รวมเรื่องน่ารู้ “วันครู” ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
วันครู อีกหนึ่งในวันสำคัญที่อยู่คู่วัฒนธรรมและธรรมเนียมของไทยมาเนิ่นนาน เพราะนอกจากจะเป็นวันหยุดราชการแล้ว วันครูยังมีความสำคัญในการให้ทุกคนร่วมรำลึกถึงพระคุณ และคุณงามความดีของอาชีพที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติ แต่กระนั้นวันครู ก็ยังมีเรื่องราว และประวัติศาสตร์มากมาย ที่ในโพสต์นี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวันสำคัญนี้ให้มากยิ่งขึ้น
ความหมายของคำว่า “ครู”
ครูคือผู้ที่มีหน้าที่ในการคอยสั่งสอน ให้ความรู้แก่ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้คิด การอ่าน และการปฏิบัติในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ลูกศิษย์สามารถนำความรู้ที่ได้รับมานั้นไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือการงานอาชีพได้
โดยคำว่า ครู นั้นมาจากภาษาสันสกฤตคำว่า “คุรุ” ส่วนตามความหมายของครูโบราณนั้น หมายถึง พระสงฆ์ ที่คอยให้ความรู้แก่กุลบุตรทุกระดับอายุ โดยจะให้ความรู้ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาบาลี รวมถึงความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา
ในปัจจุบัน มีการใช้คำว่า “ครู” และ “อาจารย์” ในความหมายเดียวกัน แต่เดิมทีแล้วคำว่า “อาจารย์” นั้น มีความต่างจาก ครู ที่ชัดเจนอยู่ โดยรากศัพท์ของ “อาจารย์” มี 2 ความหมาย โดยความหมายแรกคือ ผู้ฝึกมารยาท หรือผู้ที่สอนให้ลูกศิษย์มีระเบียบวินัย ในอีกแง่หนึ่งก็คือ ครูในฐานะชนชั้นสูง หรือคุณครูชั้นหนึ่ง นั่นเอง ส่วนความหมายของ “อาจารย์” ตามนิยามของทางตะวันตกนั้น หมายถึง ผู้ที่เป็นคนสอนนักเรียน นักศึกษาในระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย โดยจะมีตำแหน่งต่ำกว่าศาสตราจารย์ ซึ่งจะต้องทำหน้าที่มอบความรู้ตามวัตถุประสงค์ของวิชานั้น ๆ แก่ลูกศิษย์
ประวัติของวันครูไทย
สำหรับที่มาของวันครูไทยนั้น เริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม ปี พ.ศ.2500 ซึ่งมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ที่ได้มีการระบุให้มีองค์กรนิติบุคคลที่มีชื่อว่า “คุรุสภา” โดยจะมีหน้าที่เป็นสภาในกระทรวงศึกษาธิการ และมีการมอบหมายให้ครูทุกคนมีฐานะเป็นสมาชิกคุรุสภา
โดยหน้าที่ของคุรุสภานั้นก็จะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในด้านการดูแลสถาบันวิชาชีพครู ซึ่งจะทำหน้าที่รับและให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ในด้านการศึกษา จรรยาบรรณของวิชาชีพ และสวัสดิการต่าง ๆ ของวิชาชีพครูตามเห็นสมควร เพื่อนำไปเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ในแต่ละปี คุรุสภาจะทำหน้าที่จัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อให้ตัวแทนคุณครูจากทั่วประเทศได้มาแถลงผลงานที่ผ่านมาในแต่ละปี พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้คุณครูได้สักถามปัญหาในการทำงานต่าง ๆ ต่อคุรุสภา ณ หอประชุมสามัคคยาจารย์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2499 ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประชุมสามัญคุรุสภา มาเป็นหอประชุมคุรุสภา โดยในปีนั้นได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ในตอนนั้น ได้กล่าวปราศรัยและประกาศให้มี “วันครู” เพื่อให้เป็นวันที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์ ได้มีโอกาสได้รำลึกถึงพระคุณของคุณครู จากนั้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีการประกาศให้ทุกวันที่ 16 มกราคม ในแต่ละปี เป็น “วันครู” และได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการประจำปี
สำหรับการจัดงานวันครูครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ.2500 ก็ได้มีการใช้สถานที่ของสถานกรีฑาแห่งชาติเป็นสถานที่จัดงาน โดยการจัดงานวันครูนั้นก็ได้มีการกำหนดหลักการให้เป็นอนุสรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังในแต่ละปี ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และการสร้างถาวรวัตถุ
วันครูโลก
นอกจากในส่วนของวันครูไทยที่มีการจัดขึ้นทุกวันที่ 16 มกราคมแล้ว ก็ยังมีในส่วนของวันครูโลกอีกด้วย โดยวันครูโลกนั้นจะจัดขึ้นทุกวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งถือกำเนิดขึ้นโดย UNESCO ที่ได้ร่วมกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั่วโลก
วันครูโลกครั้งแรกนั้นเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2537 โดยสาเหตุที่เป็นวันนี้ก็เนื่องมาจากเป็นวันที่ครบรอบการลงนามในเอกสาร UNESCO/ILO Recommendation Concerning the Status of Teachers ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารสากลที่รับรองสิทธิและสภาพให้กับอาชีพครูทั่วโลก โดยการลงนามนั้นมีขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม 1966 (พ.ศ.2509) และมีการลงนามอีกครั้งในปี 1997 (พ.ศ.2540) เพื่อรับรองการให้ความสำคัญกับครูในสถาบันอุดมศึกษาด้วย
ในประเทศไทยนั้นได้เริ่มมีการจัดงานวันครูโลกครั้งแรกในปี พ.ศ.2547 ที่จัดขึ้นโดยสภาคมการศึกษาแห่งประเทศไทยและคุรุสภา ที่ร่วมกับองค์กรการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศ และยังได้พระมหากรุณาธิคุณจากองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานพิธีเปิดงาน
วันครู และวันไหว้ครู
หลายคนอาจสงสัยว่า นอกจากธรรมเนียมในไทยจะมีวันครูแล้ว ทำไมถึงยังต้องมีวันไหว้ครูแยกมาอีกวัน โดยก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจุดประสงค์ของทั้งสองวันนี้มีความแตกต่างกัน สำหรับวันครูนั้น จะเป็นวันที่มีเพื่อส่งเสริมความสามัคคี และการเสนอแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ และสวัสดิภาพต่าง ๆ ของวิชาชีพครู ซึ่งจะมีการพบปะกันระหว่างคุณครูด้วยกัน และทำพิธีเพื่อรำลึกถึงคุณครูในอดีต
แต่สำหรับวันไหว้ครูนั้น จะจัดขึ้นทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมิถุนายนในแต่ละปี ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนเปิดภาคเรียนที่ 1 นั่นเอง โดยแนวคิดของวันไหว้ครูนี้ ก็ริเริ่มจากการจัดประชุมทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ.2499 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวปราศัย ที่ต้องการให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และมีบุญคุณจากการสั่งสอนผู้อื่นให้มีความรู้
โดยวันไหว้ครูนั้นจะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในสถาบันการศึกษา ที่ให้นักเรียนและลูกศิษย์ทุกคนได้มีการน้อมรำลึกถึงพระคุณครู มีการนำดอกไม้ ธูป เทียน มาจัดพานเพื่อกราบไหว้คุณครู
สำหรับดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำวันครู และมักนำมาจัดพานไหว้ครู ได้แก่
- หญ้าแพรก ที่มีความหมายสื่อถึงความเจริญงอกงาม เพราะเป็นหญ้าที่เติบโตได้รวดเร็ว ทนต่อสภาพอากาศและการเหยียบย่ำได้ดี เปรียบเสมือนลูกศิษย์ที่ทนต่อคำว่ากล่าวของคุณครู และสามารถเติบโตได้อย่างสง่างามเหมือนหญ้าแพรก
- ดอกเข็ม สื่อถึงสติปัญญาที่ฉลาดหลักแหลมเหมือนชื่อของเข็ม และวิชาความรู้ ที่มีรสหวาน เหมือนน้ำหวานของดอกเข็ม
- ดอกมะเขือ สื่อถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน เหมือนต้นมะเขือนั้นที่มักจะคว่ำดอกลงเสมอจนกว่าต้นจะออกผล เปรียบเสมือนความสุภาพเรียบร้อย ความเคารพที่ลูกศิษย์มีให้ครูบาอาจารย์
- ข้าวตอก สื่อถึงความรู้ ความมีระเบียบวินัย ที่ลูกศิษย์ได้รับการอบรมสั่งสอนจากคุณครู ดังนั้นลูกศิษย์ก็เปรียบเสมือนเมล็ดข้าวสารที่ผ่านการคั่วโดยคุณครูนั่นเอง
ดังนั้นหากกล่าวโดยสรุป ความต่างระหว่างวันครู และวันไหว้ครู คือ วันครูนั้น เป็นวันที่ผู้ที่ทำวิชาชีพครูจะได้มารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างความสามัคคีในวิชาชีพ และรำลึกถึงบุญคุณครูที่เป็นอนุชนรุ่นก่อน ส่วนงานไหว้ครูนั้นเป็นงานที่จัดขึ้นภายในโรงเรียน หรือสถาบัน เพื่อให้ลูกศิษย์มากราบไหว้และสักการะคุณครู ที่คอยอบรมสั่งสอนให้ความรู้
วันครู ปี 2565
สำหรับวันครูเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมานั้น เป็นการจัดวันครูครั้งที่ 66 ของไทย โดยทาง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้จัดงานวันครูภายใต้แนวคิด “พลังครูยุคใหม่ สร้างคุณภาพคนไทยสู่สากล” ซึ่งเนื่องด้วยภายใต่สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด ทำให้ปีนี้เลยเป็นการจัดงานวันครู ในรูปแบบที่ผสมผสานระหว่าง Onsite และ Online โดยได้ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มารับหน้าที่เป็นประธานในพิธีวันครู และนอกจากนี้ยังได้มอบคำขวัญวันครูในปีนี้ว่า “พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้ สู่อนาคต”
ในส่วนของกิจกรรมที่จัดขึ้นในปีนี้ ยังคงไว้ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งจะทำในรูปแบบ Onsite ที่จัดขึ้นที่หอประชุมคุรุสภา ไม่ว่าจะเป็น พิธีทำบุญตักบาตร พิธีบำเพ็ญบุญกุศลแก่คุณครูผู้ล่วงลับ การบูชา และระลึกพระคุณของบูรพาจารย์ และพิธิมอบรางวัลแก่คุณครูผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาแห่งชาติ ประจำปี 2564-2565 และรางวัลคุรุสภา ระดับดีเด่น ประจำปี 2563-2564
ในส่วนของการเสวนาในรูปแบบ Onsite ก็ยังคงมีการแลกเปลี่ยนความรู้ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งประกอบไปด้วย การเสวนา เรื่อง “การเรียนรู้ทางอารมณ์ และสังคม สำคัญอย่างไรต่อการสร้างความสำเร็จรอบด้านของผู้เรียน”, การปาฐกถา เรื่อง “พลังครูวิถีใหม่ สร้างคุณภาพคนไทยสู่สังคม” โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และ Special Session: Inspiring Caring, Connecting: the Power of Princess Maha Chakri Award Teachers โดยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 จากประเทศ มาเลเซีย, บรูไน และเวียดนาม
ในส่วนของกิจกรรมในรูปแบบ Online นั้น ก็จะมีการจัดการเสวนา ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม และพัฒนาสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในยุคดิจิทัล และมีการจัดนิทรรศกาลออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพครูที่ได้รับรางวัลจาก คุรุสภา และรางวัลอื่น ๆ มากกว่า 100 เรื่องราว ซึ่งตัวงาน Online นั้นจะจัดผ่านเว็บไซต์ www.วันครู.com
ครูไทยในศตวรรษที่ 21
เนื่องด้วยในยุคปัจจุบัน ท่ีเป็นศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่แทบจะแปรเปลี่ยนในแทบทุกปี ซึ่งก็ได้มีอิทธิพลต่อระบบการศึกษาอยู่พอสมควร ทำให้คุณครูในยุคนี้ต้องปรับตัวมากมายเพื่อนำมาใช้ในการสอน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเนื้อหาและวิธีการสอนให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงทัศนคติท่ีพร้อมจะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ได้มีการจำแนกสำหรับคุณสมบัติที่คุณครูควรมีในศตวรรษที่ 21 มีดังนี้
- Content คือการที่ครูผู้สอนควรจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในวิชาที่ตนสอนเป็นอย่างดี เพราะหากตัวผู้สอนไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างถ่องแท้ ก็อาจไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนได้
- Computer (ICT) Integration คือครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ และทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และด้านเทคโนโลยี เพราะในยุคนี้เป็นยุคสมัยของเทคโนโลยี ที่หากผู้สอนสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการสอนก็จะสามารถทำให้เนื้อหาที่สอนนั้นน่าสนใจ และเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้สอนมากยิ่งขึ้น
- Constructionist ครูผู้สอนต้องมีแนวความคิด และความเข้าใจในตัวลูกศิษย์ว่าพวกเขาและเธอเหล่านั้นสามารถสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ ขึ้นเอง ด้วยการเชื่อมโยงความรู้ดั้งเดิม มาประสานเข้ากับการลงมือปฏิบัติ
- Connectivity ครูผู้สอนต้องสามารถจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างลูกศิษย์ด้วยกัน รวมถึงระหว่างลูกศิษย์กับครู ทั้งในสถาบันเดียวกัน หรือต่างสถาบัน เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เป็นการเรียนรู้ ให้แก่ผู้เรียน
- Collaboration ครูผู้สอนควรมีบทบาทในการจัดกิจกรรมสร้างเสริมการรเรียนรู้แบบเป็นทีมระหว่างลูกศิษย์ด้วยกันเอง หรือระหว่างลูกศิษย์กับครู เพื่อเพิ่มทักษะเรียนรู้การทำงานเป็นทีม การทำงานด้วยตนเอง และทักษะอื่น ๆ
- Communication คุณครูควรจะมีทักษะในการสื่อสารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการบรรยาย การเลือกใช้วิธีการสื่อ การยกตัวอย่างที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
- Creativity คุณครูผู้สอนควรมีความคิดสร้างสรรค์ ในการสรรหาวิธีการนำเสนอรูปแบบการสอนให้มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือการสร้างบรรยากาศการสอนให้เอื้อต่อการอยากเรียนของผู้เรียน
- Caring ครูควรใส่ใจต่อลูกศิษย์ทุกคน ควรมีการแสดงออกถึงความรัก ความจริงใจ และห่วงใย ที่ต้องการให้ผู้เรียนนั้นได้รับความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากการสอนของเรามากที่สุด
สรุปแล้ววันครู ในประเทศไทยนั้นหลัก ๆ จะมีทั้งหมด 3 วันด้วยกันคือ วันครูแห่งชาติ ทุกวันที่ 16 มกราคม ซึ่งจะเป็นวันที่ให้ความสำคัญแก่ครู ในฐานะวิชาชีพที่ให้ความรู้ และรำลึกถึงพระคุณของอาชีพนี้ วันไหว้ครู เป็นวันที่จัดขึ้นทุกวันพฤหัสที่ 2 ของเดือนมิถุนายน ที่ให้นักเรียน นักศึกษาได้นำดอกไม้ ธูป เทียน มากราบไหว้ครูบาอาจารย์ และวันครูโลก วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี ที่จัดขึ้นโดย UNESCO ที่เป็นการจัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ การแนะแนวการสอน จากคุณครูทั่วโลก และยกระดับวิชาชีพ สวัสดิภาพของอาชีพนี้ให้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ครู เป็นวิชาชีพที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญมาก ๆ อาชีพหนึ่ง เพราะเป็นวิชาชีพที่ให้ความรู้แก่ผู้คน ให้สามารถไปประกอบใช้ในวิชาชีพและชีวิตประจำวัน รวมถึงการปลูกฝังการมีระเบียบวินัย ในชีวิต ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ใครหลาย ๆ คน จะมองว่าอาชีพครูคือเรือจ้าง หรือแสงที่คอยนำทางที่ทำให้ทุกคนมีอาชีพการงาน มีความรู้ที่สามารถนำมาหาเลี้ยงชีพในทุกวันนี้
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม