วัฒนธรรมความเป็นไทยนั้นมีหลากหลายอย่างให้เห็นไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว ภาษา อาหาร วัฒนธรรม และอีกหนึ่งอย่างที่แสดงความเป็นไทยนั้นคือ ประเพณีไทย โดยประเพณีที่มีความหลากหลายแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิต ความเชื่อ และศาสนาของคนไทย ประเพณีไทย เรียกว่าเป็นการแสดงจุดเด่นในภูมิภาคนั้นๆ ทำให้ครั้งนี้เราจะพาเพื่อนๆไปรู้จักกับประเพณีจาก 4 ภูมิภาคในแต่ละท้องถิ่นกันดีกว่า ว่ามันสวยงามและน่าสนใจแค่ไหน
ความสวยงาม รอยยิ้ม ความสุขที่มากับประเพณีไทย
1.ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ: จังหวัดเพชรบูรณ์
ประเพณีไทย ที่ขึ้นชื่อของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งช่วงเวลาที่จัดประเพณีอุ้มพระดำน้ำนั้นอยู่ในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ โดยประเพณีนี้มีความเป็นมาคือ เมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีอาชีพหาปลาขายเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งประเพณีนี้เกิดจากความเชื่อทางภูตผีและศาสนาพุทธเข้าด้วยกัน ทำให้พอถึงวันสารทไทยหรือ วันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็จะจัดงานซึ่งเรียกว่าอุ้มพระดำน้ำ โดยวันงานนั้นมีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุ พร้อมด้วยประชาชน ร่วมกันอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นประดิษฐานในบุษบกบนรถ ซึ่งอยู่ ณ ต้นขบวนรถบุปผชาติที่ตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วแห่รอบเมือง พอถึงวันรุ่งขึ้นจะมีขบวนแห่ทางน้ำ แห่ไปตามลำน้ำป่าสักจนถึงบริเวณหน้าวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับบ้านเมือง
2.ประเพณียี่เป็ง: จังหวัดเชียงใหม่
อีกหนึ่งประเพณีไทย ชื่อดังของชาวล้านนาจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของภาคกลาง โดยมีการประดับประดาโคม การจุดผางประทีป ตามวัดและบ้านเรือนต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นภาพงดงามซึ่งจะมีโอกาสได้เห็นกันในช่วงประเพณี ประเพณีที่ทำเพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่อยู่ดินแดนห่างไกล งานประเพณีจะมีทั้งหมด 3 วัน เริ่มต้นที่
- วันที่หนึ่ง วันขึ้นสิบสามค่ำจะเป็นวันสำหรับการซื้อของตระเตรียมสิ่งต่างๆ ไปทำบุญที่วัด
- วันที่สอง วันขึ้นสิบสี่ค่ำจะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทาน
- วันที่สาม วันขึ้นสิบห้าค่ำจะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ สำหรับนักท่องเที่ยวก็แนะนำให้มาในวันนี้เพราะได้รับชมความสวยงามของประเพณียี่เป็ง
3.ประเพณีทานขันข้าว: จังหวัดลำปาง
ประเพณีทานขันข้าวอีกหนึ่งประเพณีไทยของชาวลำปาง โดยงานนี้จะจัดในช่วงเวลาหลายช่วงด้วยกันได้แก่ เทศกาลสงกรานต์ เข้าพรรษา และออกพรรษา สำหรับประเพณีทานขันข้าว คือ ประเพณีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ไปแล้วแสดงถึงความกตัญญูอีกแบบหนึ่ง โดยนำสำรับกับข้าวไปถวายวัดในวันเทศกาลสำคัญหรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลในโอกาสอื่นๆ
4.ประเพณีฟ้อนผีปู่ย่า: ภาคเหนือ
ประเพณีการฟ้อนผีของชาวล้านนา อีกหนึ่งประเพณีไทยที่เกี่ยวกับความเชื่อ คล้ายกับการลงผี การฟ้อนรำเพื่อสังเวยผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวล้านนานับถือประเพณีเก่าแก่ที่สันนิษฐานกันว่ารับมาจากชาวมอญ ประเพณีฟ้อนผีปู่ย่าจะจัด 2 วัน วันแรกเรียกว่าวันข่าว เป็นการบอกให้ญาติพี่น้องในสายตระกูลมาร่วมชุมนุมกันที่บ้านงานเพื่อเตรียมงานก่อนจะถึงวันงาน ส่วนอีกวันเป็นวันจริงที่มีการเชิญผีเข้าทรงและมีพิธีกรรมการฟ้อน
5.ประเพณีทำขวัญข้าว: ภาคกลาง
ประเพณีไทยของชาวภาคกลาง การทำขวัญข้าวนั้นเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนา ให้พวกเขารับรู้ว่าได้รับการดูแลจากพระแม่โพสพ และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวชาวบ้านแต่ละหลังก็จะมาช่วยกันเกี่ยวข้าวไปทีละผีน นับว่าเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีร่วมด้วยช่วยกันในการเก็บเกี่ยว และยังสร้างความสนุกสนามในการทำงานอีกด้วย พร้อมกับการประสบความสำเร็จด้วยดี ประเพณีทำขวัญข้าวนั้นจะจัดช่วงประมาณเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน ของทุกปี
6.งานประเพณีรับบัว: จังหวัดสมุทรปราการ
ประเพณีไทยขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรปราการ ที่จะจัดขึ้นในช่วงใกล้ วันออกพรรษาของทุกปี โดยจัดขึ้นทุกวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ใช้เวลาจัดงานถึง 9 วัน 9 คืน เลยทีเดียว หรือจะเรียกได้ว่าเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ก็ว่าได้ โดยประเพณีรับบัวจะมีการอัญเชิญหลวงพ่อโตองค์จำลอง จากวัดบางพลีใหญ่ใน มาลงเรือตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้ และล่องไปตาม คลองบางพลี เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะสร้างความสำเร็จ สมปรารถนา ตามที่ได้ขอพรไว้
7.ประเพณีกวนข้าวทิพย์
ประเพณีไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ที่ผสมผสานกับพิธีกรรมของศาสนาพุทธ อ้างถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลที่นางสุชาดาได้ปรุงข้าวมธุปายาสถวายพระโคตมพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ส่วนในไทยนั้นจะทำประเพณีนี้ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ประเพณีกวนข้าวทิพย์มีการจัดขึ้นในหลากหลายจังหวัดด้วยกัน โดยมีพิธีในการกวนข้าวทิพย์คล้ายคลึงกัน มีการจัดโต๊ะหมู่บูชา บริเวณที่จะกวนข้าวทิพย์อาจจะทำเป็นปะรำพิธี ทำขันหมากเบ็งเป็นเครื่องสักการบูชา มีการกวนข้าวทิพย์และแจกจ่ายให้ประชาชนรับประทานข้าวทิพย์กัน
8.ประเพณีตักบาตรดอกไม้: จังหวัดสระบุรี
ประเพณีไทยของจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นประเพณีของชาวพุทธโดยมีความเชื่อเรื่องของการทำบุญ โดยจะจัดขึ้นในวันเข้าพรรษาของทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีที่ต้องการให้พระที่กำลังเดินขึ้นไปที่พระอุโบสถ เพื่ออธิษฐาน จำวัดในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งก็จะมีการใส่ดอกไม้บูชาพระลงในบาตร ทำให้พวกชาวบ้านเองก็พลอยเป็นผู้ได้บุญไปด้วย แถมยังมีขบวนรถแต่ละอำเภอตกแต่งสวยงาม บางครั้งก็มีการโฆษณากิจกรรมของท้องถิ่นตนไปด้วย
9.ประเพณีบุญบั้งไฟ: ภาคอีสาน จังหวัดยโสธร
ประเพณีไทยสำคัญของภาคอีสานบ้านเราที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่ต้องจัดขึ้นในเดือน 6 ช่วงเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูทำนา มีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาเทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า พญาแถน หรือ เทพวัสสกาลเทพบุตร โดยมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เทศกาลประเพณีบุญบั้งไฟ จัดขึ้นหลากหลายจังหวัดด้วยกันทั้ง ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย มหาสารคาม ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู เลย อำนาจเจริญ ในประเพณีนั้นก็จะมีกิจกรรมหลากหลายอย่าง ตั้งแต่การจัดขบวนแห่บั้งไฟ การเซิ้งบั้งไฟ ไปจนถึงการละเล่นต่างๆ อีกด้วย
10.ประเพณีแห่นางแมว: จังหวัดศรีสะเกษ
อีกหนึ่งประเพณีไทยที่เป็นชื่อเสียงมากในภาคอีสาน โดยเฉพาะประชาชนบ้านสนาย จังหวัดศรีสะเกษ เพราะเชื่อว่า เหตุที่ฝนไม่ตกมีเหตุผลหลายประการ ทำให้ชาวอีสานจึงต้องทำพิธีอ้อนวอนขอฝน โดยการใช้แมวเป็นตัวประกอบสำคัญในการขอฝน เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที ความเชื่อนี้จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านคิดหาวิธีให้แมวร้อง ด้วยการสาดน้ำแมว
11.ประเพณีผีตาโขน: จังหวัดเลย
ประเพณียอดฮิต ที่หลายคนก็รู้จักกันอย่างผีตาโขน ซึ่งเป็นประเพณีไทยที่จัดขึ้นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เทศกาลที่เกิดขึ้นในเดือน 7 ซึ่งมักจัดมากกว่าสามวันในบางช่วงระหว่างเดือนมีนาคม และกรกฎาคม โดยประเพณีผีตาโขน วันแรกจะเป็นเทศกาลผีตาโขน ซึ่งเรียกวันนี้ว่า วันรวม มีพิธีเบิก พระอุปคุตต์ ในบริเวณระหว่างลำน้ำหมันกับลำน้ำศอก ส่วนวันที่สองของเทศกาลดังกล่าวจะมีพิธีจุดบั้งไฟบูชา พร้อมด้วยเครื่องแต่งกายที่หลากหลาย ส่วนในวันที่สามและวันสุดท้ายจะมีการให้ชาวบ้านฟังเทศน์
12.ประเพณีกวนข้าวยาคู: จังหวัดนครราชสีมา
ประเพณีไทยกวนข้าวยาคู (ข้าวมธุปายาสยาคู) เป็นประเพณีของชาวสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งงานจะจัดในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 เป็นเดือนที่ข้าวในนากำลังออกรวงเมล็ดข้าวยังไม่แก่ กำลังเป็นน้ำนมข้าวสำหรับนำมากวนข้าวยาคู ชาวบ้านจะมารวมตัวกันบริเวณพื้นที่วัดเกาะ (สีคิ้ว) ศูนย์รวมของพุทธศาสนิกชนชาวชุมชนบ้านใต้ งานนั้นจะเริ่มช่วงกลางคืนตั้งแต่หนึ่งทุ่มไปถึงเที่ยงคืน ถือเป็นงานประจำปีของชาวชุมชนบ้านใต้ ประเพณีกวนข้าวยาคูนั้นเป็นความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสยาคู ทำให้ พุทธศาสนิกชนในชุมชนมีความเชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา และยังเชื่อกันอีกว่าข้าวยาคูเป็นอาหารทิพย์ ใครได้รับประทานจะมีสมองดีเกิดปัญญา มีอายุยืนยาวสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ ผิวพรรณผ่องใสอีกด้วย
13.ประเพณีแห่นางดาน: จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเพณีไทยอย่างประเพณีแห่นางดาน เป็นประเพณีที่เก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ โดยประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งมีชุมชนพราหมณ์เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราชเพื่อบูชาเทพบริวารในคติพราหมณ์ นางดาน หรือนางกระดาน หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอก สูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติความเชื่อของพราหมณ์ จำนวน 3 องค์ ในพิธีนั้นจะมีขบวนแห่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วยปี่นอก กลองแขก และฆ้อง ดมาเป็นเครื่องสูงซึ่งประกอบด้วยฉัตร พัดโบก บังแทรก บังสูรย์ มีพระราชครูเดินนำ มีปลัดหลวงเดินนำหน้าเสลี่ยงละคนมีพราหมณ์ถือสังข์เดินตาม ปิดท้ายขบวนด้วยนางละครหรือนางอัปสร จากนั้นมีการโชว์ผลัดกันไกวหรือโล้ชิงช้าให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นเสมือนการทดสอบความแข็งแรงของแผ่นดินถือว่าเป็นประเพณีที่สวยงามอีกหนึ่งของไทย
14.ประเพณีสารทเดือนสิบ: ภาคใต้
และประเพณีไทยสุดท้ายก็เป็นงานที่สำคัญ 1 งาน ที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ที่จัดในหลายจังหวัดและพิธีการหลากหลายตามความเชื่อของแต่ละหัวเมือง และหนึ่งในที่คนไทยรู้จักกันมากนั้นคือ ประเพณีชิงเปรต เป็นประเพณีที่ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรต มีหลายคนไม่เข้าใจคิดว่าประเพณีชิงเปรตคือการแย่งเปรตกิน จึงเป็นความเข้าจริงที่ไม่ถูกต้อง การชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใดในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการได้บุญ เพราะเชื่อกันว่าหากลูกหลานของเปรตใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนั้นเอง
หลากหลายเรื่องความเชื่อที่กลายมาเป็นประเพณีสืบต่อมา
เป็นยังไงบ้างกับหลากหลายประเพณีไทย จากหลากหลายภูมิภาคไทยไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และ ภาคใต้ หลากหลายวัฒนธรรมนั้นมีความสวยงามในตัวเองทั้งนั้นทำให้เราเข้าใจได้เลยว่า ประเพณีที่เกิดขึ้นมาได้นั้นเกิดจากความเชื่อการเคารพธรรมชาติและบรรพบุรุษของไทย แต่กลับคิด ทำให้เวลาเกิดงานต่างๆ จึงจะมีแต่ความตั้งใจสร้างสิ่งสวยงาม สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ร่วมงาน สำหรับใครสนใจอยากชมความงามของคนไทย ก็ลองไปเที่ยวได้เลยนะ
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
- https://www.finearts.go.th/promotion/view/30466-ยี่เป็ง
- https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/653
- https://www.sanook.com/campus/1403643/
📕 อ้างอิงรูปภาพ
- https://www.thairath.co.th/news/local/south/1665326
- https://www.museumthailand.com/th/3954/storytelling/พิธีแห่นางดาน/
- https://cultural.wu.ac.th/archives/12928