กติกาเปตอง ขั้นพื้นฐาน และเทคนิควิธีเล่น
กติกาเปตอง เป็นกติกาการเล่นที่เข้าใจไม่ยากและเล่นง่าย ทำให้มักจะเห็นสนามเปตองได้ทั่วไป ต้นกำเนิดกีฬาประเภทนนี้คาดการณ์ว่าเริ่มต้นมาจากประเทศกรีซ ตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว โดยจะนำก้อนหินทรงกลมมาเล่น ต่อมาได้ถูกนำไปเล่นในยุโรปในช่วงที่อาณาจักรโรมันยึดครองดินแดนของกรีก และยังใช้กีฬาประเภทนนี้ทดสอบพละกำลังของข้อมือของผู้ชายอีกด้วย
หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีการพัฒนาทั้งอุปกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง จนมีการก่อตั้งสหพันธ์เปตองขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1938 เริ่มมีสมาชิกมากมาย ผู้เล่นก็มีมากมายทุกเพศทุกวัย จนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีการปรับแก้ไข กติกาเปตอง ให้มีความสนุกสนาน และเพิ่มความนิยมมากขึ้น
ในส่วนของประเทศไทยนั้นกีฬาเปตองถูกนำเข้ามาเล่นเมื่อ พ.ศ. 2518 โดยนายจันทร์ โพยหาญ กับ นาย ศรีภูมิ สุขเนตร ที่เป็นนักเรียนเก่าฝรั่งเศส ซึ่งทั้งคู่มีความถนัด และเชี่ยวชาญกีฬาประเภทนี้เป็นอย่างดี และยังได้จัดตั้งจัดสมาคมเปตองขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2519 หลังจากนั้นกีฬาประเภทนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
สนาม และอุปกรณ์ตาม กติกาเปตอง
- สนามเปตองไม่ควรเป็นพื้นคอนกรีต พื้นปูน พื้นไม้ หรือพื้นหญ้า นอกจากนั้นก็สามารถเล่นได้ทุกสนาม โดยมีขนาดของสนามเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 4x15 เมตร
- ลูกเปตอง หรือลูกบูลที่ให้ตาม กติกาเปตอง จะเป็นโลหะลักษณะกลมข้างในกลวง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระประมาณ 70.5-80 มม. หนักประมาณ 800 กรัม หากเป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการ บนลูกเปตองต้องแสดงน้ำหนัก และเครื่องหมายโรงงานที่ผลิตอย่างชัดเจน และได้รับการรับรองจากสหพันธ์เปตองนานาชาติ และสมาคมเปตองแห่งประเทศไทย
- ลูกเป้าเป็นลักษณะทรงกลม ทำด้วยไม้หรือวัสดุอื่น ๆ อาจจะมีสีสันที่เห็นได้ชัดมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางฃนาดประมาณ 25-35 มม.
- เทปสายวัด
กติกาเปตอง
- การแบ่งประเภทการแข่งขันในกีฬาเปตองจะมีทั้งหมด 7 ประเภทคือ ชายเดี่ยว หญิงเดี่ยว ชายคู่ หญิงคู่ ทีมชาย ทีมหญิง และคู่ผสม
- กติกาเปตอง ในการแข่งขันประเภททีม จะมีผู้เล่น 2 ฝั่ง ฝั่งละไม่เกิน 3 คน หลังจากนั้นให้มีการเสี่ยงทาย เพื่อหาทีมที่จะเปิดเกมก่อน หลังจากนั้นให้ผู้ชนะการเสี่ยงทายเลือกจุดเริ่มต้น โดยเขียนวงกลมประมาณ 30-50 ซม. ลงจุดใดจุดหนึ่งของสนาม ต้องห่างจากสิ่งกีดขวางต่าง ๆ 1 เมตรขึ้นไป
- ฝ่ายที่เสี่ยงทายชนะต้องเข้าไปอยู่ในวงกลมที่เขียนขึ้นมา แล้วโยนลูกเป้าออกไปในระยะไม่น้อยกว่า 6 เมตร แต่ต้องไม่เกิน 10 เมตร หากโยนลูกไม่ได้ตามระยะนี้ภายใน 3 ครั้ง ผู้เล่นอีกฝ่ายจะได้โยนแทนในจำนวน 3 ครั้งเท่ากัน
- หลังจากที่มีการโยนลูกเป้าได้ตามระยะที่ต้องการแล้ว ฝ่ายที่ชนะการเสี่ยงทายในตอนแรก จะเป็นฝ่ายเริ่มเปิดเกมด้วยการโยนลูกเปตองให้เข้าใกล้กับลูกเป้าให้มากที่สุด โดยที่ลูกเปตองสามารถไปโดนลูกเป้าได้ และในกติกาเปตอง ขณะที่โยนเท้าทั้งสองข้างต้องอยู่ในวงกลมตลอดเวลา ห้ามมีการยก หรือเหยียบเส้นจนกว่าลูกเปตองจะตกสัมผัสพื้น
- หากมีฝ่ายไหนโยนลูกเปตองจนหมดก่อน อีกฝ่ายก็ต้องโยนให้หมดเช่นกัน โดยต้องให้ลูกของตัวเองอยู่ใกล้กับลูกเป้าให้มากที่สุด
- การนับคะแนนหลังจากที่สองฝ่ายโยนลูกจนหมดแล้ว หากลูกของใครเข้าใกล้กับลูกเป้ามากที่สุดก็จะได้ 1 แต้ม แล้วจึงเริ่มโยนใหม่จนลูกหมดไปเรื่อย ๆ ตาม กติกาเปตอง หากฝ่ายไหนทำได้ถึง 11 แต้มก่อนเป็นผู้ชนะ หากเป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศต้องทำ 13 แต้ม
วิธีการโยนลูกเปตอง
วิธีการโยนลูกไม่ได้มีกำหนดไว้ใน กติกาเปตอง ผู้เล่นสามารถโยนได้ตามถนัด แต่หลัก ๆ จะแบ่งเป็น 3 แบบ
- การโยนระยะใกล้ ระยะไม่เกิน 3 เมตร โดยจะใช้แรงจากแขน ข้อมือ และนิ้ว สะบัดลูกออกไปหาลูกเป้า การโยนแบบนี้พื้นสนามควรจะเรียบ หากขรุขระมากไปลูกอาจจะกลิ้งเปลี่ยนทิศทางได้ง่าย
- การโยนระยะกลาง เป็นการโยนลูกให้ตกกึ่งกลางระหว่างจุดโยนกับลูกเป้า ควรต้องโยนให้สูงกว่าการโยนแบบระยะใกล้ และเป็นโยนให้ลูกมีลักษณะหมุนถอยหลัง เหมาะกับสนามที่มีความขรุขระ หรือพื้นที่แข็งหน่อย
- การโยนแบบโด่ง การโยนแบบนี้จะคล้าย ๆ กับการโยนระยะกลาง คือต้องให้ลูกหมุนกลับหลัง แต่จะต้องโยนสูงกว่า ให้เกือบถึงลูกเป้า การโยนแบบนี้เหมาะกับสนามที่มีความขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือเปียกแฉะ
- วิธีการโยนลูกทั้ง 3 แบบนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม ของสภาพสนาม แต่ที่สำคัญการโยนทุกครั้งเท้าต้องอยู่ในวงกลมตลอด ห้ามเหยียบเส้น ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการผิด กติกาเปตอง
หลักการโยนลูกเปตองให้ดีมากขึ้น
การโยนลูกเปตองถือเป็นสิ่งสำคัญของกีฬาประเภทนี้ หากโยนได้ดีก็จะมีโอกาสชนะที่สูงขึ้น ดังนั้นการโยนจึงต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัย
- ในระหว่างการเล่น หรือแข่งขันให้จำปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปเป็นบทเรียนให้กับตัวเองในการโยนครั้งต่อไป
- ดูสภาพสนามแข่ง หรือศึกษาให้ดีว่าเป็นลักษณะไหน จะได้วางแผนการโยนได้ง่ายขึ้น
- หาจุดตกของลูก เพื่อจะได้ใช้น้ำหนักมือที่ถูกต้องพอดีกับระยะโยนลูก เข้าหาลูกเป้า
- ก่อนจะโยนลูกออกไปควรจะใจเย็น ๆ ต้องแน่ใจว่ามีสมาธิที่นิ่งมากพอ
สิ่งที่จะทำให้การโยนลูกเปตองได้ไม่ดีก็ยังมาจากหลายสาเหตุ เช่น ลูกเปตองมีน้ำหนักไม่คุ้นชินกับมือ ทำให้ร่างกายไม่มีความสมดุล เพราะท่าโยนเปตองจะมีอยู่ 2 แบบ คือนั่งกับยืน โดยเท้าทั้งสองข้างต้องอยู่ในวงกลมที่กำหนด ไม่เหยียบเส้น หรือยกเท้าขณะโยนลูกเพราะผิด กติกาเปตอง ดังนั้นหากนั่งโยน ต้องมีเท้านำ กับเท้าตาม แล้วยกส้นเท้าขึ้นค้างไว้
หากเป็นการโยนแบบยืน สามารถยืนตามความถนัด ไม่ว่าเท้าคู่ หรือมีแบบเท้านำก็ได้ หากเป็นคนถนัดขวา ให้เท้าขวานำในระยะที่ทรงตัวได้ดี ส่วนปลายเท้าให้ชี้ไปในทิศทางที่จะโยน แต่สิ่งสำคัญก็คือต้องตาม กติกาเปตอง ที่เท้าต้องอยู่ในวงกลมอย่างเคร่งครัด เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นการฟาวล์ได้
วิธีการจับลูกเปตอง สำหรับผู้เริ่มต้น
- วางลูกเปตองบนฝ่ามือแบบสบาย ๆ
- กำมือที่จับลูกเปตองแบบไม่แน่นมากไป ไม่หลวมมากไป หรือแล้วแต่ความถนัด
- หลังจากนั้นคว่ำมือลง เพราะการโยนในลักษณะคว่ำมือ จะมีความแม่นยำ และบังคับทิศทางได้ดีกว่า
- ก่อนจะโยนลูกออกไป ให้หักข้อมือ ลักษณะคล้าย ๆ กับการม้วนกำปั้นเข้าหาลำตัว ในจังหวะโยนก็สปริงข้อมือออก ใช้ปลายนิ้วบังคับทิศทางลูก
- ผู้ที่ฝึกโยนเปตองใหม่ ๆ ในช่วงแรกอาจจะบังคับลูกได้ยาก แต่หากมีการฝึกฝนหรือเล่นบ่อย ๆ ก็จะมีความชิน และโยนง่ายขึ้น รวมไปถึงการมีเทคนิคการโยนต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หรือจะลองฝึกกับคนเก่ง ๆ ก็ได้
นี่ก็เป็นวิธีการเล่น และกติกาขั้นพื้นฐานแบบง่าย ๆ ที่สามารถนำไปดูการแข่งขันได้รู้เรื่อง หรือเล่นเองก็ได้ เพราะกีฬาประเภทนี้ถึงแม้จะไม่ใช่กีฬายอดนิยม แต่ก็เล่นได้ไม่ยาก ไม่ซับซ้อนมากนัก เล่นได้ทุกเพศทุกวัย และ กติกาเปตอง สามารถปรับ หรือยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม เราจึงมักจะเห็นว่ามีหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้แข่งขันเป็นการภายใน หรือจะเป็นงานกีฬาประจำปีในท้องถิ่น ก็มักจะนำไปแข่งขันเพื่อเป็นการเชื่อมความสามัคคี หรือเป็นการจัดแข่งขันเพื่อการกุศล
นอกจากนี้ยังเป็นกีฬาสันทนาการไว้เล่นยามเลิกงาน ยามว่างในหมู่เพื่อนฝูง เพราะเป็นกีฬาสบาย ๆ ไม่มีการปะทะ เล่นไปคุยกันไปสร้างความสนุกสนานได้เป็นอย่างดี ดังนั้น กติกาเปตอง จึงไม่ได้เน้นกฎมากมายหากไม่ใช่การแข่งขันแบบเป็นทางการ
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
📕 อ้างอิงรูปภาพ
- https://pixabay.com/th/photos/เปตอง-ลูกบอล-เกม-ที่อยู่-มือ-3629187/
- https://pixabay.com/th/photos/เปตัง-ทราย-ลูกบอล-เกม-เหล็ก-โลหะ-1139552/
- https://pixabay.com/th/photos/เปตอง-โบว์ลิ่งสนามหญ้า-ลูก-แจ็ค-2689347/
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม