รู้หรือไม่ว่าภาษาเขียน ที่เรามีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นตัวเขียนที่ได้รับการพัฒนาสืบทอดมาจาก ลายสือไทย หรือเรารู้จักกันในชื่อ อักษรไทยนั่นเอง
ซึ่งเป็นอักษณที่พ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อช่วงราวปีพ.ศ. 1826 หลังจากที่คนไทยรวมตัวกันอยู่เป็นเมืองแล้ว มีเมืองเป็นของตนเอง และมีการปกครองตนเองเรียบร้อยแล้ว ในยุคนั้นการจารึกเรื่องราวของกษัตริย์ลงบนแผ่นศิลา นับเป็นประเพณีนิยมที่กระทำกันทั่วไป กษัตริย์ขอม กษัตริย์พม่า กษัตริย์มอญ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรใกล้เคียงกับไทย ต่างก็มีจารึกเกี่ยวกับเรื่องราวของกษัตริย์ เช่น เรื่องพระนามของกษัตริย์ เมื่อขึ้นครองราชย์ การทำนุบำรุงศาสนา และเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองที่สำคัญ
และในปัจจุบันนี้มีพยัญชนะ 44 รูป สระ 21 รูป วรรณยุกต์ 4 รูป และเครื่องหมายอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง พยัญชนะไทยจะเรียงตัวไปตามแนวนอน จากซ้ายไปขวา ส่วนสระจะอยู่หน้า บน ล่าง และหลังพยัญชนะประกอบคำแล้วแต่ชนิดของสระ
พยัญชนะภาษาไทย 44 ตัว
ลำดับ | ตัวอักษร |
1 | ก |
2 | ข |
3 | ฃ |
4 | ค |
5 | ฅ |
6 | ฆ |
7 | ง |
8 | จ |
9 | ฉ. |
10 | ช |
11 | ซ |
12 | ฌ |
13 | ญ |
14 | ฎ |
15 | ฏ |
16 | ฐ |
17 | ฑ. |
18 | ฒ |
19 | ณ |
20 | ด |
21 | ต |
22 | ถ |
23 | ท |
24 | ธ |
25 | น. |
26 | บ |
27 | ป |
28 | ผ |
29 | ฝ |
30 | พ |
31 | ฟ |
32 | ภ |
33 | ม. |
34 | ย |
35 | ร |
36 | ล |
37 | ว |
38 | ศ |
39 | ษ |
40 | ส |
41 | ห. |
42 | ฬ |
43 | อ |
44 | ฮ. |
รู้จักที่มาของอักษรไทย ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
อักษรไทย หรือ ลายสือไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น มีพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายวรรณยุกต์ ซึ่งแตกต่างไปจากตัวอักษรของเพื่อนบ้านของเรา ตรงที่ภาษาไทยมีเครื่องหมายวรรณยุกต์ใช้ เพราะเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ แต่ตัวอักษรของเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเรา ไม่มีเครื่องหมายเหล่านี้
พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ 3 ของอาณาจักรสุโขทัย เป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1826หลังจากที่คนไทยรวมตัวกันเป็นบ้านเมือง และมีพระเจ้าแผ่นดินของตนเองแล้ว ในสมัยนั้นชาวเขมร ชาวพม่า และชาวมอญ ที่อยู่ใกล้เคียงกับคนไทย มีการ ปกครองตนเอง และมีอักษรเป็นของตัวเองใช้แล้ว และเพื่อนบ้านเหล่านี้ ล้วนมีจารึกเกี่ยวกับบ้านเมืองของตนเอง เขียนด้วยภาษาของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อคนไทยมีบ้านเมือง และมีการปกครองเป็นของตนเอง ก็จำเป็นที่จะต้องมีภาษาเขียนของตัวเองด้วย เพื่อให้มีฐานะเท่าเทียมกับเพื่อนบ้าน พ่อขุนรามคำแหงจึงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ไว้ให้ชาวไทยใช้เขียนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ
นับจนถึงปัจจุบันภาษาเขียน และตัวอักษรของไทยเรา มีอายุมากกว่า 700 ปีแล้ว ถ้าเราเปรียบเทียบลักษณะการเขียนตัวอักษรของภาษาไทย สมัยสุโขทัยกับสมัยปัจจุบัน จะเห็นว่า ต่างกันมาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งวิธีการเขียน และลักษณะตัวอักษร ในสมัยสุโขทัย การเขียน หรือ “การจารึก” ที่เหลืออยู่ให้เราเห็นได้นั้น ทำลงบนแผ่นหิน ลักษณะตัวอักษรจึงเป็นคนละแบบกับปัจจุบัน ต่อมาในสมัยอยุธยามีการเรียนการสอนภาษาไทย และปรากฏว่า มีกระดาษใช้แล้ว มีตำราสอนภาษาไทยชื่อ จินดามณี จึงมี “การเขียน” ด้วยมือลงบนกระดาษที่ทำด้วยมือ จึงทำให้ตัวอักษรต่างไปจากที่จารึกบนแผ่นศิลา เพราะเขียนด้วยดินสอ หรือปากกา ต่อมาก็ใช้ตัวพิมพ์ พิมพ์ด้วยเครื่อง ตัวหนังสือในสมัยปัจจุบันนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวเขียนสมัยอยุธยา แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว
พยัญชนะไทยที่ใช้อยู่ในยุคปัจจุบัน มี 44 ตัว
พยัญชนะไทยที่เราได้ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ มีทั้งหมด 44 ตัวด้วยกัน ซึ่งพยัญชนะไทยเป็นเครื่องหมายหรือตัวอักษร ก – ฮ จะใช้แทนเสียงพยัญชนะในภาษาไทย เพื่อนำไปประกอบเป็นคำที่มีความหมายสำหรับใช้สื่อสารภาษาเขียน นำมาสู่ภาษาพูดในการออกเสียงต่าง ๆ
เสียงของพยัญชนะ หมายถึง เสียงที่เปล่งออกมา โดยจะแตกต่างกันออกไปตามการถูกสกัดกั้นด้วยอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำให้ได้เสียงที่หลากหลาย พยัญชนะไทยจะอ่านและเขียนโดยเรียงจากซ้ายไปขวา ขณะที่สระอาจวางอยู่ด้านหน้า หลัง บน หรือ ล่างพยัญชนะเพื่อประกอบเป็นคำ ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของสระนั่นเอง
เรียกได้ว่าพยัญชนะไทยเป็นองค์ประกอบของอักษรไทย เพราะอักษรไทยประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ พยัญชนะ ,สระ และวรรณยุกต์ ดังกล่าวข้างต้น โดยทั้ง 3 ส่วนทำหน้าที่ต่างกัน และเมื่อนำ 3 ส่วนนี้มาผสมเข้าด้วยกันจะเกิดเป็นพยางค์ หลายๆ พยางค์จะเกิดเป็นคำ หลายๆ คำก็จะเกิดเป็นประโยคในที่สุด
การจัดหมวดหมู่พยัญชนะไทย 3 หมวด ตามรูปพยัญชนะ หรือเรียกว่า ไตรยางศ์
พยัญชนะไทยแบ่งออกเป็น 3 หมู่ หรือที่รู้จักกันว่า “ไตรยางศ์” ทั้งนี้ ไตรยางศ์ คือ ระบบการจัดหมวดหมู่อักษรไทยโดยรูปพยัญชนะ ตามลักษณะการผันวรรณยุกต์ของพยัญชนะแต่ละหมวด โดยยึดเอาพื้นเสียงของพยัญชนะที่ยังไม่ได้ผันวรรณยุกต์เป็นเกณฑ์ โดยเสียงวรรณยุกต์ หมายถึง ระดับเสียงสูงต่ำของคำในภาษาไทย มี 5 เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี เสียงจัตวา การจัดหมวดหมู่เพื่อแบ่งพยัญชนะไทยออกเป็น 3 หมู่ตามไตรยางศ์ คือ อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ มาดูกันว่าอักษร 3 หมู่ที่ถูกจำแนกประเภทตามรูปพยัญชนะมีอะไรกันบ้าง
- หมวดหมู่ที่ 1 อักษรสูง ประกอบไปด้วยพยัญชนะ ๑๑ ตัว ได้แก่ ผ ฝ ฐ ถ ข ฃ ศ ษ ส ห ฉ
เคล็ดลับวิธีการจำ : ผี ฝาก ถุง ข้าว สาร ให้ ฉัน
- หมวดหมู่ที่ 1 อักษรกลาง ประกอบไปด้วยพยัญชนะ ๙ ตัว คือ ก จ ฎ ด ฏ ต บ ป อ
เคล็ดลับวิธีการจำ : ไก่ จิก เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง
- หมวดหมู่ที่ 1 อักษรต่ำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ต่ำเดี่ยวและต่ำคู่ โดยต่ำคู่ประกอบไปด้วยพยัญชนะ ๑๔ ตัว ได้แก่ พ ภ ค ฅ ฆ ฟ ฑ ฒ ท ธ ซ ช ฌ ฮ และ อักษรต่ำเดี่ยว ประกอบไปด้วยพยัญชนะ ๑๐ ตัว ได้แก่ ง ญ น ย ณ ร ว ม ฬ ล
เคล็ดลับวิธีการจำ : พ่อค้าฟันทองซื้อช้างฮ่อ , งูใหญ่นอนอยู่ ณ ริมวัดโมฬีโลก
สรุปพยัญชนะไทย
มนุษย์เราใช้ภาษาเขียน และตัวอักษร จดบันทึกสะสมเรื่องและความคิดต่างๆ ไว้มากมาย คนในปัจจุบันสามารถอ่านและเรียนรู้ถึงความคิดของคนสมัยก่อนได้ สามารถคิดและทำสิ่งต่างๆ ต่อจากที่คนอื่นคิดเริ่มต้นไว้แล้วได้ การที่มนุษย์เรามีความรู้มาก จนต้องมีโรงเรียน และมหาวิทยาลัยไว้ สำหรับเรียนและสอนความรู้ทางวิชาการ ก็เพราะมีภาษาเขียนบันทึกความรู้ไว้ การที่นักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาใช้ได้ เช่น เครื่องบิน เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือทำให้มนุษย์เดินทางไปในอวกาศได้ ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้อ่านได้เรียนรู้ถึงความคิด และผลของการศึกษาหาความรู้ของคนรุ่นก่อนๆ จากที่ภาษาเขียนบันทึกไว้
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม