เทคนิคการเขียนแสดงความยินดี สร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี
การร่วมแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ กับผู้อื่นถือได้ว่าเป็นหนึ่งเรื่องที่สำคัญ และมีความจำเป็นที่ต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงอายุย่างเข้าสู่วัยทำงานแล้ว ซึ่งจะมีงาน พิธี หรือโอกาสสำคัญต่างๆ ของคนรอบตัวให้เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความยินดีมากมาย เช่น งานรับปริญญา งานแต่งงาน การฉลองรับตำแหน่งใหม่ เป็นต้น โดยที่การแสดงความยินดีนั้นก็ทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการไปร่วมงานนั้นๆ ด้วยตัวเอง การนำของขวัญไปมอบให้ การร่วมทำบุญ การร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างความประทับใจแก่เจ้าของงาน หรือเจ้าของโอกาสสำคัญในครั้งนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ก็คือการเขียนแสดงความยินดี ด้วยถ้อยคำที่เหมาะสมกับโอกาสนั้นๆ ในรูปแบบของจดหมาย หรือการ์ดอวยพร
การเขียนแสดงความยินดีส่งให้คนรู้จัก เพื่อน ญาติผู้ใหญ่ หรือคนที่เราเคารพนับถือในโอกาสสำคัญต่างๆ นั้นนอกจากจะเป็นหนึ่งในวิธีร่วมแสดงความยินดีที่สร้างความประทับใจแก่ผู้รับได้ดีที่สุดแล้ว ยังเป็นวิธีที่ทำได้ในทุกงาน ทุกโอกาสสำคัญด้วย เรียกว่าไม่มีข้อจำกัดด้านความเหมาะสมกับโอกาส เพียงแค่เลือกใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องสอดคล้องกับเรื่องราว เหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความประทับใจ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีได้ ซึ่งเนื้อหาในบทความนี้จะเป็นเทคนิคการเขียนแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ
-
เขียนแสดงความยินดีโดยเน้นสื่อสารจากความรู้สึกที่จริงใจ
การเขียนแสดงความยินดีจะสามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้รับ หรือผู้อ่านได้จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารที่แสดงถึงความจริงใจ โดยไม่จำเป็นต้องยึดรูปแบบถ้อยคำการแสดงความยินดีที่เป็นรูปแบบตายตัวมากเกินไป เช่น อาจมีส่วนที่กล่าวถึงคุณลักษณะใดๆ ของเจ้าของงานที่เรารู้สึกชื่นชมเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยทำให้จดหมายแสดงความยินดีที่ออกมาแตกต่างไปจากคำแสดงความยินดีของคนอื่นๆ และผู้อ่านก็ย่อมสัมผัสถึงความจริงใจได้ด้วย
-
ไม่ใช่ถ้อยคำที่ยกยอเจ้าของงานมากเกินไป
ในการเขียนแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสต่างๆ หลายคนมีความเข้าใจผิดว่าควรเน้นการชื่นชม ยกยอ หรือกล่าวอ้างถึงข้อดี ความสามารถต่างๆ ของเจ้าของงาน เพื่อจะได้สร้างความประทับใจ และแสดงถึงความใส่ใจในตัวเจ้าของงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วจดหมาย หรือการ์ดแสดงความยินดีที่เต็มไปด้วยถ้อยคำชื่นชมยกยอนั้นจะทำให้ผู้อ่านทราบถึงเจตนาของผู้เขียนที่เน้นการชื่นชมมากเกินไปจนกล่าวบางอย่างเกินความจริง และขาดความจริงใจในการร่วมแสดงความยินดีได้ ซึ่งนอกจากจะไม่ใช่วิธีที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์อันดีแล้ว ยังอาจส่งผลในทางลบต่อความสัมพันธ์ได้ด้วย
-
หลีกเลี่ยงคำแนะนำเกี่ยวกับความสำเร็จ หรือการสร้างความร่ำรวยในอนาคตในงานสำเร็จการศึกษา
การเขียนแสดงความยินดีสำหรับโอกาสในวันสำเร็จการศึกษานั้นควรหลีกเลี่ยงการเขียนแนะนำถึงการสร้างความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย ด้วยความที่ช่วงเวลาของงานสำเร็จการศึกษา เช่นงานรับปริญญานั้น ถือเป็นโอกาสที่เจ้าของงานจะได้รู้สึกภาคภูมิใจ และอิ่มเอมกับความสำเร็จที่เพิ่งเกิดขึ้น การกล่าวไปถึงการเตรียมพร้อมสำหรับความสำเร็จที่ใหญ่กว่า อย่างความสำเร็จในหน้าที่การงาน การสร้างฐานะ ซึ่งจะทำให้เจ้าของงานไม่อาจอิ่มเอมกับความสำเร็จที่เพิ่งเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ และรู้สึกเป็นกังวลกับเส้นทางในอนาคตแทน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้จะมาจากเจตนาที่ดีที่ต้องการให้คำแนะนำที่ถูกต้องก็ตาม
-
ส่งจดหมายแสดงความยินดีไปพร้อมกับของขวัญที่ถูกใจเจ้าของงาน
แม้ว่าการเขียนแสดงความยินดีจะเป็นวิธีร่วมยินดีที่แสดงถึงความใส่ใจ และถ้อยคำที่สละสลวยในจดหมายก็สามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้รับได้ แต่การส่งจดหมายไปพร้อมกับของขวัญสักชิ้นที่ผู้รับน่าจะชื่นชอบ เช่น ส่งไปพร้อมกับหนังสือสักเล่มสำหรับเจ้าของงานที่มีนิสัยรักการอ่าน หรือส่งไปพร้อมกับเครื่องดื่มดูแลสุขภาพสำหรับเจ้าของงานที่มีลักษณะนิสัยใส่ใจดูแลสุขภาพ ก็จะยิ่งช่วยสร้างความประทับใจได้มากขึ้น
-
หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงปัญหา อุปสรรคที่ผ่านมาแล้ว
ในการเขียนแสดงความยินดีกับตำแหน่งใหม่ ในช่วยวัยการทำงานการร่วมแสดงความยินดีกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้อง เป็นอีกเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เรารักษาสัมพันธ์อันดี และคอนเนคชั่นที่ดี ซึ่งมีประโยชน์ต่ออนาคตการทำงานไว้ได้ โดยเฉพาะกับการแสดงความยินดีกับตำแหน่งงานใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสที่พบได้บ่อย เพราะในชีวิตการทำงานของคนเรามักมีการเปลี่ยนแปลง ขยับขยายให้เหมาะสมกับความสามารถ ประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย และในการเขียนแสดงความยินดีกับตำแหน่งงานใหม่ก็ไม่ได้มีหลักการเขียนที่ซับซ้อนอะไร โดยอาจกล่าวอวยพรถึงสิ่งดีๆ ที่เจ้าของงานอาจได้รับจากตำแหน่งใหม่ เช่น ค่าตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้น ความสนุกท้าทายจากงานใหม่ ขอเพียงหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงปัญหาอุปสรรคของการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วของเจ้าของงานก็สามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่านได้มากแล้ว
-
หลีกเลี่ยงการกล่าวถึงบุคคลที่สามในการเขียนแสดงความยินดีงานแต่งงาน
งานแต่งงานนับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข และการสร้างภาพจำที่ดีสำหรับคนสองคน ในการร่วมแสดงความยินดีจึงควรเน้นกล่าวถึงความสัมพันธ์ของคู่บ่าวสาว โดยอาจกล่าวถึงโมเม้นต์ที่น่าประทับใจของทั้งคู่ที่เราเคยพบเห็น และจดจำได้ หลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่สาม ซึ่งไม่ได้มีส่วนโดยตรงกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่
-
ใช้การเขียนแสดงความยินดีในโอกาสสำคัญต่างๆ เป็นโอกาสในการเขียนแสดงความขอบคุณด้วย
อีกเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยให้การร่วมแสดงความยินดีในโอกาส หรือช่วงเวลาพิเศษใดๆ ของคนรู้จัก สร้างความประทับใจได้มากขึ้น ก็คือการใช้เป็นโอกาสในการแสดงความขอบคุณไปพร้อมๆ กันด้วย ทั้งนี้ช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตคนเราอาจได้รับการช่วยเหลือด้านต่างๆ จากผู้อื่นมากมาย ไม่ว่าจะในด้านโอกาสในการทำงาน ด้านการเรียน แต่บ่อยครั้งเราอาจไม่ได้มีช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการแสดงควาามขอบคุณ หรือตอบแทนผู้คนที่เคยให้การช่วยเหลือ การใช้โอกาสจากช่วงเวลาพิเศษต่างๆ ที่เรามีส่วนร่วมยินดีแสดงความขอบคุณไปพร้อมๆ กันด้วย จึงเป็นวิธีที่ดีทีเดียว ทั้งยังเป็นสิ่งที่จะทำให้เจ้าของงาน ผู้ได้รับการแสดงความขอบคุณยินดีนั้นรับรู้ได้ถึงความใส่ใจในความสัมพันธ์ของเราด้วย
-
การอวยพรญาติผู้ใหญ่สามารถทำได้ หากเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม
การเขียนแสดงความยินดีกับญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่อาวุโสกว่าอาจเป็นเรื่องที่หลายคนลังเลที่จะทำ ด้วยความเชื่อดั้งเดิมผิดๆ ที่ว่าเด็กไม่สามารถอวยพรผู้ใหญ่ได้ หรือต้องกล่าวอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากต้องการอวยพรผู้ที่อายุมากกว่า แต่ในความเป็นจริงทุกคนสามารถกล่าวอวยพร แสดงความยินดีกับบุคคลได้ทุกช่วงอายุ หากเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม โดยในการเขียนแสดงความยินดีกับญาติผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้ด้วยการใช้ถ้อยคำที่แสดงความนอบน้อม และแสดงความคาดหวังดีๆ ที่เหมาะสมกับโอกาส เช่น การเขียนสื่อถึงความคาดหวังที่อยากจะเห็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพมีสุขภาพแข็งแรงไปนานๆ ในโอกาสวันคล้ายวันเกิด เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ควรระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างถึงความเชื่อต่างๆ ลงไปในการจดหมายแสดงความยินดี เนื่องจากความเชื่อด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา พิธีกรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ล้วนเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งผู้ใหญ่แต่ละคนอาจมีความเชื่อที่แตกต่างกัน การเขียนแสดงความยินดีในโอกาสใดๆ โดยมีการกล่าวอ้างถึงความเชื่อลงไปอาจทำให้ผู้ใหญ่รู้สึกไม่ประทับใจ และสับสนในเจตนาของเราได้ เว้นแต่ว่าเรามีสิ่งที่ศรัทธาสอดคล้อง เป็นไปในทางเดียวกับความเชื่อของผู้ใหญ่ การกล่าวอ้างถึงความเชื่อนั้นๆ ขึ้นมาในบางส่วนของจดหมาย โดยไม่บดบังวัตถุประสงค์หลักในการกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสสำคัญครั้งนั้นๆ มากเกินไป ก็ถือเป็นการแสดงความใส่ใจ และอาจนำมาสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีได้เช่นกัน
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎