วรรณกรรมชื่อดังของไทย ประเภทคำสอน ในลักษณะของโคลงสุภาษิต คำว่า โลกนิติ มีการอ่านว่า โลก-กะ-นิด ซึ่งแปลว่า ระเบียบแบบแผนแห่งโลก เนื้อหาในโคลงโลกนิติจึงมุ่งแสดงความจริงของโลกและสัจธรรมของชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้เท่าทันต่อโลก และเข้าใจในความเป็นไปของชีวิต พร้อมเป็นแม่แบบเพื่อให้ผู้อ่านได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงามสืบไป
โคลงโลกนิติมีความไพเราะเหมาะสมทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาปรัชญาสาระ ครบคุณค่าทางวรรณกรรม ทำให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป บางท่านกล่าวยกย่องโคลงโลกนิติว่าเป็น อมตะวรรณกรรมคำสอน หรือ ยอดสุภาษิตอมตะ ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นบทอ่านในหนังสือแบบเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาอยู่ทุกยุคสมัย และได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านเลย
รู้หรือไม่ว่า โคลงโลกนิติ มีที่มาอย่างไร ?
เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยนักปราชญ์ในสมัยนั้นได้คัดเลือกหาคาถาสุภาษิตภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์โลกนิติ, คัมภีร์ธรรมนีติ, คัมภีร์ราชนีติ, หิโตปเทศ, ธรรมบท และ พระไตรปิฎก เป็นต้น มาถอดความแล้วเรียบเรียงแต่งเป็นโคลงโลกนิติ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรารู้จักกันในนามของวัดโพธิ์ฯ
ในปี พ.ศ. 2374 ก็มีดำริให้จารึกวิชาการสาขาต่าง ๆ ไว้บนแผ่นศิลาที่ประดับไว้ตามเสาหรือกำแพงพระวิหาร ในการนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนเดชอดิศร ต่อมาได้ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติของเก่าให้ประณีตไพเราะยิ่งขึ้น เพื่อจารึกไว้ในคราวเดียวกันจำนวนโคลงโลกนิติที่ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยมีทั้งสิ้น 408 บท แต่ที่จารึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ แผ่นละบท มี 435 แผ่น รวมโคลงนำทั้ง 2 บท คาดว่ามีโคลงที่แต่งเพิ่มเติมเพื่อให้พอดีกับพื้นที่จารึกนั่นเอง
ประวัติของนักกวี ที่มีชื่อเสียงด้าน โคลงโลกนิติ
เดิมทีไม่มีปรากฏชื่อผู้แต่งที่ชัดเจนและไม่มีหลักฐานยืนว่าโคลงโลกนิติถูกแต่งขึ้นเมื่อไหร่ แต่นักวรรณคดีศึกษาคาดว่าโคลงโลกนิติแพร่หลายในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำโคลงโลกนิติมาชำระใหม่ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร โดยท่านได้ปรับปรุงโคลงโลกนิติให้ได้ใจความ ถูกต้อง และไพเราะ
ต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร หรือ หม่อมเจ้ามั่ง ทรงชำระโคลงโลกนิติในสำนวนเก่า และมีการพระราชนิพนธ์เพิ่มเดติมเมื่อราวปี พ.ศ. 2473 ผลงานพระนิพนธ์ของพระองค์มีจำนวนมากทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง แต่คนทั่วไปมักจะรู้จักท่านในนามผู้ประพันธ์โคลงโลกนิติ เพราะผลงานนี้นี่เองที่ทำให้ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งกวีมีมือดีที่แต่งโคลงสี่สุภาพได้อย่างไพเราะและยอดเยี่ยม
โคลงโลกนิติ วรรณกรรมไทยและความหมายที่ไพเราะจับใจ
โคลงโลกนิติมีลักษณะเด่นในการประพันธ์คือ เป็นการแต่งโคลงสี่สุภาพที่เข้าใจง่าย เมื่ออ่านแล้วคนธรรมดาทั่วไปสามารถเข้าใจได้ทันที มีลักษณะคำประพันธ์คือเป็นโคลงสี่สุภาพ คือบาทที่ 1 สัมผัสกับ คำที่ 5 ของบาทที่ 2 กับบาทที่ 3 และคำสุดท้ายของบาทที่ 2 ต้องสัมผัสกับ คำที่ 5 ของบาทที่ 4 โดยจะบังคับตำแหน่งวรรณยุกต์ เอก 7 โท 4
โดยมีเรื่องราวที่เริ่มต้น โดยการเล่าถึงที่มาว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความประสงค์ให้นำโคลงโลกนิติมาประพันธ์ใหม่เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวคำสอนที่หลากหลาย ลักษณะคำสอนในโคลงโลกนิติมี 2 ลักษณะคือ สอนอย่างตรงไปตรงมา และสอนอย่างเปรียบเทียบ โดยเนื้อหาหลัก ๆ จะเกี่ยวกับคุณและโทษจากการคบเพื่อนที่ดีและไม่ดี ลักษณะของคนพาล พิจารณาตนและสังเกตคนรอบข้าง สอนให้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย สอนเรื่องการประมานตน สอนให้เห็นคุณค่าของความดี เป็นต้น
รวมคำสอนที่พบใน โคลงโลกนิติ
- สอนให้ทำความดี โคลงโลกนิติสอนให้รู้จักความดีความชั่ว การที่เราได้รับผลอย่างไรย่อมมีเหตุจากการกระทำของเราทั้งสิ้น ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน ส่วนผู้ทำชั่ว ผลที่เกิดจากการทำชั่วนั้น ย่อมกัดกร่อนใจซึ่งเปรียบได้กับสนิมกัดกร่อนเนื้อเหล็กให้ผุพังไป
- สอนให้รู้จักประมาณตน โคลงโลกนิติสอนให้รู้จักประเมินความสามารถและประมาณกำลังของตน นับเป็นคำสอนที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ดังคำสอนที่ใช้แนวเทียบกับนกตัวน้อยที่หากินตามกำลังของตนและทำรังแต่พอตัว
- สอนให้รู้จักพิจารณาคนและรู้จักคบเพื่อน โคลงโลกนิติสอนให้รู้จักพิจารณาเลือกคบคน โดยกล่าวเปรียบเทียบว่า ก้านบัว สามารถบอกความตื้นลึกของน้ำได้ฉันใด กิริยามารยาทของคนก็สามารถบ่งบอกถึงการอบรมเลี้ยงดูได้ฉันนั้น คำพูดก็สามารถบ่งบอกให้รู้ว่าคนนั้นพูดฉลาดหรือพูดโง่ เช่นเกียวกับหย่อมหญ้าที่เหี่ยวแห้งย่อมบอกให้รู้ว่าดินในบริเวณนั้นไม่ดี
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
เรียบเรียงและจัดทำโดย ข้าวตังดอทคอม