มนุษย์เราใช้ภาษาเขียน และตัวอักษร จดบันทึกสะสมเรื่องและความคิดต่างๆ ไว้มากมาย คนในปัจจุบันสามารถอ่านและเรียนรู้ถึงความคิดของคนสมัยก่อนได้ สามารถคิดและทำสิ่งต่างๆ ต่อจากที่คนอื่นคิดเริ่มต้นไว้แล้วได้ การที่มนุษย์เรามีความรู้มาก จนต้องมีโรงเรียน และมหาวิทยาลัยไว้ สำหรับเรียนและสอนความรู้ทางวิชาการ ก็เพราะมีภาษาเขียนบันทึกความรู้ไว้ การที่นักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาใช้ได้ เช่น เครื่องบิน เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือทำให้มนุษย์เดินทางไปในอวกาศได้ ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้อ่านได้เรียนรู้ถึงความคิด และผลของการศึกษาหาความรู้ของคนรุ่นก่อนๆ จากที่ภาษาเขียนบันทึกไว้ คนไทย และสังคมไทยในยุคปัจจุบัน แตกต่างไปจากคนไทย และสังคมไทยในยุคสุโขทัยมาก และสิ่งที่สามารถชี้บอกได้ว่า เรายังคงความเป็นคนไทยอยู่ ก็คือ การใช้ภาษาไทย ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรที่ใช้เขียน
ภาษาไทยเปรียบเสมือนกุญแจสำหรับไขวิชาความรู้ในศาสตร์ทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือด้านสังคมศาสตร์ หากเด็กและเยาวชนมีปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทยไม่ถูกต้อง ไม่สามารถสะกดคำอ่านหรือสะกดคำเขียนได้ ไม่เข้าใจความหมายของคำและไม่สามารถจับใจความจากการอ่านได้ ก็จะเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจ ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อเนื่องไปจนถึงระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา และเมื่อจบการศึกษาแล้วไปประกอบอาชีพต่างๆในภาครัฐหรือภาคเอกชนก็จะยังคงมีปัญหาการพูด อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ถูกต้องติดตัวตลอดไป
ที่มาของ พ่อขุนรามคำแหง ผู้สร้างอักษรไทย
ตัวอักษรไทย ซึ่งเราใช้เขียนในปัจจุบัน นับเป็นมรดกสังคม ที่เรารับทอดมาจากสังคมไทย สมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยไว้ให้คนไทยได้มีอักษรไว้ใช้เป็นของตัวเอง และคนไทยก็ได้ใช้สืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า 700 ปีแล้ว อักษรไทยนับเป็นมรดกสังคม ที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าอย่างยิ่ง สำหรับคนไทย
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ 3 ของอาณาจักรสุโขทัย เป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1826หลังจากที่คนไทยรวมตัวกันเป็นบ้านเมือง และมีพระเจ้าแผ่นดินของตนเองแล้ว ในสมัยนั้นชาวเขมร ชาวพม่า และชาวมอญ ที่อยู่ใกล้เคียงกับคนไทย มีการ ปกครองตนเอง และมีอักษรเป็นของตัวเองใช้แล้ว และเพื่อนบ้านเหล่านี้ ล้วนมีจารึกเกี่ยวกับบ้านเมืองของตนเอง เขียนด้วยภาษาของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อคนไทยมีบ้านเมือง และมีการปกครองเป็นของตนเอง ก็จำเป็นที่จะต้องมีภาษาเขียนของตัวเองด้วย เพื่อให้มีฐานะเท่าเทียมกับเพื่อนบ้าน พ่อขุนรามคำแหงจึงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ไว้ให้ชาวไทยใช้เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ
นับจนถึงปัจจุบันภาษาเขียน และตัวอักษรของไทยเรา มีอายุกว่า 700 ปีแล้วอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ถ้าเราเปรียบเทียบลักษณะการเขียนตัวอักษรของภาษาไทย สมัยสุโขทัยกับสมัยปัจจุบัน จะเห็นว่า ต่างกันมาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งวิธีการเขียน และลักษณะตัวอักษร ในสมัยสุโขทัย การเขียน หรือ “การจารึก” ที่เหลืออยู่ให้เราเห็นได้นั้น ทำลงบนแผ่นหิน ลักษณะตัวอักษรจึงเป็นคนละแบบกับปัจจุบัน ต่อมาในสมัยอยุธยามีการเรียนการสอนภาษาไทย และปรากฏว่า มีกระดาษใช้แล้ว มีตำราสอนภาษาไทยชื่อ จินดามณี จึงมี “การเขียน” ด้วยมือลงบนกระดาษที่ทำด้วยมือ จึงทำให้ตัวอักษรต่างไปจากที่จารึกบนแผ่นศิลา เพราะเขียนด้วยดินสอ หรือปากกา ต่อมาก็ใช้ตัวพิมพ์ พิมพ์ด้วยเครื่อง ตัวหนังสือในสมัยปัจจุบันนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวเขียนสมัยอยุธยา แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว
อักษรไทยมีรูปพยัญชนะที่ใช้ในปัจจุบัน 44 ตัว 3 และแบ่งเป็น 3 หมู่
อักษรไทย เป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษาไทยและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น คำเมือง, อีสาน, ภาษาไทยใต้, มลายูปัตตานี เป็นต้น ในประเทศไทย มีพยัญชนะ 44 รูป สระ 21 รูป วรรณยุกต์ 4 รูป และเครื่องหมายอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง พยัญชนะไทยจะเรียงตัวไปตามแนวนอน จากซ้ายไปขวา ส่วนสระจะอยู่หน้า บน ล่าง และหลังพยัญชนะประกอบคำแล้วแต่ชนิดของสระ สำหรับอักษรสามหมู่แบ่งได้ดังนี้
- อักษรสูง มี 11 ตัว คือ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ส ษ ห
- อักษรกลาง มี 9 ตัว คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ
- อักษรต่ำ มี 24 ตัว คือ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ
แบบการเขียนอักษรไทย ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
รูปแบบของตัวอักษร มีมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันนี้นิยมใช้กันอยางแพร่หลาย ตามลักษณะงานต่าง ๆ เพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามเนื้อความ และสามารถดึงดูดให้เข้ามาอ่านได้ โดยวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับ รูปแบบตัวอักษรไทย 4 แบบด้วยกัน คือ
ตัวอักษรแบบอาลักษณ์ คือ ตัวอักษรแบบคัดลายมือ ตัวบรรจง มีความประณีตสวยงาม สัญลักษณ์ความเป็นไทยเหมาะที่จะนำไปใช้กับงานเขียนบัตรอวยพร บัตรเชิญ เกียรติบัตร และประกาศนียบัตร เป็นต้น ตัวอักษรแบบอาลักษณ์ เป็นอักษรทรงสูง มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ “หัวบัว ตัวเหลี่ยม” หัวอักษร เขียนในลักษณะปล่องกลาง ส่วนปลายนั้นเรียวทั้งบนและล่าง คล้ายดอกบัวตูม
ตัวอักษรแบบหัวกลม คือ ตัวอักษรที่มีรูปแบบพื้นฐานอ่านง่าย สื่อความเข้าใจได้รวดเร็ว นิยมนำไปใช้กับงานของทางราชการ งานโฆษณาทั่วไป
ตัวอักษรแบบริบบิ้น คือ ตัวอักษรที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์เป็นผู้ทรง ออกแบบเป็นรูปแบบอักษรหัวตัด 45 องศา สามารถเขียนได้ด้วยปากกาสปีดบอล พู่กันแบน นิยมนำไปใช้ในงานออกแบบทั่วๆ ไป เช่น ป้ายชื่อสถานที่ราชการ บริษัท ห้างร้าน และงานโฆษณา
ตัวอักษรแบบประดิษฐ์ คือ ตัวอักษรที่สร้างสรรค์ได้หลากหลายไม่มีข้อจำกัดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สร้างสรรค์ มีทั้ง2 มิติ และ3มิติ นิยมนำไปใช้ในงานโฆษณาประชาสัมพันธ์เช่น โฆษณาสินค้า โฆษณาบ้านจัดสรร โฆษณาหาเสียงโฆษณารณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ข้อความ หัวเรื่องและภาพประกอบ เป็นต้น
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม