หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า บทร้อยกรอง กันมานาน แล้วรู้หรือไม่ว่า บทร้อยกรอง คืออะไร มีลักษณะอย่างไร วันนี้เราจะมาพาทุกคนไปทำความเข้าใจในเนื้อหาของ บทร้อยกรอง ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ.2525 ได้มีการให้ความหมายของ บทร้อยกรอง เอาไว้ว่า คือ การสอดผูกให้ติดกัน ประดิษฐ์คำ แต่งหนังสือดีให้มีความไพเราะ ร้อยและเย็บดอกไม้ให้เป็นรูปต่าง ๆ ซึ่งร้อยกรองเป็นงานเขียนที่ต้องใช้ความสามารถในการเลือกภาษาแล้วจัดวางตำแหน่งถ้อยคำให้เหมาะสม ประกอบกับการฝึกบ่อยจนเกิดทักษะ
ทั้งนี้เนื่องจากการเขียนร้อยกรองนั้นใช้คำได้เท่าที่ฉันทลักษณ์กำหนด ทั้งยังอาจเลยไปถึงการกำหนดคำตามเสียง รูปวรรณยุกต์ และการกำหนดสัมผัสจึงเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับนักเขียนมือใหม่ แต่ขอบอกไว้ว่า เมื่อลองเขียนคำประพันธ์ชนิดใดก็ตามได้ด้วยตนเองสักบทหนึ่ง จะพบว่าร้อยกรองเป็นเรื่องไม่ยากและงดงามกว่า ให้ความหมายกว้างและลึกซึ้งกว่าการเขียนร้อยแก้วมากมายนัก และในปัจจุบันนี้ บทร้อยกรอง ก็ยังคงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
หลักการอ่านบทร้อยกรองที่ถูกต้อง
การอ่านออกเสียงร้อยกรอง เป็นการอ่านที่มุ่งให้เกิดความเพลิดเพลินซาบซึ้งในรสของคำประพันธ์ ซึ่งจะต้องอ่านอย่างมีจังหวะ ลีลา และท่วงทำนองตามลักษณะคำประพันธ์เเต่ละชนิด ซึ่งการอ่านมี 2 แบบคือ อ่านออกเสียงธรรมดา เป็นการอ่านออกเสียงพูด ตามปกติเหมือนกับอ่านร้อยแก้ว แต่มีจังหวะวรรคตอน และการอ่านเป็นทำนองเสนาะ เป็นการอ่านมีสำเนียงสูง ต่ำ หนัก เบา ยาว สั้นเป็นทำนองเหมือนเสียงดนตรี มีการเอื้อนเสียง เน้นสัมผัส ตามจังหวะ ลีลาและท่วงทำนองตามลักษณะบังคับของบทประพันธ์ให้ชัดเจนเหมาะสม หลักในการอ่านมีดังต่อไปนี้
- ศึกษาลักษณะบังคับของคำประพันธ์ เช่น การเเบ่งจังหวะจำนวนคำสัมผัสเสียง วรรณยุกต์ เสียงหนักเบา เป็นต้น
- อ่านให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับของคำประพันธ์
- อ่านออกเสียง ร ล คำควบกล้ำให้ชัดเจน
- อ่านออกเสียงดังให้ผู้ฟังได้ยินทั่วถึง ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป
- คำที่รับสัมผัสกันต้องอ่านเน้นเสียงให้ชัดเจน ถ้าเป็นสัมผัสนอกต้องทอดเสียงให้มีจังหวะยาวกว่าธรรมดา
- มีศิลปะในการใช้เสียง เอื้อนเสียง และทอดจังหวะให้ช้าจนจบบท
ลักษณะของบทร้อยกรองที่ดี เป็นอย่างไร
อย่างที่รู้กันดีว่า บทร้อยกรอง ถือเป็นมรดกทางภาษาที่คนไทยควรภาคภูมิใจ และอนุรักษ์ไว้ร้อยกรองมีลักษณะบังคับที่เรียกว่า “ฉันทลักษณ์” มีความแตกต่างกันตามลักษณะของร้อยกรองทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย การแต่งจะต้องถูกต้องตามหลัก ฉันทลักษณ์ ที่มีความเฉพาะในแต่ละประเภทของบทร้อยกรองนั้น ๆ ต้องมีความไพเราะ ความหมายครบถ้วน ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในเนื้อความนั้นได้
บทร้อยกรองคำสอน จากผลงาน 3 เรื่อง ของสุนทรภู่
สำหรับบทร้อยกรองที่เป็นคติสอนใจ ต้องยกให้บทร้อยกรองของกวีเอกของไทยอย่าง สุนทรภู่เลย เป็นคติสอนใจที่สอดแทรกอยู่ในบทละครหลาย ๆ เรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้เลย
บทร้อยกรอง จากนิราศภูเขาทอง
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”
กลอนนี้สอนเรื่อง : คำพูด เมื่อพูดออกไปแล้วไม่สามารถนำกลับมาได้ ดังนั้นจะพูดจะจาอะไรให้คิดก่อน
บทร้อยกรอง จากเรื่องพระอภัยมณี
เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล
กลอนนี้สอนเรื่อง : ความรัก เมื่อยามที่เรารักกันอะไรก็ดีไปหมด แต่เมื่อหมดรักต่อให้จะทำอะไรก็ไม่ดี
บทร้อยกรอง จาก เพลงยาวถวายโอวาท
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ”
กลอนนี้สอนเรื่อง : ไม่มีความหวานใดๆ จะสร้างความพึงพอใจให้กับคนเรา ได้เท่ากับคำพูดหวานหูเพียงไม่กี่คำ และ ไม่มีอาวุธใด ที่จะฆ่าคนให้ตายทั้งเป็น ได้เท่ากับคำพูดเพียงไม่กี่คำเช่นกัน
รวมบทร้อยกรองสมัยใหม่ สะท้อนสังคมในยุคปัจจุบัน
วันนี้เราได้รวบรวมผลงานเขียนจากบันทึกที่มีอยู่อย่างหลากหลายในชุมชนออนไลน์ ที่ได้บอกเล่า ผ่านความงามของภาษา แทรกความรู้ที่ผู้แต่งสะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งในแนวที่ปลุกจิตสำนึก แก่คนในสังคม เกิดความรักชาติ รักโลก และมอบความรัก ให้กันและกัน ยังบอกเล่าความรู้สึกในใจแทรกไว้ ให้เห็นแนวคิด สะกิดใจผู้อ่าน ซึ่งบทร้อยกรองที่เราจะนำเสนอใรนวันนี้ก็คือ เรื่องรางของผู้พิการ ที่มีใจไม่พิการ
เกิดมามีชีวิตต้องคิดสู้ ดำรงอยู่ด้วยหัวใจไม่ยอมแพ้
ถึงตรำตรากบากบั่นอย่าผันแปร ยอมคุกเข่าท้อแท้ทำไมกัน
ยังมีใครต่อใครในโลกมืด อยู่กับความจืดชืดสิ้นสีสัน
เห็นด้วยจินตนาการมานานวัน ได้สุขสันติ์ อยู่กับ ศัพท์สำเนียง
ยังมีใครต่อใครในโลกเงียบ กับเรื่องราวราบเรียบไร้สุ้มเสียง
มิอาจเอ่ยอธิบายคำร่ายเรียง สัมผัสเพืยงความหมายด้วยสายตา
ยังมีใครต่อใครในโลกนิ่ง หมดทางวิ่งเคลื่อนไหวและไขว่คว้า
ได้แค่ฟังได้แค่ดูด้วยหูตา สิ้นแขนขาแต่ก็ยังหวังก้าวไป
ยังมีคนยิ้มรับโลกสับสน คิดอะไรวกวนปนสงสัย
ง่ายแสนง่ายแต่ว่าเขาไม่เข้าใจ ก็ยังไม่เป็นปัญหาหวั่นอาวรณ์
เกิดมามีร่างกายไร้ทางเลือก
เป็นเหมือนเปลือกภายนอกไว้หลอกหลอน
จะทุกข์ท้อทำไมให้ร้าวรอน
ยิ้มสู้ก่อน ก็หัวใจ ไม่พิการ
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม