การให้เป็นรูปแบบหนึ่งของวิธีสร้างบุญ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงิน ให้อาหาร ให้ที่พักพิง รวมไปถึงการให้ชีวิต สำหรับการให้ชีวิตในที่นี้เราจะชี้นำถึงการไถ่ชีวิตสัตว์ที่จวนจะถึงวาระดับชีวิต โดยเราจะเห็นได้จากการไถ่ชีวิตโคกระบือ ชีวิตช้าง หรือการอุปการะสุนัขและแมว แต่ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงการปล่อยปลาคืนสู่แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบการช่วยชีวิตสัตว์ที่เราน่าจะพบได้บ่อยที่สุด อีกทั้งการปล่อยปลาก็เกี่ยวข้องกับการสะเดาะเคราะห์ต่าง ๆ อย่างเหนียวแน่น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องมี คาถาปล่อยปลา และต้องรู้จักวิธีปล่อยปลาอย่างถูกต้องไปพร้อมกันด้วย
ไถ่ชีวิตสัตว์เพื่อคลายกรรมหนัก
สังคมไทยจะให้ความนับถือต่อศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ วิถีชีวิตโดยรวมจึงผูกพันอยู่กับความเชื่อที่เกี่ยวกับบุญหรือบาปเป็นหลัก และมักจะมีความเข้าใจไปในเชิงที่ว่าหากกระทำบาปสักอย่างแล้ว ก็ต้องแก้ไขด้วยการให้ทานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นการชดเชย หรือคนผู้ใดรู้สึกถึงชีวิตที่ติดขัดไม่ราบรื่นก็มักจะสรุปผลว่าเกิดจากการมีกรรมหนัก ซึ่งต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อผ่อนกรรมหนักเหล่านั้นให้คลายลง แน่นอนว่าย่อมไม่พ้นไปจากพิธีแก้กรรม สะเดาะเคราะห์ และเสริมมงคลชีวิต จึงทำให้เราชินตากับการแก้ไขกรรมผ่านวิธีไถ่ชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะภาพการปล่อยปลาลงแหล่งน้ำนั่นเอง
ปล่อยปลาอย่างไรจึงจะเกิดผลดี
เมื่อเรามองว่าการปล่อยปลาเป็นวิธีการทำบุญเพื่อตนเองแล้ว ก็ใช่ว่าจะถือปลาไปปล่อยลงแหล่งน้ำแบบทื่อ ๆ ได้เลย แต่ต้องเข้าใจธรรมชาติปลาแต่ละชนิดเสียก่อนว่าควรอยู่ในแหล่งน้ำแบบไหน ต้องปล่อยจุดไหน ปลาเหล่านั้นถึงจะมีชีวิตต่อไปได้ ซึ่งหลายคนที่ไม่ได้มองในจุดนี้ จึงอาจเผลอทำให้ปลาที่นำไปปล่อยไม่มีชีวิตรอดโดยไม่รู้ตัว เพราะปลาแต่ละชนิดก็มีแหล่งอาศัยและการดำรงชีวิตต่างกัน ก่อนจะเริ่มสวด คาถาปล่อยปลา จึงต้องรู้ก่อนว่าควรปล่อยปลาตรงไหน
โดยปัจจัยพื้นฐานที่คนปล่อยปลาต้องพิจารณาให้ดี ประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่
เวลาที่จะทำการปล่อย
ซึ่งช่วงที่เหมาะกับการปล่อยสัตว์น้ำมากที่สุด แนะนำว่าควรเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นจะดีที่สุด เพราะช่วงเวลานั้นผืนน้ำจะได้รับความร้อนจากแสงแดดน้อยกว่า เมื่อปล่อยปลาลงไปสัมผัสผิวน้ำแล้วจะทำให้ปลาเหล่านั้นปรับสมดุลร่างกายได้เร็วกว่า นอกจากจะช่วยยืดอายุให้สัตว์เหล่านั้นมีอายุยืนแล้ว ยังเป็นการได้บุญอีกด้วย ฉะนั้นไม่ว่าใครที่กำลังจะปล่อยสัตวืก็ควรดูในเรื่องนี้ด้วย ถือว่าสำคัญอย่างมาก
ปลาควรมีสุขภาพที่ดี
ปลาที่นำไปปล่อยควรเป็นปลาที่แข็งแรง ไม่บาดเจ็บ ไม่มีภาวะของโรค เพราะปลาที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอหากปล่อยลงแหล่งน้ำแล้ว มีโอกาสที่จะรอดชีวิตต่ำกว่าปกติ
คุณภาพของแหล่งน้ำ
การปล่อยปลาแม้จะยังเป็นที่นิยมอยู่ แต่ก็ใช่ว่าแหล่งน้ำทุกแห่งจะเหมาะกับการปล่อยปลา เพราะแหล่งน้ำที่เป็นพิษและไม่เอื้อต่อการรอดชีวิตของปลาก็มีมาก ก่อนจะนำปลาไปปล่อยควรพิจารณาเรื่องแหล่งน้ำเผื่อเอาไว้ด้วย
ความเชื่อของ คาถาปล่อยปลา แต่ละชนิด
- ปลาไหล สำหรับการปล่อยปลาไหลนั้นมีความเชื่อว่าจะอำนวยให้การทำงาน เกี่ยวกับการเรียน และเรื่องเงินทองมีความราบรื่น ไม่เกิดอุปสรรค
จุดที่ปล่อย ควรปล่อยในบริเวณน้ำตื้น และมีพืชน้ำขึ้นค่อนข้างรก เพื่อทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่อดอยากและน้ำไม่ลึกมากเกินไป
- ปลาช่อน สำหรับการปล่อยปลาช่อนมีความเชื่อว่าจะให้ผลเกี่ยวกับลอยเคราะห์ลอยโศก เหมือนกับการปล่อยเคราะห์กรรมของตนเองลงไปในแม่น้ำ
จุดที่ปล่อย ต้องปล่อยลงบริเวณตลิ่งหรือจุดที่มีน้ำตื้น และต้องเป็นบริเวณที่พืชน้ำขึ้นหนาแน่นด้วย ใน 1 จุดที่ปล่อยไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป เพราะปลาช่อนเป็นชนิดที่กินปลาเล็กเป็นอาหาร อาจทำให้ปลาตัวเล็กในบริเวณนั้นถูกปลาช่อนจับกินจนหมดได้
- ปลาสวาย สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับการปล่อยปลาสวายนั้น กล่าวกันว่าจะให้ผลเกี่ยวกับความมั่งคั่ง มีเงินทองเข้าสู่กระเป๋าไม่ขาดสาย ผู้ที่ทำการค้ามักจะค้าขายราบรื่นดี
จุดที่ปล่อย สามารถปล่อยตามลำคลองทั่วไปได้ แต่ควรเลือกที่มีขนาดโตประมาณหนึ่งแล้ว เพราะหากเป็นลูกปลาที่ยังไม่แข็งแรงดี เมื่อปล่อยลงแหล่งน้ำแล้วมักจะไม่มีชีวิตอยู่ต่อ
- ปลาหมอไทย สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับปลาหมอไทยนั้นจะให้ผลเกี่ยวกับสุขภาพ ปราศจากโรคภัย มีอายุยืน และร่างกายแข็งแรง เพราะเปรียบเปรยว่าปลาหมอเป็นหมอที่จะเข้ามาขจัดโรคภัยนั่นเอง
จุดที่ปล่อย ปลาชนิดนี้มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่พืชน้ำขึ้นเป็นจำนวนมาก และต้องเป็นจุดที่มีน้ำนิ่งด้วย ไม่ควรปล่อยลงลำคลองหรือสายน้ำใหญ่ ๆ
- ปลาดุก สำหรับการปล่อยปลาดุกนั้นมีความเชื่อว่าจะช่วยให้แคล้วคลาดจากอันตราย ไม่มีเภทภัยใดมารบกวน หากต้องแข่งขันอะไรสักอย่างก็จะเอาชนะได้
จุดที่ปล่อย ควรปล่อยลงในจุดที่เป็นแหล่งน้ำสะอาด บริเวณตลิ่งและน้ำค่อนข้างนิ่งจะเหมาะสมที่สุด แต่ควรระวังสายพันธุ์ปลาดุกที่ไม่ใช่สายพันธุ์พื้นถิ่น เพราะอาจเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศโดยรอบได้
คาถาปล่อยปลา อธิษฐานก่อนปล่อยสัตว์ลงน้ำ
สำหรับ คาถาปล่อยปลา ที่นำมาเสนอในครั้งนี้ ไม่เชิงว่าเป็นแบบเดียวกับบทสวดมนต์ แต่เป็นเหมือนกับการบอกล่าวแก่ผู้ที่ดูแลแหล่งน้ำตรงนั้น ซึ่งก่อนที่เราจะทำการปล่อยปลาหรือสัตว์น้ำชนิดใดลงในแหล่งน้ำจะต้องไม่ลืมกล่าวคำเหล่านี้ โดยผู้ปล่อยปลาจะต้องกล่าวว่า
ข้าพเจ้าชื่อ ….. นามสกุล ….. เกิดวันที่ ….. เดือน ….. พ.ศ. ….. อายุ ….. ได้ปล่อย ….. จำนวน ….. ตัว ปล่อยเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเอง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ศัตรูและเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ตัวที่เป็นที่พึ่งขอให้นำความสุขและโชคลาภมาให้ข้าพเจ้า ตัวที่ให้กับศัตรูและเจ้ากรรมนายเวร จงนำเอาสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย สรรพเคราะห์เสนียด ออกไปจากข้าพเจ้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ขอให้พระแม่ธรณี, พระแม่คงคา, เทพเทวา, เจ้าที่เจ้าทาง, หลวงพ่อโต และพญานาคราช จงเป็นสักขีพยานรับทราบกุศลเจตนาของข้าพเจ้า และคุ้มครองชีวิตสัตว์ให้ปลอดภัยจนสิ้นอายุขัย ด้วยอำนาจของกุศลผลบุญนี้ จงสะเดาะเคราะห์ร้ายของข้าพเจ้าให้กลับกลายเป็นดี มีความร่มเย็นเป็นสุข ประสพความสำเร็จสมหวังในสิ่งที่พึงปรารถนา มีความเจริญก้าวหน้า มีชีวิตที่สดชื่น มีความสุขความเจริญ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปด้วยเทอญ
คาถาปล่อยปลา และจิตอันเป็นกุศล เสริมพลังด้านบวก
เมื่อผู้ปล่อยปลาได้กล่าว คาถาปล่อยปลา ตามที่กำกับไว้ข้างต้น และนำสัตว์น้ำที่ไถ่ชีวิตคืนสู่แหล่งน้ำเพื่อให้มีชีวิตต่อไป ก็ถือว่าการทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์น้ำเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหลายคนคงกลับมาขบคิดว่าจำนวนบุญนั้นจะได้มากน้อยตามจำนวนตัวปลาที่ปล่อยไปหรือไม่ หากยึดคำตอบตามคำสอนของพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำบุญแล้ว บุญที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากว่าบริจาคเงินมากแค่ไหน หรือปล่อยสัตว์ไปกี่ตัว แต่ขึ้นอยู่กับว่าเจตนาของผู้ทำบุญมากกว่าสิ่งอื่นใด ซึ่งสำหรับบางคนมองว่าบุญอยู่ที่ใจนั่นเอง
ซึ่งบุญที่ว่านี้เกิดจากการให้ผู้อื่นอย่างจริงใจ และไม่ว่าการให้รูปแบบใดหากทำด้วยน้ำใสใจจริง ย่อมเกิดผลดีแน่นอน ยิ่งเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่ผู้อื่นหรือสัตว์น้อยใหญ่ที่อ่อนแอกว่าโดยไม่หวังผลตอบแทน ยิ่งถือว่าเป็นการให้ทานที่ยิ่งใหญ่และมีอานิสงค์มากสำหรับคนผู้นั้น อย่างไรก็ตามอย่าลืมดูเรื่องสภาพแวดล้อมในการปล่อยสัตว์ด้วย สำคัญต่อชีวิตของสัตว์เหล่านั้นมากทีเดียว
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
- https://www.wongnai.com/articles/fish-release-charity#:~:text= การปล่อยปลาช่อนโบราณ,อยู่ขึ้นมาอีกครั้ง
- https://www.punpro.com/p/merit-fish
📕 อ้างอิงรูปภาพ
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม