ในชีวิตประจำวันของทุกคนนั้นอาจจะเกิดอุบัติเหตุจากสาเหตุต่างๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจากการเดินทาง อุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ และอื่นๆอีกมากมาย แต่หนึ่งในภัยอันตรายที่หลายคนอาจจะได้พบเจอ หรือพบเจอในข่าวได้บ่อยครั้งนั้นคือ ภัยอันตรายจากไฟไหม้ ปัญหาไฟไหม้จัดเป็นปัญหาที่อันตรายร้ายแรงเพราะอัคคีภัยเกิดขึ้นกับที่ใด ย่อมมีความเสียหายตามมาไม่มากก็น้อยตามแต่ความรุนแรงและขนาดของการเกิดเพลิงไหม้ จนทำเกิดผู้เสียชีวิตได้เนื่องมาจากการไม่รู้วิธีหรือขั้นตอนการอพยพหนีไฟ ทำให้หลายๆ แห่งจะมีการจัดตั้งการซ้อมหนีไฟหรือซ้อมอพยพเวลาเกิดเพลิงไหม้ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดเมื่อไรและที่ไหน นอกจากการซ้อมหนีไฟและบางที่ยังมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเพลิงไหม้ การใช้ถังดับเพลิงที่ถูกวิธีและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับใครที่ยังไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการอพยพหนีไฟ ครั้งนี้พวกเราจะแนะนำเบื้องต้นให้เพื่อนๆ เรียนรู้กัน
ศึกษาการอพยพหนีไฟ รับมืออัคคีภัย
เริ่มต้นเราต้องเข้าใจจุดเริ่มต้นและสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ ที่ทุกคนอาจจะไม่ได้คาดคิดว่าพฤติกรรมบางอย่างของเรานั้นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุไฟไหม้ โดยจะมีดังต่อไปนี้
- การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นระยะเวลานานเกินไปทำให้ตัวเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มีความร้อนสูง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไฟฟ้าลัดวงจร
- การใช้สายไฟอุปกรณ์เสียบกับเต้าเสียบรางเดียวกันหลายๆตัว หรือการสายไฟอุปกรณ์เสียบกับสายไฟอุปกรณ์เสียบด้วยกันเอง
- เปิดเตาแก๊สทิ้งไว้ในขณะทำอาหาร
- วาล์วแก๊สถังหุงต้มปิดไม่สนิท ทำให้แก๊สรั่ว
- เก็บวัสดุไวไฟไม่เรียบร้อย ตัววัสดุชำรุดหรือรั่วไหล
- ภัยธรรมชาติ เช่น สภาพชั้นบรรยากาศ ฟ้าผ่า หรือพายุ
- กระทำการก่อเหตุเพลิงไหม้ เช่น การวางเพลิง ระเบิด เป็นต้น
- ปฏิกิริยาของสารเคมีบางชนิดเมื่อสัมผัสกับน้ำหรืออากาศทำให้เกิดไฟ
- การสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ หรือผู้สูบไม่ทำการดับบุหรี่ให้เรียบร้อยจึงมีประกายไฟในก้นบุหรี่หลงเหลืออยู่
- ไฟฟ้าสถิตบนพื้นผิวของวัสดุ
- อื่นๆ อีกมากมาย
จากที่ได้กล่าวมาข้างนั้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งของหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ เมื่อทุกคนรู้ว่าสาเหตุนั้นเกิดจากอะไร เราก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไฟไหมแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรทำนั้นคืออพยพหนีไฟ ซึ่งจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนแรก
พยายามตั้งสติ อย่าตื่นตกใจ ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นและปฏิบัติตามขั้นตอนการอพยพหนีไฟ
ขั้นตอนที่สอง
ถ้าหากเกิดเพลิงไหม้เล็กน้อยให้ ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้น และโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิง แต่ถ้าเกิดเพลิงไหม้รุนแรง ตะโกนบอกหรือกดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ให้คนในพื้นที่รับรู้ แล้วรีบอพยพหนีไฟออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ และโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิง
ขั้นตอนที่สาม
ถ้าหากเจอประตูให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู ถ้าหากไม่ร้อน เปิดประตูออกไปช้า ๆ และอพยพไปตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย แต่ถ้าหากมีความร้อนสูงห้ามเปิดประตูออกไป เพราะอยู่ในวงล้อมของเพลิงไหม้ ใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้ ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ รวมถึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบ จะได้รับการช่วยเหลืออพยพหนีไฟอย่างทันท่วงที
ข้อควรทำการอพยพหนีไฟออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้
1.นำผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปากหรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ทำให้หมดสติและเสียชีวิต
2.หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต
3.ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟ
4.ไม่ใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟเพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยตัวขึ้นมาปกคลุม
5.ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์
6.ไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคารเพราะยากต่อการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่
7.ไม่หนีไฟเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิดตายและมีน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ
8.ไม่ขึ้นไปชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพหนีไฟลงสู่ชั้นล่างได้
9.กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้าให้รีบถอดเสื้อผ้าหรือใช้วิธีนอนราบกับพื้นและกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ
10.แจ้งเหตุไฟไหม้/ดับเพลิง โทร 199
วิธีการใช้ถังดับเพลิง
1.เข้าไปทางเหนือลมโดยห่างจากฐานของไฟประมาณ 2 เมตร จากนั้นค่อยดึงสลักหรือลวดที่รั้งวาล์วออก
2.ยกหัวฉีดปากกรวยบีบ เพื่อเปิดวาล์วให้ก๊าซพุ่งออกมา ให้ทำมุมประมาณ 45 องศา
3.ฉีดไปตามทางยาว และกราดหัวฉีดไปช้า ๆ
4.ฉีดจนไฟดับให้สนิทจนแน่ใจแล้ว จึงฉีดต่อไปข้างหน้า
แต่ถังดับเพลิงที่เราใช้นั้นต้องแน่ใจก่อนนะว่าถังดับเพลิงได้ทำการตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ดังนี้
- ตรวจดูที่เข็มในมาตรวัดของถังดับเพลิง เครื่องดับเพลิงที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ เข็มจะชี้ที่ช่องสีเขียว
-
อย่าให้มีผงอุดตันสายฉีดและหัวฉีด
-
สภาพบรรจุของถังดับเพลิงต้องไม่บุบบวม และไม่ขึ้นสนิม
เข้าใจพื้นฐานก็จะรับมือได้ง่าย
สำหรับสาระความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการอพยพหนีไฟในบทความนี้ก็หวังว่าข้อมูลจะเป็นส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อยที่จะช่วยเหลือผู้คนได้ จำไว้เสมอว่าเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ สิ่งแรกที่ทุกคนควรทำคือการตั้งสติ ไม่ตื่นตกใจ และค่อยๆทำตัวคำแนะนำ การมีสตินี่แหละที่จะใช้ให้คนพ้นภัยอันตรายได้
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
- https://www.pinthong-group.com/tab/detail.php?id=8#
- https://www.chonlakram.go.th/datacenter/doc_download/a_311019_161803.pdf
- https://nakhonnayok.labour.go.th/attachments/article/182/คู่มืออพยพหนีไฟ.pdf
📕 อ้างอิงรูปภาพ
- https://www.safesiri.com/fire-drills/
- https://www.thairath.co.th/news/local/north/2036245
- https://apkpure.com/es/เบอร์โทรฉุกเฉิน/com.sticker.ThaiEmergencyCallPhoneNumber