เมื่อครั้งยังเยาว์เชื่อว่าหลายคนคงเคยโดนคะยั้นคะยอ ให้รู้จักสวดมนต์ไหว้พระก่อนจะเข้านอน ในบางครั้งก็ถูกปลุกแต่เช้าตรู่เพื่อไปถวายภัตตาหารเช้าพร้อมนั่งฟังเทศน์ยาวเหยียด อีกทั้งในวัยที่ห่วงสนุกคงไม่ได้ชอบการสวดมนต์ไม่ว่าสั้นหรือยาวเท่าไหร่นัก นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าจะต้องสวดมนต์ไปทำไม บทสวดมนต์ท่องไปแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรแก่ตนเอง จนเมื่อถึงวัยที่รู้ความและเข้าใจเหตุผลมากขึ้น จึงตระหนักได้ว่าที่โดนคะยั้นคะยอให้รู้จักการสวด คาถา อิติปิโส มาตั้งแต่วัยเยาว์นั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวเราจริง ซึ่งมีประโยนชน์อย่างไรนั้นเราจะมาเล่าให้ฟังกัน
คาถา อิติปิโส คืออะไร ทำไมจึงต้องสวดเป็นประจำ
บทสวดอิติปิโสเป็นคำที่ใช้กล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย ซึ่งบทอิติปิโสส่วนที่ยกมานี้เป็นหัวใจสำคัญของธรรมะบทยาวที่พระพุทธเจ้าได้เคยสั่งสอนเอาไว้ ซึ่งล้วนแต่เป็นธรรมะที่ให้คุณแก่ผู้ที่สวดภาวนาอย่างมาก อีกแง่หนึ่งกล่าวกันว่าแต่เดิม คาถา อิติปิโส เป็นคาถาเพื่อการคุ้มภัย เสริมพลังใจให้กล้าหาญ และสร้างสมาธิแก่ผู้สวด เป็นบทสวดที่ถูกยกมาใช้ในยามที่ต้องออกเดินทางไกล หรือต้องไปอยู่แปลกที่แปลกทาง เมื่อเวลาผ่านไปคาถานี้ถูกยกขึ้นมาพูดถึงอย่างแพร่หลายในแง่ของบทสวดที่เสริมสิริมงคลชีวิต ทำให้ผู้คนที่ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับการสวดมนต์เป็นกิจวัตรหันมาสวดคาถานี้มากขึ้น
คาถา อิติปิโส เต็มรูปแบบพร้อมคำแปล
(บทนมัสการพระรัตนตรัย กล่าว 3 จบ) นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
(พุทธคุณ) อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุขโต โลกะวิทู
อนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ
คำแปล พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์
(ธรรมคุณ) สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก
โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ
คำแปล พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง
เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน
(สังฆคุณ) สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระณีโย อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ
คำแปล สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใดปฏิบัติดีแล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใดปฏิบัติตรงแล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใดปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใดปฏิบัติสมควรแล้ว
ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่จัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน
เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
สำหรับคนที่ต้องการสวด คาถา อิติปิโส ฉบับที่สั้นลง ก็สามารถสวดมนต์แบบย่อได้ โดยให้สวดเฉพาะบทสรรเสริญพระพุทธคุณก็พอ แต่ไม่ว่าจะสวดบทที่สั้นหรือบทที่ยาว ก่อนที่จะเริ่มสวดบทอิติปิโสจะต้องตั้งนะโม 3 จบเสมอ เมื่อกล่าวบทนมัสการพระรัตนตรัยจบแล้วก็ให้สวดบทอิติปิโสตามจำนวนที่ผู้สวดตั้งใจไว้ได้เลย
คาถา อิติปิโส ควรสวดกี่จบ และสวดเวลาไหน
จำนวนจบในการสวด คาถา อิติปิโส นั้นไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องสวดกี่จบถึงจะดี แต่ก็มีความเชื่อกันว่าสวดตามจำนวนเลขที่เป็นมงคลก็ถือว่าดี ซึ่งเรามักจะถูกแนะนำว่าให้สวด 3 จบ หรือ 9 จบก็ได้ บางคนต้องการให้เกิดอานิสงค์ในการสวดมาก็เลือกที่จะสวดถึง 108 จบก็มี หากไม่ได้ยึดหลักการของเลขมงคลจะสวดตามกำลังอายุของตนเองก็ได้
ส่วนเวลาที่เหมาะสมในการสวดบท คาถา อิติปิโส นั้นไม่ได้กำหนดตายตัวเช่นกัน หากสวดก่อนเข้านอนก็จะช่วยให้จิตสงบและมีสมาธิ หากสวดก่อนออกจากบ้านก็จะช่วยเสริมสิริมงคลให้แก่ตนเอง ซึ่งไม่ว่าจะเลือกสวดในเวลาไหนก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคลเป็นหลัก เพราะต้องสวดในขณะที่ตนเองรู้สึกผ่อนคลายที่สุดจึงจะให้ผลดีมากกว่า
คาถา อิติปิโส สวดแล้วเกิดอานิสงส์อย่างไร
ความเชื่อที่สืบต่อกันมา คาถา อิติปิโส เมื่อสวดแล้วจะทำให้ผู้นั้นเกิดสมาธิ จิตใจสงบมีกำลังใจ ฉะน้นหากผู้ใดที่กำลังจะต้องเดินทางไกลหรือไปต่างแดนควรสวดคาถานี้เป็นการดี ไม่เพียงเท่านี้ยังเป็นบทสวดที่สามารถป้องกันจากภัยอันตรายต่าง ๆ เสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเอง อย่างไรก็ตามทุกครั้งควรตั้งจิตให้มั่นเพื่อเสริมพลังในตัวผู้สวด
สิ่งที่ทำให้บทสวดเกิดพลานุภาพ
สิ่งสำคัญของการสวด คาถา อิติปิโส ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนจบหรือเวลาที่ใช้สวด หากขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้สวดเป็นหลัก เพราะกุศโลบายของการสวดมนต์ต้องการให้ผู้คนที่ยกบทสวดมนต์ขึ้นมาสวด ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าบทสวดนั้นต้องการสอนอะไร เมื่อพิจารณาเห็นธรรมะในคำสอนเหล่านั้นแล้วจะต้องนำไปใช้อย่างไรต่อ ซึ่งพระเกจิอาจารย์หลายท่านก็ได้พูดเอาไว้ในทำนองเดียวกันว่าการสวดมนต์คือการสร้างบุญอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะสวดบทสั้นๆ หรือสวดบทที่ยาวกว่า ขอเพียงเป็นผู้ที่มีความตั้งใจจะทำจะช้าหรือเร็วย่อมเกิดอานิสงค์ที่ดีแก่คนผู้นั้นอย่างแน่นอน เพราะการทำบุญขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้คนไม่ได้วัดจากจำนวนสิ่งของที่นำมาทำบุญ
นอกจากการมีใจมุ่งมั่นที่จะพิจารณาธรรมะที่แฝงอยู่ในบทสวดแล้ว ต้องรู้จักวางตัวให้อยู่กรอบของศีลธรรมอันดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย วาจาที่เปล่งออกมา หรือความนึกคิดในใจล้วนแต่สร้างเวรกรรมได้ทั้งนั้น หากรู้จักระวังกาย วาจา ใจของตนเองไม่ให้ทำร้ายผู้อื่นก็ยิ่งเสริมให้อานิสงค์ของการสวดมนต์มีพลังมากขึ้น
สรุป
สำหรับใครที่อยากสร้างอานิสงค์ให้ตนเองและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต แคล้วคราดปลอดภัย จะลองเริ่มจากการสวด คาถา อิติปิโส ฉบับย่อดูก่อน เมื่อเริ่มคุ้นชินกับบทสวดแล้วจึงเปลี่ยนไปสวดฉบับเต็มในภายหลังก็ได้ ในแต่ละวันเพียงแค่สวดได้ 1 จบก็ถือว่าเป็นสิริมงคลชีวิตแล้ว และจะยิ่งเป็นผลดีอีกขั้นหากพิจารณาเจอหลักธรรมที่แฝงอยู่ในบทสวดมนต์ได้ แล้วนำหลักธรรมที่เจอนั้นไปปรับใช้ในชีวิตจริง เชื่อว่าจะช่วยให้ชีวิตของคนผู้นั้นมีความสุขสงบมากขึ้นอย่างแน่อน
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
📕 อ้างอิงรูปภาพ
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม