การเขียนแนะนำตัวเอง ที่ถูกต้อง ช่วยเสริมโปรไฟล์ให้โดดเด่น เพิ่มโอกาสได้รับพิจารณาพอร์ตฯ
การเขียนแนะนำตัวเอง ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในขั้นตอนของการสมัครงาน สมัครเรียนต่อ หรือการสมัครเข้าร่วมการคัดเลือกในโครงการต่างๆ โดยจดหมาย การเขียนแนะนำตัวเองของผู้สมัครจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทางกรรมการ หรือผู้มีอำนาจในการคัดเลือกใช้ประเมินให้คะแนน เพื่อตัดสินใจเลือกผู้ที่จะได้สิทธิ์เข้าคัดเลือกในรอบต่อๆ ไป ดังนั้นการเขียนแนะนำตัวเองให้ถูกต้อง ออกมาเหมาะสม และทำให้ผู้อ่านรู้สึกประทับใจจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน โอกาสในการเรียนต่อ หรือโอกาสที่จะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ
โดย การเขียนแนะนำตัวเองให้ออกมาถูกต้องเหมาะสมกับจุดประสงค์ที่ต้องการนำเสนอและสร้างความประทับใจได้นั้น ต้องคำนึงถึงหลากหลายปัจจัย เช่น ความสอดคล้องกับตำแหน่งงาน คณะ สาขาวิชาที่ยื่นสมัคร หรือวิธีที่ต้องการนำเสนอตัวเอง เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้เองจะมาแนะนำถึงขั้นตอนการเขียนแนะนำตัวเองที่ถูกต้อง ตามเป้าประสงค์ที่ต้องการใช้งานของแต่ละคน ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้รับพิจารณาการคัดเลือก และดึงดูดให้กรรมการสนใจพอร์ตโฟลิโอได้มากขึ้น
แนะนำข้อมูลพื้นฐานของตัวเองให้ถูกต้องครบถ้วน
ส่วนสำคัญส่วนแรกสำหรับ การเขียนแนะนำตัวเอง ก็คือการบอกเล่าข้อมูลพื้นฐานของตัวเองให้ครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ผู้อ่าน หรือกรรมการได้รู้จักเราและเพิ่มโอกาสที่จะดึงความสนใจไปยังข้อมูลด้านอื่นๆ ของเรา โดยข้อมูลพื้นฐานของเราควรเล่าให้ตรงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเน้นนำเสนอเฉพาะโปรไฟล์ในด้านดีเท่านั้น เพราะจะทำให้ข้อมูลขาดความเป็นธรรมชาติไป ตัวอย่างเช่น หากกล่าวถึงประวัติการศึกษา ก็ควรกล่าวให้ครบถ้วนทั้งโรงเรียนที่เคยศึกษาในระดับมัธยม มหาวิทยาลัยที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยที่ศึกษาในระดับปริญญาโท ไม่เลือกกล่าวถึงเพียงแค่สถาบันที่มีชื่อเสียงมากที่สุด หรือการเขียนแนะนำตัวเอง ถึงกิจกรรม งานอดิเรกที่สนใจ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกเฉพาะกิจกรรมที่อยู่ในกระแส หรือได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก ควรเลือกเล่าไปตามความสนใจจริงของเรา ซึ่งจะทำให้จดหมายแนะนำของเราดูเป็นธรรมชาติ และน่าสนใจในสายตาของกรรมผู้พิจารณาได้มากกว่าการที่พยายามจะเล่าให้ดูน่าประทับใจมากเกินไป
เขียนเล่าถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง
อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้การเขียนแนะนำตัวเองของเราน่าสนใจ ดึงดูดให้กรรมการผู้พิจารณาสนใจโปรไฟล์เรามากขึ้นก็คือ การไม่เล่าเฉพาะเรื่องของตนเองเท่านั้น โดยอาจมีการกล่าวอ้างไปถึงบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว อาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบุคคลนั้นๆ มีความเชื่อมโยงกับตำแหน่งงานที่เรายื่นสมัคร อยู่ในสายงานเดียวกัน หรือมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับโครงการที่เรายื่นเข้าสมัครรับการคัดเลือก เป็นต้นว่า มีสมาชิกในครอบครัวของเรากำลังศึกษา วิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกันนั้น การกล่าวอ้างถึงบุคคลนั้นๆ ลงในบางส่วนของ การเขียนแนะนำตัวเอง ก็จะทำให้โปรไฟล์เราน่าสนใจ และมีความเชื่อมโยงกับโอกาสในการทำงาน หรือโอกาสในการเรียนต่อครั้งนั้นๆ มากขึ้น เพิ่มโอกาสที่กรรมการจะมองเห็นคุณสมบัติในด้านบวกของเรามากขึ้น แต่กระนั้นการกล่าวอ้างถึงบุคคลอื่นก็ควรระมัดระวังไม่ให้มีความเยิ่นเย้อ หรือบรรยายถึงข้อมูลของบุคคลนั้นๆ มากเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกในทางลบได้เช่นกัน เพราะโดยใจความสำคัญของการเขียนแนะนำตัวเองย่อมเป็นการบรรยายเรื่องราว ข้อมูลเฉพาะของบุคคล การเชื่อมโยงถึงข้อมูลด้านอื่นหรือบุคคลอื่นจึงควรทำให้กระชับ
ควรมีการศึกษาวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ ที่เราสนใจจะสมัคร
เพื่อเขียนเล่าให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรา และองค์กรที่เรายื่นสมัครงาน หรือสมัครเรียนต่อครั้งนั้นๆ อีกสิ่งสำคัญที่เราควรมีอยู่ในแพลนลิสต์ก่อน การเขียนแนะนำตัวเอง ก็คือการใส่ประเด็นให้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร ดังนั้นเราจึงควรมีการศึกษาข้อมูลของบริษัท มหาลัยวิทยาลัย หรือหน่วยงานนั้นๆ ที่เราต้องการสมัครเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งการเล่าประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับวัฒนธรรมที่ดีงามขององค์กรนั้นได้จะสร้างความประทับใจให้กับกรรมการที่อ่านจดหมายแนะนำตัว และเพิ่มโอกาสได้รับคะแนนพิจารณามากขึ้นแน่นอน เพราะไม่ว่าองค์กรไหนก็ล้วนต้องการบุคคลที่เหมาะสม และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กรได้ แต่ก็แน่นอนเช่นกันว่าไม่ควรเขียนแบบยัดเยียดความพยายามที่จะเชื่อมโยงกับองค์กรมากจนเกินไป ตัวอย่างเช่น หากเรายื่นสมัครเข้ารับการคัดเลือกในองค์กรที่มีวัฒนธรรมเรื่องการใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เราก็อาจเล่าแนวคิดส่วนตัวในการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบพอสังเขป และพูดถึงวิธีที่เราใช้ในการมีส่วนร่วมใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันของเราเป็นประจำสัก 1-2 วิธี การเขียนแนะนำตัวแบบนี้จะช่วยให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความตระหนักถึงการใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรมชาติของเราได้
การเขียนแนะนำตัวเองที่ดี
สำหรับการสมัครเรียนต่อ และสมัครงานมีความแตกต่างกัน แม้ว่าโดยวัตถุประสงค์หลักๆ ของการเขียนแนะนำตัวเอง จะเป็นการเล่าเรื่องราวของตนเองให้เป็นที่รู้จักและสร้างความประทับใจ แต่ต้องไม่ลืมว่าในการใช้เพื่อเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาสมัครเรียนต่อ หรือใช้เป็นเอกสารแนะนำตัวเพื่อสมัครงาน ควรต้องมีการกำหนดประเด็นที่จะสื่อสารแตกต่างกัน เนื่องด้วยพาร์ทของการทำงาน และการศึกษาถือเป็นกิจกรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กรรมการที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลก็อาจใช้เกณฑ์การพิจารณาที่ต่างกันไปด้วย เราจึงควรคำนึงถึงการเขียนแนะนำตัวที่สอดคล้องกับเกณฑ์การพิจารณา เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียกคะแนนจากผู้พิจารณา โดยกรณีที่เป็นการเขียนแนะนำตัวเองสำหรับสมัครคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ก็ควรมีส่วนที่เน้นเขียนบรรยายถึงแรงบันดาลใจด้านการศึกษา การกล่าวถึงผลงานทางด้านวิชาการต่างๆ เป้าหมายการนำความรู้จากคณะ สาขาวิชาที่ยื่นสมัครไปใช้ในอนาคตหลังจากสำเร็จการศึกษา ส่วนกรณี การเขียนแนะนำตัวเองสำหรับใช้สมัครงาน ควรเน้นบอกเล่าถึงประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ความเชี่ยวชาญต่างๆ ความสามารถพิเศษที่อาจมีประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้ในตำแหน่งงาน ซึ่งหากยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนก็อาจเล่าถึงกิจกรรมที่เคยทำระหว่างเรียน การออกค่ายต่างๆ โดยเน้นบอกเล่าประสบการณ์ภาคปฏิบัติมากกว่าประสบการณ์ด้านวิชาการ
อย่างไรก็ตามการเขียนบอกเล่าถึงประสบการณ์เหล่านี้อาจมีการอ้างอิงตามคุณสมบัติการรับงาน หรือรับสมัครเรียนนั้นๆ ด้วย เพื่อจะได้ปรับวิธีการนำเสนอให้มีความสอดคล้องกัน เช่น หากคุณสมบัติรับสมัครมีระบุว่า ผู้มีประสบการณ์ด้านงานบริการจะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษ ในการเขียนแนะนำตัวเอง เราก็หยิบยกเอาประสบการณ์ทำงานพาร์ทไทม์บางช่วงมาพูดถึง เป็นต้น
ควรแบ่งลำดับการเล่าเรื่องให้ชัดเจน
ในการเขียนแนะนำตัวเพื่อสมัครงาน สมัครเรียน หรือประกอบการยื่นพอร์ตโฟลิโอเพื่อเข้าร่วมโครงการต่างๆ ก็เช่นเดียวกับการเขียนรายงานเรื่องอื่นๆ กล่าวคือต้องทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจสิ่งที่สื่อสารได้ง่าย และวิธีที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้นนั่นก็คือ การวางลำดับการเล่าเรื่องให้ชัดเจนก่อนนั่นเอง เช่น ส่วนเริ่มต้นเป็นการกล่าวถึงข้อมูลส่วนตัวของตนเอง ประวัติการศึกษา ส่วนที่สองอาจเล่าตัวตน ลักษณะนิสัย ความชื่นชอบ งานอดิเรกให้ผู้อ่านได้รู้จักเรามากขึ้น จากนั้นส่วนต่อไป อาจเป็นการเล่าถึงผลงานต่างๆ ประสบการณ์ที่ภาคภูมิใจ และส่วนท้ายสุดของ การเขียนแนะนำตัวเอง กล่าวถึงเป้าหมาย ความคาดหวังที่จะได้จากการเรียน หรือทำงานในตำแหน่งที่ยื่นสมัครเข้าคัดเลือก แบบนี้จะทำให้การเขียนแนะนำตัวของเราออกมาเป็นระเบียบเรียบร้อย สื่อสารความเป็นตัวตนได้ชัดเจน ย่อมมีโอกาสที่จะสร้างความประทับใจได้ดีกว่าจดหมายที่ขาดการลำดับเรื่อง และเล่าถึงประเด็นต่างๆ ข้ามไปข้ามมา
ใส่ใจในความเชื่อมโยงของเนื้อหาในจดหมาย
แม้ว่าการเขียนแนะนำตัวที่ดี จะต้องมีการแบ่งลำดับการเล่าถึงประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนตามที่ได้กล่าวไปในข้อที่แล้ว แต่อีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การบรรยายในจดหมายแนะนำตัวออกมาสมบูรณ์ที่สุดก็คือความเชื่อมโยง และะเป็นเหตุเป็นผลของเนื้อหาในแต่ละส่วน ขยายความคือ แม้การเล่าเรื่องต่างๆ จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ แต่ก็ไม่ควรเล่าประเด็นที่แยกจากกันเด็ดขาดมากเกินไป ควรนำเสนอประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกันด้วย เช่น เมื่อเล่าถึงความสามารถพิเศษ ความสนใจ หลงใหลในกิจกรรมใดๆ ก็ให้ใช้ประเด็นนี้เชื่อมโยงไปถึงเหตุผลที่เลือกเรียนในสาขาวิชาใดๆ หรือเลือกทำงานพิเศษที่เข้ากับคุณลักษณะเด่นนั้นๆ ของตนเอง เป็นต้น วิธีเล่าเรื่องแบบนี้จะทำให้กรรมการ ผู้อ่านจดหมายสามารถรับรู้ถึงความมีตรรกะที่สมเหตุสมผลในตัวเราได้
อย่างไรก็ตามในการเขียนแนะนำตัวไม่จำเป็นต้องให้เนื้อหาทั้งหมดในจดหมายเชื่อมโยง และเป็นเหตุผลในตัวเองทั้งหมด อาจเลือกนำเสนอความเชื่อมโยงเฉพาะบางส่วน บางประเด็นตามความเหมาะสมของบริบท
หลีกเลี่ยงการเล่าถึงมุมมองด้านศาสนา การเมือง
แม้ว่าการเขียนแนะนำตัวจะเป็นการสื่อสารให้ผู้อ่านรู้จักในตัวตนของเรามากขึ้น แต่การเขียนถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เช่น มุมมองด้านความเชื่อ ศาสนา หรือการเมือง ก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะแน่นอนว่าเราไม่อาจทราบได้ว่ากรรมการผู้พิจารณาคัดเลือกมีมุมมองที่สอดคล้อง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกับเราหรือไม่ ซึ่งหากไม่สอดคล้อง หรือสวนทางกันก็อาจพลอยทำให้เสียคะแนนบางส่วนไปได้ และถึงแม้ว่ากรรมการอาจมีแนวคิดสอดคล้องกับเราได้ แต่การพูดถึงประเด็นที่แต่ละคนในสังคมสามารถคิดเห็นแตกต่างกันได้ก็ไม่ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้อง หรือต้องพยายามสอดแทรกลงไปในการเขียนแนะนำตัวเองแต่อย่างใด
เล่าถึงผลงานที่ภาคภูมิใจ
แน่นอนว่าการกล่าวถึงผลงาน รางวัลต่างๆ ที่เคยได้รับถือเป็นส่วนสำคัญของ การเขียนแนะนำตัวเองอยู่แล้ว แต่ในการเล่าถึงผลงานให้ผู้อ่านประทับใจควรเลือกคัดเฉพาะผลงานที่เรารู้สึกภาคภูมิใจจากใจจริงเท่านั้น โดยอาจตัดการกล่าวอ้างถึงผลงาน หรือรางวัลบางส่วนออกไป เพราะการเลือกเพียงผลงานที่เรารู้สึกภาคภูมิใจจริงๆ นั้นจะทำให้เราสามารถสื่อสารถึงคุณค่าของผลงานนั้นๆ ได้ดี และผู้อ่านก็ย่อมรู้สึกถึงคุณค่านั้นได้เช่นกันด้วย ต่างจากการพรีเซนต์ผลงานที่เน้นเอาปริมาณเข้าว่า ซึ่งผู้อ่านอาจไม่รับรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของผลงานแต่ละชิ้นได้ อีกทั้งการคัดเพียงบางผลงานเพื่อนำมาเล่าถึงก็จะทำให้ภาพรวมการนำเสนอประสบการณ์ของเรามีความกระชับอีกด้วย โดยที่การคัดเลือกผลงานที่รู้สึกภาคภูมิใจมาเขียนเล่าลงไปเป็นส่วนหนึ่งในการแนะนำตัวนั้นไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะผลงานที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาใด ไม่ว่าจะเป็นผลงานช่วงวัยเรียนหรือวัยทำงาน หากเรายังรู้สึกถึงคุณค่านั้นๆ ได้ดี ก็ควรค่าแก่การเล่าลงในจดหมายแนะนำตัวแล้ว
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎