รูปประโยค คือสิ่งที่ใช้สื่อสารไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด หรือภาษาเขียน โดยมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการใช้งาน นักเรียนทุกคนต้องได้เรียนรู้ในเรื่อง ชนิดของประโยคกันมาบ้าง ในรายวิชาภาษาไทย แต่ถ้าวันนี้คุณยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับองค์ความรู้เรื่อง ประโยคความเดียว วันนี้เราจะพาทุกคนมาสร้างความเข้าใจกับเรื่องนี้กันอีกครั้ง สำหรับประโยคความเดียว หลาย ๆ คนเข้าใจกันแบบง่าย ๆ ว่าถึงจะยาวแค่ไหน ก็เป็นประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียวเท่านั้น แต่จะแบ่งออกไปตามสัดส่วนของประโยค ลองไปดูกันว่าลักษณะของประโยคความเดียวเป็นอย่างไร
ชนิดของประโยคในภาษาไทย ที่ทุกคนต้องรู้
- ประโยคแบ่งตามลักษณะโครงสร้าง พิจารณาจากส่วนประกอบของประโยค มี 3 ชนิด ประกอบด้วย ประโยคความเดียว ประโยคความรวม และประโยคความซ้อน
- ประโยคแบ่งตามลักษณะของประโยค พิจารณาจากคำที่แสดงความหมายรวมของประโยคว่ามีลักษณะแบบใด มี 4ชนิด คือ ประโยคบอกเล่า ประโยคคำถาม ประโยคคำสั่ง และประโยคปฏิเสธ
- ประโยคแบ่งตามเจตนา พิจารณาจากความหมายของประโยคตามเจตนาของผู้พูด แบ่งเป็น ประโยคบอกให้ทราบ ประโยคเสนอแนะ ประโยคห้าม ประโยคคำสั่ง ประโยคชักชวน ประโยคขอร้อง
ความหมายและลักษณะของประโยคความเดียว
ประโยคแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ ประโยคความเดียว ประโยคความซ้อน และ ประโยคความรวม ในวันนี้เราจะมาเรียนรู้ในหมวดของประโยคความเดียว เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ประโยคสามัญ ซึ่งก็คือข้อความ หรือถ้อยคำสมบูรณ์ประกอบด้วย และเป็นประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงเรื่องเดียว มีภาคประธานภาคเดียว ภาคแสดงเดียว มีกริยาสำคัญเพียงตัวเดียว ยกตัวอย่างเช่น
- นกบิน กล่าวถึงใจความสำคัญเพียงเรื่องเดียว คือ นกบิน
- ฝนตก กล่าวถึงใจความสำคัญเพียงเรื่องเดียว คือ ฝนตก
- ลมพัด กล่าวถึงใจความสำคัญเพียงเรื่องเดียว คือ ลมพัด
- เด็กยิ้ม กล่าวถึงใจความสำคัญเรื่องเดียวคือ เด็กยิ้ม
- ดอกไม้บาน กล่าวถึงใจความสำคัญเพียงเรื่องเดียว คือ ดอกไม้บาน
- พ่อปลูกต้นไม้ กล่าวถึงใจความสำคัญเพียงเรื่องเดียว คือ พ่อปลูกต้นไม้
ส่วนประกอบของประโยคความเดียว
สำหรับประโยคความเดียว อย่างที่เราได้บอกไปแล้วข้างต้นว่า ต้องมีส่วนประกอบในภาคประธาน ภาคประธาน คือ ส่วนของผู้ทำอาการ หรือบทประธาน อาจมีส่วนขยายหรือไม่มีก็ได้ คำที่ทำหน้าที่ผู้กระทำอาการ ได้แก่ คำนาม หรือคำสรรพนาม เช่น พี่ร้องเพลงได้ไพเราะ ครูต้องอบรมให้นักเรียนเป็นคนดี และภาคแสดงคือ ส่วนที่แสดงอาการหรือบอกการกระทำของประธาน คำที่แสดงอาการ ได้แก่ คำกริยา และต้องประกอบด้วยบทอื่น ๆ เช่น บทกรรม บทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม อาจมีส่วนขยายหรือไม่มีก็ได้ บทกริยา คือ ส่วนที่แสดงการกระทำของประธาน อาจมีกรรมมารองรับหรือไม่มีก็ได้ จะอยู่หลังประธานหรืออยู่หน้าประธานก็ได้ เช่น ม้ากระโดด ม้ากระโดดข้ามกำแพง
รวมถึงบทกรรม คือ ส่วนของผู้ถูกกระทำ กล่าวคือ ถ้ากริยายังไม่สมบูรณ์ในตัวเองจะต้องมีกรรมมารองรับ น้องคลาน แม่ซื้อหนังสือ และบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม คือ ส่วนที่ทำหน้าที่เสริมใจความของประโยคให้สมบูรณ์ ทำหน้าที่คล้ายกรรมแต่ไม่ใช่กรรม เพราะไม่ได้ถูกกระทำ กริยาที่ใช้เป็นส่วนเติมเต็มจะไม่มีความหมายในตัวเอง ต้องมีคำนามหรือคำสรรพนามมาขยายจึงจะได้ใจความสมบูรณ์ สำหรับรูปประโยคคามเดียว แบ่งได้ 4 ประเภท คือ ประโยคความเดียวที่ประกอบด้วยประธาน และกริยา กับ ประโยคความเดียวที่ประกอบด้วยประธาน กริยา และกรรม
- ประโยคความเดียวที่ประกอบด้วยประธาน และกริยา
– ประธาน + กริยา เช่น กบร้อง ฝนตก ดอกไม้สวย
– ประธาน + ขยายประธาน + กริยา เช่น กบตัวโตร้อง ฝนโบกขรพรรษตก ดอกกุหลาบแดงสวย
– ประธาน+ขยายประธาน+กริยา + ขยายกริยา เช่น เด็กข้างบ้านร้องไห้ดังลั่น งูตัวใหญ่ค่อยๆเลื้อยไปอย่างเชื่องช้า
– ประธาน+กริยา+ขยายกริยา เช่น น้ำท่วมอย่างฉับพลัน เขาเดินทางโดยเครื่องบิน
- ประโยคความเดียวที่ประกอบด้วยประธาน กริยา และกรรม เช่น กบกินแมลง งูไล่หนู ฟ้าผ่าต้นไม้
- ประธาน+ขยายประธาน+กริยา+กรรม เช่น น้องของฉันเห็นงู กบสีเขียวในสระกินแมลง
- ประธาน+ขยายประธาน+กริยา+กรรม+ขยายกริยา เช่น แมลงปีกแข็งกระพือปีกเร็วมาก
- ประธาน+กริยา+กรรม+ขยายกรรม เช่น พ่อซื้อบ้านตากอากาศริมทะเลชะอำ
- ประธาน+กริยา+กรรม+ขยายกริยา เช่น เขารับประทานอาหารจีนด้วยตะเกียบอย่างคล่องแคล่ว
- ประโยคที่ใช้กริยาอาศัยส่วนเติมเต็ม ประกอบด้วย บทประธาน บทกริยา และบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม
- ประโยคที่ใช้กริยาช่วย ประกอบด้วย บทประธาน บทกริยาช่วย บทกริยา บทกรรม และบทประกอบกริยาหรือส่วนเติมเต็ม
สรุปใจความสำคัญได้ว่า ประโยค หมายถึงหน่วยหนึ่งของภาษา ที่มีความสมบูรณ์โดยเป็นการแทนความหมายของสภาพ จะประกอบด้วยสองส่วนเป็นอย่างน้อย คือภาคประธานและภาคแสดง การประกอบจะประกอบคำซึ่งมีสองคำหลักทำหน้าที่เป็นคำนามในภาคประธาน และคำกริยาในภาคแสดง โดยมากจะยึดหลักที่ว่า ประโยคสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยกริยาแท้อย่างน้อยหนึ่งตัว เช่น ฝนตกหนัก ฉันไปทำงาน เป็นต้น และประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปเมื่อนำมารวมกัน โดยมีสันธานเชื่อมจะเป็นประโยคความรวม และถ้าประโยคความเดียวที่มีส่วนขยายด้วยประโยคย่อยก็จะกลายเป็นประโยคความซ้อน นอกจากนี้การขยายส่วนต่าง ๆ ของประโยคด้วยคำ กลุ่มคำ และประโยค จะช่วยทำให้ประโยคมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม