การทดลองเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียบรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กๆ ให้เด็กๆได้ทดลอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆรอบตัวเพื่อสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่ไม่ได้มีเพียงในตำราเท่านั้น เพราะปัจจุบันการเรียนรู้มีความแพร่หลายและกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามาเป้นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการดำเนินชีวิต ดังนั้นนอกจากความรู้ในหนังสือเรียนแล้ว เด็กๆควรได้รับการเรียนรู้สิ่งใหม่โดยเฉพาะฝึกให้เค้าได้ทดลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยตัวเอง
บางครั้งการเรียนรู้ในห้องเรียนอาจสร้างความเบื่อหน่ายให้กับเด็กทำให้เกิดความสนใจในการเรียนน้อยลง หากคุณครูสามารถเพิ่มความสนุกให้การเรียน หรือให้การเรียนเป็นเรื่องสนุกและยังได้ความรู้ไปพร้อมกัน อาจช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเรียนของเด็กๆได้เพิ่มขึ้น การทดลองวิทยาศาสตร์เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่มีความน่าสนใจบไม่น้อย เพราะเป็นการเรียนรู้เชิงบูรณาการจากบทเรียน ให้เด็กๆได้นำความรู้จากหนังสือเรียนมาฝึกใช้ ฝึกแก้ปัญหาในการทดลอง นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นความสนใจเด็กๆได้เป็นอย่างดี หากคุณครูท่านไหนหรือผู้ปกครองที่กำลังหาการทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กที่สนุกและได้ความรู้ วันนี้เรารวบรวมการทดลองวิทยาศาสตร์สนุกๆมาฝากแล้วไปดูกันเลย
แจกการทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กสนุกสุดมันส์
การเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน ความสนใจ กระบวนการคิด วิเคราะห์ย่อมต่างกัน ดังนั้นการเลือกสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย ช่วยให้ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาดูการทดลองวิทยาศาสตร์สนุกๆ ได้ความรู้ที่เหมาะสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยกันค่ะมีกิจกรรมไหนน่าสนใจบ้าง
การทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอนุบาล
1. กิจกรรมวาดภาพด้วยเกลือ
อุปกรณ์
- กระดาษการ์ด A4 150 แกรม
- เกลือ
- กาวลาเท็กซ์ แบบฝาเกลียวหมุน
- สีน้ำ
- ปิเปตต์หรือพู่กัน
- ถาดหรือจาน สำหรับรองเวลาโรยเกลือ
- ถ้วยหรือแก้ว สำหรับผสมสี
วิธีการทดลอง
- ร่างภาพที่ต้องการวาด หรือสามารถดาวน์โหลด Pattern ภาพต่างๆตามชอบสำหรับทำกิจกรรม จากนั้นปริ้นลงบนกระดาษการ์ด ไม่แนะนำให้ปริ้นลงบนกระดาษ A4 ธรรมดาเนื่องจากเนื้อกระดาษค่อนข้างบาง อาจทำให้ขาดได้ง่าย
- จากนั้นให้เด็ก ๆ บีบกาวลาเท็กซ์ ตามเส้นของ Pattern ให้เรียบร้อย หากเด็กๆอายุต่ำกว่า 3 ขวบผู้ปกครองหรือคุณครูสามารถช่วยประคองมือเวลาเด็ก ๆ บีบและลากกาวตามเส้นของ Pattern ได้
- เมื่อบีบกาวตามเส้นของ Pattern เรียบร้อยแล้ว จากนั้นโรยเกลือลงบนกาวให้ทั่วกระดาษ แล้วค่อย ๆ พลิกกระดาษ เพื่อเทเกลือส่วนที่เกินออกมา (ไม่ควรเคาะหรือสะบัดกระดาษนะคะ เนื่องจากอาจทำให้เกลือที่ติดกับกาวหลุด)
- เตรียมผสมสีน้ำกับน้ำเปล่าในถ้วยที่เตรียมไว้ ซึ่งความเข้ม-อ่อนของสี ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำเปล่าที่เติมลงไป เมื่อผสมสีเสร็จแล้ว ใช้ปิเปตต์ดูดสีหรือพู่กันจุ่มสี จากนั้นแล้วหยดลงบนเกลือเบา ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกลือหลุดออกมา
- เมื่อลงสีเสร็จแล้ว ให้วางทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 1-2 วัน (ระหว่างนี้ ห้ามจับ สัมผัส และขยับชิ้นงาน เพราะอาจทำให้เกลือและกาวหลุดออกมาได้) เพียงเท่านี้ก็จะได้ภาพวาดจากเกลือและกาวสวย ๆ แล้ว
คำอธิบายการทดลอง : เด็กๆจะได้เรียนรู้คุณสมบัติการดูความชื้นของเกลือบนภาพวาด นอกจากนี้ยังป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กๆได้จินนาการ ฝึกการผสมสี และสังเกตุภาพที่ได้เมื่อเสร็จกิจกรรม
Link YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=q2duIkvIues
2. กิจกรรมผักดูดสี
อุปกรณ์
- แก้วน้ำ 4ใบ
- สีผสมอาหาร 4 สี
- ผักกาดขาว 4 ใบ
วิธีการทดลอง
- นำสีผสมอาหารแต่ละสีละลายลงไปในแก้วน้ำแต่ละใบ
- นำผักกาดขาวทั้ง 4 ใบปักไว้ในแก้วที่มีสีผสมอาหารแต่ละสี ทิ้งไว้ข้ามคืน
- สังเกตการเปลี่ยนแปลงของใบผักกาดขาวที่เกิดขึ้น
คำอธิบายการทดลอง : เมื่อสังเกตสีของใบผักกาดขาวที่ผ่านการแช่ในแก้วน้ำที่มีสีผสมอาหารที่แช่ทิ้งไว้ข้ามคืน จะเห็นได้ว่าใบของผักกาดขาวจะเปลี่ยนตามสีผสมอาหาร เนื่องจากใบของผักกาดขาวสามารถดูดซับสีผสมอาหารกระจายไปทั่วใบจึงทำให้เห็นใบผักกาดขาวเปลี่ยนสี
Link YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=2sgPM2cO3j8
การทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กประถม
1. ไข่ลอยน้ำ
อุปกรณ์
- ไข่ 2 ฟอง
- แก้วน้ำ 2 ใบ
- น้ำเปล่า
- เกลือ
วิธีการทดลอง
- แก้วใบที่ 1 เทน้ำเปล่าใส่ลงไปในแก้ว ให้มีระดับน้ำมีปริมาตร 2 ใน 3 ส่วนของแก้วน้ำ
- จากนั้นวางไข่ลงในแก้วใส่น้ำใบที่ 1 จะพบว่าไข่ร่วงลงไปอยู่ด้านล่างก้นแก้ว (ถ้าไข่ไม่เสีย)
- แก้วใบที่ 2 เทน้ำร้อนลงไปในแก้ว ให้มีระดับน้ำมีปริมาตร 2 ใน 3 ส่วนของแก้วน้ำเท่ากับแก้วใบที่ 1
- จากนั้นใส่เกลือ 4-5 ช้อนโต๊ะละลายให้เข้ากัน รอจนน้ำเย็นลงและเกลือละลายหมด
- ใส่ไข่ใบที่ 2 ลงไปในแก้วน้ำใบที่ 2 จะพบว่าไข่ลอยขึ้นมา
คำอธิบายการทดลอง : การที่ไข่ลอยและจมในแก้วน้ำทั้ง 2 ใบ เกิดจากความหนาแน่นโมเลกุลของไขและน้ำในแก้วน้ำทั้ง 2 ใบไม่เท่ากัน โดยทั่วไปไข่จะมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำเปล่า จึงทำให้ไข่จมลงในแก้วใบที่ 1 แต่เมื่อในน้ำมีเกลือเป็นส่วนผสม เมื่อนำไข่ใส่ในแก้วใบที่ 2 เกลือที่ละลายในน้ำทำให้ความหนาแน่นของไข่ลดลง ทำให้ไข่ในแก้วใบที่ 2 ลอยอยู่ด้านบนนั่นเอง
Link YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=yXBgzAVnqOI
2. ควันในฟองสบู่
อุปกรณ์
- น้ำยาล้างจาน
- เชือกผูกรองเท้า 1 เส้น
- แก้วพลาสติก หรือ ชาม
- น้ำเปล่า
- น้ำแข็งแห้ง
วิธีการทดลอง
- นำชามที่เตรียมไว้ใส่น้ำเปล่าประมาณครึ่งชาม
- จากนั้นนำเชือกผูกรองเท้ามาราดด้วยน้ำยาล้างจานให้ทั่ว
- นำน้ำแข็งแห้งใส่ลงไปในชามที่เตียมไว้ จะสังเกตว่าเกิดไอขึ้นมา เมื่อไอจากน้ำแข็งแห้งล้นชามแล้ว
- นำเชือกผูกรองเท้าที่ผสมน้ำยาล้างจาน ปาดตรงบริเวณปากชามจากซ้ายไปขวา สังเกตผลการทดลองจะพบว่า จะเกิดฟองสบู่ที่มีควันอยู่ภายใน และใหญ่ขึ้น
คำอธิบายการทดลอง : ควันที่เกิดขึ้นเป็นเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากน้ำแข็งแห้ง ความเข้มข้นของน้ำสบู่ทำให้ได้ลูกโป่งมีขนาดใหญ่และเวลาการเกิดฟองนานขึ้น
Link YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=ZvybFbL2H8E&t=39s
3. ขวดเป่าลูกโป่งมหัศจรรย์
อุปกรณ์
- ลูกโป่ง
- ผงฟู
- นํ้าส้มสายชู
- ขวดนํ้า
วิธีการทดลอง
- เริ่มต้นด้วยการนำผงฟูใส่ลงไปในลูกโป่ง และนำนํ้าส้มสายชูใส่ลงไปในขวดนํ้า
- จากนั้นครอบลูกโปร่งที่มีผงฟูอยู่ลงบนปากขวด (ใช้มือจับระหว่างลูกโป่งกับปากขวดไว้ก่อน)
- สังเกตการพองหรือการขยายตัวของลูกโป่ง
คำอธิบายการทดลอง : จากการทดลองจะเห็นได้ว่าเมื่อนำลูกโป่งที่บรรจุด้วยผงฟูครอบลงบนขวดน้ำที่มีน้ำส้มสายชูลูกโป่งค่อยๆ ใหญ่ขึ้น คล้ายเวลาที่เราเป่าลมใส่ลูกโป่ง เนื่องจากเบกกิ้งโซดา ทำปฏิกิริยากับนํ้าส้มสายชูทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซมีความหนาแน่น้อยกว่าอากาศทำให้ก๊าซลอยตัวสูงขึ้น เมื่อมีก๊าซมากๆ จึงทำให้ลูกโป่งพองตัวออกเช่นเดียวกับตอนที่เราเป่าลูกโป่งนั่นเอง
Link YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=F8yrSi6btJs
4. แทงทะลุถุงน้ำ
อุปกรณ์
- ถุงพลาสติก
- ดินสอไม้แหลมๆ
- น้ำ
วิธีการทดลอง
- นำถุงพลาสติกที่เตรียมไว้ใส่น้ำเปล่าให้เต็มถุง และมัดปากถุง
- ใช้ดินสอไม้ปลายแหลมแทงทะลุถุงผ่านไปอีกด้าน
- สังเกตการรั่วของถุงน้ำ
คำอธิบายการทดลอง : เมื่อใช้ดินสอปลายแหลมแทงถุงน้ำจะเห็นว่าไม่มีการรั่วซึมของถุง เนื่องจากเป็นผลของแรงตึงผิว ที่ช่วยประสานรอยรั่วหรือกระชับรอบดินสอไว้ไม่ให้น้ำไหลออกมา
Link YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=x2Q8areCb-w
การทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กมัธยม
1. กิจกรรมทดลองสร้างภูเขาไฟระเบิด
อุปกรณ์
- ดินน้ำมันหรือแป้งโด
- เบคกิ้งโซดา
- น้ำส้มสายชู
- สีน้ำหรือสีผสมอาหาร
- ขวดน้ำพลาสติก
- ปิเปตต์หรือไซริงค์ฉีดยา
- ถาดหรือจานรอง (สำหรับทำเป็นฐานของภูเขาไฟ)
- ภาชนะสำหรับผสมสีกับน้ำส้มสายชู
วิธีการทดลอง
- ทำภูเขาไฟโดยใช้ขวดน้ำพลาสติกหรือนำกระดาษแข็งมาทำเป็นรูปทรงกรวย ตัดปากกระดาษส่วนบนออก จากนั้นใช้ดินน้ำมันมาปั้นเป็นรูปภูเขาไฟ และเว้นรูตรงกลางให้เหมือนปล่องภูเขาไฟ
- นำภูเขาไฟที่เราปั้นเสร็จวางลงบนถาดรองหรือพาชนะเพื่อป้องกันการเลอะขณะที่ภูเขาไฟระเบิด
- หลังจากทำภูเขาไฟจำลองเสร็จแล้ว ให้เด็ก ๆ ใช้ปิเปตต์หรือไซริงค์ฉีดยาดูดสีผสมอาหารมาผสมกับน้ำส้มสายชู โดยกะปริมาณน้ำส้มสายชูให้ให้เกินครึ่งขวดน้ำที่ใช้ทำภูเขาไฟ (หากใส่น้ำส้มสายชูน้อยเกินไปเวลาที่ลาวาพุ่งออกมาจะไม่ค่อยสูงและทำให้ปริมาณของลาวาที่ไหลออกมาค่อนข้างน้อย)
- นำน้ำส้มสายชูที่ผสมกับสีผสมอาหารเสร็จแล้ว เทลงไปในภูเขาไฟจำลองที่เตรียมไว้
- จากนั้นเทเบคกิ้งโซดาลงไปในภูเขาไฟค่ ซึ่งเบคกิ้งโซดาจะทำปฏิกิริยากับน้ำส้มสายชูที่เราเทไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดควันและมีลาวาไหลออกมาจากภูเขาไฟของเรา
หมายเหตุ: ในการทดลองภูเขาไฟลาวา คุณครูหรือผู้ปกครองสามารถให้เด็กเทเบคกิ้งโซดาได้เรื่อย ๆ จนกว่าน้ำสายชูภายในภูเขาไฟจะหมดหรือส่วนผสมทั้ง 2 อย่างจะหมดปฏิกิริยา
คำอธิบายการทดลอง: ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างเบคกิ้งโซดา(ด่าง/เบส)และน้ำส้มสายชู(กรด) ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดันตัวออกนี้เองที่ทำให้เกิดภูเขาไฟลาวาพุ่งออกจากปล่องภูเขาไฟของเรานั่นเอง
Link YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=rRviC0iorCc
2. โหลแก้วสีรุ้ง
อุปกรณ์
- น้ำผลไม้
- น้ำมันพืช
- แอลกอฮอลล์ (ให้ผสมสีแดงลงไปสักเล็กน้อย)
- โหลแก้วใส
วิธีการทดลอง
- เทน้ำผลไม้ใส่โหลแก้วที่เตรียมไว้ จากนั้นค่อย ๆ เติมน้ำมันพืชลงไป ปล่อยให้ไหลไปตามแถบภาชนะ
- จากนั้นเทแอลกอฮอล์ที่ผสมสีแดงแล้ว เทลงบนน้ำมันพืช (อย่างเบามือ)
- สังเกตการแยกชั้นของน้ำทั้ง 3 ชนิดและบันทึกผลการทดลอง
คำอธิบายการทดลอง: จากการทดลองจะเห็นได้ว่าของเหลวที่เราใส่ลงไปนั้นเกิดการแยกตัวออกเป็น 3 ชั้นอย่างชัดเจน เนื่องจากสารเหล่านี้มีความหนาเเน่นที่แตกต่างกัน โดยสารที่มีความหนาแน่นต่ำกว่าจะลอยอยู่เหนือสารที่มีความหนาแน่นสูงกว่า ไม่สามารถผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ ดังเช่นน้ำมันที่มีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำจึงลอยอยู่เหนือน้ำโหลแก้วสีรุ้ง สามารถสรุปได้ว่าความหนาแน่นของสารทั้ง 3 ชนิดเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ (ล่างไปบน) น้ำผลไม้ > น้ำมันพืช > แอลกอฮอล์
Link YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=2L8t5T5l9t8
3. สีเต้นระบำ
อุปกรณ์
- นม (เลือกใช้นมที่มีโปรตีนสูงยกเว้นนมถั่วเหลือง) เช่น รสจืด
- สีผสมอาหาร 4 สี
- จานก้นลึก
- หลอดดูดสี
- น้ำยาล้างจาน
- นมสด
วิธีการทดลอง
- เทนมสด เทลงไปในจานก้นลึกหรือภาชนะที่เตรียมไว้
- เทสีผสมอาหารที่เตรียมไว้ลงไปในนมทีละสี
- จากนั้นใช้หลอดดูดสีดูดน้ำยาล้างจาน และค่อยๆ หยด 1-2 หยด ลงไปในจาน
- สังเกตการกระจายและการแตกตัวของสีในภาชนะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสีแตกตัวออกคล้ายสีกำลังเต้นระบำ
คำอธิบายการทดลอง: การกระจายตัวของสีที่เกิดขึ้นคล้ายกับการเต้นระบำ เกิดเนื่องจากในนมประกอบไปด้วย โปรตีน แร่ธาตุ ไขมัน น้ำยาล้างจานมีคุณสมบัติทำให้โมเลกุลของโปรตีนและไขมัน เกิดการเปลี่ยนแปลงและแตกกระจายนั่นเอง ซึ่งคุณสมบัติของน้ำยาล้างจานดังกล่าวทำให้เราล้างจานสะอาดมากขึ้น
Link YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=t5rU9wsyspM
เป็นอย่างไรกันบ้างกับกิจกรรมการาทดลองวิทยาศาสตร์สุดหรรษาที่เรารวบรวมมมาฝาก เป็นการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เหมาะกับช่วงวัยของเด็กในแต่ละระดับ ให้เด็กๆได้ฝึกกระบวนการคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การวิเคราะห์ต่างๆโดยใช้หลักการและเหตุผลเข้ามาอธิบาย ผู้ปกครองหรือคุณครูท่านไหนกำลังหาการทดลองวิทยาศาสตร์สนุกให้เด็กๆไก้ฝึกกระบวนการเรียนรู้ลองนำการทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับในแต่ละช่วงที่เรานำมาฝากวันนี้ไปเล่นกับเด็กๆได้เลย นอกจากความสนุกสนานจากการทดลองแล้วยังได้ความรู้ควบคู่ไปด้วย
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
- https://owlcampus.com/what-is-science-in-stem-education/
- https://www.trueplookpanya.com/education/content/84367/-teamet-
- https://owlcampus.com/fun-science-experiments-for-kindergarten/
📕 อ้างอิงรูปภาพ
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม