เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนคงได้เรียนรู้หลักการผันวรรณยุกต์จากในห้องเรียนกันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังมีคำถาม หรือข้อสงสัย วันนี้เราจะมาเน้นย่ำในเรื่องการหลักการผันวรรณยุกต์ที่ถูกต้องกันอีกครั้ง เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า วรรณยุกต์จะช่วยให้พยัญชนะและสระที่ประสมกันแล้วมีเสียงสูงๆ ต่ำๆ ทำให้เกิดคำเพิ่มขึ้น
รู้หรือไม่ว่าวรรณยุกต์ เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการกำกับคำเพื่อให้มีระดับเสียงต่างกัน และช่วยทำให้คำมีความหมายมากขึ้น แตกต่างจากภาษาของชาติอื่นๆด้วย
รูปแบบการผันวรรณยุกต์ตามอักษร 3 หมู่
สำหรับอักษร 3 หมู่ หรือที่เรียกอีกอย่างว่าไตรยางศ์ คือ คือ ระบบการจัดหมวดหมู่อักษรไทย ตามลักษณะการผันวรรณยุกต์ ของพยัญชนะแต่ละหมวด เนื่องจากพยัญชนะไทยเมื่อกำกับด้วยวรรณยุกต์หนึ่งๆแล้วจะมีเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างกัน การจัดหมวดพยัญชนะทำให้การเรียนภาษาไทยง่ายขึ้น คำว่า ไตรยางศ์ มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า ตฺรยฺ (ไตร) ซึ่งแปลว่า สาม รวมกับ อํศ (องศ์) ซึ่งแปลว่า ส่วน ดังนั้น ไตรยางศ์ จึงแปลรวมกันได้ว่าว่า สามส่วน นั่นเอง ซึ่งประกอบไปด้วย
- อักษรสูง มี 11 ตัว ได้แก่ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
- อักษรกลาง มี 9 ตัว ได้แก่ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
- อักษรต่ำ มี 24 ตัว ได้แก่ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ
คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลาง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้
- คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ครบ 4 รูป 5 เสียง รูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกัน เช่น อา อ่า อ้า อ๊า อ๋า พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้ตรีเป็นเสียงตรี และผันด้วยไม้จัตวาเป็นเสียงจัตวา
- คำตาย ผันวรรณยุกต์ได้ 3 รูป 5 เสียง เริ่มด้วยเสียงเอก เช่น อะ อ้ะ อ๊ะ อ๋ะ คำ “อะ” เสียงเอกไม่มีรูปวรรณยุกต์
คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้
- คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ 2 รูป 3 เสียง ขัน ขั่น ขั้น พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงโท
- คำตาย ผันวรรณยุกต์ได้ 1 รูป 2 เสียง ขะ ข้ะ พื้นเสียงเป็นเสียงเอก ผันด้วยไม้โท เป็นเสียงโท
คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ ผันเสียงวรรณยุกต์ได้ดังนี้
- คำเป็น ผันวรรณยุกต์ได้ 2 รูป 3 เสียง คาน ค่าน ค้าน พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ ผันด้วยไม้เอก เป็นเสียงโท ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงตรี
- คำตาย สระเสียงยาว ผันได้ 2 รูป 3 เสียง คาด ค้าด ค๋าด พื้นเสียงเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้โทเป็นเสียงตรี ผันด้วยไม้จัตวา เป็นเสียงจัตวา
- คำตาย สระเสียงสั้น ผันได้ 2 รูป 3 เสียง คะ ค่ะ ค๋ะ พื้นเสียงเป็นเสียงตรี ผันด้วยไม้เอกเป็นเสียงโท ผันด้วยไม้จัตวาเป็นเสียงจัตวา
- อักษรคู่ ถ้าผันเสียงคู่กับอักษรสูงจะสามารถผันได้ครบ ๕ เสียง เช่น คา ข่า ค่า-ข้า ค้า ขา
- อักษรเดี่ยว เมื่อมี “ห” หรืออักษรสูง หรืออักษรกลางมานำจะผันเสียงได้ตามอักษรที่นำ เช่น หนา หน่า หน้า หรือคำว่า “ตลาด” จะอ่านว่า “ตะ-หลาด” ไม่ใช่ “ตะ-ลาด” เป็นต้น
ข้อสังเกตการณ์ผันเสียงวรรณยุกต์ ในอักษร 3 หมู่
- คำที่มีพยัญชนะต้น เป็นอักษรกลางและเป็นคำเป็น จะผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบทุกเสียง และรูปวรรณยุกต์กับเสียงวรรณยุกต์ตรงกันมากที่สุด
- คำที่มีเสียงวรรณยุกต์สามัญ มีเพียงคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางและอักษรต่ำคำเป็นเท่านั้น
- คำที่มีพื้นเสียงเป็นเสียงจัตวานั้น มีเฉพาะคำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง และ ห นำ อักษรเดี่ยว หรืออักษรสูงนำอักษรเดี่ยวคำเป็นเท่านั้น
- คำที่มีรูปและเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกันเลย ได้แก่คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำ คำตายเท่านั้น
- คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำคำตาย ระหว่างสระเสียงสั้นกับสระเสียง ยาว จะผันเสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ยกเว้นเสียงจัตวา
- คำที่ผันเสียงวรรณยุกต์ได้น้อยที่สุด คือ คำที่มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรสูงหรือ ห นำอักษรเดี่ยว หรืออักษรสูงนำอักษรเดี่ยว คำตาย
เทคนิคการจำ หลักการผันวรรณยุกต์แบบง่าย ๆ
- เสียงวรรณยุกต์ ไม่สามารถเกิดตามลำพัง จะเกิดพร้อมกับเสียงสระ
- เสียงสระเป็นเสียงก้อง จึงช่วยทำให้เสียงวรรณยุกต์เกิดระดับสูงต่ำคล้ายเสียงดนตรี ถ้าเส้นเสียงสั่นสะเทือนมาก จะมีเสียงสูง เส้นเสียงสั่นสะเทือนน้อย จะมีเสียงต่ำ
- เสียงวรรณยุกต์ ทำให้คำมีความหมายแตกต่างกันออกไป เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า, เสือ เสื่อ เสื้อ
- วรรณยุกต์ มี 5 เสียง 4 รูป
- วรรณยุกต์ จำแนกตามลักษณะการใช้ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ วรรณยุกต์มีรูป และ วรรณยุกต์ไม่มีรูปวรรณยุกต์มีรูป ได้แก่ คำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์คำนั้นๆ เช่น ไก่ ได้ จ้ะ เอ๋ วรรณยุกต์ไม่มีรูป ได้แก่ คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ปรากฏอยู่บนคำนั้น เช่น กา (สามัญ) จะ (เอก) ถะ (เอก) โมก (โท) คะ(ตรี) ขะ (จัตวา)
- นักภาษาศาสตร์แบ่งวรรณยุกต์เป็น 2 กลุ่ม คือ
- วรรณยุกต์ระดับ (Level tone) คือ วรรณยุกต์ที่มีความถี่ของเสียงค่อนข้างคงที่ตลอดพยางค์ ได้แก่ วรรณยุกต์สามัญ (หน่วยเสียงวรรณยุกต์ระดับกลาง)
วรรณยุกต์เอก (หน่วยเสียงวรรณยุกต์ระดับต่ำ)
วรรณยุกต์ตรี (หน่วยเสียงวรรณยุกต์ระดับสูง)
- วรรณยุกต์เปลี่ยนระดับ (Contour tone) คือ วรรณยุกต์ซึ่งมีระดับความถี่ของเสียงเปลี่ยนแปลงมากในช่วงพยางค์หนึ่งๆ ได้แก่
วรรณยุกต์โท เปลี่ยนระดับจากสูงลงต่ำ (หน่วยเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนตก)
วรรณยุกต์จัตวา เปลี่ยนระดับจากต่ำขึ้นสูง (หน่วยเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนขึ้น)
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม