ในบทเรียนรายวิชาภาษาไทย เชื่อว่าทุกคนต้องได้พบเจอกับเนื้อหาเรื่องคำราชาศัพท์ กันอย่างแน่นอน หลายคนคงสงสัยว่าคำราชาศัพท์จะนำไปใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์เท่านั้นหรือไม่ แต่จริงๆแล้วรูปแบบของคำราชาศัพท์หรือคำสุภาพสามารถใช้ได้กับคนหลากหลายระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ พระสงฆ์ หรือคนที่มียศฐาบรรดาศักดิ์สูง แต่ต้องบอกเลยว่าแต่ละระดับจะมีการใช้คำที่แตกต่างกัน หากวันนี้คุณกำลังต้องการที่จะศึกษาความรู้ในเรื่องของคำราชาศัพท์ไทย เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับรูปแบบของคำราชาศัพท์ที่ใช้กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงใช้กันอยู่ และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่นักเรียนในโรงเรียนจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ เพราะเราอาจมีโอกาสได้ใช้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้นถ้าวันนี้คุณมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการใช้คำราชาศัพท์ที่ถูกต้อง ก็จะทำให้คุณสามารถสื่อความหมายได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม
ตามที่หลายคนคิดว่าคำราชาศัพท์เป็นเรื่องของในรั้วในวัง เป็นเรื่องของผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเท่านั้น ซึ่งทำให้คิดต่อไปอีกว่า การใช้คำราชาศัพท์เป็นเรื่องยากซึ่งเมื่อก่อนอาจเป็นจริง เพราะโอกาสที่จะเรียนรู้หรือใช้งานไม่บ่อยครั้งในปัจจุบัน แต่ปัจจุบันคำราชาศัพท์เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว แม้มิได้ใช้มากเท่ากับภาษาสามัญที่ใช้อยู่ในการดำรงชีวิตประจำวันแต่ทุกคนโดยเฉพาะผู้มีการศึกษาก็ต้องมีโอกาสที่จะสัมผัสกับคำราชาศัพท์ทุกวันอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่นการรับชมข่าวพระราชสำนัก ที่มีการใช้คำราชาศัพท์ในการนำเสนอข่าว แล้วถ้าคุณมีความรู้ความเข้าใจว่าแต่ละคำสื่อความหมายว่าอย่างไร ก็จะทำให้คุณได้รับข่าวสารจากการนำเสนอข่าวพระราชสำนักได้อย่างชัดเจน
ความหมายของคำราชาศัพท์ไทย
เมื่อรู้ถึงความสำคัญของการเรียนรู้คำราชาศัพท์ไทยแล้ว จากคำที่กล่าวมาข้างต้น แล้วน้องๆรู้หรือไม่ว่าคําราชาศัพท์ หมายถึงอะไรกันแน่ จริงๆแล้วคําราชาศัพท์ก็คือถ้อยคําสุภาพไพเราะที่ใช้ให้เหมาะกับฐานะของบุคคลในสภาพสังคมไทย ซึ่งถือหลักแบ่งตามวัยวุฒิ คุณวุฒิและชาติวุฒิ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระบรมวงศานุวงศ์ พระภิกษุสงฆ์ ขุนนาง ข้าราชการ และสุภาพชน บุคคลในกลุ่มที่ 1 และ 2 จะใช้ราชาศัพท์ชุดเดียวกัน เช่นเดียวกับบุคคลในกลุ่มที่ 4 และ 5 ก็ใช้คำราชาศัพท์ในชุดเดียวกันและเป็นคำราชาศัพท์ที่เราใช้อยู่เป็นประจำในสังคมมนุษย์เราถือว่าการให้เกียรติแก่บุคคลที่เป็นหัวหน้าชุมชน ดังนั้นเราจึงต้องใช้คำให้ถูกกับชนชั้นของคนที่เรากำลังจะสื่อสารด้วย หรือแม้จะเป็นการกล่าวถึงบุคคลเหล่านั้นก็ต้องคำนึงถึงชาติวุฒิเช่นกัน เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างราบรื่นและถูกต้องตามความเหมาะสม
คำศัพท์สำหรับพระราชา เป็นภาษาที่กำหนด และตกแต่งขึ้นให้สุภาพ และเหมาะสม เพื่อใช้พูดถึง หรือพูดกับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ปัจจุบันนี้หมายถึง คำสุภาพที่ใช้กับบุคคลที่ควรเคารพ การรู้เรื่องคำราชาศัพท์เป็นการเรียนรู้ในการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามกาลเทศะ และฐานะของบุคคล ซึ่งถ้าจะถามว่าการบัญญัติคำราชาศัพท์มีมาตั้งแต่ยุคสมัยไหน ก็คงจะเป็นคำตอบที่หาได้ยาก อาจคงเริ่มต้นตั้งแต่ในสมัยที่มีพระมหากษัตริย์ในแผ่นดินของเรา แต่คำที่ได้รับการบัญญัติและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ ก็ได้รับการบัญญัติไว้ในพจนานุกรมตามหลักของภาษาไทย เพื่อเป็นแบบแผนให้ทุกคนได้เข้าใจในความหมายที่ไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง
สำหรับการสื่อสารของคนไทยสามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายๆได้ดังนี้ เกิดขึ้นตามลักษณะของความเป็นอยู่ในกลุ่มคนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้าน ขุนนาง หรือกลุ่มเชื้อพระวงศ์ ก็มีชุมชนเป็นของตัวเอง ทำให้เกิดการสื่อสารในกลุ่มชุมชนเดียวกัน ซึ่งถ้ากลุ่มชาวบ้านจะกล่าวถึงเชื้อพระวงศ์ก็จะต้องใช้คำเฉพาะหรือคำที่เราเรียกกันว่าคำราชาศัพท์ เพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติ ผู้ที่เราได้กล่าวถึง ถ้าวันนี้คุณยังนึกไม่ออกว่าคำราชาศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วเป็นคำที่เราได้พบเจอกันบ่อยๆจะมีอะไรบ้าง วันนี้เรามีตัวอย่างคําราชาศัพท์ใน 5 หมวดของชีวิตประจำวัน มานำเสนอให้กับทุกคน เพื่อให้คุณมองเห็นความสำคัญและรู้จักที่จะใช้คำที่ถูกต้องในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น เพราะอย่างที่เราได้บอกไปแล้วข้างต้นว่าในปัจจุบันนี้คำราชาศัพท์เราสามารถที่จะเข้าถึงได้ผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน
ตัวอย่าง 5 คำราชาศัพท์ ใน 5 หมวดหมู่
คนไทยเริ่มใช้คำราชาศัพท์ในรัชสมัยพระธรรมราชาลิไท พระร่วงองค์ที่ 5 แห่งสุโขทัย เพราะศิลาจารึกต่างในแผ่นดินนั้น รวมทั้งบทพระราชนิพนธ์ของท่าน คือ ไตรภูมิพระร่วง ปรากฏว่ามีคำราชาศัพท์อยู่หลายคำ เช่น ราชอาสน์ พระสหาย สมเด็จ ราชกุมาร เสด็จ บังคม เสวยราชย์ ราชาภิเศก รวมถึงคำอื่น ๆ อีกมากมายดังที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้เลย
- คำราชาศัพท์ หมวด ร่างกาย
- มือ เรียกว่า พระหัตถ์
- หัวใจ เรียกว่า พระหทัย
- ศีรษะ เรียกว่า พระเศียร
- เท้า เรียกว่า พระบาท
- ดวงตา เรียกว่า พระเนตร
- คำราชาศัพท์ หมวด อาหาร
- ของคาว เรียกว่า เครื่องคาว
- ของหวาน เรียกว่า เครื่องหวาน
- ข้าว เรียกว่า พระกระยาหาร
- ขนมตาล เรียกว่า ขนมทองฟู
- ขนมจีน เรียกว่า ขนมเส้น
- คำราชาศัพท์ หมวด เครือญาติ ราชตระกูล
- พ่อ เรียกว่า พระชนกหรือพระราชบิดา
- แม่ เรียกว่า พระชนนีหรือพระราชมารดา
- พี่ชาย เรียกว่า พระเชษฐา
- น้องสาว เรียกว่า พระขนิษฐา
- ย่า / ยาย เรียกว่า พระอัยยิกา
- คำราชาศัพท์ หมวด กริยาอาการ
- คำพูด เรียกว่า พระราชดำรัส
- ไอ เรียกว่า ทรงพระกาสะ
- แต่งหนังสือ เรียกว่า ทรงพระราชนิพนธ์
- ลงลายมือชื่อ เรียกว่า ทรงพระปรมาภิไธย
- ไปเที่ยว เรียกว่า เสด็จประพาส
- คำราชาศัพท์ หมวด เครื่องใช้
- หมอน เรียกว่า พระเขนย
- ประตู เรียกว่า พระทวาร
- หน้าต่าง เรียกว่า พระบัญชร
- ช้อน ส้อม เรียกว่า ฉลองพระหัตถ์ช้อน ฉลองพระหัตถ์ส้อม
- โต๊ะเขียนหนังสือ เรียกว่า โต๊ะทรงพระอักษร
ตั้งแต่สมัยโบราณมา คนไทยได้ติดต่อกับคนต่างชาติต่างภาษามากมาย ในบรรดาภาษาทั้งหลายเหล่านั้น มีบางภาษาที่เรายกย่องกันว่าเป็นภาษาสูงและศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็ได้แก่ ภาษาเขมร บาลี และสันกฤต ภาษาอื่นๆก็นำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์บ้าง แต่ก็ไม่มากและสังเกตได้ชัดเจนเท่า 3 ภาษาที่กล่าวแล้ว คำราชาศัพท์มิได้มีที่มาจากภาษาไทยภาษาเดียว ด้วยว่าการใช้คำราชาศัพท์เป็นการใช้ด้วยตั้งใจ จะทำให้เกิดความรู้สึกยกย่อง เทิดทูน จึงได้เจาะจงรับคำในภาษาต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยมาใช้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาษาที่นับถือกันว่าเป็นภาษาสูงและศักดิ์สิทธิ์ คำราชาศัพท์ส่วนใหญ่จึงมีที่มาจากภาษาต่างประเทศมากมาย อย่างไรก็ตามก็ยังมีคำราชาศัพท์จำนวนไม่น้อยที่ใช้คำภาษาไทยแท้ ซึ่งเป็นคำสามัญยกระดับขึ้นเป็นคำราชาศัพท์ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าคำราชาศัพท์นั้นมีที่มาจากทั้งภาษาต่างประเทศและภาษาไทยของเราเอง
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม