที่เขตหรือที่ว่าการอำเภอ หลังจากนั้นให้รับบัตรคิวเพื่อรอเรียกคิว กรอกเอกสารต่าง ๆ สำหรับการเปลี่ยนชื่อให้ครบ ซึ่งเรียกว่าเป็นเอกสารแบบช. 1 หลังจากนั้นให้ยื่นคำร้องกับนายทะเบียน นายทะเบียนก็จะรับคำร้องไป และตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ตรวจสอบว่าชื่อผ่านตามพ.ร.บที่กำหนดเอาไว้หรือไม่ หากผ่านก็จะออกหนังสือสำคัญการแสดงตัวเปลี่ยนชื่อ (แบบช. 3) ให้กับคุณ
- การเปลี่ยนชื่อกับนามสกุลเหมือนกันหรือไม่?
หลักเกณฑ์ของการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลมีเหมือนกันคือ ต้องไม่พ้องกับชื่อพระราชินี พระปรมาภิไธย และพระราชทินนาม นอกจากนี้นามสกุลจะต้องไม่ซ้ำกับนามสกุลของคนอื่น หรือต้องไม่มีคำหยาบด้วย ซึ่งจะเห็นว่าชื่อไม่ได้มีการระบุเรื่องความซ้ำเอาไว้ แต่นามสกุลจะระบุเอาไว้เลยว่าห้ามซ้ำ ยกเว้นว่าเราจะเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของบิดา มารดา หรือคู่สมรสก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้นามสกุลเดิมก่อน นอกจากนี้ยังมีการจำกัดจำนวนพยางค์ของนามสกุลเอาไว้ไม่เกิน 10 พยางค์ โดยมีค่าดำเนินการสำหรับการเปลี่ยนนามสกุลราคา 100 บาท
- เอกสารอะไรบ้างที่ต้องเปลี่ยนหลังจากเปลี่ยนชื่อ?
อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากเปลี่ยนชื่อก็คือ การแก้ไขเอกสารต่าง ๆ ที่เคยใช้ชื่อเดิมเอาไว้ เช่น โฉนดที่ดิน, บัญชีธนาคาร, กรมธรรม์ประกัน, หนังสือเดินทาง, บัตรเครดิต และเอกสารอื่น ๆ อีกมากมายที่มีชื่อของคุณปรากฏในนั้น สำหรับขั้นตอนนี้ควรจะเตรียมไปให้ครบทุกอย่างตั้งแต่สมุดธนาคาร, บัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน และใบเปลี่ยนชื่อ หากจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงเอกสารควรจะทำสำเนาไปเลย เพื่อที่จะสะดวกในการติดต่อเปลี่ยนชื่อ
- ถ้าหากเปลี่ยนชื่อแล้วลืมเปลี่ยนพาสปอร์ตมีปัญหาหรือไม่?
หากไปเที่ยวต่างประเทศแล้วชื่อจริงในระบบกับชื่อในพาสปอร์ตไม่เหมือนกัน เคสนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว และมีปัญหาตั้งแต่การเดินทางเข้าประเทศเลย เพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่าเราคือคนนั้นจริง ๆ ดังนั้นควรจะพบใบเปลี่ยนชื่อไปด้วย ถ้าหากยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อในพาสปอร์ตเก่า หรือถ้าให้ดี หากคุณเปลี่ยนชื่อแล้วต้องการเดินทางไปต่างประเทศ ก็ควรจะทำพาสปอร์ตด้วยชื่อใหม่เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม