เทคนิคการเขียนโครงการ ที่มีคุณภาพ สามารถช่วยในการดำเนินงานที่ง่าย สะดวกสบาย และตรงตามวัตถุประสงค์
โครงการ คือหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ทุกองค์กรต้องมี เพื่อให้คนในองค์กรสามารถปฏิบัติหน้าที่ และดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงการวางแผนงบประมาณต่าง ๆ ที่เหมาะสม ดังนั้นการเขียนโครงการ จึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่องค์กร หรือหน่วยงานควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ในโพสต์นี้เราก็จะมาแนะนำวิธีการเขียนโครงการที่ดี ที่สามารถช่วยให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความหมายของโครงการ
ตามพจนานุกรม โครงการหมายถึง งานที่มุ่งหมายจะทำโดยมีวัตถุประสงค์ มีระยะเวลา งบประมาณในการดำเนินการ และกิจกรรมที่เป็นลำดับที่ชัดเจน โดยโครงการจะต้องมีผู้รับผิดชอบ และบริหารงานต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้
โดยคำว่า โครงการ ก็ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Project” ที่หมายถึง แผนงานปฏิบัติการย่อย ที่แบ่งออกเป็นหลายกิจกรรม หรือหลายงาน ที่มีการระบุชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย และระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ไปจนถึงผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ
ซึ่งการเขียนโครงการก็สามารถแบ่งเป็นหลายระดับ ตั้งแต่โครงการระดับใหญ่ ที่ใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมหาศาล มีการจัดการระดับ อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ โครงการระดับเล็ก ที่เป็นโครงการเฉพาะหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ทีไม่ได้ใช้เงินทุนสูงมากนัก
แต่กระนั้นความยากง่ายของการเขียนโครงการก็ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของผู้เขียนโครงการ ว่ามีความรู้ ความเข้าใจ ถึงวัตถุประสงค์ แผนงาน ปัญหา และนโยบายขององค์กร เพื่อที่จะสามารถนำมาเขียนโครงการได้อย่างถูกต้องชัดเจน ทั้งนี้การเขียนโครงการที่ดีนั้น ผู้เขียนจะต้องฝึกเขียนโครงการอยู่เป็นประจำ เมื่อสามารถเข้าใจข้อมูลได้ถ่องแท้ และถูกต้องชัดเจนแล้ว ก็จะทำให้สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาเขียนโครงการได้ง่าย และถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการมากขึ้น
ประเภทการเขียนโครงการ
สำหรับประเภทการเขียนโครงการนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นหลัก ๆ 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ การเขียนโครงการแบบดั้งเดิม หรือแบบประเพณีนิยม และการเขียนโครงการแบบเชิงเหตุผล หรือแบบเชิงตรรกะวิทยา โดยมีรูปแบบการนำเสนอที่ต่างกัน ดังนี้
1.การเขียนโครงการแบบดั้งเดิม (Conventional Method)
เป็นรูปแบบการเขียนโครงการที่ใช้กันมาเนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน โดยจะเป็นการนำเสนอที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ บางครั้งตัวโครงการจะมีความยาวจนเกินจำเป็น โดยผู้เขียนโครงการจะต้องมีการระบุถึงหลักการ และเหตุผลในการทำโครงการมากมาย และมีการอ้างวัตถุประสงค์ที่ดีเกินความเป็นจริง ทำให้ท้ายที่สุดแล้วอาจไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จลุล่วงอย่างที่หวังได้ทั้งหมด
แต่ถึงแม้ว่าการเขียนโครงการแบบดั้งเดิม จะเต็มไปด้วยข้อเสียมากมายดังที่กล่าวไป แต่รูปแบบการเขียนโครงการแบบนี้ก็ยังคงเป็นที่นิยม เนื่องด้วยความคุ้นเคยกับรูปแบบการเขียน และอ่านโครงการ ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักจะเหมาะกับโครงการขนาดเล็ก ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือส่งผลต่อด้านอื่น ๆ ขององค์กรมากนัก
2.การเขียนโครงการแบบเชิงเหตุผล (Logical Framework Method)
เป็นการเขียนโครงการที่นำเสนออย่างเป็นระบบ ยึดหลักตรรกะ โดยจะให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ในเชิงเหตุผลด้านต่าง ๆ ในการดำเนินงาน ต่างจากการเขียนโครงการแบบดั้งเดิม ท่ีเน้นไปที่ปริมาณของตัวงานเป็นหลัก และการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ขาดความชัดเจน
โดยจุดเด่นของการเขียนโครงการแบบเชิงเหตุผล ได้แก่
- มีการวางแผนงานที่เป็นระบบ โดยจะให้ความสำคัญในด้านความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล มีการกำหนดวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการที่ชัดเจน มีการกำหนดปัจจัยนำเข้า และกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ของตัวงานอย่างเป็นลำดับชั้นที่ชัดเจน
- มีการวางแผนการทำงานที่ละเอียด มีการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นหัวใจหลักของกิจกรรม มีการจัดสรรทรัพยากร ให้สามารถสร้างประโยชน์ต่อกิจกรรมในโครงการให้ได้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการใช้งบประมาณที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น
- มีการวางแผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยแต่ละกิจกรรมในองค์กรจะมีการดำเนินการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดโอกาสการซ้ำซ้อนของงาน
องค์ประกอบของโครงการ
ในส่วนขององค์ประกอบการเขียนโครงการนั้น เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่สะท้อนอุดมการณ์ วัตถุประสงค์ของโครงการแล้ว องค์ประกอบของโครงการก็อาจเป็นสิ่งที่ทำให้โครงการของเราผ่าน หรือไม่ผ่านการพิจารณาได้เลย โดยองค์ประกอบที่สำคัญต่อการเขียนโครงการก็มีดังนี้
1.ชื่อโครงการ
สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงก่อนที่จะเริ่มการเขียนโครงการ คือชื่อของโครงการ โดยควรมีการตั้งชื่อที่มีความชัดเจน เหมาะสม อ่านสามารถเข้าใจได้ง่ายถึงแนวทางปฏิบัติต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่นำโครงการไปใช้ โดยเทคนิคการตั้งชื่อโครงการสามารแบ่งได้เป็น 3 แนวทางคือ
- การตั้งชื่อโครงการบนพื้นฐานปัญหา โดยสามารถแบ่งได้เป็นการตั้งชื่อแบบบอกปัญหา หรือชี้แนะทางแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นโครงการที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น
- การตั้งชื่อโครงการบนฐานนโยบาย เป็นการเขียนเพื่อนำเสนอนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลดีหลังจากที่ได้ทำโครงการไปแล้ว โดยการตั้งชื่อจะต้องสามารถสอดคล้องกับกลยุทธ์หรือแนวทางของนโยบายนั้น ๆ
2.หลักการและเหตุผล
อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญในการเขียนโครงการ เพราะจะเป็นส่วนที่นำเสนอจุดประสงค์ต่าง ๆ ของโครงการว่ามีเพื่ออะไร อาจเป็นการชี้แจงถึงปัญหา หรือนำเสนอประโยชน์ของโครงการ เพื่อให้ผู้พิจารณาอนุมัติโครงการที่นำเสนอ โดยวิธีการนำเสนอหลักการ และเหตุผลที่ดีคือการแจกแจงประเด็นต่าง ๆ ให้ชัดเจน โดยส่วนใหญ่มักจะเขียนด้วยการแบ่งเป็น 3 ย่อหน้า ได้แก่
ย่อหน้าที่ 1: นำเสนอวิธีคิด หรือกระบวนทัศน์ของโครงการ
ย่อหน้าที่ 2: นำเสนอวิธีการดำเนินงานของโครงการโดยสังเขป
ย่อหน้าที่ 3: ผลลัพธ์ หรือประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้
3.วัตถุประสงค์ของโครงการ
ความสำคัญของวัตถุประสงค์คือการเป็นตัวชี้นำแนวทางการปฏิบัติงานของโครงการ โดยจะต้องแสดงถึงจุดหมายปลายทางของโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ดีของโครงการนั้น ต้องคำนึงถึง ลักษณะ 5 ประการ หรือที่มีตัวย่อว่า “SMART” ที่สามารถอธิบายความหมายได้ดังนี้
S=Sensible หรือ ความเป็นไปได้ของโครงการ
M=Measurable หรือ ความสามารถในการวัดผลการปฏิบัติงานของโครงการได้
A=Attainable คือ การระบุสิ่งที่ต้องการในการดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถลงมือปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จได้
R=Reasonable คือ ความสมเหตุสมผลของโครงการ ที่สามารถปฏิบัติการได้จริง
T=Time คือ ขอบเขตของระยะเวลาในการปฏิบัติโครงการ
4.ตัวชี้วัดความสำเร็จ และเป้าหมาย
หลักในการเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จ คือต้องสามารถสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ ว่าสามารถบรรลุเป้าหมายได้จริง โดยสามารถวัดได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถแบ่งตัวชี้วัดความสำเร็จได้หลัก ๆ เป็น 2 ประเภท คือ
- ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือตัวชี้วัดที่สามารถนับเป็นตัวเลขที่ชัดเจน เช่น จำนวนเปอร์เซ็นต์ของความพึงพอใจ จากผู้ใช้โครงการ
- ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ คือตัวชี้วัดถึงคุณภาพ และผลที่ได้รับจากโครงการ ที่ไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้ชัดเจน อาจเป็นความสุข หรือมาตรฐานของหน่วยงานที่ดีขึ้นหลังจากการดำเนินโครงการ เป็นต้น
5.กลุ่มเป้าหมาย / ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ / สถานที่ในการปฏิบัติ
- กลุ่มเป้าหมาย เป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายที่จะต้องได้รับผลประโยชน์ ของการดำเนินโครงการ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นแบบใด มีอายุเท่าไร และมีจำนวนเท่าไร เพื่อให้สามารถช่วยกำหนดงบประมาณ และแผนการปฏิบัติได้
- ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ เป็นการกำหนดวันที่เริ่มต้น และวันที่สิ้นสุดของโครงการ
- สถานที่ในการดำเนินการ คือการระบุสถานที่ที่จะใช้ในการปฏิบัติโครงการ
6.วิธีการดำเนินงาน
เป็นขั้นตอนของการดำเนินโครงการ โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเขียนด้วยการแยกย่อยเป็นหลายกิจกรรม เพื่อให้สามารถระบุได้ชัดเจนถึงลำดับในการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเป็นระบบขั้นตอน
โดยหากเป็นการดำเนินงานตามกิจกรรมที่วางไว้ ควรทำอย่างรอบคอบด้วยการเลือกทางมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลดีที่สุด สามารถประหยัดงบประมาณ และบ่งบอกถึงความสำเร็จของโครงการที่ชัดเจน
ส่วนการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของปัญหา หรือการแก้ปัญหา สามารถแบ่งวิธีการดำเนินโครงการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะต้นน้ำ เป็นการสำรวจต้นตอ และสาเหตุของปัญหา ศึกษาปัญหา และกำหนดวิธีการแก้ไข โดยมีการวางแผนการดำเนินงานที่เป็นขั้นตอน และกำหนดเครื่องมือที่จะใช้ในการวัดความสำเร็จของโครงการ
- ระยะกลางน้ำ เป็นขั้นตอนในการลงมือปฏิบัติโครงการตามแผนการที่วางไว้ ควรจะมีการแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบให้ชัดเจน
- ระยะปลายน้ำ เป็นการประเมินผลของโครงการ โดยจะอิงจากความพึงพอใจจากกลุ่มเป้าหมาย และมีการทำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับตลอดจากการดำเนินโครงการ
7.แผนงบประมาณโครงการ
คือการทำงบประมาณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดโครงการ และแหล่งที่มาของเงินทุน โดยผู้เขียนจะต้องระบุให้ชัดเจน ในการนำทุนที่ได้มานั้นไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายใด ๆ บ้าง โดยการเขียนแผนงบประมาณควรมีการแจกแจงค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม เพื่อนำเสนอต่อผู้สนับสนุน หรืออนุมัติโครงการให้สามารถมอบเงินทุนให้ในการดำเนินการได้ ซึ่งการเขียนแผนงบประมาณสามารถแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็นกลุ่มย่อยได้แก่
- ค่าตอบแทน คือค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้างสำหรับผู้ที่มาปฏิบัติงานให้ เช่น วิทยากรประจำโครงการ หรือเจ้าหน้าที่ประสานงานต่าง ๆ เป็นต้น
- ค่าวัสดุ คือค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงาน ที่เป็นของสิ้นเปลือง ไม่คงทนถาวร
- ค่าครุภัฑณ์ คือค่าใช้จ่ายสำหรับจัดหาวัสดุ ที่มีความคงทนถาวร
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ คือค่าใช้จ่ายจิปาถะระหว่างการดำเนินงาน เช่น ค่าเครื่องดื่ม อาหาร หรือค่าเดินทาง เป็นต้น
8.ผลที่คาดว่าจะได้รับ
เป็นการนำเสนอผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยผู้เขียนโครงการจะต้องนำเสนอในส่วนนี้ด้วยความมั่นใจ ว่าโครงการของตนนั้นจะสามารถประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับ จะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ
9.การประเมินผลโครงการ
การประเมินผลโครงการคือการรวบรวมข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ ถึงความสำเร็จของการดำเนินโครงการ ว่าประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด โดยผู้เขียนจะต้องระบุถึง วิธีการ เครื่องมือ และตัวชี้ความสำเร็จในการประเมินผลให้ชัดเจน โดยการประเมินผลโครงการสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
- การประเมินผลก่อนการดำเนินโครงการ (Preliminary Evaluation) เป็นการประเมินก่อนการเริ่มดำเนินการ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการลงมือปฏิบัติ โดยแบ่งออกเป็น การประเมินผลตามความต้องการ หรือความจำเป็น และการประเมินผลตามความน่าจะเป็นไปได้ ซึ่งเมื่อประเมินตามผลลัพธ์แล้ว จะทำให้สามารถตัดสินใจปรับเปลี่ยนแผนโครงการได้ตามเหมาะสม
- การประเมินผลระหว่างการดำเนินโครงการ (On going Evaluation) เป็นการประเมินความก้าวหน้า และความสำเร็จของกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามแผน และวัตถุประสงค์ที่ต้องการหรือไม่ หรือระหว่างทางมีปัญหา และอุปสรรคมากน้อยเพียงใด เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันการ
- การประเมินผลเมื่อโครงการสิ้นสุด (Pay-off Evaluation) เป็นการประเมินผลเพื่อสรุปความสำเร็จ หลังจากที่สิ้นสุดโครงการแล้ว โดยเป็นการประเมินว่า ระหว่างการดำเนินงานสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่วางเป้าหมายไว้มากน้อยเพียงใด
สรุปแล้ว การเขียนโครงการ นับว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญต่อการทำโครงการใดโครงการหนึ่งให้ประสบผลสำเร็จ เพราะเป็นการนำเสนอจุดมุ่งหมาย และวัตถุประสงค์ของผู้ดำเนินการโครงการต่อผู้อนุมัติและผู้สนับสนุนเงินทุน หากการเขียนโครงการมีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ วิธีการ และเป้าหมายที่ต้องการ รวมทั้งยังเป็นแผนการที่สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และช่วยให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งก็หวังว่าเทคนิคการเขียนโครงการที่แนะนำนี้ จะสามารถมีประโยชน์ และช่วยในการนำเสนอโครงการได้ไม่มากก็น้อย
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
- https://sci.rmutr.ac.th/wp-content/uploads/2020/04/project.pdf
- https://www.gotoknow.org/posts/658138
- https://www.dol.go.th/plan/DocLib2/เอกสารบรรยาย.pdf
📕 อ้างอิงรูปภาพ
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎