รู้หรือไม่ว่ากลอน 8 ถือเป็นคำประพันธ์ในหมวดหมู่ของกลอนสุภาพ กลอนที่นักกวีนิยมแต่งตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน เพราะมีลักษณะการใช้คำบังคับวรรณยุกต์ที่ไม่ซับซ้อน ทำให้สามารถแต่งได้ง่ายกว่าโคลง กาพย์ หรือกลอนประเภทอื่น ๆ วันนี้เราจะมาย้ำกันอีกสักรอบว่า ลักษณะแผนผังกลอนแปด รวไปถึงการวางสัมผัสนอก – ใน มีลักษณะอย่างไร
กลอน เป็นลักษณะคำประพันธ์ไทยที่ฉันทลักษณ์ประกอบด้วยลักษณะบังคับ 3 ประการคือ คณะ จำนวนคำ และสัมผัส หลาย ๆ ตำราบอกกล่าวต่อ ๆ มาว่า กลอนถือเป็นคำประพันธ์ท้องถิ่นของไทยที่มาจากแถบภาคกลางและภาคใต้ มีการพิจารณาจากหลักฐานในวรรณกรรมทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์ เป็นตัวหนังสือ และวรรณกรรมมุขปาฐะ เป็นคำพูดที่บอกต่อกันมาไม่มีการจดบันทึก โดยวรรณกรรมที่แต่งด้วยกลอนเก่าแก่ที่สุดคือ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา และเพลงยาว ณ พระที่นั่งจันทรพิศาล กวีแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย ก่อนหน้านั้นกลอนคงอยู่ในรูปแบบวรรณกรรมมุขปาฐะเป็นร้อยกรองชาวบ้านเช่น บทร้องเล่น บทกล่อมเด็ก เพลงชาวบ้าน
ที่มาของคำประพันธ์ประเภทกลอน 8 ที่น่ารู้
ตามหลักฐานทางวรรณคดีไทย กลอนแปด พบครั้งแรกในกลบทศิริวิบุลกิตติ สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งค้นพบกันว่าจังหวะและลีลาลงตัวที่สุด จึงมีคนแต่งแบบนี้มากที่สุด และผู้ที่ทำให้กลอนแปด รุ่งเรืองที่สุดคือท่าน สุนทรภู่ ที่ได้พัฒนาเพิ่มสัมผัสอย่างเป็นระบบ ซึ่งใกล้เคียงกับกลบทมธุรสวาทีในกลบทศิริวิบุลกิตติ์ เป็นร้อยกรองชนิดที่มีความเรียบเรียงง่ายต่อการสื่อความหมาย และสามารถสื่อได้อย่างไพเราะ ซึ่งกลอนแปดมีการกำหนดพยางค์และสัมผัส หนึ่งในรูปแบบของกลอนแปดก็คือ รูปแบบกลอนแปดของสุนทรภู่ ซึ่งความแพรวพราวด้วยสัมผัสใน และขนบดังกล่าวนี้ก็ได้รับการสืบทอดต่อมาในงานกวีนิพนธ์ยุคหลังๆ กระทั่งปัจจุบันนี้เลยก็ว่าได้
สำหรับแผนผังของกลอนแปด บทหนึ่งประกอบด้วย 2 บาท บาทละ 2 วรรค วรรคละ 8 คำ ซึ่งการวางสัมผัสก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถือเป็นหัวใจในการแต่งบทกลอนให้ไพเราะและถูกต้อง การสัมผัสนอก คือ ให้มีสัมผัสระหว่างคำสุดท้ายวรรคหน้ากับคำที่สามของวรรคหลังของทุกบาท และให้มีสัมผัสระหว่างบาทคือคำสุดท้ายของวรรคที่สองสัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สาม ส่วนสัมผัสระหว่างบท กำหนดให้คำสุดท้ายของบทแรก สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สองของบทถัดไป และการวางสัมผัสใน ก็คือคือ ไม่บังคับ แต่หากจะให้กลอนสละสลวยควรมีสัมผัสระหว่างคำที่สามกับคำที่สี่ หรือระหว่างคำที่ห้ากับคำที่หกหรือคำที่เจ็ดของแต่ละวรรค
แบ่งวรรคตอนการอ่านกลอน 8 ให้ถูก เพิ่มความไพเราะให้กินใจผู้ฟัง
กลอนทุกประเภทบังคับเสียงคำท้ายวรรคเป็นสำคัญ สัมผัสนอกระหว่างวรรค เฉพาะวรรค ที่สอง (วรรครับ) และวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) นั้น จะรับสัมผัสที่คำที่สามหรือคำที่ห้าย่อมได้เสมอ ส่วนสัมผัสในนั้นจะใช้สัมผัสสระหรืออักษรก็ได้ และสัมผัสสระจะใช้สระเสียงสั้นสัมผัสกับ สระเสียงยาวก็ได้ในการอ่านกลอน 8 ให้มีความไพเราะกลอนแปดหรือกลอนสุภาพบทหนึ่งมีอยู่ 2 บาท 4 วรรค วรรคละ 8 คำ ดังนั้น การอ่านกลอนจะให้ได้อรรถรสจะต้องอ่านออกเสียงพยัญชนะในภาษาไทยได้ชัดเจนทุกตัวสามารถผันอักษรในภาษาไทยได้ดีเยี่ยม ประสมคำได้เก่งยิ่งทำให้บทกลอนมีความน่าสนใจมากขึ้นด้วย รวมไปถึงในการอ่านต้องรู้จักการแบ่งวรรคตอนตามแผนผัง เพื่อเว้นช่วงในการหายใจให้ถูกต้องตามหลัก
รวมคำสอนของนักกวีดัง สุนทรภู่ จากคำประพันธ์ประเภทกลอน 8
นักกวีสมัยปัจจุบันนี้ได้มีการนำเสนอผลงานกลอนหลากหลายรูปแบบด้วยกัน โดยผลงานถูกสร้างสรรค์จากเรื่องราวที่พบเจอในชีวิตประจำวัน หรือจากจินตนาการ ซึ่งนักกวีจัดเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก ยึดฉันทลักษณ์กลอนประเภทต่างๆ เช่นของเดิม แต่ปรับกลวิธีใช้สัมผัสใน และยืดหยุ่นจำนวนคำ เป็นการย้อนรอยฉันทลักษณ์ของกลอนยุคก่อนสุนทรภู่ และวันนี้เราได้นำบทกลอนของสุนทรภู่ ประเภทกลอนคำสอน จากวรรณคดีหลาย ๆ เรื่อง ไปดูกันเลยว่าจะไพเราะขนาดไหน
- กลอนสอนใจจาก “นิราศภูเขาทอง” สอนว่าคำพูด เมื่อพูดไปแล้วไม่สามารถนำกลับมาได้ หากจะพูดอะไรต้องคิดก่อนพูด
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
- กลอนสอนใจจาก “เพลงยาวถวายโอวาท” สอนให้รู้ว่าไม่มีของหวานใดที่จะหวานไปกว่าคำพูด คำพูดหวาน ๆ ไม่กี่คำก็อาจทำให้คนหลงตายทั้งเป็นได้
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
- กลอนสอนใจจาก “นิราศอิเหนา” สอนให้รู้ว่าเมื่อเรารักสักคน การตัดใจเป็นเรื่องยาก
จะหักอื่น ขืนหัก ก็จักได้ หักอาลัย นี้ไม่หลุด สุดจะหัก
สารพัด ตัดขาด ประหลาดนัก แต่ตัดรัก นี้ไม่ขาด ประหลาดใจ
- กลอนสอนใจจาก “พระอภัยมณี” สอนให้รู้ว่าเมื่อยามรักกันอะไรก็ดีไปหมด แต่เมื่อหมดรักแล้วอะไรที่ว่าดี ก็กลายเป็นไม่ดีได้
เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม