รู้หรือไม่ว่า คำวิเศษณ์คือคำที่ทำหน้าที่ขยายทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นขยายคำนาม ขยายคำสรรพนาม ขยายคำกริยา หรือแม้กระทั่งขยายคำวิเศษณ์ด้วยกันเอง โดยเพื่อให้เกิดความชัดเจนในประโยคนั่นเอง การจะใช้รูปประโยคภาษาไทย ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ก็ต้องมีคำวิเศษณ์เข้ามาช่วยเป็นส่วนขยายนั่นเอง เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยเรียนเรื่องชนิดของคำในภาษาไทยกันมาบ้าง ซึ่งมนุษย์เราที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันเพื่อให้ รู้ความต้องการและเข้าใจความรู้สึกนึกคิด ของกันและกัน การติดต่อสื่อสารกันทำได้หลายทาง แต่ทางที่สำคัญที่สุด คือ ทางการพูดและการเขียนข้อความที่ผู้พูดหรือผู้เขียนกล่าวออกไปจะยืดยาวเพียง ใด ข้อความนั้นอาจจะแบ่งเป็นช่วง ๆ ได้ ช่วงของข้อความที่บรรจุความคิดที่สมบูรณ์ หรือ ข้อความอันบริบูรณ์ช่วงหนึ่งเรียกว่าประโยคในแต่ละประโยคจะมีการใช้คำ ในประโยค แตกต่างกันออกไปตามความหมายและหน้าที่ของคำในประโยคนั่นเอง วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับคำขยายความในรูปประโยค หรือที่เราเรียกว่า คำวิเศษณ์ นั่นเอง
ชนิดของคำในภาษาไทย แบ่งได้ 7 ชนิด
- คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ รวมทั้งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม เช่น เด็ก พ่อ แม่ นก ช้าง บ้าน โรงเรียน ความดี ความรัก
- คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามที่ผู้พูดหรือผู้เขียนได้กล่าวแล้ว หรือเป็นที่เข้าใจกันระหว่างผู้ฟังและผู้พูด เพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามซ้ำ
- คำกริยา คือ คำแสดงอาการของนาม สรรพนาม แสดงการกระทำของประโยค เช่น เดิน วิ่ง เรียน อ่าน นั่ง เล่น เป็นต้น
- คำอุทาน คือคำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูด ซึ่งอาจเปล่งออกมาในขณะที่ตกใจ ดีใจ เสียใจ ประหลาดใจ คำอุทานส่วนมากไม่มีความหมายตรงตามถ้อยคำ แต่จะมีความหมายเน้นความรู้สึก และอารมณ์ของผู้พูดเป็นสำคัญ
- คำบุพบท คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคำหนึ่งหรือกลุ่มคำหนึ่งให้สัมพันธ์กับคำอื่น หรือกลุ่มคำอื่น เพื่อแสดงความหมายต่าง ๆ เช่น ความเป็นเจ้าของ ลักษณะ เหตุผล เวลา สถานที่ ประมาณ ความต้องการ เปรียบเทียบ ฯลฯ ได้แก่ คำ ใน แก่ แต่ ต่อ สำหรับ โดย ด้วย ของ แห่ง ใกล้ ไกล
- คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยคข้อความกับข้อความ หรือ ความให้สละสลวย ได้แก่ คำ และ หรือ แต่ เพราะ
- คำวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น
หน้าที่ของคำวิเศษณ์ ที่ควรรู้ และใช้ให้ถูกหลักในภาษาไทย
ภาษามีความสำคัญต่อมนุษย์มาก เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแล้ว ยังเป็น เครื่องมือ
ของการเรียนรู้ การพัฒนาความคิดของมนุษย์และเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรมและการ ประกอบอาชีพที่สำคัญ ภาษาช่วยเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติอีกด้วย เพราะภาษาเป็นถ้อยคำที่ใช้ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจกันในสังคม ภาษาจึงมีประโยชน์มากมาย และคำวิเศษณ์ คือคำที่ใช้ประกอบหรือขยายคำนาม สรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์เพื่อให้ได้ใจความชัดเจนและละเอียดมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งหน้าที่ของคำวิเศษณ์มีดังต่อไปนี้
- คำวิเศษณ์ขยายคำนาม เช่น คนอ้วนกินข้าวเยอะ, นักเรียนหลายคนเล่นฟุตบอล
- คำวิเศษณ์ขยายคำสรรพนาม เช่น พวกเธอทั้งหมดช่วยกันขนของ, ฉันเองที่ทำเรื่องไม่ดีแบบนี้
- คำวิเศษณ์ขยายกริยา เช่น ครูสอนศิลปะวาดรูปสวย, พี่สาวร้องเพลงไพเราะ
- คำวิเศษณ์ขยายคำวิเศษณ์ เช่น ลายมือของเขาสวยมากจริงๆ, บ้านหลังนั้นสวยสุดๆ ไปเลย
- คำวิเศษณ์ที่เป็นตัวแสดงในภาคแสดง เช่น เธอสูงกว่าคนอื่นๆ, อาหารจานนี้อร่อย
มาทำความรู้จักกับ 10 ประเภทของคำวิเศษณ์ ในภาษาไทย
- ลักษณะวิเศษณ์ หมายถึง คําวิเศษณ์บอกอาการ โดยจะบอกลักษณะต่างๆ เช่น สี ชนิด ขนาด รูปทรง กลิ่น รส ความรู้สึกต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถืออยู่ในกระเป๋าสะพายสีดำ
- กาลวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์บอกเวลา เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น วันนี้ เมื่อวาน ปัจจุบัน อดีต อนาคต เป็นต้น เช่น พรุ่งนี้เป็นวันเกิดของพ่อ
- สถานวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์บอกสถานที่ เช่น เหนือ ใต้ กลาง ออก ตก ซ้าย ขวา บน ล่าง เป็นต้น แมวนอนอยู่ใต้โต๊ะ
- ประมาณวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์บอกจำนวน หรือปริมาณ เช่น ตัวเลข มาก น้อย หลาย เยอะ บ่อยๆ เป็นต้น สมชายแอบงีบหลับในห้องเรียนอยู่บ่อยๆ
- ประติเษธวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์ที่แสดงความปฏิเสธ เช่น ไม่ ไม่ใช่ ไม่ได้ เป็นต้น เช่น ทั้งสองคนไม่ได้รักกัน
- ประติชญาวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์ที่ใช้แสดงการขานรับ เช่น ครับ ค่ะ เป็นต้น เช่น รับทราบครับ ผมจะทำตามคำสั่งเดี๋ยวนี้
- นิยมวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ เช่น โน่น นี่ นั่น นั้น เป็นต้น เช่น ผู้ชายคนนั้นเคยก่อคดีลักทรัพย์มาก่อน
- อนิยมวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์ที่บอกความไม่ชี้เฉพาะ เช่น ใคร ไหน อะไร เป็นต้น เช่น เขาอยากซื้อผลไม้ชนิดใดก็ได้ในตลาด
- ปฤจฉาวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์แสดงคำถาม และความสงสัย เช่น อะไร อย่างไร ทำไม เมื่อไหร่ เท่าไร เป็นต้น เช่น คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ซื้อมาราคาเท่าไร?
- ประพันธวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์ที่เชื่อมคำ หรือประโยคให้มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น ที่ ซึ่ง อัน เพื่อให้ เป็นต้น พ่อปลูกต้นไม้เพื่อให้มีร่มเงาในบริเวณบ้าน
มนุษย์เรียนรู้ภาษาจากบุคคลที่แวดล้อม เริ่มต้นจากการฟังคนใกล้ชิดพูด จากนั้นจึงเลียนแบบเสียงพูด มนุษย์ฝึกพูดมาตั้งแต่วัยเด็ก ค่อยๆเพิ่มพูนคำศัพท์มากขึ้น เพื่อที่จะสื่อสารทำความเข้าใจกับคนในสังคมได้ คำภาษาไทยแต่เดิมเป็นคำพยางค์เดียว ภาษาไทยเดิมเป็นภาษาที่มีโครงสร้างคำพยางค์เดียว สามารถนำคำไปใช้ในประโยคได้ทันที แต่ในปัจจุบันภาษาไทยได้รับอิทธิพลของภาษาต่างประเทศ ทำให้คำในภาษาไทยมีคำหลายพยางค์มากขึ้น และก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะการใช้งานนั่นเอง
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม