สำหรับใครที่กำลังมองหาวิธีการเขียนเรียงความแบบง่าย ๆ และใช้เวลาน้อยที่สุด แต่มีเนื้อหาการเขียนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ วันนี้เรามีเทคนิคดีๆที่จะมาแนะนำให้กับทุกคน น้อง ๆ ที่กำลังศึกษาในเรื่องของรูปแบบการเขียนเรียงความ หรือต้องการที่จะส่งบทเรียงความเข้าประกวดในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นการเขียนเรียงความจากตรงไหน ลองเข้ามาดูเนื้อหาที่เราจะแนะนำในวันนี้กันก่อน เพราะจะทำให้คุณวางรูปแบบการเขียนโครงของเรียงความได้ง่ายและเร็วที่สุด ที่สำคัญคุณสามารถมีเนื้อหาของเรียงความได้อย่างครบถ้วนเลยทีเดียว รูปแบบของการเขียนเรียงความไม่ได้มีความซับซ้อนหรือยุ่งยาก สามารถใช้ได้ทั้งงานสรุปเนื้อหาใจความสำคัญ หรือการแต่งเรื่องราวขึ้นมาใหม่ โดยเน้นเอาลักษณะของการจัดเรียงแบบฟอร์มเรียงความ หรือแม้แต่บทความทั่วไปก็สามารถใช้รูปแบบฟอร์มการเขียนเรียงความได้เช่นกัน
ทำความรู้จักกับรูปแบบของการเขียนเรียงความ ก่อนเริ่มลงมือ
เรียงความ คือ การนำเอาคำมาประกอบแต่งเป็นเรื่องราวอาจใช้วิธีการเขียนหรือการพูด ก็ได้ การเขียน จดหมาย รายงาน ตอบคำถาม ข่าว บทความ ฯลฯ อาศัยเรียงความเป็นพื้นฐาน ทั้งนั้น ดังนั้น การเขียนเรียงความจึงมีความสำคัญ ช่วยให้พูดหรือเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนี้ก่อนเรียงเขียนความเราต้องค้นคว้า รวบรวมความรู้ ความคิด และนำมาจัดเป็นระเบียบ จึงเท่ากับเป็นการฝึกสิ่งเหล่านี้ให้กับตนเองได้อย่างดีอีกด้วย
ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นลงมือเขียนเรียงความคุณควรที่จะทำความรู้จักกับรูปแบบของการเขียนเรียงความก่อน ทั้งในเรื่องขององค์ประกอบ และเนื้อหาที่ควรมีในเรียงความที่สมบูรณ์แบบ สำหรับองค์ประกอบของการเขียนเรียงความ ประกอบไปด้วย 3 ส่วน นั่นก็คือ
- เกริ่นนำหรือบทนำ
ส่วนนำเป็นส่วนที่แสดงประเด็นหลักหรือจุดประสงค์ของเรื่อง ดังนั้น ส่วนนำจึงเป็นการบอกผู้อ่านถึงเนื้อหาที่นำเสนอและยังเป็นการเร้าความสนใจให้อยากอ่าน เรื่องจนจบ การเขียนส่วนนำเพื่อเร้าความสนใจนั้นมีหลายวิธี แล้วแต่ผู้เขียนจะเลือกตามความเหมาะสม อาจนำด้วยปัญหาเร่งด่วน หรือหัวข้อที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คำถาม การเล่าเรื่องที่จะเขียน การยกคำพูด ข้อความ หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ
- เนื้อหา
เนื้อเรื่องเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรียงความ เพราะเป็นส่วนที่ต้องแสดงความรู้ ความคิดเห็น ให้ผู้อ่านทราบตามโครงเรื่องที่วางไว้ เนื้อเรื่องที่ต้องแสดงออกถึงความรู้ ความคิดเห็นอย่างชัดแจ้ง มีรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงและมีการอธิบายอย่างเป็นลำดับขั้น มีการหยิบยกอุทาหรณ์ ตัวอย่าง ทฤษฎี สถิติ คำกล่าว หลักปรัชญา หรือสุภาษิต คำพังเพย ฯลฯ สนับสนุนความรู้ความคิดเห็นนั้น เนื้อเรื่องประกอบด้วยย่อหน้าต่าง ๆ หลายย่อหน้าตามสาระสำคัญที่ต้องการนำเสนอ
- สรุปใจความสำคัญ
การลงท้ายหรือส่งท้ายเรื่อง ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ สรุปโดยการย้ำแนวความคิดหรือประเด็นสำคัญของเรื่องอีกครั้งหนึ่งเป็นการส่งท้าย หรือจะสรุปโดยการกล่าวถึงความสัมพันธ์ของเรื่องกับเนื้อเรื่องที่เขียนตอนต้น หรือจะเป็นการสรุปโดยใช้ประเด็นขัดแย้งให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณ รวมไปถึงสรุปโดยการแสดงความรู้สึก หรือความคิดเห็นส่วนตัว
วางโครงร่างให้เนื้อหาด้วย 5 คำถาม
เรียงความ เป็นงานเขียน ร้อยแก้ว ชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนมุ่งถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ ความคิด และทัศนคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยถ้อยคำสำนวนที่เรียบเรียงอย่างมีลำดับขั้นและสละสลวย สำหรับการวางโครงร่างให้กับเนื้อหาของเรียงความ คุณจะต้องรู้ว่าสิ่งที่คุณกำลังจะเขียนนั้นต้องการจะสื่ออะไรให้กับผู้อ่าน โดยการหยิบยกเอา 5 คำถามมาเป็นตัววางโครงร่างให้กับเนื้อหา นั่นก็คือ
- ใคร ในเนื้อหาของคุณที่กำลังจะสื่อออกมามีใครบ้าง ให้คุณจดบันทึกไว้ก่อนที่จะเริ่มต้นลงมือเขียน
- ทำอะไร สมาชิกที่อยู่ในเนื้อหาของคุณกำลังทำอะไรอยู่
- ที่ไหน คือเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นที่ไหน
- อย่างไร ให้คุณอธิบายว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ในส่วนนี้สามารถเขียนเรียบเรียงเป็นลำดับขั้นตอนได้เพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น
- เมื่อไร สุดท้ายของการวางโครงคือเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร
จริง ๆ แล้วรูปแบบของการเขียนเรียงความไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าคุณสามารถที่จะวางโครงร่างในการเขียนไว้ทั้งหมดแล้ว จะทำให้ระยะเวลาในการเขียนสั้นลง และก็ยังมีเนื้อหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์กลายเป็นเนื้อหาเรียงความ 1 เรื่องที่มีลักษณะที่ดีได้ โครงเรื่องของงานเขียนควรจัดหมวดหมู่ของแนวคิดสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการเขียน โครงเรื่องเปรียบเสมือนแปลนบ้าน ผู้สร้างบ้านจะต้องใช้แปลนบ้านเป็นแนวทางในการสร้างบ้าน การเขียนโครงเรื่องจึงมีความสำคัญทำให้ผู้เขียนเรียงความเขียนได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ถ้าไม่เขียนโครงเรื่องหรือไม่วางโครงเรื่อง เรียงความอาจจะออกมาไม่ตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ
รู้หรือไม่ว่า ลักษณะของเรียงความที่ดี เป็นอย่างไร ?
- ในแต่ละย่อหน้า ความคิดสำคัญต้องมีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกันกับหัวข้อเรื่อง
- ต้องมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่อง โดยจะต้องมีการวางโครงเรื่องที่ดี จัดลำดับย่อหน้าอย่างมีระบบระเบียบ เรียบเรียงด้วยคำเชื่อมที่เหมาะสม
- มีเนื้อหาสาระที่สมบูรณ์ตลอดทั้งเรื่องโดยในแต่ละย่อหน้า ประโยคสำคัญต้องชัดเจน ประโยคขยายมีน้ำหนักเชื่อถือได้ ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อช่วยเน้นย้ำให้ประโยคใจความสำคัญมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- มีการวางลำดับการนำเสนอเรื่องราวได้น่าสนใจ ไม่ข้ามไปมาทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสน
- ใช้ภาษาและคำที่ถูกต้องตามหลัก และการเว้นวรรคที่สวยงามอ่านได้ง่ายสบายตา
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม