หลักการการเขียนบรรณานุกรม
การทำรายงาน วิทยานิพนธ์ หรือการรวบรวมข้อมูลและจัดทำเป็นหนังสือเล่มหนึ่งนั้น จะต้องมีรายละเอียดข้อมูลข้างในต่างๆ เพื่อที่จะทำให้หนังสือเล่มนั้นมีความครบ สมบูรณ์ในเนื้อหาข้อมูลมากที่สุด โดยเนื้อหาในหนังสือแต่ละเล่มส่วนใหญ่จะประกอบด้วย หน้าปก คำนำ สารบัญ เนื้อหา และรวมไปถึงบรรณานุกรม
ซึ่งคำว่าบรรณานุกรมอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ใครหลายๆคนลืมให้ความสำคัญไป แต่เชื่อหรือไม่ว่าบรรณานุกรมนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับหนังสือของเราได้อย่างดี และยังเป็นแหล่งที่บอกที่มาของข้อมูลต่างๆว่ามีที่มาที่ไปมาจากแหล่งใด ดังนั้นในวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหลักการของการเขียนบรรณานุกรม
บรรณานุกรมคืออะไร
บรรณานุกรม (Bibliography) คือ ข้อความหรือเนื้อหาที่อยู่ส่วนท้ายของหนังสือ ซึ่งจะมีเนื้อความที่จะแสดงถึงหลักฐานหรือการอ้างอิงข้อมูลต่าง ๆ ของหนังสือหรือบทความนั้น ๆ มาเขียน เพื่อให้เนื้อหาของหนังสือมีความน่าเชื่อถือ ช่วยให้ผู้อ่านค้นหาที่มาของข้อมูลของหนังสือได้ และยังเป็นแนวทางให้ผู้อ่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ซึ่งข้อมูลที่จะอยู่ในบรรณานุกรมนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเอกสารทางวิชาการ หรือหนังสือที่นำมาเป็นข้อมูลของเนื้อหาที่อยู่ในส่วนข้อมูลของหนังสือนั่นเอง
การเขียนบรรณานุกรมแบบภาษาไทยและอังกฤษ
เนื้อหาของการเขียนบรรณานุกรมนั้น จะต้องนำข้อมูลที่อยู่บริเวณหน้าปกใน รายละเอียดของหนังสือที่อยู่ช่วงหน้าๆของหนังสือ หรืออาจจะอยู่ที่บริเวณด้านหลังปกมาใช้ในการเขียนบรรณานุกรม โดยบรรณานุกรมนั้นจะต้องบอกรายละเอียดต่างๆของข้อมูลที่เรานำมาอ้างอิงว่ามาจากแหล่งใด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เว็บไซต์ หรือจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งรายละเอียดบรรณานุกรมนั้นจะอยู่บริเวณท้ายสุดของหนังสือที่เราเขียน
หลักการเขียนบรรณานุกรมนั้นมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เพื่อให้ข้อมูลในส่วนนี้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น นั่นคือจะต้องเรียงแหล่งข้อมูลที่เราหามาได้จากที่ต่างๆ โดยให้เรียงตามตัวอักษร ซึ่งเราสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ
- แหล่งที่มาเป็นภาษาไทย
ให้เรียงลำดับตามตัวอักษร ก – ฮ ถ้าแหล่งที่มามีตัวอักษรนำหน้าเหมือนกันให้ดูที่สระตัวที่ 2 และเรียงตามสระที่เป็นตัวสะกดของแหล่งที่มานั้นๆ ยกตัวอยางการเรียงสระคือ สระอะ ,สระอา ,สระอิ ,สระอี เป็นต้น
- แหล่งที่มาเป็นภาษาอังกฤษ
ให้เรียงลำดับตามตัวอักษร A – Z และถ้าแหล่งที่มามีชื่อที่มีตัวอักษรเหมือนกัน ให้ดูตัวอักษรลำดับที่ 2 หรือ 3 และให้เรียงไปตามตัวอักษรตามลำดับนั้นๆ
รูปแบบการเขียนบรรณานุกรม
รูปแบบประโยคของการเขียนบรรณานุกรมนั้น จะมีรูปแบบในการเขียนที่หลากหลายเต็มไปหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราได้ค้นหาว่าเป็นสื่อในลักษณะไหน โดยที่เนื้อหาในส่วนต่อไปก็ได้มีการยกตัวอย่างสมมติและยกตัวอย่างจริง ๆ มาเห็นภาพแบบเข้าใจง่ายขึ้นดังนี้
- ข้อมูลแหล่งที่มาเป็นเนื้อหาหนังสือ
ชื่อผู้เขียน, ชื่อบทความหรือหัวข้อ (ถ้ามี), ชื่อหนังสือ (พิมพ์ครั้งที่…), ปีที่พิมพ์, สถานที่พิมพ์, สำนักพิมพ์
แต่ถ้าไม่มีชื่อผู้เขียนสามารถเขียนได้ดังประโยคต่อไปนี้
ชื่อบทความหรือหัวข้อ (ถ้ามี), ชื่อหนังสือ (พิมพ์ครั้งที่…), ปีที่พิมพ์, สถานที่พิมพ์, สำนักพิมพ์
ยกตัวอย่างในการเขียน
ใจดี ใจงาม, หนังสือธรรมมะที่ว่าด้วยเรื่องการดับทุกข์ (พิมพ์ครั้งที่ 2), 2535, กรุงเทพมหานคร, สำนักพิมพ์ใจสดชื่น
- ข้อมูลแหล่งที่มาเป็นเว็บไซต์หรือออนไลน์
ชื่อผู้แต่ง (ปีที่ลงข้อมูล), ชื่อเรื่อง/บทความ, สืบค้นเมื่อ วัน/เดือน/ปี, จาก (ชื่อเว็บไซต์)
ยกตัวอย่างในการเขียน
บ้านและสวน (2564), 10 วิธีดูแลต้นไม้ในบ้าน ให้สวยนาน สวยทน, สืบค้น 22 มีนาคม 2565, จาก www.baanlaesuan.com/86443/plant-scoop/tree-in-house
- ข้อมูลแหล่งที่มาเป็นหนังสือแปล
ชื่อผู้แต่ง (ปีที่พิมพ์), ชื่อเรื่องจากหนังสือฉบับแปล (ชื่อผู้แปล), สถานที่พิมพ์, สำนักพิมพ์
ยกตัวอย่างในการเขียน
ฮิงาชิโนะ เคโงะ (2565), ด้ายแห่งความหวัง (บัณฑิต ประดิษฐานุวงษ์), กรุงเทพมหานคร, สำนักพิมพ์ไดฟุกุ
- ข้อมูลแหล่งที่มาเป็น Electronic book (eBook)
ชื่อผู้แต่ง (ปีที่พิมพ์), ชื่อหนังสือ, สืบค้นจาก (URL ของ eBook)
ยกตัวอย่างในการเขียน
สะอาด สงบร่มเย็น, เปลี่ยนบ้านให้สดชื่นน่าอยู่, สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/
- ข้อมูลแหล่งที่มาเป็นรายงานการวิจัย
ชื่อผู้วิจัย (ปีที่พิมพ์), ชื่อเรื่อง (Research report), สถานที่พิมพ์, สำนักพิมพ์
ยกตัวอย่างในการเขียน
ก้านยาว กิ่งก้านใบ (2554), การปลูกดอกดาวเรืองสามารถทำธุรกิจในด้านใดได้บ้าง, จังหวัดนนทบุรี, มหาวิทยาลัยเอบีซี
- ข้อมูลแหล่งที่มาเป็นวารสาร
ชื่อผู้เขียน (ปีที่พิมพ์), ชื่อบทความ, ชื่อวารสาร, ตัวเลขฉบับที่, เลขหน้า
ยกตัวอย่างในการเขียน
จันทร์ส่อง สวยสุดแสง (2564), การศึกษาภาษาญี่ปุ่นผ่านวัฒนธรรมดั้งเดิม, วารสารญี่ปุ่นศึกษา, Vol.40 No.1 (2021), 1-22
- ข้อมูลแหล่งที่มาเป็นรายงานการประชุม
ชื่อผู้เขียน (ปีที่พิมพ์), ชื่อบทความ, ชื่อรายงานการประชุม, วันเดือนปีที่ประชุม (หน้าที่…), สถานที่การประชุม, หน่วยงานที่รับผิดชอบการประชุม
ยกตัวอย่างในการเขียน
อ้าง บันลือโลก (2565), การประเมินผลการประชุมเรื่องสุขภาพจิต (สถาบันเอบีซี), รายงานการประชุมคณะกรรมการสถาบันเอบีซี ครั้งที่ 1/2565 (13), สถานบันเอบีซี, กลุ่มงานอำนวยการ สถาบันเอบีซี
หลักการเขียนบรรณานุกรมเพิ่มเติม
- ก่อนที่จะถึงหน้าบรรณานุกรมนั้น ควรมีตัวหนังสือที่ระบุเอาไว้ว่า “บรรณานุกรม” อยู่กึ่งกลางหน้ากระดาษ และมีขนาดตัวอักษรหนาและมีความใหญ่ประมาณ 18
- ตรงบริเวณหน้าบรรณานุกรม ตรงช่วงข้างบนให้ระบุคำว่า “บรรณานุกรม” เอาไว้กลางหน้ากระดาษ ขนาดตัวอักษร 18 แล้วจึงนำข้อมูลบรรณานุกรมอื่นๆมาลงไว้บริเวณด้านล่างของหัวข้อนี้
- ถ้าแหล่งข้อมูลที่มาของเรามีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษทั้ง 2 ภาษา ให้เอาภาษาไทยขึ้นต้นก่อนภาษาอังกฤษ
- ชื่อแหล่งที่มาจะต้องมีตัวอักษรตัวหนา
- ไม่ต้องระบุคำนำหน้าของชื่อผู้แต่งไม่ว่าจะเป็นคำนำหน้าชื่อ เช่น นาย, นาง, นางสาว ตำแหน่งทางวิชาการ ยศต่างๆ ยกเว้น ถ้ามีฐานันดรศักดิ์หรือสมณศักดิ์
- ถ้าผู้แต่งมี 2 คน ให้ใช้เครื่องหมายคำว่า “และ” คั่นชื่อผู้แต่งทั้งสอง แต่ถ้าผู้แต่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ให้ใช้คำว่า “&”คั่นชื่อผู้แต่งทั้งสอง
- ถ้าชื่อผู้แต่งมีจำนวน 3 คนขึ้นไปให้เครื่องหมาย “,” คั่นชื่อระหว่างผู้แต่ง เมื่อถึงชื่อผู้แต่งเป็นชื่อสุดท้ายให้ใช้คำว่า “และ” คั่นชื่อผู้แต่ง ยกตัวอย่างเช่น ผู้แต่งคนที่ 1, ผู้แต่งคนที่ 2, ผู้แต่งคนที่ 3 และผู้แต่งคนที่ 4
- ถ้าชื่อผู้แต่งเป็นภาษาอังกฤษและมีจำนวน 3 คนขึ้นไปให้เครื่องหมาย “,” คั่นชื่อระหว่างผู้แต่ง เมื่อถึงชื่อผู้แต่งเป็นชื่อสุดท้ายให้ใช้เครื่องหมาย “&” คั่นชื่อผู้แต่ง ยกตัวอย่างเช่น ผู้แต่งคนที่ 1, ผู้แต่งคนที่ 2, ผู้แต่งคนที่ 3 &ผู้แต่งคนที่ 4
- ถ้าแหล่งที่มามีชื่อผู้แต่งเป็นคนเดียวกัน ให้เรียงลำดับจากปีที่จัดพิมพ์ แต่ถ้าปีที่จัดพิมพ์เป็นปีเดียวกัน ถ้าเป็นภาษาไทยให้ใช้อักษร ก., ข., ค. กำกับไว้บริเวณข้างหลังข้อความ แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ให้ใช้ตัวอักษร a, b, c กำกับไว้บริเวณข้างหลังข้อความ
- หากแหล่งที่มาไม่ระบุสถานที่พิมพ์ ถ้าแหล่งที่มาเป็นภาษาไทย ให้ใช้อักษรย่อว่า “ม.ป.ท.” ที่ย่อมาจากไม่ปรากฎสถานที่พิมพ์ แต่ถ้าแหล่งที่มาเป็นภาษาอังกฤษให้ใช้อักษรย่อว่า “P.” ที่ย่อมาจาก No Place of publication
- หากแหล่งที่มาไม่ได้ระบุสำนักพิมพ์ ถ้าแหล่งที่มาเป็นภาษาไทย ให้ใช้อักษรย่อว่า “ม.ป.พ.” ที่ย่อมาจากไม่ปรากฎสำนักพิมพ์ แต่ถ้าแหล่งที่มาเป็นภาษาอังกฤษ ให้ใช้อักษรย่อว่า “P.” ที่ย่อมาจาก No Publisher
- หากแหล่งที่มาไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์ ถ้าแหล่งที่มาเป็นภาษาไทย ให้ใช้อักษรย่อว่า “ม.ป.ป.” ที่ย่อมาจากไม่ปรากฏปีพิมพ์ แต่ถ้าแหล่งที่มาเป็นภาษาอังกฤษ ให้ใช้อักษรย่อว่า “D.” ที่ย่อมาจาก No Date
เราจะสามารถเห็นได้ว่าส่วนเนื้อหาที่เป็นบรรณานุกรมจะมีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากที่จะเป็นหลักฐานในการอ้างอิงข้อมูลที่เราทราบแล้วนั้น บรรณานุกรมยังเป็นข้อมูลที่ให้ความสำคัญของผู้แต่งหรือหนังสือที่ให้ข้อมูลหรือจะเรียกง่ายๆว่าเป็นการให้เครดิตแก่ผู้แต่งหนังสือหรือบทความนั้นๆอีกด้วย และยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจข้อมูลในบริเวณนั้น ซึ่งผู้อ่านอาจจะไปหาข้อมูลต่างๆเพิ่มเติม ที่อาจจะมีความละเอียด มีเนื้อหาส่วนอื่นๆเพิ่มเติมจากเนื้อหาที่เราเขียนเอาไว้ในหนังสือจากบรรณานุกรมที่เราได้ระบุเอาไว้ สุดท้ายการทำบรรณานุกรมอย่างถูกต้องจึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม
แสดงความคิดเห็นกันหน่อย 😎