ไตรยางศ์ หรือ อักษรสามหมู่ คือ ระบบการจัดหมวดหมู่อักษรไทย เฉพาะรูปพยัญชนะ ตามลักษณะการผันวรรณยุกต์ ของพยัญชนะแต่ละหมวด เนื่องจากพยัญชนะไทยเมื่อกำกับด้วยวรรณยุกต์หนึ่งๆแล้วจะมีเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างกัน การจัดหมวดพยัญชนะทำให้การเรียนภาษาไทยง่ายขึ้น การจัดหมวดหมู่เพื่อแบ่งพยัญชนะไทยออกเป็น 3ประเภท ประกอบด้วย อักษร สูง มี 11 ตัว อักษร กลาง มี 9 ตัว และ อักษร ต่ำ มี 24 ตัว ด้วยกัน การจัดหมวดหมู่ไตรยางศ์นั้น มีหลักฐานปรากฏครั้งแรกในหนังสือจินดามณี เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าเป็นผลงานของพระโหราธิบดีได้แต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ก็ยังคงใช้งานมาอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน
พยัญชนะไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท มีอะไรบ้าง ?
- อักษรสูง มี 11 ตัว ได้แก่ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
- อักษรกลาง มี 9 ตัว ได้แก่ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
- อักษรต่ำ มี 24 ตัว ได้แก่ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ
พยัญชนะไทยในอักษรต่ำ แบ่งย่อยได้ 2 ประเภท
อักษรต่ำ หมายถึง พยัญชนะกลุ่มหนึ่งที่มีรูปปกติเป็นเสียงต่ำทั้งหมด ซึ่งเป็นการพิจารณาเฉพาะรูปพยัญชนะเท่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผันเสียงวรรณยุกต์ไปในแบบเดียวกัน อักษรต่ำมีทั้งหมด 24 ตัว ได้แก่ ค, ฅ (เลิกใช้), ฆ, ง, ช, ซ, ฌ, ญ, ฑ, ฒ, ณ, ท, ธ, น, พ, ฟ, ภ, ม, ย, ร, ล, ว, ฬ, และ ฮ ซึ่งอักษรต่ำนั้นจะแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ อักษรต่ำคู่ และอักษรต่ำเดี่ยว ดังนี้
อักษรต่ำคู่ ประกอบไปด้วยพยัญชนะ 14 ตัว ได้แก่ พ ภ ค ฅ ฆ ฟ ฑ ฒ ท ธ ซ ช ฌ ฮ โดยให้ท่องจำเป็นประโยคว่า “พ่อค้าฟันทองซื้อช้างฮ่อ” สาเหตุที่ใช้ชื่อว่าต่ำคู่เพราะว่า อักษรเหล่านี้มีอักษรที่เป็นคู่ของมันอยู่ในหมู่อักษรสูงนั่นเอง โดยอักษรคู่นั้นจะมีลักษณะเสียงอย่างเดียวกัน แต่จะมีระดับเสียงสูงต่ำที่แตกต่างกัน มีทั้งหมด 7 คู่ คือ
- พ ภ คู่กับ ผ
- ค ฅ ฆ คู่กับ ข ฃ
- ฟ คู่กับ ฝ
- ฑ ฒ ท ธ คู่กับ ฐ ถ
- ซ คู่กับ ศ ษ ส
- ช ฌ คู่กับ ฉ
- ฮ คู่กับ ห
อักษรต่ำเดี่ยว ประกอบไปด้วยพยัญชนะ 10 ตัว ได้แก่ ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล โดยให้ท่องจำเป็นประโยคว่า “งูใหญ่นอนอยู่ ณ ริมวัดโมฬีโลก” สาเหตุที่มีชื่อว่าต่ำเดี่ยว เพราะอักษรเหล่านี้ไม่มีคู่อยู่ในอักษรหมู่อื่น ๆ นั่นเอง
รูปแบบการผันวรรณยุกต์ ในอักษรต่ำ
มีจุดสังเกตการผันวรรณยุกต์ของอักษรต่ำ ที่ช่วยให้จำง่ายดังนี้ ถ้าอักษรต่ำ รวมกับ คำเป็น จะผันได้ 3 เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงโท และ เสียงตรี ถ้าอักษรต่ำ รวมกับ คำตาย จะผันได้ 3 เสียง คือ เสียงโท เสียงตรี และ เสียงจัตวาลองไปดูกันว่าจะผันเสียงอย่างไรได้บ้าง
คำเป็น ที่ใช้อักษรต่ำเป็นพยัญชนะต้น จะมีพื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ เช่น คา เงา ชิง ทำ นอน เรา ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้เอก จะมีเสียงโท เช่น ค่า แช่ง ท่อน เน่า ล่อง ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้โท จะมีเสียงตรี เช่น ค้า ช้าง ซ้อม ทิ้ง น้ำ พ้อง ฯลฯ
- ตามหลักภาษา ไม่สามารถผันด้วยไม้ตรีและไม้จัตวา
คำตายสระเสียงยาว คำตายที่ใช้อักษรต่ำเป็นพยัญชนะต้น และสะกดด้วยสระเสียงยาว จะมีพื้นเสียงเป็นเสียงโท เช่น โคก ชาติ ทอด ภาพ ลีบ ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้โท จะมีเสียงตรี เช่น วี้ด ค้าบ ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้จัตวา จะมีเสียงจัตวา เช่น ค๋าก ม๋าด ฯลฯ ปัจจุบันไม่ปรากฏการเติมไม้จัตวากับคำตายสระเสียงยาวที่เป็นอักษรต่ำ
- ตามหลักภาษา ไม่สามารถผันด้วยไม้เอกและไม้ตรี
คำตายสระเสียงสั้น คำตายที่ใช้อักษรต่ำเป็นพยัญชนะต้น และสะกดด้วยสระเสียงสั้น จะมีพื้นเสียงเป็นเสียงตรี เช่น คะ ชัก นก ทุบ เล็ก เพียะ ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้เอก จะมีเสียงโท เช่น ค่ะ มั่ก ฯลฯ
- บางคำอาจแปรเป็นเสียงเอกในการสนทนา เช่น ค่ะ → ขะ, น่ะ → หนะ, ย่ะ → หยะ, ล่ะ → หละ, ว่ะ → หวะ
- เมื่อผันด้วยไม้จัตวา จะมีเสียงจัตวา เช่น ค๋ะ ม๋ะ ฯลฯ ปัจจุบันไม่ปรากฏการเติมไม้จัตวากับคำตายสระเสียงสั้นที่เป็นอักษรต่ำ
- ตามหลักภาษา ไม่สามารถผันด้วยไม้โทและไม้ตรี
12 ตัวอย่างคำที่มีพยัญชนะในกลุ่มอักษรต่ำ
- ธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิด มี และเป็นอยู่ตามธรรมดาของสิ่งนั้น ๆ เช่น ต้นไม้ คน สัตว์, ภาพภูมิประเทศ
- ชอบพอ หมายถึง รักใคร่กัน, ถูกอัธยาศัยกัน.
- ชลธาร หมายถึง แม่น้ำ, ลำคลอง, ร่องน้ำ, ห้วย, ทะเลสาบ
- ทบทวน หมายถึง ย้อนกลับไปเพื่อทำซํ้าอีกเพื่อให้แม่นยํา เช่น ทบทวนตํารา ทวนทบ หรือพิจารณาอีกครั้ง
- เทศน์ หมายถึง การแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา
- เณร หมายถึง เหล่ากอของสมณะ, หน่อเนื้อของสมณะ หมายถึงนักบวชชายในพระพุทธศาสนา
- ที่มีอายุน้อย ยังมิได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ถ้าเป็นนักบวชหญิงอายุน้อยเรียกว่า สามเณรี
- ลวดลาย หมายถึง ลายที่เขียน หรือแกะสลักขึ้น, ลูกเล่น หรือชั้นเชิงต่าง ๆ ที่แสดงให้ปรากฏ
- งมงาย หมายถึง หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผล และไม่ยอมฟังความคิดของคนอื่น
- เงาะ หมายถึง ชื่อต้นไม้ ผลเป็นขนคล้ายลูกคำ ใช้เป็นอาหาร หรือ คนป่าพวกหนึ่ง ตัวดำ ผมหยิก
- ช้าง หมายถึง สัตว์สี่เท้า ตัวโตกว่าสัตว์สี่เท้าทั้งปวง มีงวงและงา เป็นสัตว์กินพืช
- วัด หมายถึง สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติมีโบสถ์ วิหาร และที่อยู่ของสงฆ์หรือนักบวช
- ธนาคาร หมาบถึง ที่ทำการสถาบันการเงินที่เป็นนิติบุคคล ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ประกอบการเกี่ยวกับเงิน
และธุรกิจหลักทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม