ประโยคที่นำประโยคความเดียวตั้งแต่ 2ประโยคขึ้นไปมารวมกัน โดยใช้คสันธานเชื่อมเพื่อให้ได้ความชัดเจนในด้านของการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ไม่มีใครที่จะดำรงชีวิตได้ โดยปราศจากการสื่อสาร ทุกสาขาอาชีพก็ต้องใช้การสื่อสารในการปฏิบัติงาน การทำธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะสังคมมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา พัฒนาการทางสังคม จึงดำเนินไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการทางการสื่อสาร วันนี้เราจะพาทุกคนเข้ามาทำความรู้จัก และเข้าใจในรูปแบบของประโยคความรวม หรือประโยคที่ใช้ในการสื่อกัน
องค์ประกอบสำคัญของการใช้ประโยคในการสื่อสาร
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าองค์ประกอบที่สำคัญของการสื่อสาร มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรที่จะสื่อสารอย่างไรให้เกิดความเข้าใจตรงกันมากที่สุด และองค์ประกอบของการสื่อสาร ก็มีอยู่ 4 ประเภทด้วยกันนั่นเอง
- ผู้ส่งสาร หรือ แหล่งสาร หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งสาร หรือเป็นแหล่งกำเนิดสาร ที่เป็นผู้เริ่มต้นส่งสารด้วยการแปลสารนั้นให้อยู่ในรูปของสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นแทนความคิด ได้แก่ ภาษาและอากัปกิริยาต่าง ๆ เพื่อสื่อสารความคิด ความรู้สึก ข่าวสาร ความต้องการและวัตถุประสงค์ของตนไปยังผู้รับสารด้วยวิธีการใด ๆ หรือส่งผ่านช่องทางใดก็ตาม จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น ผู้พูด ผู้เขียน กวี ศิลปิน นักจัดรายการวิทยุ โฆษกรัฐบาล องค์การ สถาบัน สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หน่วยงานของรัฐ บริษัท สถาบันสื่อมวลชน เป็นต้น
- สาร หมายถึง เรื่องราวที่มีความหมาย หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อาจอยู่ในรูปของข้อมูล ความรู้ ความคิด ความต้องการ อารมณ์ ฯลฯ ซึ่งถ่ายทอดจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารให้ได้รับรู้ และแสดงออกมาโดยอาศัยภาษาหรือสัญลักษณ์ใด ๆ ที่สามารถทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้ เช่น ข้อความที่พูด ข้อความที่เขียน บทเพลงที่ร้อง รูปที่วาด เรื่องราวที่อ่าน ท่าทางที่สื่อความหมาย เป็นต้น
- สื่อ หรือช่องทาง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการสื่อสาร หมายถึง สิ่งที่เป็นพาหนะของสาร ทำหน้าที่นำสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร ผู้ส่งสารต้องอาศัยสื่อหรือช่องทางทำหน้าที่นำสารไปสู่ผู้รับสาร
- ผู้รับสาร หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือมวลชนที่รับเรื่องราวข่าวสาร จากผู้ส่งสาร และแสดงปฏิกิริยาตอบกลับ ต่อผู้ส่งสาร หรือส่งสารต่อไปถึงผู้รับสารคนอื่น ๆ ตามจุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร
ประโยคที่ใช้ในการสื่อสาร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
สำหรับประโยคที่ใช้ในการสื่อนั่น เกิดจากคำหลายๆคำ หรือวลีที่นำมาเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้แต่ละคำมีความสัมพันธ์กัน มีใจความสมบูรณ์ แสดงให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น สมัครไปโรงเรียน ตำรวจจับคนร้าย โดยแบ่งบอกเป็น 2 ส่วน นั่นก็คือ ภาคประธานในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำ ผู้แสดงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประโยค ภาคประธานนี้ อาจมีบทขยายซึ่งเป็นคำหรือกลุ่มคำมาประกอบ เพื่อทำให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น และ ภาคแสดงในประโยค คือ คำหรือกลุ่มคำที่ประกอบไปด้วยบทกริยา บทกรรมและส่วนเติมเต็ม บทกรรมทำหน้าที่เป็นตัวกระทำหรือตัวแสดงของประธาน ส่วนบทกรรมทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำ และส่วนเติมเต็มทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ คือทำหน้าที่คล้ายบทกรรม แต่ไม่ใช้กรรม เพราะมิได้ถูกกระทำนั่นเอง และที่สำคัญ ประโยคในภาษาไทยแบ่งเป็น 3 ชนิด ตามโครงสร้างการสื่อสาร คือ ประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน
ประเภทของประโยคความรวม แบ่งได้ 4 ประเภท
- ประโยคความรวมที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน คือประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคที่นำมารวมกันโดยมีเนื้อความสอดคล้องกัน มีสันธานที่แสดงลำดับการกระทำก่อน หลัง เช่น และ , แล้ว , แล้ว….ก็ , พอ…ก็ ,ครั้น..จึง ฯ หรืออาจจะรวมบทประธาน บทกริยา หรือบทขยาย ที่มีรูปเหมือนกันเข้าด้วยกัน โดยใช้คำเชื่อมเพียงรูปเดียวก็ได้
ตัวอย่างรูปแบบประโยคความรวม ที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน
- พอแอลรู้เรื่องผลสอบเธอก็ดีใจมาก
- ป้อมกินข้าวแล้วก็รีบทำรายงาน
- ทีมฟุตซอลโรงเรียนเราชนะเลิศและได้รับถ้วยมารยาทดี
- กบอยู่ในสระบัว ปลาอยู่ในสระบัว อึ่งอ่างอยู่ในสระบัว
- ประโยคความรวมที่มีเนื้อความขัดแย้งกัน คือ ประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมกัน โดยมีเนื้อความขัดแย้งกัน กริยาในแต่ละประโยคตรงกันข้ามกัน ส่วนใหญ่จะมีสันธาน แต่ , แต่ทว่า , กว่า…ก็ , แม้ว่า เป็นตัวเชื่อม
ตัวอย่างรูปแบบประโยคความรวม ที่มีเนื้อความขัดแย้งกัน
- กว่าเก้งจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว ( ประโยคนี้ละประธานของประโยคหลังไว้ในฐานที่เข้าใจ )
- อากาศร้อนขึ้นแต่ผู้คนก็ยังตัดต้นไม้
- แม้เธอจะไม่สวยเลิศเลอ เธอก็ยังได้เป็นนางงาม
- ประโยคความรวมที่มีเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ประโยคความเดียวตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมกัน โดยมีเนื้อความให้เลือกเพียงอย่างเดียว มีสันธาน หรือ หรือไม่ก็ มิฉะนั้น…ก็ ฯลฯ เป็นตัวเชื่อม
ตัวอย่างรูปแบบประโยคความรวม ที่มีเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
- พรุ่งนี้เธอจะทำรายงานหรือไม่
- เธอต้องเขียนเรียงความนะมิฉะนั้นจะไม่ได้คะแนนเพิ่ม
- พงศธรจะเป็นวิศวกรหรือสถาปนิก
- ประโยคความรวมที่มีเนื้อความเป็นเหตุผล คือ ประโยคที่มีประโยคความเดียวประโยคหนึ่ง มีเนื้อความเป็นประโยคเหตุและมีประโยคความเดียวอีกประโยคหนึ่ง มีเนื้อความเป็นประโยคผล มีสันธาน จึง ฉะนั้น ดังนั้น เพราะฉะนั้น เป็นตัวเชื่อม
ตัวอย่างรูปแบบประโยคความรวม ที่มีเนื้อความเป็นเหตุผล
- เพราะเราเป็นเพื่อนกันเราจึงช่วยเหลือกันเสมอ
- เราเข้าใจกันเราจึงเป็นเพื่อนกันได้
- เขาอ่านหนังสือทุกวันดังนั้นเขาจึงประสบผลสำเร็จ
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม