วันอาสาฬหบูชาคืออะไร มีความสำคัญทางศาสนาอย่างไร
วันอาสาฬหบูชาคืออะไร
วันอาสาฬหบูชา เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของพุทธศาสนา เพราะถือเป็นวันที่โลกได้มีพระรัตนตรัยครบสามสมบูรณ์เกิดขึ้น ได้แก่ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ โดยวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี มักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคมของไทย ส่วนคำว่า “อาสาฬหบูชา” นั้นย่อมาจากคำว่า “อาสาฬหปูรณมีบูชา” ที่แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ” หรือเดือน 4 ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย
โดยในปีพ.ศ.2501 คณะสังฆมนตรีได้กำหนดให้ วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนา โดยมีพิธีการปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา ตามคำแนะนำของพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) และวันอาสาฬหบูชาได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการของประเทศไทยอีกด้วย
ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา ถูกยกย่องเป็นวันสำคัญอย่างหนึ่งของศาสนา เพราะถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาได้แก่ “ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร” หรือพระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม เป็นการแสดงธรรมครั้งแรกแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช
โดยหลักธรรมสำคัญของการปฐมเทศนาในครั้งนั้น มี 2 ประการ ได้แก่
- อริยสัจ 4 อันประกอบไปด้วย
- ทุกข์ คือ ปัญหาที่เกิดทำให้ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
-
สมุทัย คือ เหตุของการเกิดทุกข์
-
นิโรธ คือ การดับทุกข์
-
มรรค คือ กระบวนการแก้ปัญหา 8 ข้อ หรือ มรรคมีองค์ 8
- มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เพื่อให้ละเว้นการใช้ชีวิตที่สุดโต่ง หลงมัวเมาในรูปรสกลิ่นเสียง หรือการทรมานกาย ใช้ชีวิตให้เกิดความลำบากแก่ตนเอง เช่น การบำเพ็ญทุกขกิริยา โดยให้ดำเนินชีวิตตามแนวทาง 8 ข้อ คือ มรรคมีองค์ 8 ประกอบไปด้วย
- สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
-
สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
-
สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
-
สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
-
สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
-สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
- สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
-
สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
เหตุการณ์สำคัญในวันอาฬสาหบูชา
การปฐมเทศนาครั้งนั้นได้ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาขึ้น คือ เกิดพระรัตนตรัยครบองค์สามโดยสมบูรณ์เป็นครั้งแรกของโลก ประกอบไปด้วยพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ เพราะหลังจากได้ฟังเทศน์กัณฑ์แรกแล้ว “พระอัญญาโกณฑัญญะ” หนึ่งในปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ก็ได้เกิดความเลื่อมใสในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าจนดวงตามองเห็นธรรม และได้บรรลุเป็นพระอริยสงฆ์รูปแรกในศาสนา โดยพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ได้รับฟังการแสดงธรรมก็ได้เกิดดวงตาเห็นธรรมและอุปสมบทตามลำดับ
พิธีทางศาสนาในวันอาสาฬหบูชามีอะไรบ้าง
ในวันอาสาฬหบูชามักจะมีกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเช้า คือ การเข้าวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา การสวดมนต์เพื่อให้จิตใจร่มเย็นผ่องใส ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ในตอนเช้า จากนั้นจะมีการถือศีลตลอดทั้งวัน ในบางคนอาจจะมีการให้อิสระทาน เช่น ปล่อยนก ปล่อยปลา และลำดับสุดท้ายคือการเวียนเทียนในช่วงเย็น เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมทางศาสนานั้นก็อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ภูมิภาคด้วย
โดยกิจกรรมเวียนเทียนใน วันอาสาฬหบูชา นั้น จะมีรูปแบบการเวียนเทียนแบบ “เวียนประทักษิณาวรรต” เป็นการเดินวนด้านขวา รอบพระพุทธรูปหรืออุโบสถเป็นจำนวน 3 รอบ เพราะถือว่าการเดินวนด้านขวาจำนวนสามรอบนั้น เป็นการแสดงความเคารพขั้นสูงสุด พร้อมด้วยดอกไม้และธูปเทียนที่ถูกจุดไฟส่องสว่างไว้เป็นเครื่องสักการะบูชาขณะเดินเวียนเทียน
การเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา 3 รอบมีความหมายอย่างไร
- การเดินเวียนเทียนรอบที่ 1 เพื่อระลึกถึงพระพุทธ พร้อมระลึกถึงสวดบทบูชาพระพุทธ
- การเดินเวียนเทียนรอบที่ 2 เพื่อระลึกถึงพระธรรม พร้อมระลึกถึงสวดบทบูชาพระธรรม
- การเดินเวียนเทียนรอบที่ 3 เพื่อระลึกถึงพระสงฆ์ พร้อมระลึกถึงสวดบทบูชาพระสงฆ์
โดยในขณะที่กำลังเดินเวียนเทียนนั้นผู้เดินจะต้องมีอาการสำรวม เพื่อให้เกิดจิตใจอันผ่องใสและสงบร่มเย็น พร้อมรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ รวมถึงคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ในใจขณะเดิน เพื่อทำให้จิตใจเกิดความปิติยินดี โปร่งใส มองเห็นธรรมและวัฏสังสารที่เกิดขึ้น ช่วยให้จิตใจหลุดพ้นจากความเศร้าหมอง และช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากธูปและเทียนขณะที่ต้องเดินร่วมกับคนหมู่มากอีกด้วย
สรุปบทความ
สำหรับวันอาสาฬหบูชา ถือว่าเป็นวันหนึ่งของพระพุทธศาสนาเท่านั้น ทั้งนี้การทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาสามารถทำได้ทุกวัน เพื่อที่เราจะสามารถเจริญสติและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่ แค่นั้นไม่พอหากได้เรียนรู้แบบลงลึกลงไปเราจะเข้าใจเกี่ยวกับความทุกข์และหนทางดับทุกข์ได้ ซึ่งจุดนี้คือสิ่งที่ใครหลายคนต่างก็พยายามหาคำตอบ ซึ่งคำตอบนั้นมีเพียงแค่ง่ายๆ นั่นก็คือ การอยู่กับปัจจุบัน ให้ดีที่สุด ความทุกข์จากอดีตหรือความกังวลที่มีต่ออนาคตก็สามารถน้อยลงได้นั่นเอง ดังนั้นการศึกษาพระธรรมหรือปฎบัติสามารถทำได้ตลอดเวลา หากยิ่งสงสัยยิ่งต้องทำ ยิ่งต้องเรียนรู้ ยิ่งต้องลอง และคุณจะได้เข้าใจหลักธรรมอย่างท่องแท้
📚 อ้างอิง (Reference Sites)
📙 บทความที่เกี่ยวข้อง (Internal Resources)
📘 อ้างอิงเนื้อหา (External links)
- https://www.freepik.com/free-photo/statue-buddha-sunset-silhouette_26332529.htm#query=ตักบาตร&position=12&from_view=search&track=ais&uuid=1bae83b5-2338-4bc4-a00f-e0650a45b1ab
- https://www.freepik.com/free-photo/buddha-statue_1035308.htm#query=ตักบาตร&position=13&from_view=search&track=ais&uuid=1bae83b5-2338-4bc4-a00f-e0650a45b1ab
- https://www.freepik.com/free-photo/flaming-candles-like-small-bulbs_8347326.htm#query=เวียนเทียน&position=22&from_view=search&track=ais&uuid=15dcae27-9890-472c-b662-865c116bd7bd
📕 อ้างอิงรูปภาพ
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/329846
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/330060
- http://www.sumnaktaw.go.th/networknews/detail/115262/data.html